“คนพิการชอบทำงานอยู่บ้าน”
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินประโยคด้านบนนี้ ซึ่งเป็นภาพจำของคนภายนอกที่มองคนพิการชอบใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไม่ค่อยออกไปไหน แต่ถ้าลองวิเคราะห์ถึงที่มาของประโยคนี้อีกสักนิด ก็น่าคิดต่อว่าทำไมพวกเขาถึงชอบทำงานอยู่ที่บ้านล่ะ?
“ไม่ใช่ว่าพวกเขาชอบนะ แต่มันไม่มีทางเลือก คือการออกจากบ้านสำหรับคนพิการแต่ละที มันลำบากต่อคนรอบข้าง ใครจะอยากรบกวนคนอื่นช่วยยกรถขึ้นฟุตพาทตลอดเวลา หรือวานพ่อแม่ให้ไปรับ-ส่งทุกวัน” คำตอบของ ‘คุณหนู-นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการเพจ ThisAble.me สื่อออนไลน์ที่อยากผลักดันเรื่องคนพิการให้คนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งวันนี้เราจะมานั่งคุยกับพี่หนูเกี่ยวกับชีวิตของคนพิการในเมือง มันส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร เพราะเรามักจะได้ยินเกี่ยวกับงานออกแบบสำหรับคนพิการมากมาย แต่ไม่เคยรู้จริงๆ เลยว่าสำหรับคนใช้งานเขารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไรบ้าง?
แต่ที่แน่ๆ จากคำตอบที่เธอพูด แค่ประโยคเดียวก็สะท้อนถึงปัญหาเมืองหลายอย่าง ตั้งแต่ระบบการเดินทางไม่เอื้ออำนวยความสะดวก ทางเท้าที่ไม่เรียบเนียน หรือแม้กระทั่งภาพจำของคนพิการที่ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้มีผู้สมรู้ร่วมคิดอย่าง ‘การออกแบบเมือง’ ที่ไม่ได้คิดถึงการใช้งานรองรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
พิการเป็นคนเท่ากัน | แต่ไม่เท่าเทียม
“เปิดประตูเข้ามาได้เลยค่า” ตอนมาเจอกับพี่หนูครั้งแรก ที่ชั้นหนึ่งอาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เธอนั่งรถวีลแชร์มาต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะเริ่มต้นนั่งคุยกันอย่างจริงจัง พี่หนูเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ขาทั้งสองข้างเดินไม่ได้ จึงทำให้เธอต้องนั่งรถวีลแชร์ไฟฟ้าคู่ใจไปด้วยทุกการเคลื่อนที่ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิต และทุกวันนี้เธอได้ทำงานเป็นบรรณาธิการเพจ ThisAble.me ที่ทำเกือบทุกหน้าที่ ทั้งนักข่าว ลงพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อนำเสนอเรื่องคนพิการ เพราะอยากให้ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายเหมือนเรื่องทั่วไป
“เราทำ ThisAble.me
เพราะอยากให้คนพิการเป็นคนเท่ากัน
“เราโตมามักจะเห็นภาพคนพิการในสื่อหลักชอบนำเสนอรูปแบบเดียว คือตัวแทนของความน่าสงสาร อย่างภาพคนพิการในบ้านผุพัง สุดท้ายขึ้นเลขบัญชีให้คุณบริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือในละครจะเห็นตัวร้ายเวลามีจุดจบไม่ดี ก็จะต้องเป็นคนพิการหรือคนบ้า ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของคนพิการถูกนำเสนอแบบนั้นมาตลอด
“ถ้าเกิดเรามีโอกาสได้ทำสื่อเอง เราก็อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของคนพิการเท่ากับคนอื่น คือเขาไม่ต้องเป็นผลลัพธ์ของการทำความชั่วอยู่ตลอดเวลาก็ได้”
การเดินทาง | ทางเลือกที่ไม่มีสิทธิได้เลือก
พี่หนูทำงานที่ ThisAble.me มาได้สองปีแล้ว หลังจากทำงานออกภาคสนามและสัมภาษณ์คนพิการมามากมาย คิดว่าปัญหาหนักสุดสำหรับคนพิการในเมืองคือเรื่องอะไร?
พี่หนูตอบอย่างมั่นใจว่า ‘การเดินทางในเมือง’ เป็นเรื่องที่เด่นชัดที่สุด “คนปกติอาจจะมีทางเลือกในการเดินทาง รถติดก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์ ถ้าไม่ได้ก็ขึ้นเรือ หรือคุณอยากประหยัดเงินก็ขึ้นรถเมล์ หรือถ้ามีเงินก็นั่งแท็กซี่เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย แต่คนพิการถึงคุณมีเงินเต็มมือ แต่มันไม่มีทางเลือก เพราะนั่งได้แค่รถไฟฟ้าไม่ก็แท็กซี่ ไม่สามารถนั่งอย่างอื่นได้เลย
“ค่าครองชีพคนพิการสูงกว่าคนอื่น หากจะนั่งแท็กซี่ก็แพง ด้วยรายได้ขั้นต่ำประมาณสามร้อยบาท (อ้างอิงจากค่าแรงขั้นต่ำ พ.ศ. 2563 จากกระทรวงแรงงาน) แล้วเราต้องนั่งแท็กซี่มาทำงานทุกวันมันคงไม่ไหว สมมติอยากขึ้นรถเมล์ติดแอร์ล่ะ เราก็ขึ้นไม่ได้อีก ซึ่งเวลาทำงานเราก็นั่งรถไฟฟ้าแล้วแว้นวีลเเชร์เนี่ยแหละเข้าออฟฟิศ คือทางเลือกในการเดินทางมันน้อยมาก นี่ไม่นับว่าออฟฟิศอยู่ฝั่งที่ไม่มีลิฟต์นะ คิดดูว่าเราจะเดินทางไปทำงานได้อย่างไร
“ในกรุงเทพฯ สิ่งที่เราอยากได้คือ ระบบขนส่งที่ดีที่คนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่ราคาแต่รวมไปถึงสภาพทางกายภาพด้วย เช่น เมื่อถึงเวลาซื้อรถเมล์คันใหม่ มันควรจะต้องมีตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่คิดถึงคนพิการด้วย ไม่ใช่รถเมล์ชานสูงที่ไม่ได้อำนวยต่อทุกคน ทั้งคนสูงอายุ คนท้อง คนพิการ หรือคนอื่นๆ ที่ขึ้นไม่ได้”
การออกแบบที่เพิกเฉย | ละเลยความเป็นคน
เมื่อพูดถึงปัญหาการเดินทางที่อยากให้ความสำคัญแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนไม่แพ้กันคือเรื่อง ‘สภาพแวดล้อม’ อย่างอาคารหรือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ “เราอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนพิการออกไปหางานทำด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นและระบบขนส่งในราคาที่เเพง
“นี่มันปี 2020 แล้วตึกอาคารต่างๆ
คนพิการควรจะใช้งานได้แล้ว
“มันเป็นปัญหาใหญ่มากไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ นะ ทุกที่ในไทยต้องรีบแก้ไข ตั้งแต่การวางผังเมือง ระบบขนส่ง มันควรปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อคนใช้ชีวิตจริงๆ เพราะปัจจุบันเพื่อนเราที่เป็นคนพิการไปสมัครงานที่ออฟฟิศ แต่เขาไม่รับเข้าทำงานเพราะตึกเขาไม่มีทางลาด คือมันผิดเพราะเราเหรอ ที่มีคุณสมบัติตรงตามสิ่งที่เขาต้องการ แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้เราได้ใช้ชีวิต
“เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างพัฒนาไปไกลมากแล้ว และสภาพแวดล้อมของเมือง ตึกอาคารต่างๆ คนพิการควรจะเข้าถึงได้แล้ว แต่ก็ยังมาเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเพราะความพิการ เราว่ามันไม่สมควรแล้วนะ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องจริงจัง เมื่อเรามี พรบ.เรื่องการก่อสร้างอาคารสำหรับคนพิการ เด็ก คนแก่ มันมีออกมาแล้ว การก่อสร้างก็ต้องทำตามกฎหมายที่ออกมาด้วย ไม่ใช่มองข้ามมันไป”
หลังพูดจบเราชวนพี่หนูไปเดินเล่นนอกออฟฟิศ เธอพาไปเดินเส้นที่ไปกลับทุกวัน มันเป็นซอยเล็กๆ ที่ลัดเลาะไปถึงสถานีรถไฟฟ้า MRT ห้วยขวาง ระหว่างทางเธอเล่าให้ฟังติดตลกว่า ช่วงพักเบรกจะชอบออกมาซื้อผลไม้กินเล่น และเพื่อนที่ทำงานจะชอบฝากซื้อของ เพราะพี่หนูขนของได้มาก เพราะสามารถนำถุงขนมมาแขวนบนวีลแชร์ได้สบาย
ถนนที่พวกเราสัญจร บ้างก็ขรุขระ บ้างก็ต้องเหลียวซ้ายมองขวาหารถอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกใจที่พี่หนูจะคิดหนักกับคำถามที่ว่า มีสถานที่ไหนในกรุงเทพฯ ที่เธอชอบเดินที่สุดไหม?
เธอคิดสักพักก่อนจะตอบว่า ‘มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา’ เพราะมีทางเท้าเชื่อมถึงกันทั้งหมด และมีทางลาดที่ทำให้รถวีลเเชร์ของเธอวิ่งแล่นไปเรียนได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่ารถจะชน ซึ่งมันเป็นเรื่องเบสิกมากๆ ในเมืองที่ควรจะต้องมี
การออกแบบเมืองที่ดี | กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์
เพราะสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ไม่ได้รองรับการใช้งานได้ทุกคน ถึงแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนปกติ แต่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนพิการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เท่ากับคนอื่น
แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ออกแบบโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม ซึ่งทำให้พวกเขามีทางเลือกในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเองอย่างอิสระ พี่หนูเล่าให้ฟังว่าเธอไปเที่ยวต่างประเทศมามากมาย ซึ่งทุกที่ต่างพัฒนาไปไกลกว่าบ้านเรามาก จึงเกิดคำถามน่าคิดต่อว่าแล้วการออกแบบที่ดีสำหรับคนพิการควรเป็นอย่างไร?
“เรื่องออกแบบที่ดี ไปเปิดตำราดูเอาก็ได้
แต่ปัญหาคือคนไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้
เพราะมองว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น
“เราว่าเรื่องออกแบบที่ดีหรือให้ได้ตามแบบมาตรฐาน ไปเปิดตำราดูเอาก็ได้ เชื่อว่าองค์ความรู้ของไทยไม่ได้ขาด แต่ปัญหาคือคนไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขียนไว้ เพราะมองว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น อย่างเราเจอทางลาดที่ชันมากเพราะอยากประหยัดพื้นที่อาคาร เนื่องจากโดนตัดงบประมาณ แล้วคุณก็เลือกที่จะตัดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ออกไป
“อย่างปลายปีที่แล้วเรามีโอกาสได้ไปประเทศเคนยามา สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือ ทั้งประเทศมี KFC อยู่เพียง 2 สาขา และในนั้นมีห้องน้ำห้องเดียวที่เป็นคนพิการด้วย ซึ่งมันต้อง Universal Design สำหรับทุกคนและได้มาตรฐาน เพราะว่าจริงๆ แล้วกฎหมายของเคนยา เขาให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการต้องมาก่อนที่เมืองเขาจะวางแผนสร้างใหม่เสียอีก เพราะฉะนั้นอะไรที่สร้างขึ้นหลังกฎหมายเกิดขึ้นมา มันก็ต้องทำตามกฎหมาย”
เธอยังเล่าต่อถึงความประทับใจในการไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการออกแบบที่คนพิการก็สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้เหมือนคนปกติ “เรามีความสุขมากที่อยู่ที่นั่น เราสามารถตื่นมาในตอนเช้าแล้วเข็นรถวีลแชร์ไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ถึงแม้ระยะทางจะไกลประมาณสองกิโลเมตรแต่ก็เดินได้โดยรถไม่ชน ข้ามถนนเจอไฟแดงรถก็หยุดรอให้คนข้าม ซึ่งเราลองจับโปรแกรมนับการเดินดูว่าในแต่ละวันเดินได้ไกลเท่าไหร่ อยู่ที่นู่นคือยี่สิบกิโลเมตร เรารู้สึกว่าเราเดินเก่งมากเลยนะ มันคือสิ่งที่ประทับใจ
“แล้วตลอดทางเราเห็นคนใช้วีลเเชร์เป็นเรื่องปกติ คนแก่ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปจ่ายตลาด คนพิการใช้หมานำทางเยอะมาก หรือคนตาบอดสามารถขึ้นรถไฟได้ด้วยตัวเอง แต่ในไทยเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย ขนาดตอนนี้เรายังถกเถียงกันอยู่เลยว่า สามารถเอาหมาช่วยนำทางได้ไหม แถมยังมีมุมมองต่อคนพิการว่าเป็นเรื่องแปลก เช่น เห็นคนพิการออกมาเที่ยวกลางคืน คนก็จะรู้สึกประหลาดใจว่า เขาออกมาเดินได้ด้วยแฮะ แต่เรากลับไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงออกมาเดินไม่ได้ล่ะ
“ถ้าเมืองไทยทำให้คุณภาพชีวิตดีเหมือนต่างประเทศ ที่มีอิสระในการเดินทาง ไปสมัครงาน ไปช้อปปิง คือเขาสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้ ต่อไปคนอื่นๆ ก็จะชินไปเองในฐานะคนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน และลบทัศนคติแปลกๆ ที่คนมักจะมองว่าคนพิการแตกต่างจากคนอื่น ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็เป็นกันในชีวิตประจำวัน”
เราเดินคุยกับพี่หนูไปเรื่อยๆ ระหว่างทางที่เดินไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่คนปกติที่รู้สึกเหนื่อยใจกับถนนหนทางที่แสนลำบาก แต่สำหรับคนพิการมันเป็นอุปสรรคก้อนใหญ่ของพวกเขามากเลยทีเดียว อย่างการจะเดินข้ามถนนที่คนทั่วไปสามารถเดินผ่านได้ทันที แต่สำหรับคนพิการไม่สามารถเดินผ่านไปได้ เพราะไม่มีทางลาดรองรับไว้ เมื่อเห็นปัญหาในเมืองที่ไร้การแก้ไข หากพี่หนูมีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ 1 สิ่งอยากจะทำอะไร?
“เราจะรื้อฟุตพาท เพราะว่ามันกระทบต่อทุกคน สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่คนพิการที่อยากให้เปลี่ยน เราคิดว่าคนทั่วไปก็อยากมีสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในเมือง ถ้าวันนี้ฟุตพาทหน้าออฟฟิศดี เราอาจจะเดินไปเซ็นทรัลพระราม 9 ได้โดยไม่ต้องขึ้นรถ ซึ่งมันไม่ได้ไกลขนาดนั้นนะ ประมาณ 2 – 3 กิโลเมตรเอง
“เราคิดว่าเราสามารถเดินไปได้ ถ้าเกิดเมืองออกแบบตามมาตรฐาน และผู้ใหญ่เห็นคุณค่าชีวิตของคนในประเทศ ซึ่งมันควรจะต้องได้รับการการันตีว่าทุกคนจะปลอดภัยในการใช้ชีวิตในเมือง ซึ่งแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างฟุตพาทยังทำไม่ได้ แล้วคนอื่นจะคาดหวังอะไรได้อีก”
คำถามสุดท้ายหากกำหนดนโยบายขึ้นมาเองได้ 1 ข้ออยากจะเพิ่มอะไร?
เธอตอบด้วยสายตามุ่งมั่นว่า อยากผลักดันเรื่อง ‘การศึกษา’ ให้คนพิการสามารถเรียนร่วมกันได้ หากพวกเขามีปัญหาแค่เรื่องการนั่งวีลแชร์ แต่ไม่ได้มีปัญหาในการรับรู้และการสื่อสาร ก็สามารถเรียนร่วมกันได้
เพราะจากประสบการณ์วัยเด็ก ที่เธอเป็นคนพิการเพียงคนเดียวในโรงเรียน และนั่นทำให้เพื่อนๆ มองเธอเป็นตัวประหลาด ทั้งๆ ที่คนพิการและคนปกติสามารถเรียนด้วยกันได้ ไม่ใช่ต้องถูกแยกออกไปโรงเรียนเฉพาะ เนื่องจากไม่มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ
“ตอนนั้นมีเพื่อนอยู่ในห้องห้าสิบคนที่เดินได้หมด แล้วทุกคนไม่รู้จักว่าคนพิการคืออะไร หน้าตามันเป็นแบบไหน แล้วเขาเรียนกับเราได้ไหม มันทำให้คนพิการดูแปลกแยกมาก เราจำความรู้สึกตอนเรียนมัธยมปลายได้ดี เพื่อนมาทักว่าขาหักใช่ไหม แล้วเราก็ไม่กล้าบอกความจริง เพราะกังวลว่า ถ้าพวกเขารู้ว่าเราเป็นคนพิการขึ้นมา แล้วไม่อยากคุยด้วยจะทำอย่างไร มันก็เลยกลายเป็นปมของเด็กคนหนึ่งไปเลย ด้วยความไม่เข้าใจในตอนนั้น
“แล้วพอเพื่อนมารู้ทีหลังว่าเราเดินไม่ได้ เขาก็เล่าว่าถ้าตอนนั้นเขารู้ก็คงทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เพราะไม่เคยมีเพื่อนเป็นคนพิการ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องทำตัวอย่างไร แบบเราต้องสงสารไหม ต้องดูเเลขนาดไหน มันก็มีความกังวลในการเข้าหากัน
“ถ้าเราสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ มันจะช่วยให้คนที่เติบโตในเจนฯ ต่อไป เขาได้รู้จักความพิการอย่างเข้าใจ ซึ่งมันจะช่วยให้คนพิการกับคนทั่วไปอยู่ด้วยกัน จนเป็นเรื่องปกติเหมือนคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้”