ในปี 1980 เซินเจิ้นอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากการลงทุนระหว่างประเทศตามนโยบาย ‘การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน’ ทำให้จากสถานะหมู่บ้านชาวประมงที่มีประชากรเพียง 300,000 คน สู่การเป็นเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกจนถูกขนานนามว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของจีน
เมื่อเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้คนครั้งใหญ่ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นเซินเจิ้นจึงตั้งเป้าหมายที่จะนำตัวเองเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหม่ คือ ลดการสร้างมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เพื่อสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมควรค่าแก่การเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลกนำไปทำตาม
1 | Give Back to the River คืนชีวิตให้แม่น้ำ
‘ต้าชา’ (Dasha) คือแม่น้ำสายสำคัญของเซินเจิ้น แต่เพราะการพัฒนาของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำแห่งนี้กลายเป็นที่รับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและสิ่งปฏิกูลต่างๆ จนกลายเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว ส่งผลให้ชาวบ้านค่อยๆ ลืมความสนุกสนานในการใช้ชีวิตริมน้ำ จนนานวันเข้าคนและแม่น้ำก็ค่อยๆ ห่างกันออกไป
เพราะฉะนั้นเซินเจิ้นจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยการฟื้นฟูระบบนิเวศในท้องถิ่นและสนับสนุนการปล่อยคาร์บอนต่ำ ด้วยการทำโปรเจกต์ ‘Dasha River Ecological Corridor’ ด้วยการฟื้นฟูภูมิทัศน์ สร้างเลนจักรยานและทางเดินตลอดความยาว 8.5 ไมล์ พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพของพันธุ์ไม้ริมน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
02 | Greener, Smarter ฉลาดใช้เทคโนโลยี
แม้การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศจะเป็นเรื่องปกติสำหรับเมืองที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วง 40 ปีนับตั้งแต่กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เซินเจิ้นมีประชากรเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 42 เท่า ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมของเมืองนี้เป็นพิเศษ
ครั้งหนึ่งเซินเจิ้นเคยประสบปัญหามลพิษทางน้ำอย่างหนัก ทำให้เมื่อปี 2559 รัฐบาลต้องสร้างเครือข่ายบำบัดน้ำเสียความยาวเกือบ 4,000 ไมล์ โดยใช้เทคโนโลยีการผันน้ำฝนเข้ามาจัดการ จนกลายเป็นเมืองแรกของจีนที่ฟื้นฟูเส้นทางน้ำป่าได้สำเร็จ
ย้อนกลับในวันที่หมอกควันยังสร้างปัญหาให้ชาวเซินเจิ้น รัฐบาลใช้เวลากว่าสิบปีในการจัดการกับมลพิษทางอากาศ ‘หม่า จุน’ ผู้อำนวยการสถาบันกิจการสาธารณะและสิ่งแวดล้อม ที่ติดตามความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อมของจีนมานานหลายทศวรรษ กล่าวว่า สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเซินเจิ้น คือเป็นเมืองชั้นนำของจีนเพียงแห่งเดียวที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติ ซึ่งเขามองว่านโยบายและกฎระเบียบของรัฐบาลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท้องฟ้าของมหานครแห่งนี้กลับมาสดใสอีกครั้ง
ระหว่างปี 2004 – 2014 รัฐบาลเซินเจิ้นได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจของเมือง คือหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐบาลผู้ผลิตต่างๆ จำเป็นต้องคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จนปี 2014 เซินเจิ้นเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุดในประเทศจีนอย่างเป็นทางการ
หม่า จุน เชื่อว่าข้อได้เปรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองนี้มาจากอุตสาหกรรมไอทีที่แข็งแกร่ง เขามองเห็นศักยภาพของเซินเจิ้นในการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ อย่าง Big Data, Cloud Computing, 5G, Internet of Things และ Blockchain เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศ
03 | Sustainable Future อนาคตที่ยั่งยืน
ในรายงานของ UBS Asset Management บริษัทด้านการลงทุนระดับโลก เคยเขียนไว้เมื่อปี 2019 ว่า เซินเจิ้นกำลังเป็นผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตเมืองแห่งนี้จะกลายเป็นต้นแบบให้ที่อื่นๆ ในประเทศจีนทำตามแน่นอน
เซินเจิ้นได้เปิดตัวโครงการรถยนต์สีเขียวและผลักดันให้มีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาโดยตลอด เพื่อลดมลพิษในอากาศ ซึ่งหนึ่งเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเซินเจิ้น คือการเกิดขึ้นของ ‘BYD Auto’ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเมื่อภาครัฐกับเอกชนมองภาพไปในทิศทางเดียว ไม่กี่ปีต่อมาเซินเจิ้นก็กลายเป็นเมืองแรกของโลกที่มีรถโดยสารและรถแท็กซี่ที่ใช้แบตเตอรี่เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในอนาคต เซินเจิ้นจึงสร้างสถานีชาร์จมากกว่า 80,000 แห่งทั่วเมือง และสนับสนุนให้บริษัทหลายแห่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความเร็วในการชาร์จ และเมื่อปี 2013 เซินเจิ้นเปิดตัวตลาดซื้อขายการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แห่งแรกของจีนอีกด้วย
แม้เซินเจิ้นจะเปรียบเสมือนเครื่องมือสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้กับจีน แต่หัวใจสำคัญของการแสวงหาความเป็นเลิศในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อต้องการสร้างที่อยู่อาศัยของมนุษย์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น
Sources :
AECOM | https://bit.ly/3orl4hW
CNN | https://cnn.it/3t4xOio