นอกจากเป็นสถานศึกษาแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีของเด็ดของดีอย่างเหล่าพิพิธภัณฑ์เจ๋งๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ภายในคณะต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของการเป็นสถานที่กึ่งปิดกึ่งเปิด ทำให้มิวเซียมเลิฟเวอร์หรือคนภายนอกไม่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสมิวเซียมเหล่านี้เท่าไหร่
ด้วยเหตุนี้ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ได้จัดนิทรรศการพิเศษ ‘ของดีควรดู มิวเซียมน่ารู้ในจุฬาฯ’ ซึ่งเป็นการรวบรวมของดีจากพิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ มาจัดแสดงร่วมกันเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าชม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะและหน่วยงานหลายภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น
1) สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม (พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน, พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์, เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอประวัติจุฬาฯ, หอสมุดดนตรีไทย และหอศิลป์จามจุรี)
2) คณะวิทยาศาสตร์ (พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาฯ, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ, พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา และพิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์)
3) คณะทันตแพทยศาสตร์ (พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ และพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์)
4) ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค (พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน และพิพิธภัณฑ์ศิลป์-สินธรรมชาติ จ.สระบุรี)
5) สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ (พิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถาน)
6) คณะเภสัชศาสตร์ (พิพิธภัณฑ์สมุนไพร)
7) คณะสัตวแพทยศาสตร์ (พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์)
8) คณะอักษรศาสตร์ (พิพิธพัสดุ์ ไท-กะได)
9) คณะแพทยศาสตร์ (หอประวัติคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ)
โดยการจัดแสดงภายในนิทรรศการนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ในการศึกษา, กลุ่มวัตถุจากงานวิจัย และกลุ่มงานศิลปกรรม ภาพเขียน ประติมากรรม และเอกสารจดหมายเหตุ
นอกจากนี้ยังมี ‘พิพิธภัณฑ์พกพา : Museum in the Box’ ซึ่งเป็นผลงานจากนิสิตสาขานิทรรศการศิลป์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่นำเกร็ดความรู้และแรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มาใส่กล่องรูปแบบพิเศษ เพื่อสะดวกต่อการพกพาและแชร์ความรู้ได้ทุกที่ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นกิจกรรมที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
นิทรรศการ ของดีควรดู มิวเซียมน่ารู้ในจุฬาฯ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม – 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่ห้องนิทรรศการ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Chula Museum