Chosen Family เพลงส่งท้ายโอลิมปิก - Urban Creature

หลังการแสดงโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ 2020 ได้จบลง พลุหลากสีถูกจุดขึ้นเฉลิมฉลอง ก่อนหน้าจอ LED ขนาดใหญ่ในสนามจะปรากฏคำว่า ‘Arigato’ (ขอบคุณ) พร้อมเสียงเปียโนดังขึ้นช้าๆ ตามด้วยประโยค “Where do I belong?” (พื้นที่ของฉันอยู่ตรงไหน?) ก่อนบรรดาผู้สื่อข่าวจะประกาศอำลาผู้ชมทางบ้านว่าโอลิมปิกในครั้งนี้ได้จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว

แม้ดนตรีจะบรรเลงช่วงสั้นๆ แต่กลุ่มแฟนเพลงที่ชื่อ ‘Pixels’ (พิกเซล) ของ Rina Sawayama นักร้องสาวชาวญี่ปุ่นที่เติบโตในลอนดอนก็รับรู้ได้ทันทีเลยว่านี่คือเพลง ‘Chosen Family’ จากอัลบั้ม SAWAYAMA ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 2020 และถูกดัดแปลงเป็นเวอร์ชัน Live Session ซึ่งได้นักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงระดับตำนานอย่าง ‘Elton John’ มาร่วมร้องในต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับชาวพิกเซลคงบอกได้ว่า What a surprise! ที่เพลงของรินะได้ถูกเปิดในโตเกียว 2020 เพราะเมื่อปี 2018 มีคนถามว่า Alterlife ควรเป็นเพลงชาติ ใช่หรือไม่?” ซึ่งเธอตอบกลับว่า “จริงๆ แล้วฉันอยากให้มันเป็นเพลงในโอลิมปิกโตเกียว 2020 แต่ไม่รู้ว่าจะติดต่อใครดี ฮ่าๆ” ถึงแม้เวลาจริงจะเปิดเพลง Chosen Family แทนแต่แฟนคลับของซาวายามะถือว่ามิชชันคอมพลีตแล้วล่ะ (You did it! Sawayama)

โตเกียวเกมส์ 2020 ครั้งนี้มีวิสัยทัศน์ว่า Diversity & Inclusion (D&I) พร้อมสโลแกน “Know Differences, Show Differences.” เพื่อบอกว่ากิจกรรมในครั้งนี้ พวกเขายอมรับความหลากหลาย ทั้งอายุ เชื้อชาติ สัญชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ ความเชื่อทางศาสนา หรือความบกพร่องทางปัญญาหรือแม้แต่ร่างกายก็ตาม 

ทำให้ผู้ชมค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เมื่อหัวใจของเพลง Chosen Family ตั้งใจสื่อสารให้กลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะ ซึ่งอินเตอร์แฟนรวมถึงนิฮงจินบางคนถึงกับเกาหัวแกรกๆ ว่าการที่โตเกียว 2020 เปิดเพลงนี้ปิดท้ายเป็นความตั้งใจที่อยากบอกชาวโลกว่าญี่ปุ่นกำลังเปิดรับความหลากหลายทางเพศ หรือใช้เป็นแค่ ‘ฉากหน้า’ เฉยๆ เพราะกฎหมายสมรสเพศเดียวกันและกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ รัฐบาลญี่ปุ่นยังปัดตกอยู่เลย! / กำหมัด

เกิดที่นีงาตะ สยายปีกในลอนดอน
และประกาศตัวว่าเป็น Pansexual

ก่อนจะไปแกะความหมายเพลง Chosen Family เราขอแนะนำให้รู้จัก Rina Sawayama หญิงสาวผมส้มที่ติดอยู่ในความทรงจำใครหลายคน เธอเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง และนางแบบลุคเปรี้ยวซ่า ถ้าได้เห็นภาพแฟชั่นปังๆ บนอินสตาแกรม คงคิดว่าเธอเป็นแฟชั่นไอคอนมากกว่าศิลปินแน่นอน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าซาวายามะเป็นชาวญี่ปุ่นที่เกิดในจังหวัดนีงาตะ แต่เติบโตในลอนดอนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แม่ของรินะมักจะสอนวัฒนธรรมจากบ้านเกิดให้ลูกสาวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือรายการทีวีและภาพยนตร์ที่ดาวน์โหลดมาให้เพื่อเธอซึมซับความเป็นญี่ปุ่นมากที่สุด ถึงตอนแรกรินะจะไม่โอเคกับความเป็นนิฮงจินเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันเธอกลับภูมิอกภูมิใจกับสัญชาติของตัวเองเอามากๆ

นับตั้งแต่ซาวายามะเปิดตัวในฐานะศิลปินด้วยเพลง ‘Sleeping in Waking’ ปี 2013 เธอก็มีอิทธิพลกับวงการเพลงป็อปโลก เพราะผลงานเพลงมากมายที่โลกให้การยอมรับว่าเป็นศิลปินที่น่าจับตามองสุดๆ อย่างมินิอัลบั้มแรกที่ชื่อว่า RINA ติด 1 ใน 20 อัลบั้มเพลงป็อปและอาร์แอนด์บีที่ดีที่สุดในปี 2017 จาก Pitchfork ไม่ว่าจะเป็นเพลง Cyber Stockholm Syndrome, Tunnel Vision หรือ Alterlife ส่วนอัลบั้มล่าสุดอย่าง SAWAYAMA ก็ติด 1 ใน 50 อัลบั้มที่ดีที่สุดแห่งปี 2020 จาก National Public Radio (NPR) คงไม่ต้องพูดถึงสารพัดคำชมอีกนับล้านข้อความที่สรรเสริญว่าเธอเป็นศิลปินที่มาแรงที่สุดในศตวรรษนี้!

ถ้าลองฟังเพลงของซาวายามะดูดีๆ จะมีกลิ่นอายของ J-POP ผสมผสานเข้ากับสไตล์ของนักร้องสาว Britney Spears, วงอัลเทอร์เนทีฟร็อก N.E.R.D, วงร็อกที่มีนักร้องหญิงอย่าง Evanescence และวงร็อกแนวนูเมทัลอย่าง Korn ซึ่งเธอนำเอาวัตถุดิบเหล่านี้ผสมออกมาเป็นเพลงป็อปในสไตล์ของตัวเองได้อย่างลงตัว ถือเป็นความอัจฉริยะด้านดนตรีที่ทุกคนให้การยอมรับ

ความน่าสนใจของซาวายามะยังไม่หมดเท่านั้น เพราะในปี 2018 เธอออกมา Come out ผ่านทางมีเดียชื่อดังอย่าง Vice ว่าตัวเองเป็น ‘Pansexual’ มีความรัก ความปรารถนาทางเพศ หรือดึงดูดทางอารมณ์ต่อผู้อื่นโดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งก่อนหน้านั้นเธอไม่เคยออกมาพูดถึงเพศวิถีของตัวเองมาก่อน เพราะครอบครัวยังไม่เปิดรับพร้อมกับแชร์ประสบการณ์ว่าช่วงอายุ 8 – 9 ขวบ แม่ของรินะบังเอิญเห็นเธอจูบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ก่อนจะแยกพวกเธอจากกัน 

หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกพูดถึงในครอบครัวอีกเลย จนกระทั่งเธอเติบโตและลองบอกแม่ว่าจะไปเดตกับผู้หญิง แม่ก็มักจะถามเสมอว่า ‘ทำไมถึงพูดออกมาแบบนั้น’ ขณะที่เวลาบอกว่าจะไปเดตกับผู้ชาย แม่กลับพูดว่า ‘ดีจังเลย เขาเป็นคนชอบอะไรแบบไหนบ้างล่ะ’ 

เรียกได้ว่าการไม่ยอมรับ LGBTQ+ ในอดีตทำให้เธออึดอัดมาก แต่สุดท้ายเมื่อได้พบกับกลุ่มเพื่อน LGBTQ+ ที่ทำให้เธอสบายใจ ก็กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญจนเธอแต่งเป็นเพลงที่สื่อสารเรื่องราวของ LGBTQ+ อย่าง Cherry หรือ Chosen Family 

โตแล้วจะเลือกครอบครัวแบบไหนก็ได้

ย้อนกลับมาที่ ‘Chosen Family’ เพลงบัลลาดหนึ่งเดียวที่เป็นเพลงรองในอัลบั้ม SAWAYAMA ที่ทำให้แฟนๆ ชื่นชมว่าเป็นบทเพลงที่ทรงพลัง เพราะบางคนถึงกับเสียน้ำตาเมื่อได้รับฟัง เมื่อได้ปลดล็อกตัวเองจากการไม่เป็นที่ยอมรับของครอบครัว

แรกเริ่มเดิมทีซาวายามะต้องการให้เพลงนี้ส่งสารถึงกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัวหลังจาก Come out เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าตัวเองเลือกครอบครัวในรูปแบบที่ใจต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดหรือยีนเดียวกัน ดังท่อนฮุกที่เธอร้องว่า “We don’t need to be related to relate, we don’t need to share genes or a surname.”

ซาวายามะเล่าแรงบันดาลใจการแต่งเพลง ผ่าน Pitchfork ว่า “เธอรู้จักคนที่ถูกไล่ออกจากบ้านตั้งแต่อายุสิบเจ็ดปี เพียงเพราะเปิดตัวว่าเป็นเกย์” ซึ่งยังมี LGBTQ+ อีกหลายคนต้องเผชิญปัญหาการกีดกันทางเพศจากผู้คนในสังคม จนเฝ้าถามตัวเองว่า “Where do I belong?” ฉันควรจะหยัดยืนอยู่ตรงไหน พื้นที่ไหนบ้างที่พอจะให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้มีชีวิตอยู่ คำถามสำคัญนี้ผลักดันให้ซาวายามะต้องการขยายคำจำกัดความคำว่า ‘ครอบครัว’ เสียใหม่ 

ถึงแม้ว่าในวันนี้เราไม่ได้เป็นที่ยอมรับแต่ก็เลือกครอบครัวที่เรารักและสนับสนุนตัวเองได้เสมอ เพราะถ้ามองกลับมาที่ตัวตนของนักร้องสาวเธอก็มีทั้งครอบครัวที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งให้การต้อนรับตัวตนของตนเป็นอย่างดี คนรอบข้างแบบนี้นี่เองที่ทำให้เธอรู้สึกสบายใจและแฮปปี้สุดๆ Chosen Family จึงเปรียบเสมือนเพลงที่เป็นบทบันทึกการยอมรับซึ่งกันและกัน และเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเป็นอย่างแท้จริง โดยปราศจากการกีดกันใดๆ ที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งกล้าเป็นตัวเอง 

นี่จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดไปพอๆ กับความรู้สึกยินดีที่เพลง Chosen Family ถูกเปิดในพิธีปิดของโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ 2020 เพราะมันอาจดูย้อนแย้งไปกับทัศนคติของญี่ปุ่นที่ยังไม่เปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ เท่าที่ควร อีกทั้งวัฒนธรรมหลายด้านของญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นการแบ่งแยกระหว่าง ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ เท่านั้น เช่น บางบริษัทที่มีกฎระเบียบให้พนักงานสวมใส่เครื่องแบบตามเพศกำเนิดเท่านั้น

แม้สังคมญี่ปุ่นจะไม่ได้สบถหรือด่าทอออกมาตรงๆ แต่เมื่อประกาศว่าเป็นชายรักชายก็จะถูกเลือกปฏิบัติ ไม่นับรวมกฎหมายที่ยังไม่รองรับการสมรสเท่าเทียม หรือผู้ชายข้ามเพศที่ไม่ได้แปลงเพศหรือทำหมันจะยังเลือกสถานะทางเพศให้เป็นผู้ชายไม่ได้ ซ้ำร้ายยังถูกวินิจฉัยให้เป็นผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศผิดปกติอีกด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าการเลือกเพลง Chosen Family มาปิดท้ายโอลิมปิกครั้งนี้ คือการสื่อสารว่าคนญี่ปุ่นทุกคนเปิดรับ LGBTQ+ อย่างแท้จริง หลังจากการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติครั้งนี้ เราอาจต้องให้ ‘เวลา’ และ ‘การกระทำ’ เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างแน่ชัดอีกครั้ง ทว่าอย่างน้อยๆ บทเพลงของซาวายามะที่ร่วมบรรเลงไปกับจอห์นก็ส่งเสียงสะท้อนออกไปถึงคนทั่วโลก เพราะไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นหรอกที่ควรยอมรับและเคารพความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นคนทั้งโลกต่างหากที่จะได้ตระหนักว่าพวกเราทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน

อีกแง่หนึ่ง Chosen Family ไม่เพียงมีไว้มอบให้กับกลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังพูดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบโลกได้อย่างดีด้วย ทั้ง #StopAsianHate ความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง หรือการเหยียดคนผิวดำก็ตาม สุดท้ายแก่นของเพลงนี้กำลังพูดถึง ‘การยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นอย่างแท้จริง’ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือนำชาวโลกไปสู่ ‘สันติภาพ’ ร่วมกัน

เช่นเดียวกับ Elton John ที่ให้สัมภาษณ์กับ Billboard ไว้ว่า “Chosen Family เป็นบทเพลงเกี่ยวกับสันติภาพ การยอมรับ และความอดทน ผมไม่แคร์ว่าใครจะเลือกพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต จะเป็นคนเอเชีย คนผิวดำ หรือคนผิวขาว แต่ผมไม่ชอบให้ผู้คนใช้ความหลากหลายเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือเพื่อปลุกระดมความเกลียดชัง”

หากคุณต้องการสัมผัสความลึกซึ้งของเนื้อร้องและท่วงทำนองของเพลงส่งท้ายงานโอลิมปิกครั้งนี้อีกหน คงต้องลองพิสูจน์ให้ทัชใจด้วยตัวคุณเอง!

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.