สินค้า Fast Fashion ได้รับความนิยมและกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าแฟชั่นต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการแต่งตัวตามกระแสและเน้นใส่เพียงไม่กี่ครั้ง แต่กระแสนิยม Fast Fashion ก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลและยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
Fast Fashion กำลังเป็นปัญหาระดับโลก เห็นได้จากกองภูเขาขยะเสื้อผ้ามหึมาที่ถูกทิ้งร้างในทะเลทรายอาตากามา (Atacama) ในประเทศชิลี ซึ่งเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดในโลก เสื้อผ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกผลิตในจีนและบังกลาเทศ ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนชิลีคือปลายทางสุดท้าย ทำให้ชิลีกลายเป็นศูนย์กลางของเสื้อผ้ามือสองและเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว
ในแต่ละปีมีเสื้อผ้าจากทั่วโลกประมาณ 59,000 ตัน ถูกส่งมายังท่าเรืออิกิเก (Iquique Port) ในเขตปลอดอากร อัลโต ฮอสปิซิโอ (Alto Hospicio Free Zone) ทางตอนเหนือของชิลี เสื้อผ้าจำนวนหนึ่งมีบรรดาพ่อค้าเดินทางมาซื้อเพื่อไปขายต่อ ขณะที่บางส่วนถูกลักลอบส่งต่อไปยังประเทศแถบลาตินอเมริกา
ทั้งนี้ จะมีเสื้อผ้าราว 39,000 ตันที่ไม่สามารถขายได้และต้องมาจบลงที่กองขยะในทะเลทรายอาตากามา ทำให้ขยะแฟชั่นกองพะเนินอย่างที่เห็น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าไม่มีใครจ่ายภาษีให้กับเสื้อผ้าที่ขายไม่ได้ สินค้าแฟชั่นเหล่านี้จึงต้องอยู่ในเขตปลอดภาษีต่อไป โดยสาเหตุสำคัญที่ชิลีมีภูเขาขยะเสื้อผ้าขนาดยักษ์ก็เพราะว่า สินค้าเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ (Non-biodegradable) และยังมีสารเคมี จึงไม่สามารถฝังกลบในพื้นที่ของเทศบาลได้
ส่วนกระบวนการผลิตสินค้า Fast Fashion ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน่ากังวลเช่นกัน รายงานของสหประชาชาติ (UN) ในปี 2019 เปิดเผยว่า การผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงปี 2000 – 2014 ทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นที่มาของน้ำเสียทั่วโลกถึง 20% เพราะต้องใช้น้ำจำนวนมากในการผลิต อย่างการผลิตกางเกงยีนส์เพียงหนึ่งตัวต้องใช้น้ำมากถึง 7,500 ลิตร (หรือเทียบเท่ากับน้ำขวดใหญ่จำนวน 5,000 ขวด)
มากไปกว่านั้น การผลิตเสื้อผ้าและรองเท้ายังมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 8% และทุกๆ วินาที สิ่งทอจำนวนหนึ่ง (เทียบเท่ากับรถขยะหนึ่งคัน) จะถูกฝังกลบหรือเผาอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนโลก แต่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่กองไว้กลางแจ้งหรือฝังไว้ใต้ดิน พวกมันล้วนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถปล่อยมลพิษสู่อากาศหรือช่องทางน้ำใต้ดินได้ ซึ่งเสื้อผ้าอาจต้องใช้เวลามากถึง 200 ปีในการย่อยสลายทางชีวภาพ และเสื้อผ้ายังเป็นพิษพอๆ กับยางรถยนต์หรือพลาสติกที่ถูกทิ้งด้วย
ทั้งนี้ ภูเขาขยะยังคงมีประโยชน์กับคนบางกลุ่ม เพราะมีคนยากไร้กว่า 300,000 คนในพื้นที่ ที่รื้อกองขยะ เพื่อหาเสื้อผ้าแบบที่ต้องการหรือสินค้าที่สามารถขายต่อได้ และยังมีผู้อพยพที่เดินทางมาชิลีเพื่อค้นหาเสื้อผ้าสำหรับเด็กและเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในช่วงฤดูหนาวด้วย