ภารกิจ #Saveยางนา กู้ชีพไม้หมายเมืองเชียงใหม่ - Urban Creature

นั่งรถ 15 นาทีจากสนามบินเชียงใหม่สู่คูเมือง มองบรรยากาศเมืองเก่าที่มีเสน่ห์ พลางคิดถึงภารกิจ Save ยางนา ที่ทำให้เราเดินทางขึ้นเหนือ

ภารกิจครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อเราเห็นภาพโปสเตอร์ที่มีข้อความว่า “ฮอมฮักฮอมแฮง Saveยางนา ฮักษาอินทขิล ชวนร่วมเก็บเศษอิฐ เศษปูนชิ้นเล็กๆ ออกจากเก๊ายางหลวง” พร้อมทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้สอบถามที่ถูกโพสต์ลงเพจ Saveยางนา ฮักษาอินทขิล ก่อตั้งขึ้นโดยทีมเชียงใหม่มรดกโลก เพื่อโอบอุ้มรักษา ต้นยางนาหลวง ไม้หมายเมืองภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่การเป็นมรดกโลก 

เราจึงต่อสายตรงหา อาจารย์ป้อง-วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์สาขาภูมิสถาปัตยกรรม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเบอร์ในภาพนั้น เพื่อนัดหมายให้เขาพาเราไป Save ยางนา กันถึงถิ่น

“เจอกันใต้เก๊า (โคน) ต้นยางนาหลวงครับ แล้วจะเห็นป้ายที่เขียนว่าฮอมฮักฮอมแฮง แต่งตัวทะมัดทะแมง แล้วก็เตรียมหมวกมาหน่อย”
 

ปื๊นเก๊ายางหลวง

เรือนยอดเสียดฟ้าเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อเดินเข้าวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดเก่าแก่แห่งที่ 2 ตั้งแต่ตั้งเวียงเชียงใหม่ เราเดินเข้าไปด้านใน เพื่อไปยังใต้เก๊าต้นยางนาหลวงตามนัดหมาย อาจารย์ป้องยืนอยู่ตรงนั้น เราเอ่ยทักทายกัน แล้วเริ่มพูดคุยถึงปื๊น (ตำนาน) ของยางนาหลวง

เขาสร้างความเข้าใจว่า ไม้หมายเมือง คือต้นไม้ที่ปลูกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเวียงเชียงใหม่ เมื่อเติบโตจนสูงใหญ่จะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่าเดินทางมาถึงที่แล้ว และยางนาหลวงต้นนี้คือไม้หมายเมืองหนึ่งเดียวที่ยังยืนหยัดคู่เชียงใหม่

“มีคนเล่าว่า แต่ก่อนถ้านั่งเรือจากกรุงเทพฯ มาถึงอำเภอสารภี พอเห็นต้นยางนาต้นนี้ให้เตรียมตัวเก็บของเลย เพราะเดี๋ยวจะถึงท่านำปิงแล้ว

“ตามตำนานของยางนาหลวงมีสองตำนาน ตำนานแรกบอกว่า ปลูกเมื่อปี 2339 สมัยเชียงใหม่ยังเป็นเมืองร้าง แล้วพระเจ้ากาวิละกวาดต้อนคนยองมาจากสิบสองปันนา ซึ่งนับถือต้นยางนาเช่นกัน เลยเริ่มปลูก

“ตำนานอีกเรื่องบอกว่าปลูกปี 2341 ตอนที่ย้ายเสาอินทขิลจากประตูเมืองเข้าวัดเจดีย์หลวง แต่สองตำนานเวลาห่างกันไม่กี่ปี รวมๆ ตอนนี้ต้นยางนาหลวงก็มีอายุราวสองร้อยยี่สิบปีแล้ว” 

อีกหนึ่งหน้าที่ของไม้หมายเมือง คือเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งศรัทธา เพราะชาวเชียงใหม่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณ ภูเขา แม่น้ำ ก้อนหิน ไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ จึงมีการไหว้เพื่อขอพร เพื่อขอโทษ อีกนัยคือเพื่อประนีประนอมกับทรัพยากรเหล่านั้น ไม่ให้มนุษย์ใช้จนหมด เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของเหล่าวิญญาณภายใน ที่คอยคุ้มครองบ้านเมืองให้สงบสุข อย่างต้นยางนาหลวงนี้จะใช้สำหรับงานอินทขิล ซึ่งเป็นพิธีไหว้เสาหลักเมืองของชาวเชียงใหม่


ฮอมฮักฮอมแฮง

ร่มเงาจากเหล่ากิ่งก้านแผ่ปกคลุมผู้ยืนอยู่ภายใต้ เราหยิบถังเปล่าที่วางไว้ตรงเก๊าเพื่อเตรียมเก็บเศษอิฐ ก่อนถามอาจารย์ป้องว่าทำไมต้อง #Saveยางนา 

“เพราะใบต้นยางนาร่วงในหน้าฝน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และผลมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับต้นข้างเคียง นั่นแปลว่าการเจริญเติบโตกำลังตกลงเรื่อยๆ” 

ปรากฏการณ์ไม่น่ายินดีนำมาสู่การวางแผนรักษาต้นยางนาหลวง อาจารย์ป้องนำเรื่องไปหารือกับทีมงานขับเคลื่อนเชียงใหม่มรดกโลก แล้วหาสาเหตุของอาการใบร่วง ก่อนพบว่าเพราะพื้นคอนกรีตที่ล้อมต้นนั้นมีขอบคันเหมือนกระถางยักษ์ จนบีบรากที่ชอนไชอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีการเทปูนทุกปีตามความศรัทธา เพื่อช่วยให้บริเวณนี้ไม่สกปรก แต่ความหวังดีในความไม่รู้ อาจทำให้ยางนาต้นนี้หายไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

เขาและทีมจึงเริ่มประสานงานกับเจ้าอาวาส เพื่อนำเหตุผลต่างๆ เข้านัดคุยกับคณะกรรมการวัดที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ากลัวต้นยางนาหลวงตาย จึงอนุมัติการรื้อถอนและปรับปรุงพื้นที่ด้านล่างใหม่ให้กลายเป็นสนามหญ้า

แม้จะทำงานอนุรักษ์ต้นไม้มาหลายต่อหลายต้น แต่ครั้งนี้อาจารย์ป้องมองภาพการทำงานให้ลึกกว่าเดิม เขานึกถึงมิติของการมีส่วนร่วมที่กว้างขึ้น นอกจากนักโบราณคดี นักวิชาการป่าไม้ และภูมิสถาปนิก บุคคลทั่วไปก็ร่วมอนุรักษ์ต้นยางนาหลวงได้

“ผมว่านักวิทยาศาสตร์ ช่างภาพ นักเขียน นักร้อง หรือบุคคลทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ได้ตามความถนัดของเขา เลยประกาศไปยังกลุ่มต่างๆ ปรากฏว่าอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สนใจมาช่วยดูจุลินทรีย์ที่อยู่ในต้นยางนาให้ ว่าหลังจากที่ปรับปรุงไปแล้วในรอบหนึ่งเดือนจุลินทรีย์เปลี่ยนไปอย่างไร อาจารย์ที่เป็นนักปฐพีศาสตร์มาช่วยดูคุณภาพดินให้ มีบริษัทสแกนสามมิติมาช่วยสแกนต้นยางนาทั้งต้น สภาลมหายใจเชียงใหม่ช่วยเก็บภาพและข้อมูลสำหรับผลิตสื่อ ทีมเชียงใหม่เขียว สวย หอม เข้าร่วม 

“ขนาดคนเชียงใหม่ที่อยู่ในเยอรมนียังติดต่อมาถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เขาเห็นข่าวแล้วรู้สึกมีความสุขมาก แค่ผมได้ยินอะไรแบบนี้ก็ดีใจมากๆ แล้วครับ และยังมีคนอีกมากมายที่อยากช่วยกันเซฟต้นยางนา

“หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ สมัยก่อนใช้การบอกต่อให้ชาวบ้านและทุกคนมาช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้เช่นกัน ใครเป็นช่างหล่อพระก็มา ใครเป็นช่างปูนก็มา ไม่ได้จำกัดว่าใครเป็นนักอะไรโดยเฉพาะ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในหลักการอนุรักษ์คือ ถ้าคนในพื้นที่รู้และเข้าใจว่าทำไมต้องอนุรักษ์ เขาจะช่วยกันดูแลโดยไม่ต้องมีกฎระเบียบไปควบคุม และทุกคนจะลงมือทำด้วยใจ”


ฮักษายางนาหลวง 

เมื่อหลายดวงใจรวมเป็นหนึ่งเดียว ปฏิบัติการ 1 เดือนเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นยางนาหลวง ไม้หมายเมืองเชียงใหม่จึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ และอย่างเปิดเผย เพื่อให้คนภายนอกเห็นว่า การอนุรักษ์ดำเนินอย่างไร ถึงขั้นตอนไหนแล้ว และสร้างให้เป็นพื้นที่ที่ใครก็เข้าถึงได้

ขั้นที่ 1 รื้อถอน 20 – 23 มีนาคม 2564

กะเทาะลานซีเมนต์ใต้ต้นยางนา คือจุดเริ่มแสนหนักหน่วง เพราะการรื้อออกโดยใช้รถแบ็กโฮและหัวเจาะนั้นต้องคอยระมัดระวังไม่ให้โดนรากที่ซุกอยู่ใต้ดินและแทรกอยู่ระหว่างชั้นซีเมนต์ ซึ่งเมื่อรื้อจึงพบว่ามีซีเมนต์ทับอยู่ 6 ชั้น หนาถึง 23 เซนติเมตร การเจาะซีเมนต์ใช้เวลาประมาณวันกว่า จนได้พบชั้นดินหนา 1.2 เมตรที่ทับถมโคนต้น จึงช่วยกันขุดออก ท้ายที่สุดสายตาของทุกคนก็ได้เห็นรากขนาดใหญ่ที่ยาวถึง 3.2 เมตร ตามด้วยการตักปูนและดินออกด้วยแบ็กโฮ และใช้รถจากเทศบาลขนไปทิ้งราว 20 เที่ยว

“พอเอาดินออกแล้ว เราจะเห็นโคนต้นไม้ที่ผายออก ผมเลยเปิดให้คนเข้าไปโอบกอด เข้าไปสัมผัสต้นยางนาได้ ซึ่งมีคนเห็นแล้วพูดว่า โอ้โห ไม่เคยคิดเลยว่าต้นจะใหญ่ขนาดนี้”

ขั้นที่ 2 ฟื้นฟูราก 24 มีนาคม 2564 

เมื่อเคลียร์สิ่งที่เคยกดทับราก ก็ถึงเวลาของหมอต้นไม้เชียงใหม่ ทำความสะอาดรากและโคนต้นด้วย เสียมลมเป่า เทคโนโลยีที่กำลังใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นเครื่องที่มีความแรงลมประมาณ 450 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะต้นยางนาขนาดใหญ่นี้พรวนดินไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ลมเป่าเพื่อให้ดินออกแต่รากไม่ขาด ก่อนใส่วัสดุปลูกที่ดีเข้าไปใหม่ เป็นปุ๋ยใบยางหมักที่ทีมอนุรักษ์ยางนาที่ถนนสายต้นยางเชียงใหม่-ลำพูนช่วยกันปั่นมาใส่ต้นยางหลวง 

“การจัดการต้นไม้เก่าแก่ ประเด็นไม่ใช่คุณบอกว่ารักต้นไม้แล้วไปตัดแต่งมันให้สวยงาม แต่สิ่งสำคัญคือรากที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะพาอาหาร น้ำ และเหล่าอณูเล็กๆ ไปเลี้ยงข้างบน เขาแข็งแรงพอหรือยัง ดังนั้น ทุกๆ การรักษา ต้องรักษารากให้แข็งแรงก่อน เพราะต่อให้ข้างบนสวยงามแค่ไหน แต่ถ้ารากมีปัญหา สุดท้ายต้นไม้ก็จะมีปัญหา”

ขั้นที่ 2.1 ฮอมฮักฮอมแฮง 24 – 28 มีนาคม 2564 เวลา 9.00 – 17.00 น.

ขั้นตอนพิเศษที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูราก คือการชักชวนให้ผู้คน ทั้งชาวบ้าน พนักงานโรงแรม ผู้ใหญ่ ไปจนถึงเด็กอนุบาล ได้ฮอมฮัก (รวมรัก) และฮอมแฮง (รวมแรง) ที่มีมาร่วมกันเก็บเศษอิฐ เศษปูน และเศษกระเบื้อง ออกจากเก๊ายางหลวง เราจึงได้เห็นภาพที่ไม่ค่อยได้เห็น เพราะแม้เป็นพื้นที่โบราณสถาน แต่ก็เปิดให้คนหยิบจอบ หยิบถัง เข้ามาช่วยกัน บางคนเจอเหรียญสตางค์รูก็อนุญาตให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือจะเอาไว้วัดก็ย่อมได้เช่นกัน

ขั้นที่ 3 ตัดแต่ง 29 – 30 มีนาคม 2564

หลังฟื้นฟูรากและมีผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วม Saveยางนา ฮักษาอินทขิล ก็ถึงเวลาตัดแต่งยอดคุณทวดวัย 220 ปี โดยรุกขกร 8 คนจากทีม happy tree รับหน้าที่เสริมสวยให้เข้ารูป ตัดกิ่งแห้ง รักษาแผลที่ฉีกขาด ไล่เหล่ากาฝาก พร้อมด้วยทีมวิทยาศาสตร์เพื่อล้านนาที่ขึ้นไปเก็บตัวอย่างสำหรับศึกษาดีเอ็นเอและจุลินทรีย์เฉพาะถิ่น 

นอกจากนี้ ยังสำรวจโพรงขนาดใหญ่ด้านบน ซึ่งการมีอยู่เป็นสัญญาณไม่ดี เพราะจะเป็นช่องทางของน้ำขังที่จะทำให้ลำต้นผุลุกลาม แกนต้นเสียหาย นำไปสู่การโค่นล้ม 

“โพรงที่เกิดนั้นมาจากการหักเหตามธรรมชาติ แล้วเปลือกต้นไม้ไม่หุ้ม ซึ่งผมจะไม่ใช้วิธีการอุดโพรงอีกต่อไปครับ จะไม่เอาสิ่งแปลกปลอมไปใส่ต้นไม้ใหญ่เด็ดขาด แต่จะทำทางเบี่ยงเพื่อให้น้ำไม่ขังในโพรง เพราะการอุดโพรง เอาจริงๆ ทำเพื่อความสบายใจของคนที่คิดว่าโพรงมันดูน่าเกลียด”

ขั้นที่ 4 ปรับปรุงดิน 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2564

เดินทางมาถึงขั้นการปรับปรุงดินโดยทีมปฐพีศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหมอต้นไม้ ซึ่งเริ่มจากการเก็บเศษวัสดุรอบรากและโคนต้นยางนาออกให้หมดเกลี้ยง ก่อนนำวัสดุปรุงดินซึ่งเป็นดินผสมปุ๋ยมาปรับปรุงให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ พร้อมปรับผิวดินเบื้องต้น

ขั้นที่ 5 ปูหญ้า 3 – 6 เมษายน 2564 เวลา 09.00 – 17.00 น.

ภารกิจฮักษายางนาหลวงกำลังจะสำเร็จ ลำดับขั้นเดินทางมาเกือบสุดขบวน นั่นคือการปูหญ้า ทำระบบระบายน้ำใต้ดิน และปูแผ่นพื้นทางเดิน โดยบริษัท Grassyland ที่จะมาช่วยดูแลขั้นตอนนี้ พร้อมชวนฮอมแฮงอีกครั้ง เพื่อขนดิน ปลูกหญ้า ปรับทราย และเก็บรายละเอียดรอบไม้หมายเมืองเวียงเชียงใหม่ และหลังจากทุกขั้นต้นในปฏิบัติการครั้งนี้เสร็จสิ้น ทีมจะเก็บข้อมูลต้นยางนาทุกๆ 3 เดือน ทั้งข้อมูลเรือนยอดด้วยโดรน ตัวอย่างดิน ตัวอย่างพืช เพื่อการรักษาอย่างยั่งยืน


คู่จาวเจียงใหม่

เมื่อถึงคราวประเพณีอินทขิลวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ต้นยางนาหลวงที่ฮอมฮักฮอมแฮงเพื่อฮักษาจะยืนหยัดอย่างสง่างาม ให้ทุกคนนำสรวยดอก หรือกรวยใบตองใส่ดอกไม้ที่เตรียมไว้ มาวางที่โคนต้นยางนาด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา 

ไม่เพียงเท่านั้น ต้นยางนาหลวง ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ยังเป็นอีกห้วงความทรงจำตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงวัยเยาว์ในปัจจุบัน ที่จะหลอมรวมสายใยชาวเชียงใหม่ให้แน่นแฟ้น

“มีคุณครูที่เคยสอนอยู่แถวนี้มาร่วมเก็บเศษอิฐแล้วเล่าให้ผมฟังว่า แต่ก่อนเคยมาวิ่งเล่นใต้ต้นยางนาต้นนี้แล้วเจอรังผึ้งใหญ่มากเลย เขามีความทรงจำแบบนี้กับต้นยางนา ซึ่งสำหรับรุ่นเรา ผมอยากชวนมาสร้างความทรงจำร่วมกันว่า ตอนแรกมันจะตายแล้วนะ แต่พวกเรานี่แหละที่มาช่วยกันเก็บอิฐออก ต้นยางนาเลยยังมีชีวิต เพื่อส่งต่อความทรงจำให้คนรุ่นต่อไป

“เพราะการที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเกิดและเติบโต ไม่สามารถทำได้ด้วยคนคนเดียว ต่อให้คุณมีแรงขุดหลุม ปลูก หยอดเมล็ด แต่ในระยะยาว ต้นไม้ต้องการความรักจากหลายๆ คนถึงจะอยู่ได้นาน และการ Saveยางนา ต้นนี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า ความรักของทุกคนจะช่วยอนุรักษ์ต้นไม้ เพราะเราจะเกิดความหวงแหน โดยไม่ต้องมีระเบียบมาบังคับว่าห้ามปีน ห้ามตัด ห้ามทิ้งขยะ ทุกคนจะซึมซับด้วยหัวใจของตัวเอง”

การออกปฏิบัติภารกิจ Save ยางนา กับอาจารย์ป้อง-วรงค์ วงศ์ลังกา แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่นาน แต่ภาพของการรวมใจเป็นหนึ่งของชาวเชียงใหม่ ภาพไม้หมายเมืองอย่างยางนาหลวงได้ยืนต้นถึงรุ่นลูกหลานต่อไป ก็ทำให้เรารู้สึกคุ้มค่ามากมายที่ขึ้นมาแอ่วเชียงใหม่ในครั้งนี้


 ภาพ : โปรเจกต์ Saveยางนา ฮักษาอินทขิล

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.