Char Co- ของแต่งบ้านจากถ่าน ดูดกลิ่น ดูดความชื้น - Urban Creature

จับถ่านทีมือดำปี๋ ไม่ระวังให้ดีหล่นนิดเดียวก็แตก ทำเอาหลายคนไม่อยากสัมผัสถ่าน จะหยิบก็ต้องควานหาถุงมือมาใส่กันเลอะ ความไม่อยากจับถ่านที่ใครๆ รู้สึก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Char Co- แบรนด์ของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกาง ของสามนักออกแบบเอาถ่านอย่าง ปอนด์-ธีรศักดิ์ ลิ้มทัตธนกุล น็อต-นภดล สังวาลเพ็ชร และ แนค-วรภัทร์ เมืองรวมญาติ ที่ฉีกกฎความเป็นถ่านว่าต้องใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น สู่การเพิ่มคุณค่าเป็นของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกาง

“Char Co- มาจากคำว่าถ่าน แต่ตัด al ออกจากคำว่า Coal แล้วเติม – เพื่อสื่อว่า จะเอาถ่านมาสร้างความเป็นไปได้รูปแบบใหม่ ผ่านการใช้ร่วมกับวัสดุต่างๆ ไปจนถึงการนำถ่านไปร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ”

ซึ่งของแต่งบ้านแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ที่รองแก้ว นาฬิกา แผ่นแต่งผนัง ไปจนถึงท็อปโต๊ะนั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะต้องเดินทางไปถึงชุมชนยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อตามหาถ่านไม้โกงกาง ก่อนนำมาผสมเรซิน กลึง หั่น เพาะ เชื่อม แล้วขึ้นรูปเป็นของแต่งบ้านจากถ่านที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ซับความชื้น กรองความสกปรก และหากวันหนึ่งเกิดแตกหักก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง หรือกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีกครั้ง

คนเอาถ่าน

 เปลี่ยนมุมมองถ่านที่ประโยชน์เยอะ แต่ไม่มีใครอยากสัมผัส

Char Co- เริ่มจากธีสิสจบปริญญาตรีของปอนด์ สมัยเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งได้โจทย์ให้ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงแหวกกรอบคิดที่งานชุมชนต้องเป็นเครื่องจักสาน มุ่งสู่วัสดุถ่านที่มีคุณสมบัติหลักเป็นเชื้อเพลิง และมีคุณสมบัติแฝงอย่างดูดกลิ่น ซับความชื้น และกรองสิ่งสกปรก ที่หากนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้เหมือนวัสดุอื่น คงจะเพิ่มความพิเศษให้ถ่านธรรมดาๆ และเพิ่มประโยชน์การใช้งานให้ของแต่งบ้านหนึ่งชิ้นได้มากทีเดียว 

ชุมชนยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม คือจุดหมายของการตามหาถ่าน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ปลูกต้นโกงกางไว้สำหรับทำถ่านโดยเฉพาะ และถ่านไม้โกงกางยังมีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนสู่ของแต่งบ้านมากกว่าถ่านไม้ชนิดอื่น เพราะไม้โกงกางเป็นไม้น้ำ ที่มีความแข็งแรง เหนียว เมื่อนำมาทำถ่านแล้วจะมีความแข็งแรงกว่าไม้อื่นๆ โดยโรงเผาถ่านที่ทั้งสามเดินทางไปเป็นของบ้านน็อต ที่เปิดให้เก็บข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกไม้โกงกางจนกระทั่งเป็นถ่าน

ขั้นตอนแรกของการทำถ่านคือการเตรียมไม้โกงกางมาตากเพื่อไล่ความชื้นออกก่อนเพราะไม้โกงกางเป็นไม้น้ำ ตามด้วยตัดไม้ให้มีความยาวประมาณหนึ่งเมตร ก่อนนำเข้าเตาเผาถ่านจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้อิฐกับปูนก่อให้มีลักษณะเป็นโดมคล้ายบ้านเอสกีโมขนาดพอสำหรับคนขนท่อนไม้เข้าไปวางตรงปล่องด้านบนแล้วปิดปากปล่อง

แม้จะก่อเตาเผากันเป็นกิจจะลักษณะ แต่ความจริงแล้วเตานี้ไม่ได้ใช้เผาเพื่อให้ความร้อนกระทบไม้โดยตรง แต่ใช้เป็นพื้นที่อบไม้ให้กลายเป็นถ่าน เรียกกระบวนการนี้ว่า Carbonization หรือการไล่ออกซิเจน และความชื้นออกจากเนื้อไม้ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาร่วมหลายสัปดาห์ เพราะต้องค่อยๆ ปล่อยให้มวลเนื้อไม้เปลี่ยนเป็นคาร์บอน จึงจะได้ถ่านไม้โกงกางพร้อมใช้งาน

คนเปลี่ยนถ่าน

ทลายข้อจำกัดถ่านด้วยการเสริมและกลึง

เสร็จจากขั้นตอนลงชุมชน ตามติดด้วยการแก้ไขข้อจำกัดของถ่านไม้โกงกางที่จะทำให้การเปลี่ยนสู่ของแต่งบ้านนั้นเป็นเรื่องยาก หนึ่งคือไม่แข็งแรง สองคือเปลี่ยนรูปทรงยาก และสามคือเลอะมือ แต่สำหรับนักออกแบบเอาถ่านอย่างปอนด์ ปัญหาเหล่านี้มีทางออก

เพิ่มความแข็งแรงด้วยเรซิน – ความไม่แข็งแรงของถ่านเกิดจากการที่ไม้ถูกรีดความชื้นออกจนเสี้ยนขยายตัว จุดกึ่งกลางของใจไม้เลยไม่ต่อกัน รวมไปถึงเสี้ยนไม้บางส่วนก็ขยายจนบาง ทำให้ถ่านไม่มีจุดยึดจนแตกหักง่าย ซึ่งวิธีแก้ไขคือการเติมเรซินเข้าไปผสานช่องว่างจากการที่เสี้ยนขยายตัว เพื่อให้ถ่านแข็งแรงกว่าเดิม 

กลึงถ่านสร้างรูปทรง – เมื่อได้ถ่านที่แข็งแรงขึ้นก็ถึงเวลาค้นหาวิธีการเปลี่ยนรูป ก่อนจะเจอภูมิปัญญาในชุมชนใกล้เคียงที่โดดเด่นเรื่องการกลึง เพราะบริเวณชุมชนยี่สารอยู่ติดกับปากอ่าว จึงต้องกลึงเครื่องเรือกันสม่ำเสมอ ซึ่งเครื่องกลึงที่ใช้สามารถกลึงได้ทั้งไม้ และเหล็ก ตอนนั้นปอนด์จึงตั้งสมมติฐานว่าถ้าไม้กลึงได้ ถ่านไม้โกงกางที่เติมเรซินเข้าไปจนแข็งขึ้นก็น่าจะกลึงได้เช่นกัน ผลปรากฏว่ากลึงได้ แต่ต้องศึกษาและทดลองจนรู้ว่าต้องใช้ใบมีดคมแค่ไหน และกลึงกี่รอบถ่านถึงจะไม่แตก

ผลพลอยได้จากการกลึงคือไม่เลอะ – พื้นผิวถ่านที่ขรุขระเมื่อผ่านการกลึงแล้วจะเรียบเนียนขึ้น พอนำไปล้างน้ำ เช็ดทำความสะอาด กลายเป็นว่าถ่านที่เคยเลอะมือดำปิ๊ดปี๋ กลับจับแล้วไม่เลอะเสียอย่างนั้น เนื่องจากเนื้อไม้โกงกางไม่ได้ร่วน เมื่อผสมกับเรซินและกลึงจนเรียบจึงทำให้ถ่านแน่นขึ้น

ถึงเวลาเปลี่ยนถ่านเป็นของแต่งบ้าน สมัยทำธีสิสปอนด์ใช้คอนเซปต์ ‘เกิดจนตาย’ เพื่อเพิ่มคุณค่าของถ่านให้มีมากกว่าการใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้วโดนเขี่ยทิ้ง 

“ด้วยข้อจำกัดของถ่านที่มีมากกว่าวัสดุอื่น เราเลยนึกถึงของแต่งบ้านรูปร่างมาตรฐานก่อน เลยออกมาเป็นแจกันทรงกระบอก และนาฬิกา แล้วเพิ่มคอนเซปต์เกิดจนตายเข้าไป เพื่อพยายามขยายการมีอยู่ของถ่านให้นานขึ้น เพราะปกติเมื่อเผาไม้เป็นถ่าน สุดท้ายคนก็นำไปใช้แค่เป็นเชื้อเพลิง กินหมูกระทะ จุดเตาเผาอาหาร แต่เมื่อนำไปหล่อเรซิน ผ่านการกลึงจนเป็นของแต่งบ้าน ถ่านจะมีดีมากกว่าการเป็นเชื้อเพลิง ทั้งแต่งบ้าน ดูดกลิ่น ดูดความชื้น แล้วหากวันหนึ่งของเสียหาย มันจะกลับเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตอีกครั้งก็ได้ หรือกลายเป็นเชื้อเพลิงก็ได้”

ปอนด์ยกตัวอย่างแจกันจากถ่านไม้โกงกางให้ฟังว่า นอกจากใส่ดอกไม้ตกแต่งบ้านได้แล้ว ยังเป็นตัวกรองน้ำในแจกันให้บริสุทธิ์มากขึ้น ดอกไม้ที่ดูดซึมน้ำมาหล่อเลี้ยงก็จะสดนานขึ้น เป็นของแต่งบ้านที่สวยทั้งรูปและพ่วงด้วยสารพัดประโยชน์

แบรนด์ชุบถ่าน

Char Co- ปรับเทคนิคใหม่ๆ เพาะ หั่น เชื่อม 

แม้ธีสิสจบแต่เรื่องราวของถ่านไม้โกงกางยังไม่จบ สามนักออกแบบตัดสินใจส่งของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกางเข้าประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ครั้งที่ 5 ประจำปี 2559 (Innovative Craft Award 2016) ในชื่อ Char Co- ซึ่งคว้ารางวัลป็อปปูลาร์โหวตมาครอง แถมยังได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) กลุ่มที่ 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและประชาชนทั่วไป ในการประกวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรที่ไม่ใช่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards 2017 จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย

หลังจากนั้นปอนด์ น็อต และ แนค เลยจริงจังกับการทำแบรนด์ Char Co- ที่ยังคงใช้วิธีการเดิมอย่างการหล่อเรซิน ประกอบ และกลึง โดยโปรดักต์ชิ้นแรกที่ออกมาคือ แจกัน ที่หนึ่งชิ้นใช้เวลาทำนาน 1 – 2 วันเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราส่วนของแจกันที่ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร หน้ากว้าง 8 เซนติเมตร ถือว่าใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงเริ่มมองหาเทคนิคและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะทำให้การผลิตเร็วขึ้นได้วันละ 10 ชิ้น และได้โปรดักต์เป็นของแต่งบ้านที่แข็งแรง สวยงาม น่าใช้ยิ่งขึ้น

แนวทางใหม่ Char Co- เริ่มจาก ‘การเพาะถ่าน’ ซึ่งเป็นวิธีการเชื่อมถ่านให้เป็นแผ่นยาวขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องการกลึงที่ท่อนไม้ต้องบาลานซ์กันเท่านั้น จึงคิดเปลี่ยนจากท่อนถ่านเป็นแผ่นถ่าน ด้วยการตัดถ่านไม้โกงกางทรงกระบอกในแนวตั้งให้ออกมาเป็นแผ่น แล้วเอามาเชื่อมต่อกันด้วยการทาเรซิน ตามด้วยใช้แคลมป์ล็อก หรืออุปกรณ์สำหรับยึดวัสดุ เพื่อให้มวลถ่านชิดกันมากที่สุด แล้วถ่านจะแน่นเป็นผืน ซึ่งเทคนิคนี้ใช้เวลาทดลองกันเกือบครึ่งปี เพื่อหาความหนาของแผ่นถ่านที่จะพอดีกับแรงของแคลมป์ล็อก

อีกข้อสำคัญที่พลาดไม่ได้สำหรับการเพาะถ่าน คือการเว้นสเปซให้ถ่านแต่ละแผ่นได้หายใจ เพราะข้อจำกัดอีกอย่างของถ่านคือการแปรผันตามอุณหภูมิ ถ้าร้อนไปก็ลั่น ชื้นไปก็บวม จนสุดท้ายก็หัก ปอนด์เลยบอกว่าทุกครั้งที่ทำงานเขาจะเปรียบว่าถ่านกำลังหายใจอยู่ โดยจะเว้นพื้นที่ในการเชื่อมให้ถ่านหายใจและขยายตัวกันนิดๆ หน่อยๆ ไม่ให้ไปชนหรือบีบกับเพื่อนถ่านข้างๆ

หั่นถ่านเป็นตารางหมากรุก คืออีกเทคนิคที่ Char Co- ค้นพบ โดยการหั่นถ่านไม้โกงกางเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายตารางหมากรุก ก่อนเอามาเพาะต่อกันเป็นผืน ซึ่งความพิเศษคือในการผ่าไม้แต่ละครั้งจะเห็นใจไม้ หรือวงปีของไม้โกงกางไม่เหมือนกัน เมื่อนำมาดีไซน์เป็นของแต่งบ้าน ก็จะทำให้ของชิ้นนั้นๆ มีลวดลายไม่ซ้ำกัน กลายเป็นของแต่งบ้านที่มีชิ้นเดียวในโลก

บ้านเอาถ่าน

ของแต่งบ้านเอาถ่านที่จะเปลี่ยนลุคให้บ้านคุณ

ทุกเทคนิคที่ Char Co- ทดลองกับถ่านไม้โกงกาง เพื่อเปลี่ยนสู่ของแต่งบ้านหลากหลายรูปแบบที่จะเพิ่มความเท่ ยูนีก และมอบสารพัดประโยชน์เมื่อหยิบไปตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแจกันทรงสูงที่กลึงจนได้รูป โชว์ลวดลายของถ่านไม้โกงกางอย่างชัดเจน ตามด้วยการนำถ่านไม้โกงกางไปผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ กลายเป็นแจกันถ่านผสมไม้ และแจกันถ่านผสมทองเหลือง ทั้งยังมีแผ่นตกแต่งผนัง ที่รองแก้ว ที่ปิดแก้ว และนาฬิกา

นอกจากของแต่งบ้าน Char Co- ยังพัฒนาถ่านไม้โกงกางสู่เฟอร์นิเจอร์ ผลิตท็อปโต๊ะจากถ่านที่ดูเท่แบบเต็มสิบไม่ขอหักด้วยชื่อคอลเลกชัน ‘ภูมิฐาน’ ซึ่งเอาแผ่นถ่านมาเพาะเชื่อมกัน แล้วแต่งด้วยแผ่นถ่านที่หัก เพื่อให้พื้นผิวที่สวยไม่ซ้ำกันทำหน้าที่เป็นพร็อปติดโต๊ะ เพิ่มกิมมิกให้ท็อปโต๊ะตัวนี้ดูสุขุม นุ่ม ลึก และน่าค้นหา ถ่ายรูปก็เท่หรือจะวางแอกเซสซอรี พื้นผิวของถ่านก็ขับให้ไอเทมนั้นๆ โดดเด่นอีกเท่าตัว

คนเอาถ่านอย่างปอนด์ น็อต และแนคไม่หยุดเพียงเท่านั้น ยังเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ถ่านไม้โกงกาง พาไปคอลแลบกับแบรนด์ Pica Pen เกิดเป็น CO- Collection ที่ใช้ถ่านเป็นโครงปากกา เพื่อให้คนได้สัมผัสถ่าน และรู้สึกว่าถ่านเป็นของใกล้ตัวที่น่าจับ น่าใช้มากขึ้น 

ปอนด์-ธีรศักดิ์ ลิ้มทัตธนกุล

สิ่งที่แบรนด์ Char Co- พยายามทำเสมอ ไม่ใช่การบังคับเปลี่ยนใจคนให้อยากสัมผัสถ่าน หรือเห็นความดีงามของเหล่าของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกาง แต่ปอนด์ขอเป็นตัวแทนน็อต แนค และแบรนด์ Char Co- ชวนทุกคนลองมองถ่านให้เหมือนกับมองคน ที่อาจไม่ต้องเชื่อว่าคนนั้นเป็นอย่างไรตามที่ใครเขาพูดกัน เพราะอาจมีมุมอื่นที่ไม่เคยรู้จัก เช่นเดียวกับถ่าน ที่อยากให้ทุกคนเปิดใจลองสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกางนั้นเป็นอย่างไร เพื่อมองเห็นคุณค่าใหม่ๆ ของถ่านไม้อีกครั้ง

หากคุณอยากเป็นคนเอาถ่าน อยากมีบ้านเอาถ่านด้วยของแต่งบ้านจากถ่านไม้โกงกางของแบรนด์ Char Co- ก็ไปเลือกซื้อได้ที่ Siam Discovery โซน ODS หรือที่เพจ Char Co- ได้เลย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.