ชีวิตซิ่วสามครั้งของ ‘ชะมิญช์ มิญชญาดา’ กับมุมมองการศึกษาและความหลงไหลในกาแฟที่ดีชะมัด - Urban Creature

‘Happy Birthday Happy Birthday to you’


หนึ่งปีหนึ่งครั้งกับหนึ่งบทเพลงคุ้นหู เป็นเวลาซึ่งเด็กน้อยทุกคนต่างเฝ้าฝันว่าจะได้เป่าเทียนบนเค้กวันเกิดที่แต้มแต่งด้วยครีมหลากสีเพื่ออธิฐานถึงความฝันให้กลายเป็นจริง แต่เมื่อสิ้นเสียงเพลงแห่งการเฉลิมฉลอง ภายใต้บทเพลงที่แฝงมากับคำอวยพรนั้นมาพร้อมการแบกรับความหวังของครอบครัว เหมือนดั่งเรื่องราวในวันเกิดของเธอผู้นี้ ชะมิญช์-มิญชญาดา บุญเรือง หากของขวัญที่ได้รับในวันนั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ยังคงค้างคาใจไปตลอดชีวิต


“หนูอยากต่อเลโก้ไปตลอดชีวิตเลย”
(เสียงเธอในวัยเด็ก)

“ถ้าหนูชอบอย่างนั้นหนูต้องเป็น ‘สถาปนิก’  แม่ขอให้หนูเรียนเก่งสอบได้ 100 คะแนนเต็ม โตขึ้นหนูจะได้ประสบความสำเร็จและทำให้พ่อกับแม่ภาคภูมิใจนะลูก”
(เสียงแม่ของเธอ)


ไม่รู้ว่าตั้งแต่ตอนไหนกันที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างมีค่านิยมอวยพรวันเกิดให้เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่แล้วคำว่าเก่งในอุดมคติของพวกเขามักต้องทำคะแนนให้ได้มากถึง 100 คะแนน กลับเกิดเป็นความกดดันที่ต้องแบกรับไว้บนบ่า หากมองภาพความเป็นจริงคงมองว่าเป็นการพูดทีเล่นทีจริง แต่เห็นทีว่าคงไม่ใช่ เพราะน้อยครั้งที่ครอบครัวจะชมเด็กเพราะความชอบ ไม่ใช่ชมจากคะแนนสอบที่วัดด้วยระบบการศึกษา 

และนี่คือเรื่องราวของ ‘ชะมิญช์’ Junior Barista แห่งร้าน Busy Boy Coffee และเจ้าของกาแฟพร้อมดื่ม ‘Gooddude Drinks’ คงเป็นส่วนหนึ่งที่คล้ายกับเด็กไทยอีกหลายคนที่ถูกตรึงผนึกฝังปมใต้จิตใจ กับการถูกตั้งคำถามจากคนรอบข้างว่าทำไมถึงต้องซิ่วมากถึง 3 ครั้ง คำตอบในใจของเธอที่คนรอบตัวอาจไม่อยากฟัง คือ เพราะการศึกษาไทยไม่ช่วยผลักดัน ยกระดับความสามารถ และพร้อมนำพาความสนใจของเด็กหนึ่งคนให้ไปได้ไกลถึงฝั่งฝันแต่โชคชะตาคงไม่เล่นตลกกับเธอเสียทีเดียว ท้ายที่สุดเธอกลับค้นพบตนเองจากกลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟ จนนำไปสู่เส้นทางในสายอาชีพที่เธอเองยังคาดไม่ถึง

ชีวิตรสขม ไร้นมคล้าย Espresso

“เราโตมาในแบบที่ครอบครัวอยากให้เป็น”

หลังจบมัธยมปลายเธอได้เลือกศึกษาต่อทางด้านการพัฒนาชุมชนเมืองเพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่การทำงานราชการเหมือนที่ทางบ้านอยากให้เป็น เพราะมองว่านอกเหนือจากมีความมั่นคงแล้วยังคงได้รับหน้าถือตาทางสังคม


‘การพัฒนาชุมชนเมือง’ 1 เดือน


“เราเลือกเข้าเรียนคณะนี้เพราะแม่เราอยากให้เรียน ด้วยความที่แม่เราเรียนรัฐศาสตร์มาก่อน เขาเลยรู้สึกว่าการเข้าไปเรียนพัฒนาชุมชนเมืองน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีแก่อนาคต เมื่อเราเรียนจบจะได้เข้าไปทำงานในองค์กรใดก็องค์กรหนึ่ง ถึงแม่เราจะบอกว่าได้ทำงานเพื่อสังคมแต่เรารู้ว่ามันอยู่ในกรอบบรรทัดฐานทางสังคมที่คนส่วนมากมองว่ามีความมั่นคง แค่นั้นจริงๆ แต่สุดท้ายก็ซิ่วออกมา”


‘กราฟิกดีไซน์’ 1 ปี


หลังจากนั้นในครั้งที่สองเธอเลยตัดสินใจทำตามความชอบส่วนตัวของตนเองจึงทำให้เธอได้ค้นพบแนวทางของคำว่าใช่ “เราพูดกับตัวเองเสมอว่าเราได้ทั้งเพื่อนทั้งความรู้ แต่ตอนนั้นเราจมอยู่กับความเชื่อบางอย่างที่เวลาใครถามว่า เฮ้ย ! เรียนศิลปะทำไมไม่ไปเรียนศิลปากร บอกเลยอย่ายุ ใจฉันไปที่ศิลปากรแล้ว สุดท้ายพอทิ้งตรงนี้ไปสอบใหม่ ตุ้บ ! เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก”

ความดันทุรังที่เกิดขึ้นส่งผลให้เด็กปีหนึ่งอายุ 18 จมปลักอยู่กับความเสียใจ เธอทั้งหวาดกลัว ตื่นตระหนกและสับสน ไม่รู้จะเอาอย่างไรต่อในชีวิต แม้มีความพยายามที่จะตั้งสติสูดลมหายใจเข้าแล้วก้าวเดินต่อไปอย่างไร้จุดหมาย เพราะมองไม่เห็นหนทางข้างหน้าก็ต้องทำ เธอไม่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อให้จบแต่ต้องการค้นพบตนเองเพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางแห่งความรักในสาขาวิชาชีพ แม้เธอจะโทษว่าเป็นความเขลาส่วนตัว ทำให้ท้ายที่สุดเธอจึงต้องวกกลับมาทำในสิ่งที่ครอบครัวอยากให้เป็นอีกครั้ง

“แม่กับพ่ออยากให้มิญช์เป็นอะไรอีกอะ”

‘ครู’ จบการศึกษา 5 ปี


สุดท้ายเธอตัดสินใจแบกรับความฝันของครอบครัวที่พ่อกับแม่เธอไม่สามารถทำได้ในอดีต เลยเลือกกลับมาเรียนครู โดยครั้งนี้เธอได้ตัดสินใจต่างออกไปแล้วหาจุดสมดุลระหว่างเธอพร้อมครอบครัว แม้จะเป็นการตัดสินใจไปสอบครูศิลปะเหมือนประชดชีวิตเพราะเธอไปสอบแบบไม่รู้เลยว่าคณะนี้เรียนอะไรบ้างแต่สุดท้ายเธอกลับสอบติด

“ปีหนึ่งเราเป็นนักเรียนครูที่ผมสีน้ำเงินแล้วปีสองก็เปลี่ยนเป็นหัวสีแดง ทุกคนหันมามองเรากันหมดเหมือนว่าอีนี่ไม่ใช่พวกเดียวกัน”

แต่ว่าการเข้าไปเรียน ‘ครู’ ก็เป็นเหมือนเห็นภาพสะท้อนแสดงตนเองในอดีตที่ทำให้รู้แล้วว่า การศึกษาควรมีส่วนช่วยให้เด็กค้นพบว่าต้องการอะไรในชีวิต

“เราไม่แฮปปี้กับการเข้ามาเรียนครู แต่แฮปปี้กับการได้ไปฝึกสอน”

การศึกษารสบาง เจือจางเหมือน Americano


นอกจากครอบครัวที่ดูเหมือนว่าจะเข้าใจในเส้นทางที่เธอเลือกเดิน หากแต่คำว่าครอบครัวของเรานั้นไม่ได้หมายความเป็นเพียงแค่พ่อแม่ฉันใด การศึกษาก็อาจไม่ได้แปลว่าโรงเรียนด้วยเช่นกันฉันนั้น เพราะโรงเรียนอาจเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ให้การศึกษาเลยก็ได้

แม้ว่าจะหวานอมขมกลืนกับการเรียนที่เธอคิดว่าคงเป็นไพ่ใบสุดท้ายของการศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ระหว่างก่อนจบการศึกษาเธอมีโอกาสได้เข้าไปเป็นนักศึกษาฝึกสอนในโรงเรียนมัธยม ทำให้เธอเห็นภาพฉายตัวเองในอดีตอีกครั้งที่มาพร้อมกับปัญหาโครงสร้างการศึกษาในไทย เพราะนี่คือหนึ่งในมุมมองของอดีตผู้ใช้งานจริง

บทเรียนที่หนึ่ง เหง้าการศึกษา

“สังคมจำกัดว่าคุณจะทำอะไรก็ได้แต่คุณต้องเรียนแบบนี้แล้วคุณต้องเรียนให้จบ ทำไมสังคมถึงไม่เปิดโอกาสให้ตั้งแต่แรก โรงเรียนไม่เคยโฟกัสไปในสิ่งที่เราสนใจหรืออยากเป็นเลย ทุกอย่างถูกมัดรวมด้วย วิทย์-คณิต ศิลป์-คำนวณ ไม่ว่าจะอยากเป็นอะไรเราต้องผ่านด่านพวกนี้ไปก่อน”

“ในฐานะที่เราเรียนในระบบการศึกษาไทยแล้วยังมีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับเด็กรุ่นใหม่จากการฝึกสอนกว่า 1 ปีเต็ม ระบบการศึกษาไทยมันบอกอะไรเราเยอะมาก ทั้งความเท่าเทียมที่ไม่มีจริง การกลั่นแกล้งในโรงเรียนยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข หรือจะเป็นความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษานอกห้องเรียน เวลามากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวันหมดไปกับการนั่งเรียนอยู่หน้ากระดาน เรียนแต่ในตำราเพียงอย่างเดียว บางวิชาก็ไม่ได้มีความจำเป็นต่อชีวิตเลย แต่ก็ยังไม่เคยปรับปรุงมาตลอด 20-30 ปี ให้มันตรงตามบริบทของสังคมปัจจุบัน”

ชะมิญช์มองว่าอยากให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของหลักสูตรโดยนักเรียนเป็นศูนย์กลางคือสิ่งที่นักเรียนควรได้เลือกในสิ่งที่อยากทำ เมื่อระบบการศึกษามันผิดมาตั้งแต่จิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่เริ่มสร้างคนขึ้นมาเพื่อทำให้ไม่สามารถรู้ว่าจะเติบโตไปเป็นแบบไหนรวมไปถึงโรงเรียนนำพาให้ทุกคนมีความคิดไปในทิศทางแนวเดียวกันหมด ผลิตคนออกมาเหมือนหุ่นยนต์ เรียนจบออกมา ไปหางาน สมัครงาน ทำงาน 5 วัน เงินเดือน 15,000 บาทมันคือสิ่งที่ผิด สังคมมีหน้ามาบอกว่า เธอทำงานแบบนี้ควรได้เงินเท่านี้ แต่ถ้าเธอทำงานที่ตลาดต้องการเธอจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น อย่าลืมนะว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำอาชีพนั้น เธอกล่าว

บทเรียนที่สอง เรียนเสริมเพิ่มทักษะ


เมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาในระบบตั้งแต่เด็กจนโตกลับมีหลักสูตรไม่ได้ตรงต่อการสอบเข้าเพื่อเอื้อต่อการเข้าไปสู้ในคณะที่ต้องการในขณะการสอบไล่เพื่อข้ามชั้นมีนักเรียนในระบบหลายแสนคนต้องออกไปเรียนกวดวิชา เราและชะมิญช์เองคือหนึ่งในนั้น เธอเรียนเสริมทั้งวิชาพื้นฐานและวิชาเฉพาะทางแล้วเธอยังบอกด้วยว่าขนาดเรียนวิชาพื้นฐานมาทั้งชีวิตยังกลับต้องเรียนเสริมตั้งแต่ชั้นประถม

“ถ้าถามเราว่าความสุขของการเรียนพิเศษคืออะไร เราตอบได้อย่างเดียวคือ มีความสุขที่ได้ออกนอกบ้านเหมือนได้ไปเที่ยว เพราะเรายังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ”

แล้วถ้าเราลองตั้งคำถามกลับไปว่าถ้าเด็กที่ครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ในการส่งเสียเพื่อให้ไปเรียนเสริมจะเป็นอย่างไร? ในเมื่อเด็กบางคนมีความสามารถดิ้นรนหาความรู้ด้วยตนเองเพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งนั้นมาแต่กลับกันไม่มีใครมองเห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ทั้งๆ ที่การศึกษามันควรเป็นหนึ่งในสวัสดิการแห่งรัฐต้องสนับสนุน “คุณต้องพร้อมจะพัฒนาฟันเฟืองนี้เพื่อประเทศชาติในอนาคต อย่าลืมว่าเด็กทุกคนคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม มันต้องเริ่มได้แล้ว อันที่จริงจะพูดว่าอนาคตก็ไม่ใช่ เพราะอนาคตอยู่ตรงนี้ที่ปัจจุบัน” เธอกล่าวเสริม

บทเรียนที่สาม รอยยิ้มจากใจ (อดีต) ครูฝึกสอน


ชะมิญช์เล่าว่าความฝันในวัยเด็กของเธอถูกทำลายลงด้วยน้ำมือครู เธอมองว่าหากการศึกษาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงคงต้องเริ่มที่ครูแล้วหันมาปรับปรุงหลักสูตรใหม่ก่อนนำมาใช้เป็นแบบเรียน แต่มากกว่านั้นหากเป็นไปได้คงต้องแก้กันที่ระบบโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่ชะมิญช์ แต่คงรวมถึงเราที่ระหว่างการสัมภาษณ์พรางนึกสงสัยว่าแท้จริงแล้วในอนาคตเราสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริงไหม ? เธอบอกว่าการใช้ข้อสอบเป็นมาตราวัดในการคัดสรรคนเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่สิ่งที่ออกสอบต้องสอดคล้องกับหลักสูตรที่ใช้ในการศึกษาต่อ เพราะแทนที่เด็กแต่ละคนจะได้โชว์ศักยภาพที่แตกต่างกันออกมาแต่ด้วยหลักสูตรไม่หลากหลายและไม่ตอบรับกับตลาดงานในอนาคตทำให้ผลที่ได้ออกมาเป็นเช่นนี้

“หลักสูตรการศึกษาเหมือนโลงศพ คนคิดไม่ได้ใช้แต่คนใช้ไม่ได้คิด”

“เรามองว่าในสังคมมันมีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาควรผลิตคนให้ได้คุณภาพพอกัน ไม่ใช่การใช้มาตราวัดว่าเก่งวิชานี้ทุกคนแล้วจะเก่งเท่ากัน เราต้องมองว่าความจริงเราเรียนเพื่อคิดเองเป็นหรือเราเรียนเพื่อต้องการได้คะแนนเต็ม เราว่าการที่เด็กสามารถคิดเองเป็นนี่แหละเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุด” (ชะมิญช์ตอบด้วยสายตาแฝงความมุ่งมั่น)

ชะมิญช์ย้ำว่าสิ่งที่เธอพูดอาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่นี่เป็นหนึ่งในมุมมองเล็กๆ จากเสียงของผู้ใช้งานจริงและมีโอกาสลงไปเป็นครูฝึกสอน การได้คลุกคลีตีโมงอยู่ในวงหลักสูตรและแบบเรียนการศึกษาเมื่อปีกลายกลับไม่แตกต่างจากที่เธอเคยเรียนมาเมื่อกว่าเกือบสิบปีที่แล้วแต่เมื่อผ่านการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต กลับกันการก้าวเข้ามาทำงานทำให้เธอได้เรียนรู้บางอย่างที่ในห้องเรียนไม่เคยสอน เพราะการทำงานจริงมันคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

‘กาแฟ’ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน


บางทีการที่เราเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยอาจจุดประกายความหวังครั้งใหม่ในชีวิตโดยไม่รู้ตัว เธอเล่าเมื่อ 3 ปีก่อนเธอมีโอกาสได้หลงเข้าไป ณ ดินแดนพิศวงที่เธอไม่สามารถหาทางออกมาไม่ได้ในร้านกาแฟลึกลับที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในดินแดนเวียงพิงค์อย่าง Graph Café เมื่อได้ลองลิ้มชิมรสของกาแฟและดื่มด่ำกับบรรยากาศ วินาทีแรกที่ได้สัมผัสนั่นคือความรู้สึกของการตกหลุมรักอย่างหมดหัวใจ ตั้งแต่นั้นมาเธอจึงพูดได้เต็มปากกับใครตามที่เข้ามาถามเธอว่า “ทำไมถึงอยากเป็นบาริสต้า” ก็เพราะ ‘กาแฟเปลี่ยนชีวิต’ ของเธอไปตลอดกาลนั่นเอง

“ถ้ามีโอกาสได้ลองทำลองคั่วเมล็ดหรือไปไร่กาแฟเราคว้าไว้หมดถึงได้บอกแล้วว่าความรู้มันไม่ได้อยู่แค่ภายในห้องเรียน เราเอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนรักกาแฟ แม้แต่กลุ่มในเฟซบุ๊กก็ถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนหรือจะเป็นป้ารถเข็นขายกาแฟโบราณก็สามารถให้ความรู้เราได้เหมือนกัน”

“ศึกษาอยู่นานจนมีโอกาสได้มาทำงานร้านกาแฟมีไม่กี่ที่ ที่เรามีความรู้สึกได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนที่ร้าน City Boy Coffee ถึงแม้จะเป็นเพียงร้านเล็กๆ แต่ทำไมรู้สึกสบายใจจัง ตอนนั้นเราตัดสินใจโทรเข้าไปสมัครงานกับเขาเองเลย เราบอกว่า ‘หนูอยากลองทำงานร้านพี่’ เขาไม่สนใจเลยว่าเราจะทำอะไรที่เป็น Commercial Coffee หรือ Espresso Bar ได้หรือมีประสบการณ์ไหม เขารับเราเพราะเห็นว่าเรามีใจที่อยากทำอย่างแรงกล้า โดยเขาแค่ยืนดูและคอยสอนเราประมาณ 2 อาทิตย์แล้วปล่อยให้ลุยเลย คำสุดท้ายเขาพูดกับเราว่า”

“เอาเลยกูรู้มึงทำได้” (ชะมิญช์พูดพลันแอบเขิน)

นอกเหนือจากการเป็นบาริสต้าแล้วชะมิญช์ยังมีแบรนด์กาแฟเล็กๆ ที่เกิดการการคิดค้นและพัฒนาสูตรด้วยตนเองในชื่อ ‘Gooddude Drinks’ กาแฟหลากรส สิ่งที่เธอภูมิใจนำเสนอเห็นจะเป็นการใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ ‘Arabica Catimor’ ที่ปลูกจากบ้านเกิดของเธอเองในจังหวัดนครศรีธรรมราช แถมเธอยังใช้ดอกไม้นานาพันธุ์จากสวนหลังบ้านนำมาเป็นสารให้ความหวานเพิ่มความหลากหลายของรสชาติกาแฟ

“บ้านเราเป็นเกษตรกร เราเรียกแม่เราว่าเป็นนักปลูกดอกไม้ตัวยง เราเลยลองตัดดอกไม้มาทำเป็นไซรัปบ้าง ทดลองไปเรื่อยจากดอกดาหลา ดาวเรือง แล้วล่าสุดมาเบญจมาศนี่แหละ หากลิ่นและรสชาติของเขาให้เจอเมื่อนำมาผสมกับกาแฟก็ต้องไม่ทำลายรสและกลิ่นของสิ่งที่เราต้องการชูไปด้วย เราไม่รู้ว่าคนที่กินกาแฟแบบ Geek เขาจะรู้สึกอย่างไรเพราะกาแฟของเราให้ความรู้สึก Light เป็นกาแฟในรูปแบบทานง่าย”

แบบเรียนถัดไป ‘อนาคต’


เมื่อก่อนกาแฟของเธออาจมีแค่รสขมคล้ายการจมอยู่ในความรู้สึกผิดหวัง การซิ่วถึง 3 ครั้งอาจพรากบางสิ่งบางอย่างจากเธอไปแต่ก็ได้ให้สิ่งใหม่แก่เธอมาด้วยเช่นกัน การเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้เธอพร้อมแล้วสำหรับรอยยิ้มครั้งใหม่ที่เธอเล่าว่ารสชาติชีวิตมีหลายรสเหมือนรสชาติกาแฟ

“ครอบครัวไม่เคยว่าอะไรเราในทุกครั้งที่ตัดสินใจซิ่วแต่เราดูออกตลอดว่าเขาเสียใจแม้ไม่ได้พูด ขนาดเรายังเสียใจเลยแต่เราไม่เคยเสียดาย เพราะเราไม่เคยดูถูกความสามารถที่เรายังไม่ค้นพบ”

การค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายในของเธอ ทำให้เธอก้าวเข้าสู่สาขาอาชีพที่รัก เธอบอกกับเราตลอดการพูดคุยว่าตอนนี้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่มาก การได้กลิ่นหอมของกาแฟในทุกเช้า ยืนมองหยดกาแฟว่าใช้เวลากี่วินาที หรือพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาตลอดทั้งวัน แม้จะเป็นบทสนทนาสั้นๆ แต่มันกลับสร้างความอิ่มเอมทางใจ หลังจากนี้เธอมองอนาคตว่าการได้อยู่กับเครื่องชงกาแฟ มีร้านมุมเล็กเพื่อคนเมืองสักร้านเท่านี้ก็มากพอแล้ว

ความสุขส่วนหนึ่งที่ได้จากเธอในวันนี้คงเป็นเพียงแค่การเล่าเรื่องย้อนไปอดีตที่คงตรงกับชีวิตของใครอีกหลายคน เพียงเพราะว่าเราทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กจึงเจ็บปวด เสียงของคำพูดซึ่งถูกพร่ำบอกของครอบครัวว่าการสอบได้ 100 คะแนนเต็มถือเป็นคนเก่งในวันนั้นยังคงสะท้านใจเมื่อได้ยินในวันนี้ พอเข้าสู่ระบบการศึกษาก็ยังโดนครูในโรงเรียนตีกรอบอีกว่า คนที่ชอบวิชาเฉพาะนอกเหนือจากภาควิชาบังคับเป็นสิ่งผิด ท้ายที่สุดนี่คงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า การศึกษาคงไม่ช่วยอะไรหากแต่เป็นหัวใจของตนเองที่ต้องออกไปต่อสู่เพื่อเติมเต็มฝัน

นี่คงเป็นเรื่องตลกร้ายบนโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเมื่อเติบโตขึ้นหลายคนกลับค้นพบว่า เราทุกคนล้วนแข่งขันกันอยู่ในสนามแห่งโลกของทุนนิยมเพื่อแก่งแย่งชิงดีที่จะประสบความสำเร็จ ถ้าอย่างนั้นหากวันใดที่เหนื่อย ลองช้าลงหน่อยไหม? บางครั้งก็แค่หยุดพักดื่มกาแฟร้อนๆ สักแก้วแล้วค่อยระลึกถึงอดีตในวัยเด็กเพียงวันละครั้ง นั่นคงทำให้เราดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสุขสั้นๆ เพราะเราต่างรู้ดีว่า “อนาคตบนเส้นทางชีวิตล้วนมีแต่ความไม่แน่นอน”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.