
WHAT’S UP
อีกครั้งแล้วสินะที่ฉันต้องโยกย้าย เตรียมบอกลา ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ย้ายร้านจากถนนพระสุเมรุ สิ้นปี 65
หากได้มีโอกาสต้องไปทำธุระหรือมีแพลนเดินเที่ยวเล่นแถวถนนพระสุเมรุ เรามักจะแวะเวียนไปร้านหนังสือที่หน้าร้านตกแต่งด้วยโต๊ะเก้าอี้น่ารัก จักรยานเก่าๆ หนึ่งคัน และชั้นวางที่อัดแน่นไปด้วยโปสต์การ์ด เพื่อเข้าไปเลือกหาหนังสือถูกใจสักเล่มก่อนนำกลับบ้าน หรือใช้เวลานั่งทอดหุ่ยอ่านหนังสือบนชั้น 2 ที่เป็นส่วนคาเฟ่ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงร้านหนังสือเดินทาง (Passport Bookshop) ของ ‘หนุ่ม-อำนาจ รัตนมณี’ ที่ตั้งอยู่บนถนนสายพระสุเมรุมานานกว่า 16 ปี ฟังดูเป็นเวลาที่ยาวนาน และนักอ่านหลายคนคงมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนที่นี่อยู่หลายครั้ง แต่ขณะเดียวกัน อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าร้านหนังสือเดินทาง เคย ‘ย้าย’ ร้านมาแล้วครั้งหนึ่งจากถนนพระอาทิตย์ หลังจากเปิดจำหน่ายหนังสือเป็นเวลา 4 ปี นั่นแปลว่าหากรวมเวลาที่ร้านหนังสือแห่งนี้เปิดให้บริการก็นับได้ 20 ปีพอดิบพอดี แต่ใครจะไปรู้ว่าเวลาที่พอให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นหนุ่มสาวจำต้องสิ้นสุดลง เพราะร้านหนังสือเดินทางได้ประกาศว่าจำเป็นต้องย้ายร้านเป็นคราที่สองในสิ้นปีนี้ เนื่องจากอาคารที่ใช้เป็นตัวร้านถูกเวนคืนเพื่อทำสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน นั่นทำให้ทีมงานในร้านต้องเตรียมตัวเก็บข้าวของ เพื่อความพร้อมและสะดวกในการขนย้าย อย่างที่ทราบกันว่าจุดเด่นของร้านหนังสือแห่งนี้คือ การตกแต่งและบรรยากาศที่น่ารัก อบอวลไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น แต่มากไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ร้านคงอยู่ได้เรื่อยมาคือมิตรภาพของเจ้าของร้านหนังสือและนักอ่านทั้งขาประจำและขาจร จนหลายครั้งก่อให้เกิดความผูกพันขนาดที่มีคนยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำ บ้างก็ส่งของขวัญและหนังสือมาให้เจ้าของร้าน บ้างก็ขอใช้พื้นที่ร้านเป็นสถานที่ในการขอแต่งงานด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับรวมหนังสือหลากหลายประเภทที่อัดแน่นตามชั้นวาง และสิ่งละอันพันละน้อย เช่น โปสต์การ์ด สมุด กระเป๋า งานศิลปะ ฯลฯ ที่เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สำคัญของร้าน ทำให้ใครที่หลงเข้าไปล้วนไม่ได้กลับออกมาแบบตัวเปล่า […]
องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ประกาศใช้ ‘มอญดูดาว’ เป็นเพลงประจำมหา’ลัย แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง
เป็นอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในกรณีของการยกเลิกประกวดดาว-เดือน ยกเลิกระบบโซตัส หรือการอนุญาตให้บัณฑิตที่เข้ารับปริญญาแต่งตัวตามเพศวิถีได้ และในครั้งนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ได้ประกาศให้ใช้ ‘เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว’ แทนเพลงประจำมหาวิทยาลัยเดิมอย่าง ‘เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง’ ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ความเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลัง อมธ. ทำแบบสำรวจประชามติของประชาคมธรรมศาสตร์ที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการจัดกิจกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในการเลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยอันเป็นการแสดงออกที่สำคัญถึงอัตลักษณ์ การก่อกำเนิด และการเชิดชูประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมหาวิทยาลัย โดยแบบสำรวจครั้งนี้มีเพลงที่เข้ารับการคัดเลือกทั้งหมด 3 เพลง ได้แก่ เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว, เพลงมาร์ช มธก. และเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ซึ่งจากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 5,168 คน มีคนที่เลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาวกว่า 51.9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา อมธ. เห็นควรประกาศให้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ตามเจตนารมณ์ของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่นี้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย ไม่ได้หมายความถึงการยกเลิกเพลงเดิมหรือทำให้หายไปถาวร เพราะมีการชี้แจงทางจดหมายจากมหาวิทยาลัยเรื่องการใช้เพลงมหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า “เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง เป็นเพลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้คุณค่าและความสำคัญสำหรับงานพิธี พิธีการ และงานที่เป็นทางการของมหาวิทยาลัย และยังคงถือปฏิบัติเช่นนั้นโดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลง” […]
ญี่ปุ่นเพิ่มโทษกฎหมายดูหมิ่นติดคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 8 หมื่นบาทเพื่อลดปัญหา Cyberbullying
ญี่ปุ่นเพิ่มโทษกฎหมายดูหมิ่น ติดคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 8 หมื่นบาท เพื่อลดปัญหา Cyberbullying Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางโซเชียลมีเดียต่างๆ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบ เห็นได้จากข่าวการพุ่งสูงของยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นเหยื่อจากการบุลลี่ทางออนไลน์ ในฐานะที่ญี่ปุ่นติดอันดับประเทศที่มีการบุลลี่รุนแรงเป็นอันดับต้นๆ บวกกับการจากไปของ ‘ฮานะ คิมูระ’ (Hana Kimura) นักมวยปล้ำและนักแสดงเรียลลิตี้โชว์ทางเน็ตฟลิกซ์ ที่ถูกโจมตีด้วยการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อปี 2563 เหตุการณ์นั้นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มกฎหมายการ ‘ดูหมิ่น’ ในโลกออนไลน์ให้มีโทษมากขึ้น โดยตัวกฎหมายฉบับใหม่นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้ที่มีความผิดต้องจำคุกสูงสุดถึง 1 ปี และมีโอกาสจ่ายค่าปรับถึงสามแสนเยนหรือคิดเป็นเงินไทย 80,000 บาท ซึ่งขยับเปลี่ยนแปลงจากโทษเดิมที่ผู้กระทำความผิดจะถูกจำคุกไม่เกิน 30 วัน และปรับเพียง 2,600 บาท ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ให้นิยามของการดูหมิ่นว่าเป็นการดูถูกผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขาคนนั้น ตรงกันข้ามกับการหมิ่นประมาท ที่เป็นการดูถูกผู้อื่นบนข้อเท็จจริงที่เจาะจงไปยังบุคคลที่สาม เซย์โฮ โช (Seiho Cho) ทนายคดีอาญาในญี่ปุ่นให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าวจาก CNN […]
ชมเครื่องดูดฝุ่นสีทองดูดประชาธิปไตย ในนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง’ วันนี้ – 28 ส.ค. 65 ที่ VS Gallery
เมื่อปี 2020 ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ นักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองได้จัดนิทรรศการศิลปะ ‘คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us)’ ที่ชวนคนปีนบันไดขึ้นไปชะโงกมองว่าข้างบนฝ้าเพดานที่คนมองแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหลมีอะไรอยู่กันแน่ ครั้งนี้เขากลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’ ที่กล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของความแสบสันนี้ โดยทั้งสองนิทรรศการต่างเป็นชื่อเรื่องสั้นของจิรัฏฐ์ที่จะตีพิมพ์ในชื่อหนังสือ ‘รักในลวง’ ช่วงปลายปี 2565 นี้ ‘ฝ่าละออง’ คือนิทรรศการที่สร้างจากเสี้ยวหนึ่งของเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ขยันและซื่อตรงในหน้าที่ แต่สุดท้ายผลตอบแทนของความจงรักภักดีนั้นกลับกลายเป็นเรื่องราวน่าอดสูและสยองขวัญ นัยของนิทรรศการ คือการเน้นย้ำให้คนดูย้อนกลับมาสำรวจภูมิทัศน์หลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ถูกรัฐพยายามจะเปลี่ยนความหมาย รวมถึงทำลายมัน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอนุสรณ์สถานที่เชื่อมโยงไปยังคณะราษฎร เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เคยมีหมุดคณะราษฎรวางอยู่ แต่ตอนนี้ถูกล้อมรั้วไปแล้ว หรือวงเวียนหลักสี่ที่เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ถูกรื้อทิ้งจนไม่เหลือเค้าเดิม กลายเป็นสถานีรถไฟฟ้า จิรัฏฐ์บันทึกฟุตเทจเหล่านี้ด้วยการนำเครื่องดูดฝุ่นไปดูดตามสถานที่นั้นๆ และนำมาเล่าซ้อนกับเรื่องสั้น O-Robot ที่ล้อไปกับนิยายเรื่อง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ อีกทีหนึ่ง โดยนำเสนอผ่านโทรทัศน์ 6 จอ ที่ล้อไปกับหลัก 6 […]
ไม่พูดไม่ใช่ไม่รู้สึก! บ.ญี่ปุ่นปิ๊งไอเดียทำป้ายบอกพลังกาย พลังใจ ที่เหลืออยู่ ให้พนักงานสื่อสารกันโดยไม่ต้องพูด
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญแรงกดดันและความเครียดจากปัญหารอบตัวอย่างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โรคระบาด รวมไปถึงปัญหารายวันจากที่ทำงานและเรื่องส่วนตัว แต่เพราะบทบาททางสังคมและหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ หลายคนจึงไม่สามารถระบายปัญหาหนักอกหนักใจให้ใครรู้ได้ ทำได้แค่เก็บความรู้สึกที่หนักอึ้งเหล่านั้นไว้กับตัวเอง เพราะเหตุนี้ Onken บริษัทผลิตสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์อะคริลิกสัญชาติญี่ปุ่นจึงปิ๊งไอเดียทำ ‘ป้ายบอกระดับพลังงาน’ แจกให้พนักงานในบริษัทใช้ติดเสื้อเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าพลังงาน พลังใจ ของพวกเขาในช่วงเวลานั้นๆ เหลืออยู่เท่าไหร่ ทางบริษัทเปิดเผยว่า ขั้นตอนผลิตเจ้าป้ายติดหน้าอกชิ้นนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์ข้อความลงบนแผ่นอะคริลิกขนาดใหญ่ จากนั้นก็ใช้เครื่องเลเซอร์ตัดแบ่งให้เป็นป้ายขนาดเล็ก โดยข้อความบนป้ายจะระบุระดับ ‘Hit Point’ หรือหน่วยวัดพลังชีวิตของตัวละครในเกม ที่ถูกนำมาใช้แทนพลังงานที่เหลืออยู่ของคนคนนั้น ป้ายชนิดนี้มีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับ ระดับพลังงานสูงสุดคือสีเขียว (10,000/10,000 พลังชีวิต) รองลงมาคือสีเหลือง (3,899/10,000 พลังชีวิต) ต่ำสุดคือสีแดง (15/10,000 พลังชีวิต) พนักงานสามารถเลือกป้ายมาติดเสื้อตามระดับพลังงานและความรู้สึกในตอนนั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้พนักงานสื่อสารสภาพร่างกายและจิตใจให้คนอื่นรับรู้โดยไม่ต้องเอ่ยคำใดๆ ในทางกลับกัน ป้ายนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานได้ด้วย เพราะมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างเหล่าพนักงานที่ไม่ค่อยมีโอกาสคุยกันเท่าไหร่ พวกเขาอาจถามสารทุกข์สุกดิบกันจากการดูป้ายของอีกฝ่าย ทำให้บรรยากาศในบริษัทสดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น Onken เปิดเผยว่าพนักงานในหลายแผนกชื่นชอบไอเดียและเริ่มติดป้ายระหว่างทำงานกันแล้ว นอกจากนี้ ทางบริษัทยังแชร์รูปป้ายบอกระดับพลังงานลงบนทวิตเตอร์ ซึ่งกระแสตอบรับจากโลกออนไลน์ก็ดีเกินคาด ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชมและสนใจแนวคิดนี้ บางคนแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเอาป้ายบอกสเตตัสแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียนหรือในโรงพยาบาลได้ก็คงจะดีไม่น้อย ใครอยากเป็นเจ้าของป้ายบอกระดับพลังงานสุดครีเอทีฟนี้คงต้องรอกันอีกหน่อย เพราะตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นแรกของการผลิตสินค้า คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม […]
Plastic SAKE Brewery โปรเจกต์สุดล้ำ หมักเหล้าสาเกจากขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งโลกของเราจะมาอยู่ในจุดที่สามารถหมัก ‘สาเก’ จากเศษขยะพลาสติกพอลิเมอร์กันได้แล้ว ความคิดสุดครีเอทีฟนี้เกิดขึ้นจากโปรเจกต์ ‘Plastic SAKE Brewery’ ของ Fumiaki Goto นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ที่นำเสนอประเพณีการบูชาธรรมชาติและวัฒนธรรมการบริโภคของญี่ปุ่นผ่าน ‘ไวน์ข้าวสาเก’ ที่มีส่วนผสมหลักคือ ‘ขยะพลาสติกพอลิเมอร์’ ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยปกติแล้ว สาเกต้นตำรับแท้จากประเทศญี่ปุ่น จะผลิตโดยใช้พันธุ์ข้าวอย่างดีหมักกับเชื้อราชนิดพิเศษจนทำให้เกิดเป็นแอลกอฮอล์รสชาติดี ทำให้สาเกกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสาเกซบเซาลงทุกปี เนื่องจากความนิยมที่ลดลง รวมไปถึงทางเลือกในตลาดเครื่องดื่มที่มีมากขึ้น ดังนั้น Goto จึงตั้งใจทำโปรเจกต์ ‘Plastic SAKE Brewery’ นี้ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตสาเก โดยหวังว่าสุราประจำชาติของญี่ปุ่นจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง แถมยังได้ช่วยโลกของเราขจัดขยะพลาสติกไปพร้อมกันด้วย กระบวนการผลิตสาเกจากพลาสติกพอลิเมอร์แทบจะไม่ต่างจากการผลิตสาเกแบบดั้งเดิม ที่มีส่วนผสมหลักเป็นข้าวญี่ปุ่นและเชื้อราที่ใช้ในการหมัก แต่สิ่งที่ Goto เพิ่มเข้าไป ก็คือบรรดาพลาสติกพอลิเมอร์ชนิดใหม่ที่สามารถสลายตัวได้ด้วยจุลินทรีย์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำเหล้าสาเกทั่วไป ดังนั้น การทำสาเกหนึ่งครั้ง นอกจากที่เราจะได้แอลกอฮอล์รสชาติดีมาดื่มกันแล้ว เรายังสามารถย่อยสลายเศษขยะพลาสติกพอลิเมอร์ไปพร้อมๆ กันได้ด้วย ถือเป็นมิติใหม่สำหรับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง ด้าน Goto หวังว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการลดขยะพลาสติกและกลายเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในอนาคตได้ เพราะการกลั่นสาเกจากขยะไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ และสามารถทำในโรงสาเกขนาดเล็กรอบๆ ตัวเราได้ทันที Source :Designboom | […]
Google Maps ปล่อยฟีเจอร์รักษ์โลก คำนวณเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน
ยุคนี้ที่ใครๆ ต่างก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน หันกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทั้งลดการใช้ถุงพลาสติก พกถุงผ้า ไม่เว้นแม้แต่การมองหาวิธีการเดินทางที่ประหยัดพลังงานในแต่ละวัน การเดินทางหนึ่งครั้งจึงไม่ได้ดูแค่ว่าเส้นทางใดที่จะพาไปถึงจุดหมายได้เร็วที่สุดอีกต่อไปแล้ว แต่การมองหาเส้นทางที่จะช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุดต่างหาก ที่จะกลายเป็นตัวเลือกแห่งอนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่ จากประเด็นนี้ Google Maps เลยปิ๊งไอเดียออกฟีเจอร์ใหม่สำหรับคำนวณเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับคนที่ไม่รีบเร่งในการเดินทางและต้องการรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน โดยทาง Google Maps จะใช้ AI วิเคราะห์การปล่อยคาร์บอนในเส้นทางที่คุณเลือกไว้ โดยพิจารณาจากสภาพการจราจร ความชันของถนน และตัวแปรอื่นๆ จากนั้น แอปพลิเคชันจะแนะนำแผนการเดินทางที่ถูกปรับให้เหมาะสม เพื่อลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลง อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันให้คุณด้วย แต่สำหรับใครที่ต้องการไปถึงที่หมายในเวลาเร่งด่วน ก็ยังสามารถเลือกเส้นทางที่เร็วที่สุดได้เหมือนเดิม เพราะฟีเจอร์นี้ไม่ได้ถูกนำมาแทนฟีเจอร์หลัก แต่เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้คุณเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองเส้นทาง และเลือกเส้นทางที่เหมาะกับสถานการณ์ด้วยตัวคุณเอง “เราประเมินว่าการกำหนดเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ จะมีศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่าหนึ่งล้านตันต่อปีทั่วโลก ซึ่งเทียบเท่ากับการกำจัดรถยนต์กว่าสองแสนคันออกจากท้องถนน” Google กล่าว แต่สำหรับคนไทยคนไหนที่สนใจฟีเจอร์นี้อาจจะต้องอดใจรอกันอีกหน่อย เพราะตอนนี้ Google Maps ได้มีการปล่อยให้ใช้งานเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แต่ในอนาคตจะขยายเส้นทางออกไปทั่วโลก Sources :Google | t.ly/2iJEMobileSyrup | t.ly/F9Ys
คนในกองถ่ายทำงานกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ แถลงการณ์ กำหนด ชม.การทำงาน ให้โอที ไม่เสี่ยงภัย
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวที่สองผู้กำกับละครที่ทำงานมานานกว่า 30 ปี อย่าง ‘อ๊อด-บัณฑิต ทองดี’ และ ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ บอกเล่าเรื่องชีวิตในกองถ่ายว่าคนทำงานอาจจะต้องทำงานสูงถึง 16 ชั่วโมง และให้ความเห็นว่าเวลาที่ล่วงเลยขนาดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่คนทำงานในสายงานนี้ก็ทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงประเด็นการจ่ายค่าล่วงเวลาให้คนทำงานที่ต้องตกลงกันตั้งแต่ก่อนรับงาน และการใช้แรงงานนักแสดงเด็กที่ถูกตั้งคำถามมาตลอด โดยเรื่องทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นหัวข้อที่คนในสังคมพูดถึงไปในหลากหลายมิติ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกจดหมายแถลงการณ์ โดยมีสรุปเนื้อหาว่า ผู้กำกับทั้งสองไม่ได้สนับสนุนแนวคิดการทำงานเกินมาตรฐานสากล และพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสมาคมผู้กำกับฯ มาตลอด ทั้งยังได้เข้าร่วมปรึกษากับหน่วยงานราชการ, คณะกรรมาธิการของรัฐสภา, พรรคการเมือง, บริษัทผู้ผลิต และองค์กรต่างๆ แต่ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้สำเร็จ และอุปสรรคสำคัญของเรื่องนี้คือ ‘การขาดอำนาจต่อรองของแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง’ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์แรกที่มีคนในอุตสาหกรรมบันเทิงออกมาเรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในการทำงาน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นักแสดงซีรีส์ ‘นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์’ และ ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ’ ได้ส่งคำร้องต่อ กมธ. ที่รัฐสภา เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในกองถ่าย เช่น ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการผลิตสื่อ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, ความปลอดภัยในการทำงาน และการไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม แต่ก็ยังดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรนัก […]
แอบย่องสำรวจห้องนอนเด็กหญิงยินดี ในนิทรรศการครั้งแรกของ faan.peeti 9 ก.ค. – 4 ก.ย. 65 ที่ River City Bangkok
หลายคนน่าจะคุ้นตากับลายเส้นละเอียดอ่อน สีสันที่มองแล้วรู้สึกบอบอุ่นใจของ ‘ฟาน.ปีิติ’ นักวาดภาพประกอบเจ้าของหนังสือ ‘London Book Sanctuary’ และเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังอย่าง Vespa, SMEG และ Estée Lauder ครั้งนี้เธอจะมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรกในชื่อ เด็กหญิงยินดี ‘Yindee’s Mysterious Friends’ ‘ฟาน.ปีิติ’จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘เด็กหญิงยินดี’ เด็กหญิงผู้ไม่เคยมีเพื่อน เธอใช้เวลาอย่างลำพังกับการเขียนไดอารีเล่มเดิมที่เปรียบเสมือนเพื่อนคนหนึ่งตลอดมา แต่โลกใบเก่ากลับเปลี่ยนไป เมื่อเด็กหญิงค้นพบว่าเธออาจไม่ได้มีเพื่อนเพียงแค่คนเดียว โดยสิ่งที่เด็กหญิงค้นพบจะอยู่ในนิทรรศการนี้ โดยฟาน.ปีติจะทำหน้าที่เป็นไกด์พาทัวร์ทั่ว ‘ห้องนอน’ ของเด็กหญิงยินดี และเดินสำรวจพื้นที่ส่วนตัวที่ตั้งอยู่ในสวนซึ่งแวดล้อมไปด้วยพรรณไม้ สถานที่ดังกล่าวที่ว่าช่างแสนลึกลับ มีเพียงยินดีเท่านั้นที่จะล่วงรู้ ในสถานที่แห่งนั้น พวกเราจะได้แอบอ่านไดอารีบนหัวเตียงของเด็กหญิง พบเจอเรื่องราวที่เด็กหญิงและครอบครัวเก็บซ่อนเอาไว้ และในดินแดนที่ประดับประดาด้วยร่มเงาของพรรณไม้ ทุกคนจะได้ทำความรู้จักกับบรรดาเพื่อนๆ ในจินตนาการของยินดี หลากหลายตัวละครที่หลบซ่อนรอพบมิตรภาพใหม่ๆ เช่น เจ้างูสามหัวชื่อ ‘ซามูเอล’, นักแสดงละครสัตว์ชำนาญการอย่าง ‘โทมัส’ และ ‘จูดี้’ ตุ๊กตานุ่มนิ่มที่เจ้าของรักมาก เป็นต้น นอกจากทุกคนจะได้ไปย้อนความทรงจำในวัยเยาว์ เข้าไปสำรวจห้องนอนของเด็กหญิงยินดีหมายเลข 248 ที่ชั้น 2 ของโรงแรมริเวอร์ ซิตี้ แบง็กค็อกแล้ว […]
จุฬาฯ เปลี่ยนกิจกรรมวันแรกพบนิสิตใหม่ ไม่มีผู้นำเชียร์ คทากร กลุ่มเชิญพระเกี้ยว ต่อต้านสิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี
ในยุคที่สังคมไทยให้ความสำคัญและขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ หลายหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนจึงต้องกลับมาพิจารณาและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมขององค์กรที่อาจส่งต่อวัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งต้นตอของความไม่เท่าเทียมในสังคม หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งเปลี่ยนแปลงกิจกรรมวันแรกพบนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปี 2565 (CU First Date 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 พร้อมระบุว่าในวันงานจะไม่มีกิจกรรมใดๆ จากกลุ่มผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Cheerleader) จุฬาฯ คทากร (The Drum Major of Chulalongkorn University) และกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Coronet) อบจ. ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากนิสิตจำนวนมากและสาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ (Beauty Privilege) ที่เอื้อให้คนหน้าตาดีตรงตาม ‘มาตรฐานความงาม’ (Beauty Standard) มีโอกาสในสังคมมากขึ้น ดังนั้น อบจ. จึงต้องการแสดงจุดยืนและหยุดส่งวัฒนธรรมการกดขี่และการเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นที่เกิดจากอคติทางรูปร่าง หน้าตา สีผิว เชื้อชาติ และเพศ เพื่อทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันตามปฏิญญาการต้อนรับนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยข้อที่ 2 […]
ชาวเคนยา เอกวาดอร์ กรีซ ฟังอะไรกัน สนุกกับการสุ่มฟังคลื่นวิทยุทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ Radio Garden
ไม่รู้มีใครเป็นแบบเราบ้าง ที่ถึงจุดหนึ่งที่ทำงานไปฟังเพลงไปเรื่อยๆ หรือกระทั่งเหงาจนไม่รู้จะฟังอะไรแล้ว ก็จะข้ามไปฟังคลื่นวิทยุบ้านเรา เผื่อได้ค้นพบเพลงใหม่ๆ หรือมีเสียงใสๆ ของดีเจอยู่เป็นเพื่อน แต่เคยสงสัยไหมว่าในขณะที่เราฟังเพลงหรือเสียงของดีเจที่จัดรายการผ่านคลื่นวิทยุในไทยอยู่นั้น ในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในทวีปเอเชีย ไปจนถึงประเทศที่อยู่ห่างจากเราไปอีกซีกโลก เขาฟังอะไรกัน เพลงที่ดีเจชาวไอซ์แลนด์เปิด สปอตโฆษณาของคลื่นวิทยุในโคลอมเบีย หรือรายการวิทยุที่กรีซเขามีช่องให้คนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรักเหมือนบ้านเราหรือเปล่านะ Radio Garden คือเว็บไซต์ที่รวบรวมหลายพันสถานีวิทยุรายการสดทั่วโลกมาไว้ให้เราเสิร์ชฟังอย่างตั้งใจ หรือจะแรนดอมฟังไปเรื่อยๆ ก็ได้ จุดประสงค์ของเจ้าเว็บไซต์นี้คือต้องการเชื่อมต่อผู้คนและสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านสัญญาณวิทยุที่ข้ามขอบเขตพรมแดน ทั้งยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านผู้ผลิตรายการวิทยุกับผู้ฟัง รวมถึงทำให้ผู้คนที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานเชื่อมต่อกับ ‘บ้าน’ ได้อีกครั้ง เว็บไซต์สำหรับ Radio Lover นี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2016 ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีหัวหอกชื่อ Jonathan Puckey ที่มีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การพัฒนา และทุกอย่างในเว็บไซต์ ที่ผ่านมา Radio Garden ได้มีการอัปเดตระบบและฟังก์ชันใหม่ๆ ไม่น้อย ตั้งแต่เพิ่มรูปแบบแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ตโฟน iOS และ Android เพิ่มระบบค้นหาสถานีวิทยุและสถานที่ที่ต้องการ (ชื่อเมืองหรือประเทศ ฯลฯ) เป็นต้น นอกจากนี้ […]
เตรียมร่ม สวมบูต ชมหนังกลางแปลง ในเทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ทั่วมุมเมือง กทม. 7 – 31 ก.ค. 65
หลังจากเดือนที่ผ่านมา ได้มีเทศกาลดนตรีในสวนที่ชวนให้ผู้คนออกไปเอนจอยกับกรุงเทพฯ อีกครั้ง จนทำให้เมืองนี้กลับมามีสีสันและชีวิตชีวา เดือนนี้ก็เป็นคราวของสายภาพยนตร์และคนชอบดูหนังบ้าง เพราะตลอดเดือนกรกฎาคมจะมีงานใหญ่เป็นเทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ งานฉายหนังกลางแปลงที่จะเกิดขึ้นทั่วมุมเมืองกรุงเทพฯ ตั้งแต่ใจกลางเมืองไปจนถึงชานเมือง ถือเป็นการเติมพลังให้วงการหนังไทยที่ซบเซาไป รวมถึงได้ช่วยเหลือพ่อค้าแม่ขายในพื้นที่ และขยายโอกาสในการเข้าถึงการชมหนังให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย เทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ จะจัดให้มีการฉายหนัง 25 เรื่อง กระจายไปยัง 10 สถานที่ทุกช่วงสุดสัปดาห์ของเดือน โดยหนังทั้งหมดได้รับการคิวเรตจากกรุงเทพมหานคร ร่วมกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และสมาคมหนังกลางแปลง ซึ่งมีหลากหลายรสชาติ ทั้งหนังเก่าตั้งแต่ปี 2502 ถึงปัจจุบัน ทั้งยังอ้างอิงจากพื้นที่ถ่ายทำกับพื้นที่ที่ฉาย เหมาะสมกับผู้ชมทุกเพศทุกวัยในละแวกนั้นๆ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เวิร์กช็อปหัวข้อ Storytelling Workshop โดย underDOC Film โปรดักชันเฮาส์ผู้ทำหนังสารคดี ‘เอหิปัสสิโก’ กับ พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับหนังเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’, กิจกรรมพูดคุยกับผู้กำกับและนักแสดงก่อนฉายหนัง, กิจกรรมแสดงดนตรี โดยกลุ่มนักดนตรีในสวน และ Street Show โดยเครือข่ายนักแสดง […]