WHAT’S UP
เมื่อความเงียบเหงามาพร้อมกับโควิด Leica ชวนมองกรุงเทพฯ ในวันที่เหงาที่สุด ผ่านเลนส์ของช่างภาพดังของไทย
คนไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 มาร่วมสองปีแล้ว หลายคนต้องเวิร์กฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ ออกไปพบปะสังสรรค์กับผู้คนข้างนอกน้อยลง ภาพรถติดในกรุงเทพฯ หรือความวุ่นวาย คึกคัก และขวักไขว่ของผู้คนในย่านการค้าที่คุ้นชินเริ่มหายไปจึงถูกแทนที่ด้วยความว่างเปล่าไร้ผู้คน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักคือกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา Leica Camera Thailand จึงจัดทำแคมเปญ Leica Bangkok Captures ชวนผู้รักการถ่ายภาพอย่าง ‘กิตติพัฒน์ สมานตระกูลชัย’ ‘วรชัย ศิริคงสุวรรณ’ และ ‘กาน อาสาฬห์ประกิต – กฤตนัย อาสาฬห์ประกิต’ พร้อมด้วย ‘อาณกรภูเบศวร์ เฮงสุวรรณ์’ ช่างภาพสายแฟชั่น และ ‘ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์’ ช่างภาพสตรีทรุ่นใหม่ มาเก็บภาพประวัติศาสตร์ในวันที่กรุงเทพฯ เงียบเหงา คนไทยในยุคนี้ต้องตกอยู่สถานการณ์ที่ต้องจดจำ เรียนรู้ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อส่งต่อภาพเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ถึงคุณค่าของความยากลำบากและการร่วมใจกันต่อสู้เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ชมภาพจากแคมเปญ Leica Bangkok Captures ได้ทาง Instagram : @leicacamerathailand และ Facebook : https://www.facebook.com/LeicaCameraThailand/
หยุดนะ! ป่าล้อมไว้หมดแล้ว สิงคโปร์ยกเขตอนุรักษ์ป่าและพันธุ์สัตว์ มาเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกหาทางแก้ปัญหาโควิดกันอย่างตึงมือ สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ปล่อยให้มือว่าง นอกจากรับมือกับสถานการณ์โควิดแล้ว สิงคโปร์ยังประกาศเริ่มโปรเจกต์มากมายที่ช่วยฟื้นฟูภูมิทัศน์เมืองให้เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่อให้กลายเป็นเมืองในธรรมชาติ (City in nature) ภายในปี 2030 โปรเจกต์ที่เป็นไฮไลต์เลยคือ ‘Mandai’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ที่เชื่อมหลายแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไว้ด้วยกัน ทั้งสวนสัตว์สิงคโปร์ ไนต์ซาฟารี ริเวอร์ซาฟารี จนถึงสวนที่ออกแบบภายใต้แนวคิดอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอย่าง ‘สวนนก’ ที่ออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของนกกว่า 400 สายพันธุ์รวมทั้งสายพันธุ์หายากที่โบยบินอย่างอิสระให้นักท่องเที่ยวได้เชยชม และ ‘สวนสัตว์ป่าฝน’ ที่รวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ในแห่งเดียว ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิดและศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูสัตว์ที่บาดเจ็บอีกด้วย ถนน Orchard แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังก็ตกแต่งด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ให้ความร่มเย็นตลอดสายที่เชื่อมไปยังสวนพฤกษศาสตร์และสวนสาธารณะอื่นๆ และอีกโปรเจกต์หนึ่งคือ ‘Jurong Lake Garden’ ที่ถือเป็นโอเอซิสใจกลางเมือง ประกอบไปด้วย 4 โซนใหญ่ๆ ― Lakeside Garden, Chinese Garden, Japanese Garden และ Garden Promenade แต่ละโซนมีจุดเด่นต่างกันไปอย่าง Youth Park ที่มีสนามสเก็ตและสนามจักรยาน อุโมงค์ป่าไผ่ที่ฉ่ำเย็นด้วยไอจากน้ำตก จุดชมโคมพระจันทร์ยามค่ำคืนที่ Moon Lantern Terrace […]
แค่แยกขยะก็ช่วย ‘ขยะกำพร้า’ ได้ NIA ช่วยอุปถัมภ์ขยะมูลฝอย เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทางเลือก
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน คนหันมาใช้บริการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือขยะพลาสติกแบบ Single-use เช่น ช้อนส้อม ถุงพลาสติก กล่องโฟม แล้วยังมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วอีก ขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวันแต่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง เพราะไม่มีราคา และไม่รู้วิธีจัดการต่อ สุดท้ายจึงกลายเป็น ‘ขยะกำพร้า’ ที่ไม่มีใครอยากรับไปจัดการ ถูกทิ้งตามลำคลอง ที่รกร้าง ถูกเผาหรือถูกฝังกลบ จนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป ‘สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)’ หรือ NIA ได้ค้นพบทางออกให้กับปัญหานี้ด้วยวิธีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยการนำไปเผาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทนอื่นๆ ต่อไป แต่เพื่อให้กระบวนการแปรรูปเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขยะกำพร้าเหล่านี้จึงควรได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง NIA จึงอยากให้ผู้บริโภคช่วยกันคัดแยกขยะ เพื่อให้ขยะเหล่านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ถึงจะมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือนำขยะกลับไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์อย่างไร ปัญหาขยะล้นเมืองคงแก้ไม่ได้ง่ายๆ NIA จึงมี ‘โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground)’ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานนี้ ภายใต้หลักสูตรบูรณาการองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม (STEAM4INNOVATOR) ไปสู่เยาวชน ประชาชนที่สนใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาประลองไอเดียนวัตกรรมแก้ไขปัญหาขยะและจุดประกายความหวังที่จะได้เห็นสังคมไทยเข้าใกล้การใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
ปิดกล้อง เปิดใจ ชวนเดตออนไลน์ยุคโควิด คุยเรื่องความตายและการมีชีวิต
ในช่วงล็อกดาวน์ที่เราต่างต้องเก็บตัว งดเจอผู้คนเพื่อความปลอดภัย คงทำให้หลายคนเหงาปาก คิดถึงช่วงเวลาการคุยกับใครสักคนกันบ้าง หากคุณคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้น เราอยากเชิญคุณมาเดตออนไลน์ในยุคโควิดไปกับ Death Talk Speedy Genderless Blind Dating อีเวนต์เดตออนไลน์ผ่าน Zoom ที่คุณจะได้รับบทเป็นใครก็ได้ผ่านชื่อที่ตัวเองอยากให้คนอื่นเรียก ปิดกล้อง หลับตา ใช้เสียงและความรู้สึก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับใครสักคนให้ชัดขึ้นด้วยตัวตนที่แท้จริงอย่างไม่จำกัด ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ทำความรู้จักกับคนหลากหลายตัวตน ในประเด็นเรื่องความตายและการมีชีวิตอยู่ ผ่านการสุ่มตอบคำถามกับใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง About Time สำหรับผู้ที่สนใจเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมเพราะอีเวนต์สนุกๆ นี้จะจัดขึ้นภายในวันนี้เวลา 21.15 – 22.45 น. อ่านรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Death Talk ความตายและชีวิต
กำขี้ดีกว่ากำตด มหา’ลัยเกาหลี สร้างชักโครกเปลี่ยนอึเป็นพลังงาน ที่ยิ่งอึนักศึกษายิ่งได้ตังค์
ที่มหาวิทยาลัยที่เกาหลี ‘ขี้’ นั้นดีกว่าตดหลายเท่า เพราะมีชักโครก ‘BeeVi’ ที่เปลี่ยนอุจจาระเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าสำหรับข้าวของเครื่องใช้ทั้งตึก และยังเปลี่ยนเป็นเงินให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยใช้ซื้อของกันได้อีกด้วย ‘BeeVi’ ชักโครกรักษ์โลกนี้เป็นผลงานของ ‘โช แจวอน’ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอุลซาน (UNIST) เมื่อกดชักโครกแล้ว เครื่องดูดซึ่งใช้น้ำเพียงเล็กน้อยจะส่งอุจจาระไปไว้ในถังปฏิกรณ์ชีวภาพหรือถังหมักใต้ดินที่เปลี่ยนอุจจาระให้เป็น ‘แก๊สมีเทน’ แหล่งพลังงานให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องครัวและห้องน้ำต่อไป ส่วนแก๊สที่เหลือจะถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงพลังงานผลิตไฟฟ้าใช้ในห้องแล็บนั่นเอง โดยปกติแล้วมนุษย์หนึ่งคนจะอุจจาระประมาณ 500 กรัมต่อวันซึ่งเปลี่ยนเป็นแก๊สมีเทนได้ 50 ลิตร แก๊สนั้นใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 0.5 กิโลวัตต์ หรือใช้เป็นพลังงานให้กับรถยนต์ขับได้ถึง 1.2 กิโลเมตร นอกจากชักโครกรักษ์โลกแล้ว มหาวิทยาลัยยังมี ‘กุล’ (น้ำผึ้ง ในภาษาเกาหลี) สกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง สำหรับนักศึกษาที่เข้าใช้ชักโครก BeeVi จะได้เงิน 10 กุลต่อวัน ไว้สำหรับใช้จ่ายซื้อของที่ขายในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ขนมกินเล่น อาหาร กาแฟสักแก้ว ไปจนถึงหนังสือ อาจารย์โช แจวอน ทำให้เราเห็นว่าหากรู้จักคิดนอกกรอบแล้ว อุจจาระนั้นเป็นได้มากกว่าแค่กากของเสีย แต่เป็นพลังงานที่ดีต่อระบบนิเวศและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากพอที่จะช่วยนักศึกษาประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
Swab จมูก เองไม่ถนัด ม.มหิดล จัดให้ ตรวจเชื้อโควิดด้วย Antigen Test Kit รู้ผลใน 30 นาที จองคิวออนไลน์ได้เลย
ไม่ต้องอดทนต่อแถวรออีกต่อไป ในที่สุด อย. อนุมัติให้ประชาชนซื้อ Rapid Antigen Test หรือ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ตรวจเชื้อโควิดได้เองแล้ว แต่หากไม่อยากเสี่ยง Swab จมูกเอง ก็ให้นักเทคนิคการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลตรวจให้ได้ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตั้งศูนย์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit โดยจะรู้ผลภายใน 15 – 30 นาที ที่บริเวณลานจอดรถ ชั้น 1 อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายวันละ 10,000 – 12,000 คน เริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม – 30 กรกฎาคมนี้ […]
IsickIneedbed (ฉันป่วยฉันอยากได้เตียง) เว็บไซต์หาเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วไทย
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเรียกได้ว่ามาคุ และน่าใจหายอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ใกล้หลักหมื่นต่อวัน และภาพการจากไปของชาวบ้านผู้ติดเชื้อที่อยู่ในสภาพไร้เตียง ไร้การรักษา ก็มีให้เห็นกันมากขึ้น IsickIneedbed (ฉันป่วยฉันอยากได้เตียง) คือเว็บไซต์หาเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประชาชนช่วยกันทำ Database ขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนด้วยกันเอง ในวันที่การหาเตียงเป็นเรื่องยาก และมืดแปดด้านสำหรับบางคน ภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยข้อมูลอัปเดตอาการแบบเรียงไทม์ไลน์แต่ละจังหวัดว่าผู้ป่วยท่านไหนกำลังรอเตียงอยู่ ท่านไหนได้รับการช่วยเหลือแล้ว หรือท่านไหนมีอาการอย่างไร และมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง อีกทั้งยังบอกสิ่งของที่ผู้ป่วยต้องการได้ด้วย เช่น ถังออกซิเจน ยา อาหาร เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น เข้าไปกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว อาการ ของที่ต้องการ และวันที่คุณพบเชื้อได้เลยที่ https://isickineedbed.web.app/
ปณท ขอกล่องมิตรรักนักช้อป 7.7 เพื่อเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัย ส่งต่อแพทย์ในแคมเปญ ‘ไปรษณีย์ reBOX’
ไหน ใครหมดเงินไปกับเทศกาล 7.7 ที่ผ่านมาบ้าง สารภาพมาซะดีๆ (ผู้เขียนก็เช่นกัน) ก็ชีวิตมันเครียด เลยต้องสวมบทนักช้อปออนไลน์ใช้เงินแก้เครียดสักหน่อย แต่ต้องมาเครียดอีกรอบตอนที่ต้องจัดการกับขยะจากไปรษณีย์นี่สิ ทั้งกล่องพัสดุ ทั้งซองใส่ของ ล้นห้องไปหมดแล้ววว ทำยังไงดี จะเก็บไว้ใช้ก็ไม่มีพื้นที่เหลือ จะเอาไปทิ้งก็กลายเป็นการสร้างขยะอีคอมเมิร์ซให้โลกเปล่าๆ หรือจะรอลุงซาเล้งมารับซื้อก็ไม่ทันใจอีก งั้นเอากล่องกับซองพัสดุเหล่านี้ไปสร้างประโยชน์กันดีกว่า กับแคมเปญ ‘ไปรษณีย์ reBOX’ ที่บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม เชิญชวนให้ขาช้อปออนไลน์ทั้งหลายส่งกล่องและซองพัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ บรรจุลงใน ‘กล่อง BOX บุญ’ เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลและทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับเชื้อ COVID-19 อยู่ในตอนนี้ เพียงแค่รวบรวมกล่องพัสดุหรือซองกระดาษที่ไม่ใช้แล้ว ส่งให้ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านทั่วประเทศ หรือที่จุดรับรวบรวมอื่นๆ เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สำนักงานใหญ่) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ SHIPPOP เป็นต้น นอกจากจะได้ช้อปปิงจนจุใจ ยังสร้างคุณค่าให้กล่องพัสดุเหลือทิ้ง และได้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอีกด้วยนะ นักช้อปคนไหนที่มีข้อสงสัย […]
ถุงยางเอ้ย เป็นกามโรคอะไรบอกได้! เด็กอังกฤษคิดค้นถุงยางเปลี่ยนสีตามกามโรค รู้เองได้ไม่ต้องไปหาหมอ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หากไม่ตรวจก็คงไม่รู้ว่าติด แต่จริงๆ แล้วยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ยิ่งรักษาได้ทันท่วงที แต่การไปหาหมอเพื่อตรวจหาโรคนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน กลุ่มนักเรียนชาวอังกฤษจึงคิดค้นถุงยางอนามัยที่เปลี่ยนสีได้หากผู้ใช้มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อบรรเทาปัญหาการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น ถุงยางอนามัยสุดเจ๋งนี้มีชื่อว่า ‘The S.T.EYE condom’ มาจากคำว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และคำว่า Eye เหมือนเป็นตาคอยสอดส่องหาการติดเชื้อนั่นเอง เจ้าของไอเดียนี้คือกลุ่มนักเรียนชาวอังกฤษวัย 13 – 14 ปี 3 คน ได้แก่ Muaz Nawaz, Daanyaal Ali และ Chirag Shah จากโรงเรียน London’s Isaac Newton Academy ที่ส่งไอเดียนี้เข้าประกวดในงาน TeenTech Awards และได้ชนะรางวัลเป็นเงิน 1,000 ปอนด์หรือราว 45,000 บาท ถุงยางอนามัยนี้ประกอบด้วยชั้นโมเลกุลที่จะเรืองแสงเมื่อสัมผัสโดนแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังเรืองแสงแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้ออีกด้วย เช่น เชื้อคลาไมเดียเป็นสีเขียว เริมเป็นสีเหลือง ซิฟิลิสเป็นสีฟ้า และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหากผู้ใช้มีเชื้อไวรัส HPV ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ กลุ่มนักเรียนที่คิดค้นอยากให้ถุงยางนี้เป็นส่วนช่วยให้ผู้คนตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วยตัวเอง หากใครไม่สบายใจจะเข้าพบแพทย์ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ […]
โควิดกำลังไป ฝุ่นพิษกำลังมา ศิลปินอังกฤษสร้างงานศิลปะจากฝุ่นควัน สะท้อนปัญหามลพิษในลอนดอน
ประเทศอังกฤษกำลังคลายล็อกดาวน์ทีละขั้นจนใกล้จะยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ เร็วๆ นี้ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเกือบจะปกติได้อีกครั้ง ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษที่มาพร้อมกับการเดินทางในเมืองหลวงอย่างลอนดอนก็กลับมาเช่นกัน ‘Marina Vitaglione’ ศิลปินชาวอังกฤษไอเดียบรรเจิดจึงสร้างงานศิลปะจากฝุ่นควันเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จาก London Air Quality Network จาก Imperial College London ให้ความร่วมมือกับ Marina ในการเข้าถึงตัวอย่างอากาศบนถนนใหญ่หลายสายทั่วเมืองอย่าง ถนน Brixton และถนน Lewisham ในเขต South London Marina นำตัวอย่างบางส่วนไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และถ่ายภาพ บางส่วนนำไปไปขยายด้วยราเมนสเปกโตรสโคป (Raman Spectroscopy) แล้วเข้ากระบวนการพิมพ์แบบ Cyanotype บนกระดาษจากต้น Gampi ญี่ปุ่น ทำให้เกิดภาพสีน้ำเงินเขียวชัดเจนบนกระดาษสีขาวบางๆ ราวกับท้องฟ้าใสไร้เมฆ ตรงข้ามกับท้องฟ้าในความเป็นจริงที่ขมุกขมัวด้วยฝุ่นควัน Environmental Research Group จากคณะสาธารณสุขของ Imperial College London และ Marina หวังว่าผลงานภาพพิมพ์จะช่วยให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องปัญหามลพิษในอากาศมากขึ้น เพราะปัญหานี้เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจมากมาย และเป็นหนึ่งในสี่ภัยคุกคามหลักที่คร่าชีวิตชาวอังกฤษรองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอ้วนอีกด้วย งานศิลปะภาพพิมพ์ของ […]
‘แม่จ๋า อันนี้เอาไว้ทำอะไร’ หนังสือภาพกลไกสิ่งของรอบตัวสำหรับเด็กญี่ปุ่นช่วยพ่อแม่ตอบคำถามลูกแบบละเอียดยิบ
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หรือมือเก่าหลายๆ คนคงเคยต้องตอบคำถามลูกๆ วัยเจ้าหนูจำไมอยู่เรื่อยๆ คำถามบางคำถามไม่ได้ยากจนโลกแตก เช่น ‘แม่จ๋า น้ำในชักโครกไหลมาจากไหน’ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะอธิบายให้เด็กฟัง หนังสือภาพจากญี่ปุ่นเล่มนี้เลยรวบรวมคำตอบพร้อมภาพประกอบสุดน่ารักไว้ให้คุณพ่อคุณแม่แล้ว! หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘きかいのしくみ図鑑’ หรือ ‘อันนี้ทำงานอย่างไรนะ’ เป็นหนังสือภาพที่อธิบายโครงสร้างภายในและกลไกต่างๆ ของสิ่งรอบตัวว่าทำงานอย่างไร โดยแบ่งสิ่งของออกเป็น 3 ส่วน คือ สิ่งของที่อยู่ในบ้าน (พัดลม ไฟฉาย นาฬิกา กบเหลาดินสอ เครื่องดูดฝุ่น) สิ่งของที่อยู่ในเมือง (บันไดเลื่อน ตู้กดน้ำ ลิฟต์) และยานพาหนะ (รถขยะ รถดับเพลิง จรวด) ทั้งยังมีลูกเล่นเป็นภาพป็อปอัปเสริมการเรียนรู้ให้เด็กวัยอนุบาลได้ดีอีกด้วย หนังสือภาพป็อปอัปเล่มนี้สนนราคาอยู่ที่ 2,178 เยน หรือ 645.55 บาท หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปในญี่ปุ่น Source : Tonari ญี่ปุ่น | https://www.facebook.com/tonarijapanth/posts/1703424116531478
ทำผู้ใหญ่มึนกันทั่วสหราชอาณาจักร เด็กใช้น้ำผลไม้ปลอมผล Strip Test เพราะติดโควิดแล้วได้หยุดเรียน
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในปัจจุบันของประเทศอังกฤษยังน่าวิตก ยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นจากการตรวจเชิงรุกวันละล้านคน ทั้งยังมี PCR Test และ LFT Test ให้ประชาชนตรวจได้เองอีก ทำให้เด็กๆ ชาวอังกฤษใช้เล่ห์กลปลอมผลตรวจบน Strip Test ด้วยน้ำผลไม้และน้ำอัดลม! เผื่อจะได้โดดเรียนสัก 2 อาทิตย์ ไอเดียแผลงๆ นี้เกิดจากคลิปวิดีโอไวรัลบน TikTok ที่มียอดเข้าชมกว่า 6.5 ล้านวิว โดยเนื้อหามีการใช้ของเหลวประเภทต่างๆ ทดสอบผลโควิด-19 สิ่งที่ทำให้เกิดผลเป็นบวกคือน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม เพราะมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเมื่อใช้ทดสอบแล้วจะเข้าไปทำลาย pH ที่เหมาะสมของแอนติบอดีซึ่งบรรจุอยู่ในชุดตรวจ โชคยังดีที่ผลการตรวจปลอมๆ นี้คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะหากล้างด้วยสารละลายบัฟเฟอร์ที่ช่วยปรับสมดุลค่า pH แล้วผลที่แท้จริงจะปรากฏ หลังกลโกงนี้ถูกแฉ อาจารย์หลายท่านในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในอังกฤษก็ออกมาแสดงความคิดเห็นและตักเตือนนักเรียน เพราะการปลอมผลตรวจโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องตลก มีหลายคนโดยเฉพาะคนในครอบครัวที่ต้องเดือดร้อนกับการกระทำเช่นนี้ หลายโรงเรียนจึงส่งจดหมายไปยังผู้ปกครองเพื่อเตือนว่าอาจเกิดการปลอมผลโควิดขึ้นได้ และกำชับให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานไม่ให้ใช้ชุดตรวจโควิดในทางที่ผิดอีก Sources : BBC Future | https://tinyurl.com/5fpzjr6pThe Guardian | https://tinyurl.com/bd5vxht3