Café Society : หลงรักฝันจริง ณ สองนคร - Urban Creature

ภาพยนตร์’ และพื้นที่เมือง’ นั้นมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี นับตั้งแต่ที่ศาสตร์แห่งความบันเทิงชนิดนี้ได้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจนกลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมหลักของโลกปัจจุบัน 

ถ้าเราย้อนเวลากลับไปยังช่วงเวลาแห่งการแตกหน่อก่อร่างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เราจะพบว่าภาพยนตร์นั้นคืออีกหนึ่งผลพวงของการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายตัวของความเป็นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรป (ก่อนจะลุกลามข้ามทวีปบุกไปยังอเมริกาและอื่นๆ) ทำให้เกิดการส่งต่อวัฒนธรรมและเทคโนโลยีไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งกระบวนการบันทึกภาพและการฉายภาพบนจอใหญ่อันได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นภาพยนตร์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘เมือง’ นั้นมีบทบาทสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาธุรกิจภาพยนตร์ ทั้งในส่วนของกระบวนการสร้างหรือแม้แต่กระบวนการเสพวัฒนธรรมภาพยนตร์ในรูปแบบอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งให้เราพูดถึงความเชื่อมโยงของความเป็นเมืองและองค์ประกอบทางภาพยนตร์ โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาแล้วนั้น หลายคนอาจจะพอจินตนาการนึกถึงภาพของเมืองใหญ่ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวแล้ว ในบางเรื่องลักษณะเมืองที่โดดเด่นก็อาจมีนัยพิเศษ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อทิศทางของเรื่องราวและขับเคลื่อนตัวละครต่างๆ ในภาพยนตร์ ราวกับว่า ‘พื้นที่เมือง’ เหล่านั้นมีตัวตนและลักษณะเฉพาะที่น่าจดจำไม่แพ้ตัวละครทั้งหลักและรองในภาพยนตร์เลยทีเดียว

เราเชื่อว่าถ้าพูดถึงประเด็นดังกล่าวแล้ว คอภาพยนตร์ทั้งขาจริงและขาจรอาจจะมีภาพของเมืองและชื่อของภาพยนตร์ที่ติดอยู่ในความทรงจำให้นึกถึงกันอยู่บ้าง สำหรับเรานั้นคงหนีไม่พ้นบรรดาผลงาน (ที่มีอยู่มากมายหลายแหล่) ของคุณปู่วู้ดดี้ อัลเลน ผู้กำกับแว่นเนิร์ดผู้คร่ำหวอดวงการภาพยนตร์ที่มีภาพเมืองอันโดดเด่น โดยเฉพาะกับมหานครนิวยอร์กที่ตัวเขาโปรดปรานหลงใหล (จนเราว่าบางทีก็ถึงขั้นเสพติด) ท่ามกลางมวลหมู่มหาภาพยนตร์ในเมืองของคุณปู่ผู้กำกับแล้ว ภาพของตึกสูงระฟ้าประจำมหานครหลักฝั่งตะวันออกแห่งนี้ก็พลันผุดขึ้นมาในหัวของเราทุกครั้งทุกทีไป ไม่ว่าจะเป็นผลงานรุ่นบุกเบิกแถมเป็นโคตรมาสเตอร์พีซ (ในดวงใจเรา) อย่าง Manhattan (1979) ก่อนจะมาต่อแบบรัวๆ ในช่วงหลังกับทั้ง Bullets Over Broadway (1994), Manhattan Murder Mystery (1993), Anything Else (2003) หรือแม้แต่ Whatever Works (2009) ก็ล้วนนำเสนอภาพอันติดตราตรึงใจของมหานครนิวยอร์กในรูปแบบต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง Café Society ที่เพิ่งลงโรงภาพยนตร์ไปเมื่อปลายปี 2016 (มาแวะฉายแบบเงียบๆ และจากไปอย่างสงบตามสไตล์การฉายผลงานปู่วู้ดดี้ในบ้านเรา)

สำหรับภาพยนตร์ย้อนยุคเรื่อง Café Society นี้นั้น ผู้กำกับรุ่นใหญ่ (ผู้ควงหน้าที่เขียนบทเองเหมือนเช่นเคย) ได้เลือกนำเสนอ ‘เรื่องรัก ณ สองนคร’ ผ่านชีวิตของตัวละครเอกหนุ่มน้อยชาวนิวยอร์ก บ็อบบี้ ดอร์ฟแมน (รับบทโดยเจสซี ไอเซนเบิร์ก ที่พกพามาพร้อมกับทักษะสปีดการพูดด่วนนรกเร็วสูงอันเป็นเอกลักษณ์) ผู้ต้องจากบ้านเกิด ณ​ มหานครฝั่งตะวันออกมาเผชิญชีวิตและตามหาความฝันแบบ ‘อเมริกันดรีม’ ในมหานครลอสแอนเจลิส อย่างไรก็ตาม โชคชะตาชีวิตของเขาอาจจะไม่เหมาะกับฝั่งตะวันตก ทำให้ตัวเขาเองมีเหตุต้องกลับนิวยอร์กบ้านเกิดเพื่อไปตั้งหลักอีกครั้งจนสามารถเติบโตและกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวได้ในท้ายที่สุด ซึ่งเท่าที่เราฟังดูก็ชวนให้รู้สึกว่านี่คือภาพยนตร์เรื่องแต่งที่สร้างจากชีวิตจริงของตัวผู้กำกับเอง (เอาว่าไม่มากก็น้อยล่ะนะ) แถมตัวเจสซี ไอเซนเบิร์ก ยังถอดลุคโคลนร่างราวกับเป็นแบบจำลองของปู่วู้ดดี้ อัลเลน สมัยหนุ่มได้แบบโคตรเป๊ะในภาพยนตร์เรื่องนี้

ภาพยนตร์ Café Society ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวชีวิตความรักของตัวละครหนุ่มน้อยบ็อบบี้ โดยตัวเมืองแห่งความฝันของผู้คนในแวดวงภาพยนตร์อย่างลอสแอนเจลิสนั้นได้นำพาให้ตัวละครเอกผู้นี้มาพบรักกับสาวน้อยแรกรุ่นผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักแสดงฮอลลีวูด ซึ่งบรรยากาศของลอสแอนเจลิสนั้นจึงถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่โลดโผน สนุกสนาน แต่ก็เปี่ยมด้วยเสน่ห์ เหมือนดังเช่นคาแรกเตอร์ของตัวละครสาวน้อยแรกรุ่นที่บ็อบบี้ตกหลุมรักมาโดยตลอดช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองใหญ่แห่งนี้ เช่นเดียวกับเรื่องราวภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยการออกตามหาความรัก ความฝัน รวมถึงความหมายของชีวิตที่มาพร้อมกับจังหวะการเล่าเรื่องที่รวดเร็ว สนุกสนาน (และที่สำคัญคือลอยฟุ้งชวนฝัน) ตามแบบฉบับของผู้กำกับ

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกคิดถึงบ้านก็ทำให้ชายหนุ่มเลือกทิ้งความฝันแล้วมุ่งหน้ากลับสู่เมืองเกิดที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้นเอง เขาก็ได้พบรักกับหญิงสาวอีกหนึ่งคน (และลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวร่วมกันต่อมา) ซึ่งคาแรกเตอร์ของนิวยอร์กก็ถูกนำเสนอผ่านตัวละครหญิงสาวคนที่สองที่สุดแสนจะอบอุ่น สง่างาม จริงจังแบบผู้ใหญ่ แถมยังพร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนตัวละครเอกของเราในทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ โดยทันทีที่ภาพยนตร์เข้าสู่โหมดนิวยอร์กแล้ว เราจะรู้สึกได้เลยว่าโทนและจังหวะของการเล่าเรื่องนั้นจะถูกปรับให้ดูจริงจังยิ่งขึ้น ด้วยตัวบ็อบบี้เองที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่และมีบทบาทในสังคมมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น เรื่องราวเลยหันไปให้ความสำคัญกับการเติบโตทางด้านธุรกิจคลับหรูของตัวละครเอก รวมถึงการบริหารความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขาเองมากกว่าความรักวัยรุ่น

ด้วยองค์ประกอบเชิงสัญญะในภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของผู้กำกับแว่นเนิร์ดรุ่นคุณปู่อย่างวู้ดดี้ อัลเลน กับ ‘พื้นที่เมือง’ โดยเฉพาะในนิวยอร์กที่ตัวเขาเองหลงรักและหลงใหลมาตลอดทั้งชีวิต เช่นเดียวกันก็กล่าวถึงมุมมองของชีวิตตัวเอง ณ ลอสแอนเจลิส ผ่านหนุ่มน้อยตัวละครเอกซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวในภาพยนตร์ ที่ถึงแม้ว่าลอสแอนเจลิสจะโฉบเฉี่ยวชวนฝันสักเพียงใด แต่ก็ยังเป็นได้เพียงแค่ ‘ฝัน’ วูบเดียว ซึ่งตัวของเขาเองได้ประสบก่อนจะกลับมายังบ้านเกิดที่นิวยอร์ก แล้วเริ่มต้นใช้ชีวิต ‘จริง’ เช่นเดียวกับเรื่องราวส่วนตัวของผู้กำกับรุ่นใหญ่ที่เคยอาบน้ำร้อนในการใช้ชีวิตที่สองเมืองใหญ่มาแล้วอย่างที่หลายคนคงพอทราบกัน

อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อว่าทั้งเมืองฝัน ‘ลอสแอนเจลิส’ และเมืองจริง ‘นิวยอร์ก’ ก็ล้วนฝากความทรงจำหลายรูปแบบอารมณ์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต เหมือนดั่งที่ตัวละครหนุ่มน้อยบ็อบบี้ ดอร์ฟแมนได้กล่าวไว้ว่า “ชีวิตคือภาพยนตร์ตลกที่เขียนโดยนักเขียนซาดิสม์” เราว่าบางทีนั่นอาจจะเป็นประโยคจากใจที่วู้ดดี้ อัลเลน อยากกล่าวถึงชีวิตของเขาระหว่างช่วงเวลาที่ ‘หลงรัก’ อยู่กับสองเมืองใหญ่นี้ก็เป็นได้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.