C-sense แบรนด์ที่ยกให้กล้วยเป็นทุกอย่าง - Urban Creature

  • C-sense Bananamaché คือแบรนด์สุดคราฟต์ที่นำตั้งแต่กาบกล้วย ใบตอง และต้นกล้วย มาเนรมิตด้วยวิธีการเปเปอร์มาเช่ให้กลายเป็นภาชนะ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน
  • เจ้าของแบรนด์อย่าง นุช–ปิยะนุช ชัยธีระยานนท์ เริ่มต้นทำแบรนด์นี้ด้วยความตั้งใจให้ทุกกระบวนการเป็นไปตามธรรมชาติ ไร้สารเคมี โดยแรกเริ่มทำแบรนด์ ไม่ได้มีแนวคิดว่าจะต้องรักษ์โลกแต่อย่างใด แต่เมื่อโลกหมุนไป สิ่งที่เธอทำนั้นคือการช่วยโลกแบบไม่รู้ตัว
  • ช่วงแรก C-sense แน่วแน่ด้วยการบุกตลาดงานคราฟต์ในยุคที่คนไทยยังไม่ตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้าหลักของแบรนด์คือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดยุโรป
  • แบรนด์ C-sense ไม่ได้อยากเป็นใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม แต่ต้องการให้แบรนด์แข็งแรงและเติบโตในระดับงานหัตถกรรม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง

กล้วย ถูกใช้เป็นสำนวนอย่าง ‘ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก’
กล้วย ถูกนำไปบดจนกลายเป็นเมนูอาหารวัยเด็ก
กล้วย ถูกนำไปห่ออาหารและขนม ออกมาเป็นกระทงสุดคิวท์
กล้วย ถูกนำไปใส่ในเนื้อเพลง ส้มส้มส้ม แอปเปิ้ล มะละกอ กล้วย ส้ม…

เห็นแบบนี้แล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า ‘กล้วย’ เป็นพืชที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา!

วันนี้เราไม่ได้จะพาทุกคนมาปอกกล้วยกินแต่อย่างใด แต่จะพามารู้จักกับแบรนด์ C-sense Bananamaché ที่หยิบแทบทุกส่วนของกล้วยมาสร้างสรรค์ และเปลี่ยนพืชที่เราเห็นอยู่ดาษดื่นให้มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการแปลงร่างให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ส่งออกไปไกลถึงต่างแดน

และผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์คือ พี่นุช–ปิยะนุช ชัยธีระยานนท์ ชาวกรุงเทพฯ แต๊ๆ ที่เรียนจบจากสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ววันหนึ่งเธอริเริ่มเปิดโรงงานเซรามิกที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2544 และติดใจการใช้ชีวิตที่นั่น ทำให้เธอตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่ภาคเหนือ และเทียวไปเทียวมาระหว่างเชียงใหม่กับลำพูนเพื่อทำธุรกิจ

สำหรับตัว C จากชื่อแบรนด์ มาจากคำว่า Ceramic และคำว่า Chiang Mai ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกสิ่งที่พี่นุชทำได้ดี แต่ขึ้นชื่อว่า ‘ทำธุรกิจ’ ก็ย่อมมีอุปสรรคตามมาเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อกิจการเซรามิกดำเนินไปได้ 2 ปี ก็มีท่าทีว่าจะไม่เป็นไปดั่งใจหวัง เพราะช่วงนั้นมีสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด ประกอบกับมีเรื่องกล้วยๆ เข้ามาจุดประกายความคิด พี่นุชจึงตัดสินใจอำลาวงการเซรามิก แล้วเติมคำว่า Bananamaché ต่อท้ายคำว่า C-sense นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวกล้วยๆ ที่เราจะเล่าต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นของเรื่องกล้วยๆ

เมื่อ C-sense พลิกจากธุรกิจเซรามิกมาเป็น C-sense Bananamaché พี่นุชบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า คนที่เข้ามาจุดประกายการนำกล้วยมาสร้างสรรค์ให้เป็นสารพัดโปรดักต์ คือคนที่อยู่แวดล้อมตัวเธอทั้งสิ้น

“มีน้องในทีมเป็นคนพะเยา ซึ่งที่บ้านเขาทำพวกเชือกกล้วยกันอยู่ ตัวเด็กคนนี้เขาเริ่มจากทำพวกกระดาษกล้วยก่อน ซึ่งเขาก็ส่งมาให้พี่ช่วยดูและช่วยขาย แล้วก็พบว่า เชือกกล้วยมันจะมีตัวจุกอยู่อันหนึ่ง ที่มาจากลำต้นของกล้วย พอพี่แกะตัวจุกนี้ออกมา เฮ้ย ตัวจุกเชือกกล้วยนี่มันสวยดีเนาะ ทำไมไม่ลองทำเป็นอะไรสักอย่างดูล่ะ

“คือพี่นุชทำงานเซรามิกอยู่แล้ว พี่เลยขึ้นโมเดลเป็นเหมือนเปเปอร์มาเช่หลากหลายแบบ แล้วแทนที่จะทำแค่เชือกกล้วย ก็ลองเอากาบกล้วยมาแปะดู มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาวิธีการขึ้นโมเดลแบบเซรามิกมามิกซ์กับวัสดุธรรมชาติ จนออกมาเป็นรูปคล้ายฝักถั่วเพื่อเอาไปประกอบเซรามิกของเรา ซึ่งพอไปออกงานแฟร์ ปรากฏว่าลูกค้าก็ถามเกี่ยวกับกาบกล้วยมากกว่าตัวเซรามิกซะอีก”

พอพี่นุชเห็นแล้วว่าลูกค้าสนใจงานจากกล้วยมากกว่า เธอเลยหันมาพัฒนาสินค้าจากกล้วยแบบเต็มตัว พี่นุชบอกว่ายุคนั้นกลุ่มสแกนดิเนเวียน เช่นเดนมาร์ก หรือสวีเดนเขาอินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก กลับกันในไทยยังไม่ตื่นตัวเลยด้วยซ้ำ เธอเลยได้ลูกค้าคนแรกเป็นชาวเดนมาร์ก และก็พัฒนา C-sense Bananamaché มาตลอดจนตอนนี้ก็ 15 ปีแล้ว

ย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว คุณตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน? เราคนหนึ่งล่ะขอสารภาพว่าไม่ตื่นตัวเลยแม้แต่น้อย ออกแนวเป็นสายใครทำอะไรก็ทำตามเขามากกว่า ตัวพี่นุชเองก็บอกกับเราว่าเธอไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป แต่ในการทำธุรกิจของพี่นุชนั้นต้องการเพียงแค่ว่า อยากให้คนทำงานไม่ต้องสัมผัสสารเคมี และลูกค้าต้องได้โปรดักต์จากธรรมชาติจริงๆ

“ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยนะ คิดแค่ว่าตัวเองกับคนที่ทำงานต้องมีความสุข และไม่ควรได้รับอันตรายจากพวกสารเคมี มีจุดหนึ่งที่ C-sense มีคอลเลกชันที่ต้องติดทองคำเปลว พี่ก็ต้องหาสูตรกาวหรือวิธีการติดโดยไม่ต้องใช้สีน้ำมันหรือสารเคมี

“แต่ตอนหลังพี่มารู้ว่าทองคำเปลวมันจะมีทองแท้กับทองปลอม ซึ่งทองปลอมมันคือตะกั่วอย่างหนึ่ง พี่นุชก็เลยเลิกทำทันที พอลูกค้ามาออเดอร์เราก็ต้องบอกเขาว่าทำให้ไม่ได้จริงๆ ถ้าต้องการเราจะแนะนำเจ้าใหม่ให้ ซึ่งเขาจะติดวิธีไหนอันนี้ไม่รู้เลย” พี่นุชตอกย้ำความตั้งใจของแบรนด์

เรียนรู้เพื่ออยู่กับชุมชน

ก่อนพี่นุชจะมาเป็นสาวเหนือ เธอเคยทำงานเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า จนมีโอกาสได้ขึ้นมาดูงานที่เชียงใหม่ และติดใจการใช้ชีวิตในบรรยากาศที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ พี่นุชบอกว่า แม้จังหวัดทางภาคเหนือจะไม่ได้สะดวกสบายในแง่ของการเดินทาง แต่ในหนึ่งวันเธอสามารถทำอะไรได้หลายอย่างเลยทีเดียว และมากไปกว่านั้น การเรียนรู้ความเป็นชาวเหนือก็เป็นสิ่งที่พี่นุชต้องเรียนรู้

“คนที่นี่จะมีเอกลักษณ์ คือเขาจะไม่ได้ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับงานขนาดนั้น เขาจะมีประเพณี มีงานวัด มีงานปอยหลวง มีงานศพที่เขาจะให้ความสำคัญเช่นกัน และคนที่นี่ก็จะทำนาหรือทำสวนลำไยเป็นหลักด้วย ซึ่งมันก็กินเวลาการทำงานของเขาไปส่วนหนึ่งแล้ว พี่เลยต้องเข้าใจวิถีชีวิตของพวกเขา ตอนแรกพี่นุชก็ไม่เข้าใจนะ แต่พอใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ เราก็รู้แล้วว่า ถ้ามีงานศพเขาก็จะไม่พลาด มีใครเสียก็ต้องไปช่วยกัน หรือช่วงกลางวันก็จะขับรถไปกินข้าวที่บ้านแล้ว

“จุดหนึ่งพี่นุชรู้เลยว่า ทุกคนต้องทำงานที่บ้านให้ได้ แล้วก็ต้องไม่ทำงานเพื่อปริมาณเพราะมันจะเครียด คือทำงานให้ได้พอเหมาะสม มีเงินพอใช้ และมีความสุขจะโอเคกว่า ตอนนี้เลยพยายามทำทุกอย่างให้เป็นอย่างนั้น แล้วตัวพี่นุชจะเป็นคนไปจัดการทุกอย่างเอง ถ้าเขาสามารถทำงานที่บ้านได้ เสร็จเมื่อไหร่ไม่ต้องรีบ

“ถ้า C-sense จะทำเพื่อเน้นปริมาณแบบอุตสาหกรรมคงทำไม่ได้ พี่นุชอยากให้เป็นงานคราฟต์มากกว่า คนทำงานเองจะได้ไม่กดดัน”

และเมื่อพูดถึงงานคราฟต์ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่พี่นุชจะถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ซึ่งเธอบอกเราว่า มีเหมือนกันที่ชาวบ้านเองไม่เข้าใจว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ จะเอาไปขายใคร หรือบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องของดีไซน์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องพวกนี้สอน 10 คนก็อาจจะเป็นแค่คนเดียว  

“พี่นุชไม่ค่อยไปกดดันอะไรเขา เราจะถามเขาเสมอว่าเสร็จเมื่อไหร่ เอาที่ไหว การทำงานกับชุมชนพี่นุชจะพูดตรงๆ เสมอ ทำได้คือทำได้ ทำไม่ได้คือทำไม่ได้ พอมันเป็นงานหัตถกรรม มันต้องใช้ความอดทน แล้วมันก็เป็นหน้าที่ของเราด้วยที่จะหาสิ่งอื่นไปให้เขาทำ พอรู้ว่าเขาทำอันนี้ไม่ได้ เราก็จะมองว่ามีอะไรที่เขาพอทำได้ อย่างป้าคนนี้มาเย็บจักรแทนนะ หรือคนนี้มาทำกระเป๋าเพื่อเป็นแพคเกจจิ้งในการขาย” พี่นุชเล่า

กว่าจะออกมาเป็นข้าวของเครื่องใช้

C-sense Bananamaché มีโปรดักต์อยู่ราว 20 ชนิด ซึ่งกว่าจะแปลงโฉมกาบกล้วยให้ออกมาเป็นถ้วยชาม จาน ถาดใส่ของ สมุด ไปจนถึงของใช้กระจุกกระจิก พี่นุชใช้วิธีการเดียวกันคือการขึ้นโมเดลเป็นรูปทรงตามต้องการ และใช้วิธีการเดียวกับเปเปอร์มาเช่ แต่สิ่งที่มีรายละเอียดไม่น้อยเลยคือ การทำความรู้จักกล้วยแต่ละชนิด ส่วนต่างๆ ของมัน และเข้าใจสภาพดินฟ้าอากาศ

“หลักๆ เราใช้กาบกล้วยเป็นวัตถุดิบหลัก โดยต้องเอาลำต้นของมันมาลอก ซึ่งกาบกล้วยจะมีผนังสองด้าน ส่วนตัวพี่ชอบปาดกาบกล้วยให้เห็นความงามของเส้นสายด้านในของมัน จากนั้นก็นำมาตากแห้งโดยใช้แสงแดดธรรมชาติ นั่นแปลว่าเราต้องรู้ฤดูกาลแล้วว่าช่วงนี้ไม่มีฝน หรือไม่มีความชื้นในอากาศ เหมาะๆ เลยคือปลายฤดูหนาวไปจนถึงฤดูร้อน ถ้าไม่ทำในช่วงนี้ กาบกล้วยมันจะมีปัญหาเรื่องสีและขึ้นรา

“จากนั้นพี่นุชจะเก็บทุกอย่างเข้าโกดัง คนงานอีกส่วนก็สามารถทำโครงเปเปอร์มาเช่ได้เลย เสร็จจากนั้นก็เอากาบกล้วยที่มีมาแปะโดยใช้กาวของเราที่มีสูตรจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ และจบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการเคลือบเพื่อป้องกันเชื้อรา”

แต่กล้วยในบ้านเราก็มีหลายชนิด เราเลยถามพี่นุชว่า C-sense ใช้กล้วยพันธุ์ใด ซึ่งเธอบอกกับเราว่าทางแบรนด์ใช้กล้วยแทบทุกชนิด เว้นแต่กล้วยน้ำว้าพี่นุชจะไม่ชอบ เพราะว่าสีไม่ค่อยสวย เส้นใยมันเล็ก ทำให้เห็นลวดลายจากธรรมชาติไม่ชัดเจน โดยพี่นุชแอบบอกเราว่า ส่วนที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ก็จะเอาไปทำปุ๋ยบ้าง หรือไม่ก็นำไปทำแกงหยวกกล้วยร้อนๆ

อย่างลายเส้นบนผิวของโปรดักต์แต่ละตัว ก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้ล้วนๆ แรงลมและแมลงที่มาดอมดมทำให้เกิดสีสันที่สารเคมีมอบให้ไม่ได้ แต่ทั้งนี้พอเป็นงานหัตถกรรมก็อาจมีข้อจำกัดในการใช้งาน โดยพี่นุชแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ควรใช้งานภายในบ้านเพื่อยืดอายุของสินค้า และหากดูแลรักษาดีๆ ก็อาจมีอายุการใช้งานได้ถึง 10 ปีเลยทีเดียว

แบรนด์ที่ใครก็อยากรู้จัก

วันนี้ C-sense Bananamaché มีลูกค้าหลักคือจากอเมริกา ฝรั่งเศส ไปจนถึงหลายประเทศจากแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งถือเป็นความโชคดีของพื้นที่แถบเอเชียที่มี ‘กล้วย’ เป็นพืชซึ่งสามารถปลูกได้ง่าย และเราก็นำมันมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย พอฝรั่งที่เขาตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้วมาเห็น มันก็เลยดูว้าว!

ตั้งแต่แรกเริ่มทำแบรนด์ พี่นุชใช้วิธีการไปออกตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อให้ C-sense เป็นที่รู้จัก รวมถึงได้คลุกคลีกับตลาดงานคราฟต์ให้มากขึ้น พี่นุชเล่าให้เราฟังถึงบรรยากาศตอนพาสารพัดสินค้าจากกาบกล้วยไปออกงาน

“อย่างงาน Little Tree Market เป็นงานตลาดนัดของทำมือที่แต่ละเจ้าจะมาปูเสื่อขายของกัน พี่นุชเลือกไปที่นั่นเพราะว่ามันเป็นตลาดสิ่งแวดล้อมที่มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน ซึ่งมันค่อนข้างตอบรับดีจนพี่นุชตกใจเลย รู้งี้มาตั้งแต่แรกแล้ว (หัวเราะ) แต่ทั้งนี้พี่ก็จะเลือกไปตลาดที่มองแล้วว่ามันจะเข้ากับแบรนด์เรา งานไหนที่ไม่น่าใช่ตลาดของเราก็จะไม่ไป”

และด้วยความเป็นงานหัตถกรรม งานแต่ละชิ้นค่อนข้างใช้เวลาและมีจำนวนไม่มาก ทั้งยังอาศัยการขายหลักเป็นการออเดอร์จากลูกค้าที่ต้องการโดยเฉพาะ ส่วนการขายปลีกก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งไปเลย แต่พี่นุชใช้การเลือกสถานที่ที่คิดว่าต้องขายได้แน่นอนอย่างสยาม พารากอน และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

กว่า 15 ปีกับเรื่องกล้วยๆ

สังเกตไหมว่าตอนนี้บ้านเราหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น นั่นทำให้ C-sense Bananamaché กำลังเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย พี่นุชเล่าให้เราฟังถึงมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากวันแรกที่เธอเริ่มสร้างแบรนด์

“พัฒนาการของกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมมันไปไกลมาก ไกลจนรู้สึกตกใจเพราะเราอยู่กับมันมานาน และเชื่อว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่พี่นุชมองว่า ของแบบนี้ต้องอาศัยการส่งเสริมจากผู้ใหญ่ในประเทศด้วย ซึ่งตอนนี้มันแค่เริ่มต้นเท่านั้น ถ้าจะคาดหวังว่าให้เมืองไทยเปลี่ยนแปลงแปลงอย่างก้าวกระโดดมันคงยาก แต่พี่นุชคงทำตรงนี้ต่อไป และอาศัยคนตัวเล็กๆ ในการร่วมด้วยช่วยกัน

“อีกอย่างในธุรกิจตอนนี้ ตลาดต้องการ Niche Market เพราะคนเริ่มต้องการสิ่งของที่มันเฉพาะมากขึ้น และตลาดโลกมันไม่ได้ดีถึงขนาดเหมาะกับงานอุตสาหกรรมเหมือนเมื่อก่อน กลายเป็นว่างานคราฟต์เลยตอบโจทย์คนยุคนี้ที่ต้องการสิ่งของที่บ่งบอกตัวตน มีชิ้นเดียว และเป็นตัวของตัวเอง” พี่นุชตอกย้ำความตั้งใจในสิ่งที่เธอทำ นั่นคือการคิดมาแล้วว่างานคราฟต์ไม่ใช่ว่าจะขายได้กับทุกคน แต่ต้องอาศัยการตลาดเพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

หลังจบบทสนทนากับพี่นุช เรากลับมาคิดต่อว่า ลูกค้าของ C-sense Bananamaché คงไม่ใช่แค่คนที่อยากมีของน่ารักๆ ไว้ใช้งานภายในบ้าน แต่ต้องเป็นคนที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย เพราะ C-sense ไม่ได้แค่หยิบพืชที่ทุกคนคุ้นเคยอย่าง ‘กล้วย’ มาเติมดีไซน์หรือสร้างมูลค่า แต่เกิดขึ้นมาเพื่อลบภาพจำว่า ‘กล้วย’ มีไว้แค่กินรองท้อง!


ติดตาม C-sense Bananamaché ได้ที่ facebook.com/bananamache

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.