เคยคิดกันบ้างไหมว่างานอดิเรกที่เราลองทำเล่นๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์จะกลายเป็นอาชีพหลักที่สามารถเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว เลี้ยงปากท้องของคนในชุมชน และยังช่วยกระตุ้นให้ระบบนิเวศดียิ่งขึ้น
หากคุณยังไม่เคยคิด เราขอชวนคุณท่องโลก ‘สุภาฟาร์มผึ้ง‘ ของ คุณสมบูรณ์ และ คุณสุภา ยาวิเลิศ คนไทยคนแรกๆ ที่ริเริ่มทำธุรกิจฟาร์มผึ้งในประเทศไทย ชมอาณาจักรของสุภาฟาร์มผึ้งที่ขยายออกไปอย่างไม่ทันตั้งตัว จากเลี้ยงขำๆ 1 รัง ในปี 2528 ได้กลายมาเป็นธุรกิจฟาร์มผึ้งที่มีผึ้งตัวน้อยถึง 2,000 รังในปัจจุบัน กลายเป็นแบรนด์ฟาร์มผึ้งที่สร้างมนตร์เสน่ห์ความหวานจากหยาดน้ำผึ้ง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปรอบตัวอย่างสบู่ ครีม โลชั่น จากน้ำผึ้งที่เราใช้กันมานานนับ 30 ปี
ผึ้งตัวแรกของสุภาฟาร์มผึ้ง
น้ำอ้อย-สุวรัตนา ยาวิเลิศ ลูกสาวคนโตผู้เป็นตัวแทนของคุณแม่เล่าให้เราฟังว่า ผึ้งตัวแรกของสุภาฟาร์มผึ้งคงต้องย้อนกลับไปราว พ.ศ. 2528 ช่วงเวลาที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับผึ้งในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ เพราะเราต่างมองผึ้งในฐานะแมลงป่า และคุ้นเคยกับน้ำผึ้งในฐานะของป่าซึ่งหาซื้อไม่ได้ทั่วไป
ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ชาวไต้หวันเข้ามาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับกล่องไม้สี่เหลี่ยมหน้าตาประหลาดที่เขาบอกว่าเป็นรังผึ้ง ทำให้ผู้พบเห็นต้องฉงนสงสัยว่ามันจะเป็นรังผึ้งได้อย่างไร เพราะหน้าตาที่แตกต่างจากรังผึ้งในป่าที่เรารู้จัก แต่ไม่ใช่กับ คุณแม่สุภา และ คุณพ่อสมบูรณ์ ยาวิเลิศ ที่มีความสนใจในธุรกิจเลี้ยงผึ้งของชาวไต้หวัน จนตัดสินใจลองเลี้ยงผึ้ง 1 รัง ณ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
คุณพ่อและคุณแม่คลุกคลีกับเหล่าผึ้งในกล่องนั้นจนเกิดเป็นงานอดิเรก รสหวานจากหยาดน้ำผึ้งหยดแรกได้สร้างความสุขให้คุณแม่สุภา และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการขายน้ำผึ้งคืนให้ชาวไต้หวัน ใช้เวลาเพียงไม่นาน จากที่เคยมีผึ้งแค่รังเดียว ผึ้งตัวน้อยก็ค่อยๆ ขยายอาณาจักรมาเป็น 20 รัง ทำให้รายได้จากงานอดิเรกงานนี้ค่อยๆ มากขึ้นเช่นกัน
‘จนเจ้าผึ้งตัวน้อยก็ได้เข้ามาเลี้ยงดูครอบครัวแบบไม่รู้ตัว’
อยากให้คนไทยได้ลิ้มรสน้ำผึ้งแท้ฝีมือคนไทย
“คุณแม่ลองผิดลองถูกเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรกได้ห้าปี โดยอาศัยความรู้แบบครูพักลักจำผ่านการสังเกตชาวไต้หวัน จนในที่สุดคุณแม่สุภาก็ผลิตน้ำผึ้งได้ในปริมาณแน่นอน จึงมีแนวคิดผุดขึ้นมาในใจว่า ถ้าเรามัวแต่เอาน้ำผึ้งของเราส่งขายให้คนไต้หวันไปเรื่อยๆ คนไทยเองก็จะไม่ได้ลิ้มรสน้ำผึ้งแท้ที่คุณแม่ตั้งใจ นี่คือจุดเริ่มต้น ไม่ได้คิดแผนธุรกิจอะไรมากมาย คิดว่าทำสินค้าออกมาดี เราก็อยากให้คนในประเทศได้ทานของดี”
จากความคิดได้เปลี่ยนเป็นธุรกิจ เมื่อคุณแม่สุภาตัดสินใจเริ่มบรรจุน้ำผึ้งใส่ขวดขาย น้ำอ้อยในวัยเด็กที่วิ่งเล่นในสวน ได้เห็นคุณแม่อยู่กับผึ้ง และเห็นการเจริญเติบโตของผึ้งและความมหัศจรรย์ของมัน จึงกลายมาเป็นลูกมือช่วยคุณแม่กรอกน้ำผึ้งใส่ขวดออกมาขายหน้าบ้านด้วย
ไม่นานธุรกิจจากงานอดิเรกของคุณแม่สุภาก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ชนิดที่ว่าไม่ใช่แค่การเลี้ยงแบบขำๆ อีกต่อไป เมื่อ 7 ปีให้หลัง คุณแม่สุภาได้ร่วมงานกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจัดตั้งแบรนด์ที่มีชื่อว่า ‘สุภาฟาร์มผึ้ง’
จากผึ้ง 20 รัง ถูกเพิ่มเป็น 100 และ 500 รัง ในระยะเวลาไม่นาน รวมถึงหน้าฟาร์มเองก็ค่อยๆ ขยายโตขึ้นเหมือนอาณาจักรของผึ้ง โดยมีคุณแม่สุภาเป็นผึ้งนางพญาดูแลบริหารจัดการงานทั้งหมด
‘หากเปรียบ ‘สุภาฟาร์มผึ้ง’ เป็นวัฏจักรของผึ้ง ช่วงเวลาดังกล่าวคงจะเป็นเวลาที่ นางพญาผึ้งกำลังสยายปีกออกจากดักแด้ ให้โลกภายนอกได้รู้จักความหวานของหยาดน้ำผึ้ง’
ต้มยำกุ้ง วิกฤตเศรษฐกิจที่สั่นสะเทือนไปถึงระบบนิเวศ
เส้นทางของนางพญาผึ้งไม่ได้สวยหรูเหมือนในนิทานชวนฝัน เธอเล่าให้เราฟังว่า สุภาฟาร์มผึ้งพบปัญหาครั้งใหญ่เมื่อโคจรมาพบวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ซึ่งส่งผลกระทบสั่นสะเทือนมากไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อจู่ๆ เหล่าดอกไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของฝูงผึ้งกลับไม่ผลิบานเหมือนปีก่อนๆ!! ทำให้ฟาร์มต้องเคลื่อนย้ายอาณาจักรไปหาแหล่งอาหารใหม่ โดยย้ายรังผึ้งไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ชั่วคราว เพื่อความอยู่รอดของทั้งคนและผึ้งฝูงนี้
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณแม่สุภาตัดสินใจอยากทำให้ธุรกิจสุภาฟาร์มผึ้งให้มั่นคงมากขึ้นในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ยากจะคาดเดา โดยวางแผนให้น้ำอ้อย ลูกสาวคนโตเข้ามาร่วมกันขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น หลังจากเรียนจบใน พ.ศ. 2544 น้ำอ้อยจึงเข้ามามีบทบาทในส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำแผนการตลาด และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
การร่วมงานของผึ้งสองเจเนอเรชันที่คิดไม่เหมือนกัน
เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อคนสองรุ่นทำหนึ่งธุรกิจ ความคิดย่อมแตกต่างกัน ในช่วงแรกน้ำอ้อยจึงพบว่า สุภาฟาร์มผึ้งแน่นเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่ยังหละหลวมเรื่องการบริหารจัดการ
“การบริหารภายในบริษัทของคุณแม่ไม่ได้ดูเรื่องบัญชี ปัจจัยการผลิต การทำการตลาด แนวโน้มในอนาคต หรือแผนสำรองต่างๆ เพราะเน้นไปที่การควบคุมคุณภาพการผลิตเป็นส่วนใหญ่ แต่ละเลยเรื่องหลังบ้านไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อบกพร่อง”
น้ำอ้อยจึงอยากแก้ไขเพื่อเติมเต็มสิ่งที่บริษัทกำลังขาด ตอนแรกคุณแม่มองว่าการลงทุนในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระบวนการผลิตยังเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่ในที่สุดก็ยอมเปิดใจเมื่อน้ำอ้อยพาสุภาฟาร์มผึ้งเข้าไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ในนาม ‘สุภาฟาร์มผึ้งจำกัด’ ใน พ.ศ. 2548 และเริ่มวางระบบเรื่องบัญชี การบริหารเงิน การวางงบประมาณในส่วนการตลาด การผลิต หน้าฟาร์ม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ทำเว็บไซต์ จนมีลูกค้าต่างชาติเป็นขาประจำ ผึ้งสองรุ่นจึงได้กลับมาทำงานร่วมกันและขยับขยายอาณาจักรให้ใหญ่ขึ้น และหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งอย่างจริงจังเพื่อส่งออกสู่เวทีระดับโลก
“วัตถุดิบตั้งต้นขายได้เยอะก็จริง แต่มันก็จะมีจุดสูงสุดของตัววัตถุดิบ สมมติถ้าเราขายน้ำผึ้งขวดละสองร้อยห้าสิบบาท แต่ถ้าที่อื่นขายถูกกว่า ก็จะเกิดความอ่อนไหวของราคาต่อฟาร์มเรา ถ้าเราสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์โดยการแปรรูปมันเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้มูลค่าของสินค้าเราได้มากขึ้น”
ประโยคดังกล่าวคือวิสัยทัศน์ที่เธอแสดงให้เห็นมุมมองการทำธุรกิจฉบับคนอีกเจเนอเรชัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากวัตถุดิบตั้งต้น โดยมีผลิตภัณฑ์ เช่น นมผึ้งสด ไขผึ้งแปรรูป เกสรดอกไม้ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องสำอางอย่างสบู่ ครีม โลชั่น รวมถึงการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มอย่างน้ำผึ้งผสมมะนาว
เบื้องหลังน้ำผึ้งของสุภาฟาร์มที่อยู่คู่ปากท้องคนไทยมากว่า 30 ปี
ท่ามกลางฟาร์มผึ้งที่มีอยู่มากมายในตลาด สุภาฟาร์มผึ้งมีเคล็ดลับอะไรมัดใจคนไทยมานานกว่า 30 ปี คือคำถามที่เราสงสัย
น้ำอ้อยจึงตอบข้อกังขานั้นด้วยเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพมาตรฐานสุภาฟาร์มผึ้ง 3 ประการ ดังนี้
“ประการแรก คงต้องเริ่มจากเหล่าผึ้งงานที่เป็นดั่งทรัพยากรสำคัญของธุรกิจนี้ เราเลือกใช้ผึ้งสายพันธุ์นำเข้าจากไต้หวันที่มีชื่อว่า Apis Mellifera ซึ่งมีลักษณะนิสัยเป็นมิตร ร่างกายแข็งแรงคงทน มีขนาดกระเพาะใหญ่กว่าผึ้งสายพันธุ์อื่น จึงเหมาะกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งแตกต่างจากผึ้งป่าไทยที่มีนิสัยดุร้าย ตัวเล็ก และมีศักยภาพในการสร้างน้ำผึ้งน้อยกว่า
“ประการที่สอง คงเป็นเพราะเราทำฟาร์มผึ้งมายาวนานกว่าสามสิบหกปี มีการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตั้งแต่สมัยคุณแม่ รวมถึงเป็นฟาร์มผึ้งที่รู้จักผึ้งเป็นอย่างดี และยังคงหยิบนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสรรค์สร้างคุณภาพน้ำผึ้งทุกหยด โดยตั้งใจผลิตน้ำผึ้งให้ลูกค้าเสมือนเสิร์ฟให้คนในครอบครัวได้รับรสชาติแห่งความหวานนี้ เหมือนกับวันแรกที่คุณแม่หลงรักในตัวผึ้ง ทำให้น้ำผึ้งจากสุภาฟาร์มยังคงมีฐานลูกค้ายาวนานตั้งแต่สมัยคุณแม่ และเราเชื่อมั่นว่ากลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นของเราก็ยังคงเลือกทานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งของเราไม่เปลี่ยนแปลง”
ปัจจุบันสุภาฟาร์มผึ้งมีน้ำผึ้งด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิดที่ให้กลิ่นและรสชาติแตกต่างกันออกไปหากจะบอกว่ารสชาติของน้ำผึ้งแต่ละขวดที่แตกต่างเกิดจากอะไร คงไม่มีคำไหน นิยามได้ดีไปกว่าคำว่า ‘You are what you eat.’ ตามชนิดของดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง โดยแบ่งเป็น
- น้ำผึ้งจากเกสรดอกลำไย มีรสหวาน กลิ่นหอมของดอกลำไยชัดเจน สีเข้ม
- น้ำผึ้งจากเกสรดอกลิ้นจี่ มีสีน้ำตาล เหลือง มีกลิ่นหอมของดอกลิ้นจี่
- น้ำผึ้งจากดอกไม้ป่า มีสีที่อ่อนกว่า แต่มีกลิ่นแตกต่างจากสองชนิดแรกเพราะมีกลิ่นหอมจากดอกไม้หลากชนิดในป่า
“และเคล็ดลับสุดท้าย คือเรื่องของการทำธุรกิจในรูปแบบครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการบริหาร ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็แอบมีข้อเสียอยู่บ้าง คือในบางครั้ง ปัญหาต่างๆ ที่ไม่สามารถคุยกันให้จบภายในระยะเวลาอันสั้นก็จะส่งผลเสียต่อความรู้สึก ความผูกพันภายในครอบครัว ทำให้ในทุกครั้งเราจึงต้องหาทางแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด เพราะเราคือผึ้งฝูงเดียวกัน”
‘ทำธุรกิจครอบครัวให้เหมือนกับฝูงผึ้ง’
เติบโตไปพร้อมชุมชน เติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากเคยเป็นงานอดิเรกของสองสามีภรรยา กลายมาเป็นธุรกิจของครอบครัว ปัจจุบันสุภาฟาร์มผึ้งมีบทบาทในการสร้างอาชีพคนเลี้ยงผึ้งให้ชาวชุมชนอำเภอแม่ริม และอีกหนึ่งบทบาทคือ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนรวมถึงนักเรียนที่มีความสนใจเรื่องการเลี้ยงผึ้ง ฟาร์มแห่งนี้ยินดีเป็นศูนย์เรียนรู้ทางอาชีพ ให้ความรู้ตั้งแต่การวางระบบฟาร์ม ไปจนถึงการแปรรูปแบบไม่มีค่าใช้จ่ายสักบาทเดียว
นอกจากสร้างอาชีพและสร้างความรู้ให้ชุมชน ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ติดมากับธุรกิจฟาร์มผึ้ง คือ บทบาทการพัฒนาระบบนิเวศโดยรอบชุมชนผ่านผึ้ง
“เนื่องจากเงื่อนไขที่เป็นความท้าทายของธุรกิจการเลี้ยงผึ้ง คือเรื่องของแหล่งอาหารที่มีจำกัด เราจึงต้องไปขอเช่าพื้นที่สวนในการวางรังผึ้ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นสวนต่างๆ ภายในชุมชน กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างชาวสวนกับฟาร์มผึ้งของเรา เพราะผึ้งจะกลายเป็นเกษตรกรธรรมชาติช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้ ส่งผลให้ออกดอกออกผลได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าห้ามฉีดยาฆ่าแมลงในช่วงเวลาที่มีการวางผึ้ง ทำให้บางสวนก็ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการวางผึ้งด้วยซ้ำ เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์กัน
“กำไรของคนเลี้ยงผึ้งคงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของการได้มอบผลผลิตสุดมหัศจรรย์จากธรรมชาติซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยประโยชน์ คืนกลับสู่มือของผู้บริโภคให้เขาได้กินของดีๆ”
จากบทสนทนาที่กินเวลาไม่นานนัก เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของสุภาฟาร์มผึ้งในการผลิตน้ำผึ้ง เสมือนผึ้งทุกตัวที่กำลังบินออกจากรังไปหาความหวานจากดอกไม้กลับมาป้อนให้นางพญา
บทเรียนจากธุรกิจฟาร์มผึ้งสอนให้เรารู้ว่า ถึงแม้น้ำผึ้งจะเป็นอาหารมหัศจรรย์ที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่ธุรกิจที่กำลังเดินหน้าต่อไปดันมีวันหมดอายุ เราจึงต้องขยันขันแข็งให้เหมือนผึ้ง แล้วอาณาจักรของคุณจึงจะไม่ล่มสลายเหมือนน้ำผึ้งหยดนี้
ภาพ : สุภาฟาร์มผึ้ง Supha Bee Farm