หลายคนคงรู้กันแล้วว่า Burnout คือหนึ่งในภาวะความเหน็ดเหนื่อยทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับคนยุคมิลเลนเนียลและยุคอื่นๆ
เมื่อก่อนเราอาจคิดว่า Burnout เป็นแค่ชื่ออาการที่เกิดจากการทำงาน แต่ตอนนี้มันเป็นอาการที่วินิจฉัยได้แล้ว เพราะในปี 2019 คู่มือวินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็น ‘ความรู้สึกสูญเสียพลังงานหรืออ่อนล้า’ ‘การมีระยะห่างทางจิตใจจากงานของบุคคล’ ‘รู้สึกต่อต้านงาน มีความเห็นลบต่องาน’ และ ‘ประสิทธิภาพการทำงานลดลง’ ซึ่งในเคสเหล่านี้วินิจฉัยได้ทันที โดยคู่มือยังระบุอีกว่า ก่อนพิจารณาอาการเบิร์นเอาต์หรือหมดไฟเพราะการงาน หมอต้องแยกแยะจุดคล้ายคลึงระหว่างความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าออกจากกันก่อน และไม่ควรนำไปใช้รวมกับสถานการณ์ตึงเครียดอื่นๆ
การเบิร์นเอาต์ไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำงานในออฟฟิศ แต่ช่วงโควิดที่ทุกคนต้องทำงานที่บ้านก็เกิดอาการแบบนี้ได้เหมือนกัน อย่างในช่วงตุลาคม 2020 นิตยสาร Forbes เผยผลสำรวจที่ทำโดย FlexJobs และ Mental Health America พบว่าคนมีภาวะหมดไฟในงานกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ โดย 40 เปอร์เซ็นต์บอกว่าพวกเขารู้สึกเบิร์นเอาต์ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิดโดยเฉพาะ
ช่วงกันยายน 2021 นักเขียนหญิง Jennifer Moss เจ้าของหนังสือ The Burnout Epidemic: The Rise of Chronic Stress and How We Can Fix It ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ไว้ว่า บริษัทหลายแห่งกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์ ‘การลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation)’ ที่ผู้คนพากันลาออกจากงานจำนวนมากในช่วงนี้ ซึ่ง Moss กล่าวว่าการให้ความสำคัญกับการเบิร์นเอาต์ และความต้องการที่พนักงานอยากเชื่อมต่อกับงานของตัวเองให้ดีขึ้น และค่านิยมของลูกจ้างก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์งานเพื่อใช้ในการรักษาพนักงานของตนเอาไว้