ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ต้องแบกรับค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ หรือ ‘BTS’ ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ยกเลิกโปรโมชันบัตรโดยสารรายเดือนไปตั้งแต่ปลายปี 2564 ทำให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายนี้ต้องจ่ายค่าโดยสารรายเที่ยวที่มีราคาแพงกว่าแทน
ทั้งนี้ ค่าเดินทางรถไฟฟ้า BTS อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะล่าสุดกรุงเทพมหานครมีแนวคิดเก็บค่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการฟรีมานานหลายปี เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ กทม.ต้องจ่ายให้กับบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS
Urban Creature เชื่อว่าผู้ใช้ BTS หลายคนคงสนใจและอยากรู้ว่าอัตราค่าโดยสารจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน เราจึงสรุปความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นนี้ให้ทุกคนติดตามกัน ความเคลื่อนไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
27 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าจะต้องสรุปความคืบหน้าร่วมกับศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุมา ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม ภายใน 1 เดือน
อีกประเด็นสำคัญที่ชัชชาติจะเร่งดำเนินการก็คือ การคิดราคาค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ได้แก่ ‘แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ’ และ ‘หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต’ ที่เปิดให้บริการฟรีมานานหลายปีโดยไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอยู่ 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าบริการเดินรถในส่วนนี้เป็นภาระหนี้ของ กทม.
ชัชชาติระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีหนี้ส่วนต่อขยายเกือบ 100,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็นหนี้วางระบบราว 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถอีกราว 13,000 ล้านบาท จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะ กทม.เองก็ต้องจ่ายค่าเดินรถเพื่อความยุติธรรม
ในส่วนของอัตราค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ชัชชาติตั้งเป้าเก็บไม่เกิน 59 บาทตลอดสายตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นการคิดราคาชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้น ไม่ใช่ราคาภาพรวมทั้งระบบในระยะยาว ส่วนเรื่องการต่อสัมปทาน ชัชชาติคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคม 2565
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) แถลงการณ์คัดค้านแนวคิดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท โดยระบุว่าเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคและเป็นเพดานราคาสูงสุดของรถไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ทุกวัน โดยวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ชัชชาติได้ประชุมหารือกับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ซึ่งทาง สอบ. ได้ยื่น 5 ข้อเสนอให้ กทม. ได้แก่
1) ขอให้ยกเลิกการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาทตลอดสาย เพราะเป็นเพดานที่สูงเกินกว่าทุกคนจะเข้าถึงได้
2) ขอให้ใช้อัตราค่าโดยสาร 44 บาทตลอดสาย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้และคุ้มครองบริษัท BTS ที่มีราคาสัมปทานอยู่ที่ 44 บาทเช่นกัน
3) เสนอให้ดำเนินการนำตั๋วเดือนกลับมา
4) เรียกร้องให้เปิดเผยและแก้ไขสัญญาจ้างเดินรถที่มีการเซ็นสัญญาเกินเลยไปจนถึงปี 2585 จากสัญญาสัมปทานเดิมที่ควรจะสิ้นสุดในปี 2572 เพราะหากยกเลิกได้ อาจมีโอกาสทำสัมปทานใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคมากกว่า
5) เสนอให้คิดเพดานค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสาย เมื่อหมดสัญญาสัมปทานในอนาคต
ชัชชาติระบุว่า ได้รับข้อเสนอทั้งหมดไว้พิจารณาแล้ว และจะคำนวณตัวเลขเพื่อกลับมาหารืออีกครั้ง เพราะต้องดูว่าหากปรับราคาสูงสุดที่ 44 บาท หรือ 59 บาท ทาง กทม.จะต้องชดเชยเงินเท่าไหร่ ส่วนเรื่องการเสนอให้นำตั๋วรายเดือนและตั๋วนักเรียนกลับมา ทาง กทม.จะต้องไปเจรจากับบริษัท BTS ต่อไป
สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาว่าจ้างเดินรถปี 2572 – 2585 ชัชชาติระบุว่าต้องตรวจสอบอีกครั้งว่า กทม.มีอำนาจในการเปิดเผยสัญญาหรือไม่ โดยจะนำสัญญามาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้สิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสัมปทานในปี 2572
ต้องติดตามกันต่อไปว่า กทม.จะสามารถเปิดเผยและแก้ไขปัญหาเรื่องสัญญาเดินรถที่เกินเลยสัมปทาน และปรับลดเพดานค่าโดยสารให้ต่ำลง รวมไปถึงทวงคืนตั๋วเดือนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคนเข้าถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้หรือไม่
Sources :
Bangkok Biz News | t.ly/FLS-
BBC News | t.ly/ItMo
Dailynews | t.ly/W3wJ
Facebook : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ | t.ly/LWdc
Prachachat | t.ly/UFlT
Thai PBS | t.ly/v8zg
TNN Online | t.ly/CcDo