ฝีมือช่างที่บรรจงเย็บลงบนผ้ากว่าจะออกมาเป็นสูทหนึ่งตัวนั้น ต้องผ่านกระบวนการสุดปราณีตที่ต้องใช้ความชำนาญและผ่านการฝึกฝน อาชีพช่างตัดเสื้อที่มีความเฉพาะตัวของครอบครัว “หอมศิลป์กุล” เริ่มต้นจากรุ่นทวดที่อาศัยครูพักลักจำและก้าวขึ้นมาเป็นช่าง ถ่ายทอดความพิถีพิถันกันมารุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็น “ห้องเสื้อบรอดเวย์” บนถนนตรีทองแถวโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง กลายเป็นตำนานห้องเสื้อที่เฟื่องฟูในยุคนั้น เมื่อผ่านกาลเวลาจึงเปลี่ยนทำเลที่ตั้งมาเป็นห้องเสื้อปัจจุบันบนถนนเพรชบุรี
เรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวอันมีเสน่ห์ ผ่านคำบอกเล่าของ “คุณภูมินทร์ หอมศิลป์กุล” เจ้าของห้องเสื้อรุ่นที่ 2 โดยมีทายาทอย่าง “คุณป่าน-ภาวันต์ หอมศิลป์กุล” และ “คุณแพร-สิริชนา หอมศิลป์กุล” มารับช่วงต่อธุรกิจที่ถือเป็นมรดกของครอบครัว
| สายใยครอบครัวสู่เส้นทางธุรกิจ
จริงๆ แล้วอาชีพช่างโดยเฉพาะช่างตัดเสื้อสำหรับบ้านเราเนี่ย ไม่มีการสอนอย่างเป็นรูปแบบ ไม่มีตำรา หรือวิธีการทำ ซึ่งในสมัยก่อนต่างประเทศเขามีอยู่แล้ว แต่คนที่ประกอบอาชีพนี้ในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเรียนรู้จากครูพักลักจำ และประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง วิธีการสอนก็เลยเป็นวิธีถ่ายทอดจากประสบการณ์ ผมเองก็ได้รับการถ่ายทอดจากคุณพ่อเหมือนกัน
สำหรับคุณพ่อผมถือว่าท่านเป็นคนที่เก่งมาก เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ด้วยตัวเอง ต่อสู้มาตั้งแต่สมัยเป็น ‘เด็กตึ๊ง’ หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็เด็กฝึกงานนั่นแหละ คอยรับใช้อาจารย์ไปซื้อข้าว ไปซื้อน้ำ ไปส่งของ ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้จากอาจารย์ จดจำรายละเอียด แล้วก็ไปฝึกเองตอนเลิกงาน เก็บกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ เอามาฝึกสร้างแพทเทิร์น จนชำนาญก็ออกมาเป็นช่างเอง
แล้วก็มาถึงช่วงรอยต่อระหว่างผมกับคุณพ่อ ซึ่งผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเดินทางนี้ต่อจากท่าน แต่ว่าผมก็ทำไม่ได้ 100% หรอกนะ ท่านก็บอกให้ดูช่างเค้าทำ แต่จริงๆ แล้วเราทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องรู้ให้จริงทีละสเต็ป ก็เลยให้เพื่อนพ่อที่อังกฤษช่วยหาโรงเรียนให้ พอไปเรียนเราก็เข้าใจแล้วว่า ที่มาที่ไปของการสร้างแพทเทิร์นเนี่ยทำยังไง พอกลับมาเราก็ทดลองทำด้วยสเต็ปของเรา ปรับนู่นนิดนี่หน่อย จนเข้ากับแนวทางของบรอดเวย์ แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ยากเหมือนกันคือ
เราต้องพิสูจน์ให้กับทีมช่าง เราต้องเอาให้อยู่ เวลามีปัญหาจะต้องแก้ไขให้เขาได้ ก็ต้องใช้เวลาจนกว่าเขาจะยอมรับ
| การรับไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ตอนนี้ป่านมารับไม้ต่อแล้ว แต่ผมไม่ได้เป็นคนมอบให้นะ เขามาขอรับช่วงต่อเองเหมือนกับผมที่ขอรับต่อจากคุณพ่อ เราไม่ได้กดดันถ้าเขาลองทำแล้วไม่ชอบก็เบนไปทางอื่นได้ ตอนนี้ก็ทำกันมาได้หลายปีแล้ว ซึ่งผมเองก็ค่อนข้างเปิดกับเขานะ ว่าจะทำแบบไหน สไตล์ไหน เพราะว่าวิธีการที่ผมทำงานสูท กับที่ป่านทำเนี่ยมันจะเป็นคนละแบบกัน มันเป็นแนวทางใครแนวทางมัน เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปด้วย แต่ผลที่ออกมาก็ยังคงรักษาความเป็นบรอดเวย์เอาไว้ นั่นแหละคือสเน่ห์ของเรา
| การเข้ามาของสูทในไทย
จริงๆ ในประเทศไทยเรารับอารยธรรมของตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากรูปภาพต่างๆ อย่างบ้านเราก็จะมีช่วงที่ชาวต่างชาติเข้ามา เช่น ชาวจีน ชาวเซียงไฮ้ ชาวอินเดีย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเทศอาณานิคม ซึ่งก็เข้ามาเป็นช่างบ้าง นักธุรกิจบ้าง แล้วก็คนไทยที่ตัดเย็บได้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งสไตล์มันก็เปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศ แต่ละยุคสมัยของสังคมนั้น ในสมัยนั้นการตัดเสื้อผ้าหรือคนที่สามารถตัดสูทได้ก็จะเป็นพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ส่วนมากเขาจะเลือกตัดกันที่ต่างประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ซึ่งก็มีอยู่หลายร้าน ที่ประเทศอังกฤษผมบังเอิญพบเห็นประวัติของรัชกาลที่ 6 เคยมีลงบันทึกไว้ว่าเคยมาตัดสูทที่นี่
| สเน่ห์ของสูทผ่านยุคสมัย
เริ่มจากสมัยคุณปู่จะเป็นช่วงยุค 50 – 60 ยุคนี้จะให้ความสำคัญกับการแต่งตัว จะไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่หวือหวาเท่าไหร่ ค่อนข้างเป็นพิธีการมากๆ ต่อมาจะเป็นยุคของคุณพ่อ สมัยก่อนมันจะมีงานออกร้านของวชิราวุธ ที่ต่อมาจะมีงานกาชาดแบบที่เรารู้จักกัน ในงานวชิราวุฒิเนี่ยก็จะมีงานบอลรูมที่สวนอัมพร แล้วก็จะมีไนต์คลับที่คนจะไปเต้นรำกัน ในงานเหล่านี้ผู้ชายก็จะพากันไปตัดเสื้อผ้า ตัดสูท ตัดทักซิโด้ ผู้หญิงก็จะไปตัดเดรส ชุดราตรี แต่ละคืนก็จะใส่ไม่ซ้ำกันด้วย สมัยก่อนงานโซเชียลอิเว้นท์จะเป็นที่นิยมมาก คนก็แต่งตัวสวยๆ ไปกัน
แต่พอมาสมัยผม งานพวกนี้มันน้อยลงจะเปลี่ยนไปเป็นช่วงของการทำธุรกิจมากกว่า อย่างผู้จัดการแบงค์ก็ต้องใส่สูท ผูกเนคไท เรียนต่างประเทศก็ต้องตัดสูท ซึ่งก็เป็นแนวทางที่แตกต่างจากเมื่อก่อน ประโยชน์ของการตัดเสื้อผ้ามันเปลี่ยนแนวทางไป กลายเป็นทุกคนใส่สูทไปทำงาน แต่พอมายุคปัจจุบันคือในยุคของป่านมันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองว่าจะมีภาพลักษณ์แบบไหน มีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ก็เลยกลายเป็นสเน่ห์ของแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
| ห้วงเวลาของสไตล์การแต่งตัว
ถ้าช่วงสมัยของผมเรื่องการแต่งตัวผู้คนยังค่อนข้างจริงจัง กับรูปแบบของการแต่งตัวมากกว่าสมัยนี้ เขาจะมีแพทเทิร์นมีสไตล์เฉพาะที่คนจะต้องไปตัดเสื้อผ้าไม่ซื้อสำเร็จรูป แต่พอมาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เสื้อผ้าสำเร็จรูปและแบรนด์ต่างชาติเริ่มเข้ามามากขึ้น ทำให้เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อยากจะไปใส่เสื้อผ้าแบรนด์กัน ค่านิยมการไปร้านตัดเสื้อก็ลดลง เพราะการไปร้านตัดเสื้อก็ค่อนข้างยุ่งยาก
ช่วงนั้นเหนื่อยเหมือนกันในการทำธุรกิจตรงนี้ แต่เราก็ยังคงมีลูกค้าประจำที่ยังอยากได้การบริการแบบเราซึ่งมันมีเอกลักษณ์ ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เวลาเจอคนต่างชาติเขาก็มักจะทักว่า เสื้อคุณนี่ดูพิเศษนะแต่งตัวดีจังไปตัดเสื้อที่ไหนมา มันเลยกลายเป็นความภูมิใจของชาวบรอดเวย์ทุกคนที่ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้
หัวใจสำคัญที่ทำให้เราอยู่ได้ก็คือการบริการและคุณภาพ เราไม่ยอมให้คุณภาพเราต่ำลงแน่นอน
สูทบรอดเวย์ของเราจะไม่ใช่แฟชั่นเทรนด์จ๋า แต่มันก็ผสมกับความร่วมสมัย เราจะเจออยู่เสมอเลยที่ลูกค้าเอาชุดเก่ามาปรับปรุง เช่น ซับในขาด ซิปกางเกงหลุด บางทีเปิดมาดูชุดนี้ 30 ปีแล้ว ซึ่งเขาก็ยังใส่ได้และยังรักสูทตัวนี้อยู่ มันทำให้เราภูมิใจมากๆ ที่ลูกค้าเห็นคุณค่าของสูทเราขนาดนี้
| โอกาสสำคัญในการตัดชุดพระราชพิธี
ของบรอดเวย์เราจะรับผิดชอบในส่วนของชุดทหารรักษาพระองค์ ซึ่งเราทำมามากกว่า 40 – 50 ปีแล้ว สิ่งที่ผมจำได้คืองานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ มีการเสด็จนิวัตรพระนคร ครั้งนั้นที่ร้านก็ทำชุดคล้ายกับพระราชพิธีของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีทั้งชุดทหาร และชุดที่ใส่ในพระราชพิธีด้วย มีครั้งหนึ่งที่ผมไปเที่ยวพระที่นั่งวิมานเมฆ และมีส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ มีราชรถม้า แล้วก็เสื้อผ้าเก่าๆ โชว์อยู่ในตู้ พอดีเราเห็นตราของร้านบรอดเวย์แต่จำไม่ได้ว่าเป็นปีไหน เราก็ดีใจและภูมิใจมากที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีนั้น ซึ่งเราก็ทำสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น เพราะว่าเราเป็นร้านหลักในการตัดชุดทหารรักษาพระองค์ให้กับทางกองทัพ เราก็เลยมีประวัติและข้อมูลของการแต่งกายที่ถูกต้อง ซึ่งเราค่อนข้างลงในรายละเอียดทุกขั้นตอนจริงๆ อย่างลวดลายตรงนี้มีความหมายว่าอะไร ที่ถูกต้องเป็นแบบไหน
ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ยังไม่ขึ้นครองราชย์ คิดว่าประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ชุดทหารของพระองค์ท่านที่เป็นชุดทหารราบที่ 1 รอ. ซึ่งชุดนี้ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มีลายปักแข็ง ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยส่งไปตัดที่ประเทศอังกฤษ ร้านกิฟส์แอนด์ฮอว์กส์ (Gieves & Hawkes) ตัวอย่างที่ส่งให้ทางร้านเนี่ย ลายสองข้างไม่เหมือนกัน ซึ่งเวลาฝรั่งเขาทำจะทำลายแบบรีเวิร์ส คือข้างซ้ายกับข้างขวามันจะต้องสมมาตรกัน แต่ปรากฏว่าของเรา ลายสองข้างมันเหมือนกันไม่ได้เป็นแบบสมมาตร ฝรั่งก็ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น ทำผิดหรือเปล่า แล้วก็ถามไปยังหน่วยงานที่ทำชุดทหารรักษาพระองค์ เขาก็ส่งมาถามเรา เราก็บอกว่าไม่ผิด ลายนี้คือพระนามาภิไธยย่อ ของรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงไม่สามารถสมมาตรได้ เพราะถ้าสมมาตรมันจะกลับด้านแล้วอ่านไม่ได้ แต่ว่าพอดูในรูปภาพฉลองพระองค์สมัยก่อนของรัชกาลที่ 5 มีบางภาพที่ลายมันสมมาตร ชุดของรัชกาลที่ 6 ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็เช่นกัน เพราะฝรั่งเป็นคนตัด
| ความหมายในแต่ละรายละเอียด
ในส่วนของสีต่างๆ จะมีความหมายเฉพาะของแต่ละหน่วย ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละคนเวลาเลือกว่าจะใส่ชุดไหน เขาจะนับตั้งแต่ตอนเริ่มรับราชการครั้งแรกว่าเค้าบรรจุที่หน่วยไหน หลายคนก็จะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นสีนั้นสีนี้ จริงๆ มันก็จะมีประวัติมาอยู่แล้ว อย่างสีแดงก็จะสื่อว่าเป็นทหารราบ ซึ่งเป็นสีหลักของทหารราบทั่วโลก เช่น ทหารในอังกฤษ สีม่วงก็เป็นรอ.21 คือทหารของสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นสีโปรดของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 สีฟ้าหม่นก็จะเป็นทหารม้า ซึ่งประยุกต์มาจากทหารเยอรมัน ส่วนทหารอากาศก็จะใช้สีฟ้าเป็นหลัก แต่ละสีก็จะเป็นการบ่งบอกเหล่าต่างๆ นั่นเอง
นับเป็นความภาคภูมิใจที่ในเส้นทางอาชีพช่างตัดเสื้อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของไทย แสดงให้เห็นว่าในทุกอาชีพล้วนมีคุณค่า สามารถสร้างเกียรติให้กับตัวเองและครอบครัวได้เช่นกัน