พาหุงสะหัส สะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆ ระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
บทสวด ชัยมงคลคาถา หรือ พาหุงมหากา ที่เราท่องกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็ก เราเคยลองพิจารณาถึงแก่นแท้ของบทสวดเหล่านี้บางหรือเปล่า ซึ่งถ้าพูดแบบไม่คิดอะไร มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะท่องบทสวดมนต์โดยที่ไม่รู้ความหมายของมัน เพราะโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาแทรกซึมทุกช่วงเวลา จะมีความจำเป็นอะไรที่เราต้องไปจดจำสิ่งที่อาจไม่ได้มีความสำคัญในชีวิต อีกทั้งภาพของพุทธศาสนิกชนนุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติตนอย่างสงบเสงี่ยมในวัดวาทุกวันพระ ก็ดูเป็นภาพแสนหายากในปัจจุบัน
ในขณะที่วัดและพุทธศาสนา กับคนในยุคสมัยนี้ที่ดูจะห่างไกลกัน ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวเพื่อจัดงานศิลปะ ที่ชื่อว่า BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้แปลงโฉมพระอุโบสถวัดสุทธิวรารามให้เป็นเธียเตอร์สุดแฟนตาซี อบอวลไปด้วยแสง สี เสียงอัดแน่นทั่วพระอุโบสถ
คำถามอยู่ที่ว่า วัดอันเป็นพุทธศาสนสถานที่สงบร่มเย็น ทำไมถึงยอมให้นิทรรศการโพธิเธียเตอร์เกิดขึ้น เราจึงเริ่มต้นเรื่องราวนี้ ด้วยการสนทนากับ ‘พระสุธีรัตนบัณฑิต’ เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กับคำถามที่ว่า หน้าที่ของวัดที่แท้จริง คืออะไร
ฟังก์ชันเนื้อแท้ของ ‘วัด’
พระสุธีรัตนบัณฑิต บอกว่า ‘วัด’ ต้องเป็น ‘รมณียสถาน’ คือเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ของการพัฒนาจิตใจ ฉะนั้นการแบ่งเขตวัด จึงแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีการเรียนรู้ทางด้านจิตใจ และแบ่งเป็นเขตสังฆาวาสสำหรับพระ อย่างวัดสุทธิวรารามก็ได้วางแนวคิดและการทำงานของวัดไว้ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ
- หนึ่ง การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพให้สะอาดสวยงาม
- สอง พื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้วัดเหมาะกับสังคมเมือง
- สาม พื้นทางจิตใจและปัญญา โดยวัดต้องเป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชนได้มาไหว้พระสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร และทำสมาธิ
“การที่พระอาจารย์ยินยอมให้ทีมโพธิเธียเตอร์มาจัดงาน เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้หลุดความหมายของความเป็นวัดไปเลย เพียงแต่ว่า นั่นเป็นการนำศิลปะร่วมสมัยมาประยุกต์ใช้กับศาสนา ทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจถึงแก่นแท้ของศาสนาง่ายขึ้น”
ความหลากหลายในพุทธศาสน์
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นคลิปเหตุการณ์พระตุ๊ดโต้เถียงกับฆราวาส หรือภาพพระกะเทยโพสต์รูปตนเองด้วยจริตเกินงาม คำถามผุดขึ้นมาว่า ถ้าเป็นตุ๊ดจะบวชได้ไหม ? ซึ่งพระสุธีรัตนบัณฑิตได้เล่าถึงข้อสงสัยนี้ว่า
“สำหรับพระที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ถ้าเป็นสมัยพุทธกาลก็จะบอกไว้ว่า บุคคลที่เป็นบัณเฑาะก์นั้นห้ามบวชเด็ดขาด แต่ถ้าภายนอกเป็นผู้ชาย แต่จิตใจตรงกันข้าม ในสมัยพุทธกาลก็ไม่ได้เขียนชัดขนาดนั้น แต่พอ ณ ปัจจุบัน คณะสงฆ์ไทยก็ออกระเบียบเพิ่มเติมว่า ในเมื่อสังคมมันเปลี่ยนไป ถ้าทางกายภาพยังเป็นชาย และมีความตั้งใจจะบรรพชา พระท่านก็จะให้โอกาส เมื่อบวชแล้วก็อยู่ที่พระรูปนั้นว่ามีความตั้งใจดีหรือไม่”
‘วัด’ ห่างไกล ‘ใจคน’ ห่างกัน
“คนยุคนี้ห่างไกลวัด” ประโยคที่เราได้ยินแทบทุกครั้งเมื่อมีการเอ่ยถึงศาสนา ซึ่งพระสุธีรัตนบัณฑิตมองว่า เราต้องย้อนกลับไปดูที่คนพูดว่าเขาสนใจศาสนามากแค่ไหน จุดนี้เป็นเรื่องของช่วงวัย เพราะตอนเด็กเรียนชั้นประถมฯ มัธยมฯ เราต้องสวดมนต์ทุกเช้า เลยทำให้ใกล้ชิดกับศาสนา แต่พอเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เราห่างศาสนา เพราะมีสีสันและความสนุกในชีวิตเข้ามา แต่เมื่อถึงจุดที่ชีวิตต้องการหาหลักหยึดเหนี่ยวจิตใจ นี่ก็เป็นโอกาสที่คนจะหันหน้าเข้าหาศาสนา และมองหาความหมายของชีวิต
“ในขณะเดียวกัน ตัววัดและพระก็ต้องมีการสื่อสาร หรือให้แนวทางที่ถูกต้อง มีรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะกับสังคมที่เปลี่ยนไป ถ้าจะให้มาเข้าวัดทุกวันพระคงยาก ส่วนการที่หลายคนเลือกที่จะไร้ศาสนา นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เราสามารถมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นอย่างอื่นก็ได้ ศาสนามันเป็นเส้นทางหนึ่งให้เราเลือกเดินเท่านั้น” พระสุธีรัตนบัณฑิตอธิบาย
ถ้าลองวางคำว่า ‘ศาสนา’ ลง ทุกคนจะเห็นความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมด พระสุธีรัตนบัณฑิตตอกย้ำถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ควรเคารพในหลักมนุษยธรรม และไม่ละเมิดกฎสากลของโลก คือการไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่สิ่งที่น่าวิตก คือคนที่คลั่งศาสนา แล้วเอาศาสนาไปประหัตประหารทำร้ายผู้อื่น หรือไม่ยอมรับในศาสนาที่แตกต่าง นั่นคือสิ่งที่อันตรายที่สุด
พอมองเห็นภาพ ‘ศาสนา’ ในมุมของพระสงฆ์กันไปแล้ว เราขยับมาสัมผัสศาสนาพุทธ ผ่านมุมมองของ พี่ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ Design and Director, พี่แก่น-สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ Animator และพี่ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร Character Designer ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจัดงาน ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ โดยหวังว่า ‘อยากให้คนเข้าวัดมากขึ้น’
บรรยากาศการสนทนาที่มีชีวิตชีวา ได้ลบภาพความเงียบสงบในความคิดเราออกไป เราเปิดประเด็นด้วยคำถามสุดเบสิกที่ว่า ทำไมจึงเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ? ซึ่งพี่ป้องก็ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการรวมตัวกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันว่า
“พี่อู๋-ธวัชชัย ผู้ดูแลโปรเจกต์นี้ และพวกเราเคยเจอกันที่โปรเจกต์หนึ่ง ซึ่งเป็น exhibition ของพี่ฮองเต้ พวกเราได้เสนอทำ projection mapping และเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและบทสวด พอเรามีความสนใจบางอย่างร่วมกัน เราชอบที่การตีความสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับสมัยใหม่ นี่เป็นจุดเริ่มต้น ตอนนั้นก็ได้มีการพูดคุยขำ ๆ ว่าเราน่าจะได้ทำอะไรด้วยกัน ถ้าได้ทำงานศิลปะแบบนี้ในพระอุโบสถจริง ๆ มันน่าจะดี”
บทสนทนาเหล่านั้นไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฟัน เมื่อวันหนึ่งทาง พี่อู๋-ธวัชชัย ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Epson รวมถึงหนึ่งในทีมงานก็มีคอนเนกชั่นกับทางวัดสุทธิวรารามพอดี จึงเกิดการพูดคุยถึงคอนเซปต์งานกับ ‘พระสุธีรัตนบัณฑิต’ เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะลงมือทำ
จากบทสวดที่เราคุ้นชิน สู่แสงสีที่สัมผัสได้
งาน ‘BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD’ เป็นการหยิบบทสวด ‘ชัยมงคลคาถา’ หรือ ‘พาหุงมหากา’ ที่ว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้าทั้ง 8 ครั้ง มาถ่ายทอดแบบเธียเตอร์ในพระอุโบสถ ด้วยความแฟนตาซีจากเรื่องราวของบทสวดนี้ รวมถึงความท้าทายในการออกแบบแสง สี เสียง ที่เหนือจินตนาการ คือความพิเศษที่พวกเขาตั้งใจเลือกมาถ่ายทอดให้กับผู้ชมทุกคน
“ตัวละครเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะเรารู้ว่าแต่ละบทแปลว่าอะไร และมีตัวละครอะไรบ้าง เหตุการณ์เกิดขึ้นแบบไหน แต่ประเด็นคือ ‘แบบไหน’ มันก็ยังไม่ถูกทำมาเป็นภาพ เรามีหน้าที่ทำ ‘แบบไหน’ ต่าง ๆ ออกมาให้มันเป็นภาพและต้องเล่าเรื่องด้วย สมมติเรื่องการว่าร้ายนินทา นินทาก็คือการสาดสี ในสตอรี่บอร์ดก็จะเห็นเป็นการสาดสีใส่พระพุทธรูป แต่การสาดสีแบบไหน จังหวะเป็นอย่างไร ก็จะช่วยกันดู” พี่ฮ่องเต้เล่าถึงการตีความจากบทสวดที่เราคุ้นชินให้ดูมีมิติยิ่งขึ้น
“มันจะมีบางตัวแปรที่เราต้องคำนึงถึงด้วย พอเรามาจัดในโบสถ์มันก็จะมีมิติของโบสถ์ เราก็จะแปลงให้เข้ากับมิติของโบสถ์ เช่น ‘จิญจมาณวิกา’ ผู้หญิงที่กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าทำตนเองท้อง เราก็คิดว่าถ้าสิ่งนี้มาอยู่ในโบสถ์มันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เลยเปลี่ยนผนังโบสถ์ให้กลายเป็นปากแล้วก็มีสีพ่นลงมา ทุกตัวละครจะมีการออกแบบให้ได้แก่นของเรื่องด้วย และออกแบบให้มันมองเห็นในโบสถ์ได้ชัด มันมีเทคนิกต่าง ๆ สำหรับตัวละครที่แต่ละเรื่องมันก็ไม่เหมือนกัน” พี่แก่นเล่าเสริม
“การจัดงานนี้ Feedback มันเหนือความคาดหมายมาก ตอนแรกคือคิดแล้วว่าต้องโดนด่าแน่ ๆ ปรากฏว่ารอบแรกฉายเสร็จ เราก็ออกมาขอบคุณคนดู มีป้าคนหนึ่งมาบอกสาธุนะลูก ทำดีมากเลยค่ะ แล้วเราก็เห็นตรงลานวัดสุทธิฯ ก็คนยืนเต็มไปหมดเลย จุดประสงค์ที่อยากให้คนเข้าวัดคือ Complete มาก สุดท้ายเราว่ามันได้อารมณ์และความรู้สึกที่เราต้องการ” พี่ฮ่องเต้เล่า
ศิลปะผูกพันกับศาสนา
“ศิลปะอยู่กับศาสนามาตลอด ตั้งแต่มีศาสนาก็มีศิลปะ เพราะฉะนั้นโพธิเธียร์เตอร์ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาเสนอแนวคิดทางศาสนาได้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับสมัยก่อน มันแค่ตลกที่ในยุคสมัยนี้เทคนิกในการทำศิลปะมันพัฒนา แต่ความเห็นของคนที่เกี่ยวกับศาสนาไม่ได้โตตามเทคโนโลยี ในเมื่อสมัยก่อนยังสามารถการวาดตามฝาผนังวัด ในสมัยนี้ควรมี Projection Mapping ได้” พี่แก่นเล่า
“พี่เชื่อว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่จุดสุดท้ายในการพัฒนาศิลปะ เป็นเพียงแค่เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่ง และต่อไปก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อรองรับกับศิลปะ อยากจะให้โฟกัสว่าศาสนาคือ ‘คำสอน’ ที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี และอยู่ได้อย่างมีความสุข เอาเครื่องมือและเทคโนโลยีของเราที่เหมาะสมกับยุคสมัยมาปรับใช้สำหรับจุดใหม่ ๆ ในอนาคต” พี่ป้องเล่า
ศาสนาคือเรื่อง (ไม่) ไกลตัว
“เรามองว่าในยุคสมัยนี้มีเรื่องให้คิดมากกว่าการแก่ เจ็บ ตาย มันมีสิ่งต่างๆ เข้ามาแทรกระหว่างนั้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นวัดที่ทำหน้าที่ที่ทำให้เห็นแค่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็จะถูกให้ความสำคัญน้อยลง แล้วก็ในเรื่องของฟังก์ชันหรือการใช้งานของวัด ก็ถูกกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า” พี่แก่นกล่าว
“จริง ๆ ทุกอย่างมันอยู่เพื่อรองรับการใช้งานอะไรบ้างอย่าง ส่วนใหญ่วัดก็จะรองรับการใช้งานทางด้านพิธีกรรม แต่วัดบางวัดก็ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าเข้าไปทำบุญ คิดว่าวัดควรกลับมารองรับฟังก์ชันหลักของวัดเพื่อให้วัดยังอยู่กลับเราไปอีกนาน” พี่ป้องบอกเพิ่มเติม
“เรามองว่ามันไม่ใช่สถานที่ จะเป็นที่ไหนก็ได้ที่หลักธรรมยังอยู่ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่าต้องมี ศีล สมาธิและปัญญา ไม่ได้บอกว่าต้องมีวัด เพราะฉะนั้นวัดเป็นแค่ตัวช่วย ที่สมัยก่อนที่มีวัดก็เพราะว่าให้คนเข้าไปหาพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้น สุดท้ายแล้ววัดก็คือมนุษย์ ถ้ายังมีความเชื่อในความดีงามอยู่” พี่ฮ่องเต้เสริม
วัด ศาสนา คน อะไรที่ต้องปรับตัว
ทีมโพธิเธียเตอร์บอกกับเราว่า สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือ ‘วัด’ เพราะว่าคนหรือวิถีชีวิต เหล่านี้ต้องปรับตามไปยุคสมัย และเคลื่อนที่ไปตามโลกใบนี้อยู่แล้ว
“วัดเดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีฟังก์ชันอะไรแล้ว มีก็แต่คนที่เข้ามาทำบุญเรื่อย ๆ เป็นองค์การที่ได้รับผลประโยชน์ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกัน วัดก็เป็นกำลังสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ วัดสุทธิฯ ในยุคก่อนก็ไม่เหมือนวัดสุทธิฯ ในยุคนี้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผู้นำ ถ้าผู้นำฉลาดก็ทุกอย่างไปได้ด้วยดี แต่ถ้าวัดต้องตัวเป็นสถานที่ที่มีแต่ความศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถจับต้องได้ วัดก็จะค่อย ๆ ตายไป” พี่ฮ่องเต้ทิ้งท้าย