Better Moon Café x Refill Station คาเฟ่ที่กรีนตั้งแต่เรื่องกินยันที่พักแสนอบอุ่น - Urban Creature

หลายคนผ่านไปผ่านมาย่านอ่อนนุช อาจคุ้นเคยกับความคึกคักของผู้คนและอาหารการกิน แต่อาจยังไม่รู้ว่าย่านนี้มีร้านสายกรีนซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ อย่างอ่อนนุช 77/1 มานานกว่า 3 ปีแล้ว นั่นคือร้าน ‘BetterMoon café x Refill Station’

ร้านสายกรีนที่ตั้งใจส่งต่อแนวคิดเรื่องการลดขยะและการลดใช้พลาสติกผ่านไลฟ์สไตล์คนเมือง เป็นทั้งคาเฟ่ เกสต์เฮ้าส์ มุมเติมน้ำยารีฟิล ชอปผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือบางครั้งก็แอบมีแผงผักออร์แกนิกตั้งอยู่หน้าร้าน ใครมาแล้วต้องอยากจะกลับมาอีกเรื่อยๆ เพราะหากได้เริ่มใช้ชีวิตที่ดีต่อโลกแล้วมันช่างดีต่อใจเหลือเกิน

ตบเท้าเดินเข้าซอยอ่อนนุช 77/1 เมื่อลงจากรถไฟฟ้า BTS สถานีอ่อนนุชแล้วเดินเท้าต่อเข้ามาประมาณ 300 เมตร เราก็ถึงจุดหมายของวันนี้คือร้าน ‘BetterMoon café x Refill Station’ เราได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมาพักใหญ่ๆ แล้ว อยากจะลองมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง เพราะเขาบอกกันว่าเป็นร้านที่เซย์โนขยะที่หากมาแล้วต้องตกหลุมรัก

เรารู้สึกดีเสมอที่ยังมีร้านแบบนี้อยู่ใจกลางเมือง เพราะละแวกนี้คึกคักไปด้วยผู้คนทั้งไทยและต่างชาติ เรียงรายไปด้วยร้านอาหาร ที่พักอาศัย อีกทั้งคอนโดที่ขึ้นตามกันยกใหญ่ และสิ่งที่ตามมาอย่างอลังการคงหนีไม่พ้น ‘ขยะ’ ดังนั้นเรามาเอนกายนั่งพูดคุยสบายๆ กับคุณแพร์-ปภาวี พงศ์ธนาวรานนท์ ถึงแนวคิดที่ตั้งร้านนี้ขึ้นมา แถมวันที่เราไปนั้นคุณแพร์ได้เปิดตลาดผักออร์แกนิกด้วย สีสันของร้านนี้ไม่เคยซ้ำกันเลยสักเดือนถือว่าเรียกลูกค้าได้ดีในช่วงโควิดยังไม่จางหาย

ทุกตารางนิ้วยึดหลัก Eco friendly เมื่อเดินเท้าเข้ามาจากหน้าปากซอยไม่ไกลจะเห็นร้านที่มีป้าย BetterMoon ตัวใหญ่เห็นชัดเจน อีกทั้งต้นไม้ใบไม้สีเขียวปกคลุมทั่วหน้าร้านทำให้หาไม่ยาก บรรยากาศในร้านไม่เงียบเหงาเพราะมีผู้คนทยอยมากันเรื่อยๆ อย่างไม่ขาดสาย ไม่แพ้พนักงานหลายคนกำลังง่วนอยู่กับการเตรียมเปิดแผงขายปักออร์แกนิกหน้าร้าน

หากเป็นลูกค้าประจำจะไม่ค่อยพกถุงพลาสติกมาด้วย แต่จะเตรียมถุงผ้า ขวดน้ำ หรือกล่องใส่อาหารติดตัวมา แต่หากลูกค้าท่านนั้นยังไม่ชินจะมีพนักงานช่วยสื่อสารทำความเข้าใจ หากมาอีกครั้งลูกค้าก็จะค่อยๆ ปรับตัว

ก่อนจะไปชอปดูของกันนั้น เราขอหย่อนก้นลงบนเก้าอี้พูดคุยกับคุณแพร์สักหน่อย ทำให้เรารู้ว่าคุณแพร์นั้นสนใจเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว จากกการได้ไปเข้าค่ายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ พอโตมาก็มีอะไรบางอย่างที่คุณแพร์เรียกมันว่าโชคชะตา ทำให้ตัวเองได้เปิดเกสต์เฮาส์จากตึกเก่าแก่ของครอบครัว พอเปิดมาได้สักระยะหนึ่งแถวนี้แทบจะไม่มีร้านกาแฟ หรือคาเฟ่เล็กๆ ให้แขกได้นั่งเล่น หรือนั่งทำงานเลย จึงเป็นที่มาของโซนคาเฟ่น่านั่ง

บวกกับตอนนั้นคุณแพร์เริ่มทำ Refill Station กับเพื่อนๆ จึงคิดว่างั้นเปิดคาเฟ่ไปพร้อมกับนำ Refill Station มารวมกันไว้ที่นี่ โดยเป้าหมายแรกตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นร้านสีเขียวปลอดพลาสติก ทำให้สิ่งเหล่านี้ใกล้ตัวคนที่เข้ามาหาเรามากขึ้น และไม่ได้มองว่าการลดพลาสติกเป็นเรื่องยาก เมื่อมีแนวคิดแบบนี้แล้ว ตัวร้านคาเฟ่และเกสต์เฮาส์ที่เป็นตึกสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้นั้น จึงถูกคิดและออกแบบมาบนพื้นฐานของความเป็น Eco Friendly

มาถึงร้านแล้วไม่ควรพลาดกับโซน Refill Station ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแพร์รวมตัวทำกับเพื่อนอีก 2 ท่าน กว่าจะมาเป็นร้านแบบนี้ขอบอกก่อนว่าเคยไปตั้งขายที่ตลาดนัดมาแล้ว ถึงขั้นเคยโดนมองว่ากวนหรือผสมน้ำยาขายกันเอง จากวันนั้นคุณแพร์และเพื่อนก็พัฒนากันมาเรื่อยๆ จนมีสถานที่เป็นหลักเป็นแหล่ง โดยขั้นตอนได้เริ่มจากหาพาร์ทเนอร์ เพราะต้องหาสินค้าที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและขอข้อมูลจากเขาให้มากที่สุด เนื่องจากลูกค้าจะซื้อของอย่างหนึ่งก็มักจะขอข้อมูลประกอบการตัดสินใจเสมอ

“เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเลือกสินค้า โปรดักส์ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เพิ่มเคมีในน้ำแต่อย่างไร อันนี้คือใจความสำคัญ”

จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ร้าน มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไปจนถึงออร์แกนิก ไม่มีสารอันตรายต่างๆ และค่อนข้างมีหลายระดับให้เลือกซื้อเพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป ซึ่งการทำรูปแบบนี้ต้องเน้นการสื่อสารให้คนใช้บริการเริ่มปรับตัวจนเกิดความเคยชิน เพราะยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายคนกว่าเขาจะเข้าใจและเปิดใจยอมรับ 

นอกจากนี้มุมผลิตภัณฑ์นักษ์โลกยังมีสินค้าในชีวิตประจำวันอีกมากมาย ทั้งกล่องใส่อาหาร หลอดรูปแบบต่างๆ กระเป๋า กระบอกน้ำ รวมไปถึงของใช้ส่วนตัวของผู้หญิงอย่างผ้าอนามัยแบบผ้าซักได้ หรือกรวยอนามัยสำหรับประจำเดือน ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ซึ่งแรกๆ อาจจะไม่ชินแต่ถ้าได้ลองใช้แล้วบางคนก็ไม่ใช้ผ้าอนามัยอีกเลย

“ต้องยอมรับผ้าอนามัยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ย่อยสลายยาก และใช้เวลานานมาก แถมเป็นขยะติดเชื้อ ถ้าลองหันมาใช้แบบนี้บ้าง เราช่วยลดขยะไม่พอยังเซฟเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย”

ถ้าถามคุณแพร์ว่าจุดไหนบ้างภายในร้านช่วยลดขยะ แค่กวาดสายตาไปรอบๆ ก็คงบอกว่าเกือบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่จุดเติมน้ำที่เราจะไม่ใช้แก้วพลาสติก จุดยืมจานชาม ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อนว่าคาเฟ่ร้านไหนจะให้ลูกค้ายืมจานชามไปซื้ออาหารนอกร้านเข้ามาทานได้ แต่ต้องล้างจานและเก็บให้เรียบร้อย การทำแบบนี้เพราะคุณแพร์ให้เหตุผลว่า สมมุติที่ร้านมีน้ำแต่ไม่มีกล้วยแขก แต่ลูกค้าอยากกินกล้วยแขกด้วย เลยคิดว่ามีอุปกรณ์ให้เขาดีกว่าเขาถือถุงพลาสติกมาทิ้งในร้าน วิธีนี้ป้าๆ แม่ค้าข้างร้านจะชินมากถ้ามีลูกค้าขาจรเอาจานไปใส่อาหารด้านนอก 

เมื่อหันไปทางด้านหลังจะเห็นขวดแก้ว กล่องนม หรือถุงกระดาษใช้แล้วถูกทำความสะอาดเรียบร้อยตั้งเรียงกันอยู่ คุณแพร์บอกว่าทางร้านรับบริจาคถุงกระดาษด้วย หากที่บ้านมีถุงกระดาษเยอะมากๆ ไม่รู้จะนำไปใช้ที่ไหนอย่าทิ้ง เอามาที่ร้านได้เลย ขวดก็บริจาคได้เช่นกัน ล้างให้สะอาด ตากมาให้แห้ง และมาวางบนชั้นที่เตรียมไว้ให้

นอกจากนี้ยังรับซื้อขยะบางชนิดอีกด้วยเพราะบางบ้านกว่าจะรวมได้เยอะๆ และนำไปขายนั้นอาจจะใช้เวลานาน ร้านก็จะให้มารวมที่นี่และเรียกคนมารับ อีกทั้งลูกค้าสามารถหยิบขวดที่สะอาดมาใส่ของรีฟิลได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ช่วงสถานการณ์โควิดส่วนใหญ่จะให้เตรียมมาเอง

คุณแพร์ยอมรับว่าบางจุดก็ยังจำเป็นต้องมีพลาสติกบ้าง เช่น ต้องซื้อวัตถุดิบอาหารที่ถูกแพ็คมาแล้วเรียบร้อย ซึ่งทางร้านก็พยายามเลี่ยงๆ แต่คุณแพร์ก็รู้สึกว่า

“ชีวิตเรามันต้องมีพลาสติกบ้างแหละ แต่เราก็เห็นว่าหลายคนมีความพยายามมากขึ้นที่อยากจะลด บางคนลากกระเป๋าเดินทางมาเองเลย เพื่อเตรียมมาใส่ของ คือเราเห็นความตั้งใจ”

อีกทั้งด้วยนิสัยคนไทยเองเป็นคนมีน้ำใจ เวลาไปซื้อของอะไรก็อยากจะใส่ถุงให้ ถ้าของหนักก็กลัวถุงจะขาดบางทีก็ใส่ถุงซ้อนถุง ทำให้แต่ละวันต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าประเทศไทยเรานั้นใช้ถุงพลาสติกกันเก่งพอตัว

ตัดภาพออกมาที่หน้าร้านกันบ้าง เกือบ 11 โมง แผงผักเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ลูกค้าที่เดินผ่านต่างตั้งใจรอชอปและเข้ามาสอบถามว่าขายอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ขอบอกก่อนว่าแผงเล็กๆ หน้าร้านนั้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าอยู่เสมอ อย่างล่าสุดก็เอาเสื้อผ้ามือสองสภาพดีออกมาให้คนผ่านไปผ่านมาจับจอง แต่วันที่เรามาก็เหมือนกับยกสวนผักมาไว้เกือบทั้งสวน ทั้งบีทรูท เบเบี้แครอท อะโวคาโด มะเขือเทศ และอื่นๆ อีกหลายตะกร้า 

คุณแพร์ยอมรับว่าตั้งแต่เกิดโควิดระบาดก็ต้องหารายได้เสริมให้กับพนักงาน อีกทั้งอยากทำเมนูในร้านให้ออร์แกนิกมากขึ้น พอดีกับได้ไปเจอกลุ่มพี่เกษตรจากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการเกษตร มาเล่าให้ฟังว่าเกษตรกรก็ค่อนข้างจะลำบากในการปล่อยขายสินค้าช่วงนี้ อีกทั้งสินค้าแพงขึ้น และกำลังซื้อน้อยลง เลยต้องออกอีเวนต์ซึ่งมีต้นทุนสูง

คุณแพร์เลยชวนมาทำงานร่วมกัน จึงเกิดเป็นตลาดผักออร์แกนิกเล็กๆ หน้าร้านขึ้น เพราะสินค้าของเกษตรกรคุณแพร์สัมผัสมาแล้วว่าคุณภาพดีจึงอยากส่งต่อในราคาที่กำลังดีไม่แพงจนเกินไป บางอย่างราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าเสียด้วยซ้ำ อีกวิธีที่ทางร้านทำอยู่คือให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์ไว้ได้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดขยะจากผักเหลือทิ้ง ซึ่งถ้าพรีออเดอร์ก่อนจะช่วยลดขยะในส่วนนี้ได้

จุดเด่นนอกจากผักที่สดใหม่ และสีสันน่าลิ้มลองแล้ว ตัดภาพไปที่ถุงบรรจุผักที่ใส่ให้ลูกค้า บ้างก็เป็นถุงยาสกรีนชื่อโรงพยาบาล บ้างเป็นถุงขนมจากร้านเบเกอรี บ้างเป็นถุงกระดาษของห้างฯ แบรนด์ดัง เอาเป็นว่าลูกค้าทุกคนจะได้ถุงกลับบ้านในรูปแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย 

“ถุงกระดาษเหล่านี้ได้รับบริจาคมาอีกที มีสภาพดีแต่ไม่ถูกใช้งาน จึงเช็ดทำความสะอาด ชุบชีวิตให้มันมาเจอผู้คนอีกครั้ง”

พอเห็นความตั้งใจของทุกๆ คนแล้ว ทั้งเกษตรกรและพนักงานที่ร้าน รวมถึงตัวคุณแพร์เอง ทางเราก็อดไม่ได้ที่ต้องซื้อผักเหล่านี้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน

เรานั่งเล่นและเดินวนทั่วร้านเพลินจนเกือบเย็น ท้องเริ่มหิวจึงสั่งอาหารที่ร้านมานั่งทาน ใครที่ติดลมกับการนั่งคาเฟ่ หรืออยากจะเปลี่ยนที่นอนดูสักคืน ที่นี้มีเกสต์เฮาส์ให้ทิ้งกายสบายใจ โดยห้องพักมีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งสามารถเดินเชื่อมต่อกับคาเฟ่ได้แม้จะอยู่คนละตึก

คุณแพร์เล่าว่าการทำที่พักใช้หลักการเช่นเดียวกับคาเฟ่ และเน้นใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดและคุ้มที่สุด พูดง่ายๆ คือลดได้ก็ลด หากลดไม่ได้ก็ใช้ซ้ำ เกสต์เฮาส์แห่งนี้จึงเป็นตึกเก่าที่ทุบให้น้อยที่สุด และทุกห้องยังคงรักษาหน้าต่างเก่าไว้ด้วย 

จุดเด่นของแต่ละห้องจะอยู่ที่เฟอร์นิเจอร์ ทุกชิ้นคัดมาจากคนที่บ้าน จากญาติ หรือคนในครอบครัว ซึ่งจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ก่อนที่จะออกแบบห้อง ทำให้ชื่อห้องต่างๆ จะเป็นชื่อเจ้าของเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ เสมือนมานอนค้างบ้านเพื่อน และแม้จะมาพักผ่อนแต่เข้ามาพักก็อย่าลืมช่วยกันแยกขยะด้วยนะ เพราะภายในห้องเขามีถังแยกขยะไว้ให้ชัดเจน

ก่อนจากกันเราก็มีคำถามที่คาใจอยากจะลองถามคุณแพร์อยู่บ้าง ว่าเมื่อลูกค้ามาร้านนี้สิ่งที่อยากให้เขาได้กลับไปคืออะไรกันแน่ คุณแพร์คิดอยู่ไม่นานก็บอกกับเราว่า

“อยากให้รู้สึกว่าการหันมาดูแลโลกเพียงแค่ลดพลาสติกในมือไม่ใช่เรื่องที่ยาก และไม่ใช่เรื่องที่ไม่เฟรนด์ลี่ บางคนอาจจะถูกมองว่า เอ้ยเธอรักโลกหรอต้องพกถุงแบบนี้ด้วย เราไม่อยากให้สังคมเกิดคำแบบนี้ต่อกัน มันเป็นเรื่องที่เราเปิดใจให้กันได้ ”

แค่เรามีแก้วติดตัวก็ดีแล้ว บางทีลูกค้าไม่ต้องซื้ออะไรที่นี่กลับไปเลยก็ได้ แต่แค่ก้าวเท้าออกไปจากร้านแล้วเข้าใจว่า ทำไมเราไม่ควรรับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ หรือมองเห็นความสุดโต่งที่เราตั้งใจทำมันขึ้นมา เพราะแค่ไม่รับถุงมันก็ซัพพอร์ตโลกได้มากแล้ว บางทีลูกค้าก็จะช่วยสื่อสารกันเองบ้าง มานั่งกันเขาก็แชร์กันเองอยู่เรื่อยๆ เป็นภาพที่เห็นและได้ยินกับตัวเองทีไรก็ขนลุก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.