ความเชื่อนั้นเกาะติดเราไปตลอด แม้ช่วงเวลาของการจากลา หรือไม่ได้ตื่นลืมตามาดูโลกใบนี้แล้ว อาหารกับข้าวกับปลา ยังคงมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เรียกได้ว่า ‘ตั้งแต่เกิดยันตาย’ ส่วนความเชื่อที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เห็นว่าผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเคร่ง อาหารจำพวกเส้น พวกที่ทำมาจากกล้วย หรือขนุน นอกจากของคาวแล้ว ของหวานที่เป็นพวกเส้นก็ไม่นิยมนำมาให้แขกในงานกินเช่นกัน
งานศพห้ามเส้น กล้วย ขนุน
อาหารพวกเส้นที่เขาเชื่อถือและไม่นิยมทำกัน หลักๆ จะเป็นขนมจีน ราดหน้า และก๋วยเตี๋ยว หากเป็นพวกขนมหวานตะกูลทอง อย่างฝอยทองก็ไม่ได้ เนื่องจากเขาเชื่อกันว่าผู้ตายกับญาติ หรือคนในครอบครัว ไม่ยอมตัดขาดจากกัน คนที่จากไปก็ไม่หมดห่วง มีความรักใคร่สายใยส่งถึงกันอยู่เสมอ วิญญาณอาจไม่ไปเกิดใหม่ หรืออยากเอาคนในครอบครัวนั้นไปอยู่ด้วย
ถัดมาจะเป็นพวกต้นกล้วย ที่ถือกันคือพวกใบกล้วยหรือใบตอง เนื่องจากสมัยก่อนจะใช้ใบตองเป็นหลักในการรองศพก่อนเอาเข้าโลง เลยไม่นิยมนำมาห่ออาหารในงานศพ และสุดท้ายคือ ขนุน เป็นผลไม้ที่เป็นสิริมงคล ที่ช่วยหนุนนำ ให้ความเจริญ จึงไม่ควรนำมาอยู่ในงานอวมงคลนั่นเอง
กาลเวลาเปลี่ยน อาหารในงานศพก็ย่อมปรับตัวเช่นกัน
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงสายลมพัดผ่าน สิ่งที่เคยเชื่ออาจยังคงอยู่ แต่บางอย่างก็เริ่มหายไปบ้างแล้ว เราได้คุยกับ คุณเก๋ – ขนิษฐา บัวชุม เจ้าของร้านอาหารสิรภพ อินเตอร์ฟู้ด ซึ่งตั้งอยู่และได้รับสัมปทานจากวัดธาตุทอง ให้เป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารในวัดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานศพ หรืองานบวช คุณเก๋เป็นรุ่นที่ 3 ทำมากว่า 16 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางพ่อแม่ก็ได้ทำอาชีพนี้กันมาเสมอ เมื่อตนเรียนจบก็เข้ามาสืบทอดทันที
เราจึงได้นั่งคุยกับแบบสบายๆ ซึ่งวันนั้นพี่เก๋ก็ยุ่งอยู่กับการทำอาหารเพื่อออกไปสู่ศาลาต่างๆ ให้ตรงเวลาตามที่เจ้าภาพได้สั่งเข้ามา ซึ่งวัดธาตุทองมีศาลาสวดทั้งหมด 33 หลัง การทำอาหารและการทำงานเป็นทีม ต้องพร้อมและกระฉับกระเฉงเป็นอย่างมาก หากถามถึงเมนูที่เจ้าภาพมักสั่งมาเลี้ยงแขกอยู่บ่อยๆ พี่เก๋ขอยกให้ ‘กระเพาะปลา’ และ ‘ข้าวต้มปลา’ เป็นเมนูพื้นๆ กินง่าย ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็สามารถกินได้อย่างถูกปากเช่นกัน
แต่เมื่อเราถามถึงอาหารจำพวก ‘เส้น’ พี่เก๋บอกว่าเป็นเมนูที่ไม่นิยมทำกันในงานศพ เนื่องจากจะมีการติดต่อ หรือเป็นสายสัมพันธ์โยงถึงกันอยู่ไม่ไปไหน แต่ในสมัยนี้งานศพก็มีก๋วยเตี๋ยวเช่นกัน ยังคงมีเจ้าภาพบางครอบครัวต้องการเลี้ยงก๋วยเตี๋ยว แต่ทุกครั้งจะมีการถามลูกค้าเสมอว่ามีความเชื่อเรื่องพวกนี้ไหม ? ถ้าหากไม่เชื่อก็ทำให้ได้ แต่ถ้าเชื่อก็จะแนะนำเป็นเมนูอื่นไปแทน แต่เส้นหมี่ในก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เสิร์ฟแบบยาวๆ จะตัดเส้นก่อนนำลงถ้วยเสมอ เวลากินก็จะรู้ได้ถึงความร่วนๆ หน่อย จากปกติต้องสูดเส้นเข้าปาก ส่วนราดหน้าเส้นใหญ่ก็ตัดเช่นกัน แต่หากเจ้าภาพไม่ให้ตัดก็จะใส่ไปทั้งเส้นแบบเดิม แต่ทุกอย่างผ่านการคุยกันมาเรียบร้อยแล้วก่อนลงมือทำ
พี่เก๋เล่าให้ฟังต่อว่า บางครอบครัวจากที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากที่คลุกคลีอยู่กับอาหารในงานศพบางบ้านสั่งจะเอาเมนูเส้น ทางเราก็อธิบายให้เขาฟังแล้ว แต่ก็ยังอยากได้เมนูก๋วยเตี๋ยวอยู่ดี เหตุการณ์บางอย่างก็เกิดขึ้น อย่างเมื่อ 2 ปีก่อน ในตระกูลเสียชีวิตติดกัน 9 คน ในวัดจึงมี ‘พิธีตัด’ พิธีนี้จะมีการทำหุ่นฟางขึ้นมาหนึ่งตัวเพื่อประกอบพิธีให้ทุกสิ่งทุกอย่างจบที่หุ่น หรือจบที่คนนี้ ไม่มีใครต้องมาสูญเสียอีก
ส่วนใบตองก็จะไม่ได้นำมาห่ออาหาร เพราะรู้มาว่าใบตองสมัยก่อนใช้รองศพ ทำให้เมนูห่อหมกพี่เก๋มักจะใช้ฟอยล์แทน หากถามถึงขนุนบ้าง พี่เก๋ก็ยอมรับว่ายังใช้อยู่ในเมนูขนมหวาน แต่ก็ไม่ได้ใช้ปริมาณมาก อีกทั้งไม่ได้สั่งมาใส่ทั้งชิ้น แต่จะใช้เป็นขนุนฉีกแทน เช่น ทับทิมกรอบทรงเครื่อง
ไม่ธรรมดา มาทีกินอิ่มบุฟเฟต์และโต๊ะจีน
อาหารแต่ละเมนูจะคิดเป็นหัว คือหัวละ 50 บาท ต่อ 1 ชาม/จาน แต่หากเจ้าภาพคิดว่าไม่คุ้ม อาจจะมีผู้ร่วมงานมาเยอะมาก เนื่องจากพี่เก๋ก็เคยทำอาหารรองรับแขกเกือบ 1,000 ที่ เจ้าภาพอาจจะไม่เลือกก็ได้ ทางร้านก็มี ‘ไลน์บุฟเฟ่ต์’ หรือการกินอาหารในฉบับที่ดูแลตัวเอง จะกินเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัดปริมาณ (แต่ไม่ควรเหลือนะเพื่อนๆ) มีตั้งแต่ของคาว และตบท้ายด้วยของหวาน หรือผลไม้ ซึ่งราคาอยู่ที่จำนวนของแขก และตามที่ตกลงกัน โดยเมนูก็มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห่อหมก ไข่พะโล้ ผัดเปรี้ยวหวาน ต้มข่าไก่ สลัด หรือน้ำพริกผักสดต่างๆ นอกจากนี้หากต้องการเป็นโต๊ะจีนพี่เก๋ก็พร้อมให้บริการเช่นกัน
สุดท้ายนี้ พี่เก๋ยังบอกเราอีกว่า เรื่องอาหารการกินมีความเชื่อก็จริง แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านด้วยว่าต้องการแบบไหน ทางร้านก็พร้อมแนะนำ เพื่อความสบายใจของเจ้าภาพ
คงได้เห็นแล้วว่า รูปแบบของอาหารในงานศพบางเมนูที่มีความเชื่อว่ากินไม่ได้ แต่สมัยนี้กลับกินได้บ้างแล้ว แถมยังปรับปรุงการเสิร์ฟในรูปแบบต่างๆ ให้เข้ากับคนกินมากขึ้นอีกด้วย