คำว่า ‘แบน’ หรือ ‘ต้องห้าม’ ไม่ได้จะสื่อแค่ว่า ห้ามจัดจำหน่าย แจกจ่าย หรือเผยแพร่โดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อาจหมายถึงการตีตราว่าไม่ดีจากสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยหนังสือซึ่งมีจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกแบน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ถือเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนทั้งสิ้น
“ยิ่งปิด ยิ่งอยากรู้” ประโยคชวนให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น อะไรที่แขวนป้ายว่าห้ามแตะต้องหรือห้ามอ่าน ยิ่งชวนให้อยากค้นมาดูซะเหลือเกิน อย่าง ‘หนังสือ’ ซึ่งเป็นสิ่งของที่ผ่านจิตวิญญาณของนักเขียนจนออกสู่สายตาผู้อ่าน ก็เป็นสิ่งที่หลายคนจับตามอง เพราะเป็นเครื่องมือที่อาจทำให้สังคมบางกลุ่มสั่นคลอน จนต้องออกมา ‘แบน’ เพื่อความสงบสุข
The Satanic Verse
- นักเขียน : ซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie)
- ถูกแบนในอิหร่าน บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และบางประเทศในแอฟริกาใต้
ผลงานเขียนสุดฮิตของ ‘รัชดี’ ที่ถูกแบนในหลายประเทศทั่วโลก เพราะมีเนื้อหาบางส่วนที่เอี่ยวกับประวัติชีวิตของศาสดาโมฮัมหมัด ถูกมองว่ามีการล้อเลียนชื่อบุคคล และสถานที่สำคัญในศาสนาอิสลามจนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิม ก่อนกระแสการต่อต้านจะลุกลามไปทั่วโลก
ความรุนแรงนี้ถึงขนาดที่หลังจากตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1988 ผู้นำอิหร่านออกมาประกาศว่า “นี่คือหนังสือต้องห้ามและสั่งประหารชีวิตรัชดี” จนทางการอังกฤษต้องพารัชดีไปซ่อนตัวพร้อมมีตำรวจคอยดูแลนาน 10 ปี จนเขาต้องออกหนังสือบันทึกชีวิตที่ไร้อิสรภาพภายใต้การอารักขาของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ในชื่อ Joseph Anton : A Memoir
Alice’s Adventures in Wonderland
- นักเขียน : ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll)
- เคยถูกแบนในมณฑลหูหนาน ประเทศจีน
นิยายสุดคลาสสิกที่ออกสู่สายตานักอ่านเมื่อ ค.ศ. 1865 แม้จะขายดิบขายดี และได้รับคำชมในความแฟนตาซีสุดวิบวับ แต่ก็ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่ทำให้สัตว์สามารถพูดได้เหมือนกับคน ถึงขนาดที่ใน ค.ศ. 1931 ถูกแบนในมณฑลหูหนาน ประเทศจีน ด้วยเหตุผลที่ว่า สัตว์ไม่ควรพูดภาษาของมนุษย์นั่นเอง (Anthropomorphism)
ไม่ใช่แค่จีน แต่โรงเรียนระดับมัธยมในบางรัฐของอเมริกาก็แบนหนังสือเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการลบหลู่ครูและศาสนา และมีอิทธิพลต่อการยั่วยุทางเพศ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครเวที การ์ตูน ภาพยนตร์ จนแฟนนิยายติดกันงอมแงมถึงขนาดตั้งตารอชมโปรดักชันงดงามจากนิยายเรื่องนี้
1984
- นักเขียน : จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)
- เคยถูกแบนในสหภาพโซเวียต
‘1984’ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1949 ซึ่งนักเขียนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ‘จอร์จ ออร์เวลล์’ ผู้โด่งดังจากผลงาน Animal Farm ที่ลุงตู่แนะนำให้พวกเราอ่านนั่นเอง โดยเล่าถึงตัวละคร ‘วินสตัน’ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศโอเชียเนีย ที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอันมีผู้นำสูงสุดคือ Big Brother
เมืองสมมุติในในเรื่อง 1984 ถูกเล่าผ่านความสวยงามที่เคลือบความน่าอึดอัด เพราะแม้ประเทศจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่ Big Brother ก็สามารถจัดการประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมี ‘ตำรวจความคิด’ คอยสอดส่อง และจัดการประชาชนที่มีท่าทีว่าเป็นศัตรูต่อรัฐ โดยหนังสือจบด้วยการทำให้เห็นว่า ในโลกที่ถูกตีกรอบและดูสวยงาม ก็ยังคงมีความแตกต่างและการตั้งคำถามอยู่เสมอ
1984 ถูกแบนโดยสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1950 เพราะ ‘สตาลิน’ ผู้นำของสหภาพโซเวียตเข้าใจว่าเป็นการเสียดสีที่มาจากการเป็นผู้นำของตนเอง ก่อนจะยกเลิกใน ค.ศ. 1990 และสามารถหาอ่านได้ทั่วไป ซึ่งฉบับที่วางขายก็มีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนออกไป
Lolita
- นักเขียน : วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov)
- เคยถูกแบนในฝรั่งเศสและอังกฤษ
ใน ค.ศ. 1995 นวนิยายฝรั่งเศสชื่อว่า ‘Lolita’ ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเพียง 5,000 เล่มและขายหมดในพริบตาถึงขนาดได้รับคำชื่นชมจากนักเขียนชื่อดังหลายคน ซึ่งนิยายว่าด้วยเรื่องของความลุ่มหลงของ ‘ฮัมเบิร์ต ฮัมเบิร์ต’ ชายชาวยุโรปวัยกลางคน ที่มีต่อ ‘โลลิต้า’ เด็กสาวชาวอเมริกันวัยสิบสองที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในชีวิตของทั้งสอง
เมื่อถูกจับตามอง ก็ตามมาด้วยการแบนโดยรัฐบาลของอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่หลายปี ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นหนังสือลามกและผิดศีลธรรม เพราะเป็นการกระตุ้นให้มีตัณหาทางเพศกับสาวแรกรุ่น Lolita จึงข้ามน้ำข้ามทะเลมาตีพิมพ์ที่อเมริกาใน ค.ศ. 1958 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จโดยจำหน่ายได้ถึง 100,000 เล่มภายใน 3 สัปดาห์
การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
- นักเขียน : สายพิน แก้วงามประเสริฐ
- ถูกแบนในไทย
ทันทีที่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2536 ก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างดุเดือด เมื่อ ‘สายพิน แก้วงามประเสริฐ’ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนตั้งคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทั้งยังมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า วีรกรรมของย่าโมถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง พร้อมชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์
โดยการตั้งคำถามที่ท้าทายความเชื่อของคนในพื้นที่ ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกโจมตีจากนักวิชาการ สื่อมวลชน และโดยเฉพาะชาวโคราช ถึงกับมีการประท้วงกันที่อนุสาวรีย์ย่าโมกันเลยทีเดียว จนหนังสือถูกต่อต้านและหยุดเผยแพร่ในที่สุด