ในพื้นที่ 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรของเมืองกรุงเรานั้น รู้ไหมว่ายังมีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ ซึ่งนั่นทำให้ระบบการบริหารของภาครัฐ เช่น การเข้าถึงของน้ำประปา หรือไฟฟ้า ไม่สามารถเข้าถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น เรื่องสุขอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต
บึงบางซื่อ บึงน้ำกลางกรุงขนาด 61 ไร่ ที่ล้อมรอบด้วย 5 ชุมชน จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประมาณ 250 หลังคาเรือน เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่มีทะเบียนราษฏร์ และเป็นพื้นที่ตาบอดที่ไม่มีทางเข้าออก
ในอดีตเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว บึงบางซื่อเป็นแหล่งดินดำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ SCG ได้สร้างบ้านให้กับคนงานและครอบครัวเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยรอบบริเวณบึง แต่หลังจากเลิกใช้งาน บึงบางซื่อก็เริ่มมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นชุมชนแออัดในที่สุด
“ตอนที่บ้านยังไม่ขึ้น การเป็นอยู่มันก็อยู่ในสภาพบ้านโทรมๆ ย้อนหลังไปปี พ.ศ. 2535 ตอนนั้นทางผู้ใหญ่ยังไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วย เราก็จัดตั้งคณะกรรมการ บุกเบิกกันมา การทำงานช่วงนั้นก็เหนื่อยกันมาก เพราะทั้งถูกด่า ถูกแช่ง ซ้ำเติมกันว่าบ้านจะขึ้นได้หรอ เพราะคำดูถูกคำนี้แหละ ทำให้เมื่อมีประชุมที่ชุมชนไหน เราก็ต้องไป กลับมาแล้ว เราก็มาทำที่บ้านเรา”
คำบอกเล่า ถึงอดีตของชุมชนบ่อฝรั่งหรือชุมชนบึงบางซื่อ จากลุงชอบ คนเก่าคนแก่ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการของสหกรณ์บ่อฝรั่ง
ความพยายามของคนในชุมชน
ชาวบ้านเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คุณภาพชีวิตของตนดีขึ้น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชน เพื่อให้สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในการสร้างที่อยู่อาศัยของตนเอง รวมถึงทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลัก คือ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และมีการเพาะเห็ด เป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน
จากพื้นที่ไร้ทะเบียนราษฎร์ สู่พื้นที่ต้นแบบแห่งการพัฒนา
SCG ได้เข้ามาดำเนิน “โครงการสานพลังประชารัฐ – การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ” ทำให้ความพยายามของชาวบ้านไม่สูญเปล่า ชุมชนเองได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ใช้สอยในครัวเรือน พื้นที่ส่วนกลาง ออกแบบบ้านที่เหมาะสม และจัดวางผังบ้าน จนได้ข้อสรุปการก่อสร้างเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ 60 ยูนิต อาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต และบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีรายได้อีก 4 ยูนิต รวมเป็น 197 ยูนิต ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563
บ้านในชุมชนบึงบางซื่อก่อนได้รับการปรับปรุง
บ้านที่สร้างใหม่ในโครงการสานพลังประชารัฐ – การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ
ภายในบ้านที่ถูกออกแบบให้มีความถ่ายเทอากาศ และรับความเย็นจากบึง
อีกทั้งโครงการนี้ถือเป็นโครงการต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ อีกด้วย โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ ได้รับความร่วมมือและขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ได้แก่ SCG สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรุงเทพมหานคร และกรมธนารักษ์
ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง ที่อยู่ภายใต้แนวคิด “คน วิถีชีวิต อาชีพและความต้องการส่วนรวม” คือได้ใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง แบ่งพื้นที่ใช้สอยต่างๆ เช่น อาคารอเนกประสงค์ในชุมชน ห้องพยาบาลชุมชน ลานออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียว ประตูรั้ว และป้อมยาม รวมถึงมีข้อตกลงร่วมกันที่จะสร้างบ้านกลาง เพื่อผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลและไม่มีรายได้
ต้นแบบการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย ได้แก่ การกระตุ้นให้ชุมชนออมทรัพย์ ร่วมสำรวจพื้นที่ ร่วมออกแบบบ้าน จัดโซนนิ่งที่พักตามกลุ่มชุมชนเดิม เพื่อรักษาความผูกพันทางเครือญาติ
ต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งบริหารจัดการบึงน้ำให้เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
หากโครงการนี้ดำเนินการไปอย่างสำเร็จ ไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมของชุมชนเล็กๆ ในเมืองกรุงนี้เท่านั้นที่จะดีขึ้น แต่ความสุข ความสบายใจ ก็จะเข้ามาสู่ใจของชาวบ้านบึงบางซื่ออย่างแน่นอน ดังที่ลุงชอบได้กล่าวไว้
“จากคนที่ไม่มีอะไร เสื่อผืนหมอนใบ แล้วมาได้สภาพบ้านแบบนี้ ถือว่าสุดยอดมาก รู้สึกภูมิใจที่สุด สภาพเดิมกับสภาพตอนนี้มันเปลี่ยนไปมาก จากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรา ช่วยเหลือเรา เพราะถ้าไม่ได้ส่วนนี้ เราก็แย่เหมือนกัน ยังดีที่ที่เป็นของ SCG เราไม่ต้องไปดิ้นรนเหมือนที่คนอื่น ที่เอกชนต้องไล่รื้อ ไล่อะไร แต่ของเรา SCG เขาก็มาช่วย ก็ขอบคุณมาก ที่ทำให้เราเติบโตมาได้ขนาดนี้ อีกสองสามปี ก็คงจะทำได้แบบเต็มรูปแบบ”
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : www.facebook.com/SCGofficialpage
Website : www.scg.com