‘เจริญกรุง’ มีความสำคัญเป็นถนนสายแรกของกรุงเทพฯ และเป็นศูนย์รวมการค้ากับต่างประเทศในอดีต อาคารพาณิชย์ โรงแรมเก่าแก่ รวมถึงที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกที่อยู่คู่ถนนเส้นนี้มาร่วมร้อยปี คอยทำหน้าที่ส่งความรัก ความคิดถึง และบันทึกเรื่องราวในวันวาน ทิ้งร่องรอยความเจริญไว้ตามตรอกซอยเล็กๆ อีกทั้งยังคึกคักไปด้วยของอร่อย
วันนี้เราจะพาไปสำรวจ ‘ย่านบางรัก’ ที่จะทำให้คุณตกหลุมรักไปกับทริปเดินเที่ยวเมืองกรุงในหนึ่งวัน ศึกษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบางรักที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หาอินสไปเรชันบนพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ที่กลมกลืนไปกับเมืองเก่าได้อย่างแนบเนียน
เที่ยงวันอาทิตย์เรานั่งบีทีเอสมาลงสะพานตากสิน เดินเล่นชิลๆ ย่านบางรักในช่วงอากาศดีต้นฤดูหนาว ตรงตลาดใกล้ๆ ห้างโรบินสันมีของกินละลานตาไปหมด เรียงรายด้วยร้านเก่าเจ้าดัง ไม่ว่าจะเป็นทิพหอยทอดภูเขาไฟ โจ๊กปริ้นซ์ ข้าวขาหมูตรอกซุง
โรงหนังเก่าปรินซ์รามา
ถนนเจริญเวียง ตรงข้ามโรบินสัน
ในระหว่างเดินหาร้านข้าวเราก็พบโรงหนังเก่าชื่อปรินซ์รามาโดยบังเอิญ เป็นโรงหนังที่สร้างขึ้นในยุคโรงหนังสแตนด์อะโลนกำลังเฟื่องฟู ตั๋วสมัยแรกๆ ราคาแค่สามบาทห้าสิบสตางค์ จากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ โรงหนังแห่งนี้น่าจะเป็นโรงหนังบางรักเดิมมาก่อน ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2451 ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ส่วนการออกแบบสไตล์ Art Deco ที่โดดเด่นก็ยังคงเหลือเค้าโครงให้เห็นอยู่บ้าง
ประจักษ์เป็ดย่าง
ถ.เจริญกรุง เยื้องห้างโรบินสัน อยู่ระหว่างธนาคาร CIMB กับร้าน WATSONS
เปิดทุกวัน 7:30 – 20:30 น.
เวลาท้องกิ่วแบบนี้ เราก็อดใจไม่ไหวที่จะแวะร้านเป็ดย่างในตำนานก่อนออกไปตะลอนตอนบ่าย ประจักษ์เป็ดย่าง คือร้านอาหารไทย-จีนเจ้าเด็ดที่ต้องมาลองให้ได้หากมาเยือนย่านบางรัก เปิดขายมานานกว่า 100 ปี บุกเบิกโดย ‘อากว๋อง’ ชาวจีนกวางตุ้งที่มาหาลู่ทางทำกินโดยเริ่มจากขายอาหารหาบเร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2452 จนปัจจุบันสืบทอดกันมาแล้วถึง 4 รุ่น
เมนูยอดนิยมได้แก่ ข้าวหน้าเป็ด ข้าวหมูแดงหมูกรอบ เฉโป บะหมี่เป็ดหมูแดง บะหมี่ปู เกี๊ยวหมู เกี๊ยวกุ้ง นอกจากนี้ยังมีขนมจีบ ซาลาเปา ที่คนย่านนี้ฝากท้องกันมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น
หลังจากอิ่มท้องกันแล้วเราเลือกที่จะเดินย่อยแทนที่จะนั่งรถเพื่อจะได้ดูตึกรามบ้านช่อง เห็นความแตกต่างที่ลงตัวระหว่างตึกแถวสองชั้นสไตล์ปีนังตัดสลับกับตึกสูงทันสมัย แถมเพลิดเพลินกับร้านขนมริมทางที่บางร้านขายกันมากว่า 60 – 70 ปี
ปั้นลี่ เบเกอรี่
ถ.เจริญกรุง หัวมุมแยกบางรัก-สีลม ใกล้โรงพยาบาลเลิดสิน
เปิดทุกวัน 6:00 – 20:00 น.
เดินเลียบถนนเจริญกรุงมาเรื่อยๆ จะเจอร้าน ปั้นลี่ เบเกอรี่ ที่เป็นตำนานมากว่า 70 ปี เปิดขายตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ต้นตำรับขนมปังหัวกะโหลกที่ขายฝรั่งเดินเรือได้ดีเป็นเทน้ำเทท่า สืบทอดกิจการกันมานานถึง 4 ช่วงอายุคน
ปัจจุบันมีขนมมากมายกว่า 200 ชนิด เมนูเด่นคือขนมปังไส้ต่างๆ ที่มีให้เลือกกว่า 30 ไส้ และที่พลาดไม่ได้ต้องขนมปังไส้หมูแดงสูตรฮ่องกง ขนมปังสังขยา และขนมปังไส้แฮมหมูหย็อง ที่เราคอนเฟิร์มว่าไส้แน่นแป้งนุ่ม สดใหม่จากเตา ไม่ใส่สารกันเสีย ที่สำคัญขายหมดเกลี้ยงทุกวัน เพราะใครมาย่านนี้ก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ระหว่างเดินเราก็ถ่ายรูปตึกเก่าๆ ไปเรื่อยเปื่อย เห็นอาคารเก่าแก่ที่โค้งรับกับหัวมุมถนน ถ้าได้รับการบูรณะทาสีซะใหม่ และไม่มีสายไฟมาบดบังก็น่าจะสวยคลาสสิกทีเดียว
อาสนวิหารอัสสัมชัญ
เจริญกรุง 40 ข้างโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
เปิดทุกวัน 6:00 – 20:00 น.
ซอย 40 ข้างโรงเรียนอัสสัมชัญคือทางเข้าสู่โบสถ์คริสต์ที่ตั้งตระหง่านอย่างเงียบๆ อยู่ด้านหลัง โบสถ์อัสสัมชัญ คือ อาสนวิหารประจำมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ หลังปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2452 โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสในแบบศิลปะเรเนซองส์วิหารแห่งนี้มีอายุกว่า 107 ปี นับว่าเก่าแก่ที่สุด และได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศอีกด้วย
มองจากด้านนอกว่าสวยแล้วภายในก็ยิ่งใหญ่อลังการ การก่อสร้างใช้วัสดุหินอ่อนและกระจกสีจากประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ผนังและเพดานงดงามด้วยจิตรกรรมแบบเฟรสโก มีประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรื่องความเชื่อทางศาสนา เสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปข้างใน แต่ขอบอกว่าสวยจนต้องมาให้เห็นกับตาจริงๆ
ออกมาจากโบสถ์เราก็จะเจออาคารเก่าสีขาวสไตล์ยุโรปที่ถูกทิ้งร้างทอดยาวไปจนถึงท่าเรือ ส่วนถนนเล็กๆ หน้าโรงแรมโอเรียนเต็ลคือทางลัดสู่ซอย 36 จุดหมายต่อไปของเรา
ศุลกสถาน (สถานีดับเพลิงบางรักเก่า)
เจริญกรุง 36
หากนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาบ่อยๆ น่าจะเคยสะดุดตากับอาคารเก่าแก่ทรงยุโรปที่มีสภาพทรุดโทรมอยู่ริมแม่น้ำ แต่ยังคงเค้าโครงเดิมของสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกไว้อย่างชัดเจน ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 4 ราว ค.ศ. 1855 ไทยได้ลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงกับรัฐบาลอังกฤษ เป็นการเปิดประตูการค้าเสรีกับชาติตะวันตก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งอาคารแห่งนี้ขึ้นเป็นศุลกสถานเพื่อลดปัญหาการหนีภาษี หรือการเก็บภาษีไม่ทั่วถึง ภาษีขาเข้าร้อยละสามจึงเป็นที่มาของชื่อ ‘โรงภาษีร้อยชักสาม’ นั่นเอง
อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส และเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากรเรื่อยมากระทั่ง พ.ศ. 2492 จึงถูกส่งต่อให้เป็นที่ตั้งของสถานีดับเพลิงบางรักและที่พักของเจ้าพนักงาน โดยล่าสุดได้ย้ายที่ทำการไปได้ประมาณ 2 ปีแล้ว
ไปรษณีย์กลางบางรัก
ถ.เจริญกรุง อยู่ระหว่างซอย 32 และ 34
TCDC เปิด 10:00 – 21:00 น. (ปิดวันจันทร์)
ถัดจากซอย 36 ไม่ไกลก็มาถึงไปรษณีย์กลางบางรักแลนด์มาร์กของย่านนี้ โครงสร้างตึกเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ได้รับอิทธิพลจากสถาปนิกชาวอิตาลีและเยอรมัน คือมีด้านหน้าใหญ่โตดูมั่นคง และรูปแกะสลักครุฑบนยอดตึกทั้งสองด้านน่าเกรงขาม
เมื่อ พ.ศ. 2401 อังกฤษได้ก่อตั้งไปรษณีย์กงสุลอังกฤษขึ้น เนื่องจากความต้องการของชาวอังกฤษที่มาอาศัยในกรุงเทพฯ ภายหลังสยามเองก็ได้เริ่มขยับขยายโครงสร้างด้านบริการไปรษณีย์ และเข้าร่วมสหภาพไปรษณีย์สากล จึงได้ยกเลิกไปรษณีย์กงสุลอังกฤษ และจัดตั้งไปรษณีย์ไทยขึ้นบนถนนเจริญกรุง ต่อมาใน พ.ศ. 2483 ก็มีการปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่จนกลายมาเป็นอาคารไปรษณีย์กลางที่สง่างามอย่างทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ TCDC ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นทั้งห้องสมุดศิลปะ Co-working Space สถานที่จัดเวิร์กช็อป และไฮไลต์อย่าง Material & Design Innovation Center ที่รวบรวมตัวอย่างวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในงานออกแบบ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับย่านวัสดุในกรุงเทพฯ โดยมีแผนที่บอกตำแหน่งร้านให้ด้วย ไม่ต้องเสียเวลาไปเซอร์เวย์เองเลย
วันนี้เราไม่ได้เผื่อเวลามานั่งอ่านหนังสือ เลยออกมาถ่ายรูปเล่นบนดาดฟ้าชั้น 5 ในส่วน Rooftop Garden ที่สามารถชมวิวกรุงเทพฯ ได้แบบพาโนรามา และสามารถมองเห็นตึกมหานครได้จากมุมนี้
Street Art Bukruk Project
ซอยเจริญกรุง 32
ออกจากไปรษณีย์กลางทางประตูด้านขวาสู่ซอย 32 จุดรวมสตรีทอาร์ตของศิลปินดังไว้มากที่สุด เช่น Alex Face, Lolay, Bonus TMC จากโปรเจกต์ Bukruk เมื่อปีที่แล้ว เผื่อใครยังตามเก็บ Graffiti Hunting ไม่ครบ บอกเลยว่าไม่ควรพลาด
Warehouse 30
เจริญกรุง 30-32
เปิดทุกวัน 11:00 – 22:00 น.
เสพสตรีทอาร์ตถ่ายรูปกันจนหนำใจ เราก็เดินมาเจอโกดังสีเทา-แดงสไตล์ดิบๆ และพบว่านี่คือที่ตั้งของ Warehouse 30 ครีเอทีฟ คอมมูนิตี้ คอมเพล็กซ์ ขนาด 4,000 ตารางเมตร ซึ่งเกิดจากไอเดียของ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกเจ้าของ The Jam Factory กับ คุณรังสิมา กสิกรานันท์ อดีตบรรณาธิการ Elle Decor ที่ตั้งใจให้พื้นที่นี้เกิดประโยชน์ใช้สอยและเป็นแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์
โดยการเปลี่ยนโกดังเก่าให้เป็นสถานที่แฮงเอาต์สุดชิก มีคาเฟ่ บาร์ พื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป ไปจนถึงที่นั่งดูหนังฟังเสวนา นอกจากนี้ยังมีร้านขายสินค้าอาร์ตๆ พวกงานดีไซน์ งานแฮนด์เมด แฟชั่นไอเทม ของแต่งบ้าน หนังสือ แผ่นเสียงไวนิล ให้กระเป๋าตังค์ในมือสั่นเพราะมีแต่ของน่าซื้อทั้งนั้นเลย
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
เจริญกรุง 43
เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10:00 – 16:00 น.
เวลาประมาณบ่าย 3 โมงก่อนพิพิธภัณฑ์จะปิด เราข้ามถนนเจริญกรุงมายังซอย 43 เพื่อไปพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ประตูบ้านเปิดต้อนรับเราด้วยบรรยากาศร่มรื่นของแมกไม้ เมื่อเดินเข้ามาก็สัมผัสถึงความสงบ ที่สำคัญเข้าชมฟรี
‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ เป็นบ้านของ อาจารย์วราพร สุรวดี ที่อุทิศบ้านและที่ดินให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนกรุงสมัยก่อน บ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2480 ตัวบ้านเป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว จัดแสดงวิถีชีวิตของชนชั้นกลางชาวบางกอกในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านทุกชิ้นล้วนเป็นของใช้ในอดีตจริงๆ และได้รับการเก็บรักษาอย่างดีเพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้เห็น มีทั้งตู้จัดแสดงชุดรับประทานอาหารเย็นแบบยุโรป ภาชนะเครื่องเคลือบลายครามจีน เปียโนงาช้าง โต๊ะเครื่องแป้งโบราณ เตียงไม้แบบฝรั่งมีเสามุ้ง ทุกๆ ห้องจะมีประตูเชื่อมถึงกัน ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนครบชิ้นราวกับทะลุมิติกลับไปใช้ชีวิตในยุคนั้นเลยล่ะ
Harmonique
เจริญกรุง 34 (ซอยวัดม่วงแค)
เปิด จันทร์-เสาร์ 11:00 – 22:00 น.
ปิดท้ายทริปด้วยมนตร์เสน่ห์ลึกลับของร้าน Harmonique ร้านอาหารไทยที่ตกแต่งสไตล์จีนแอนทีก ซ่อนตัวอยู่ในตรอกตึกแถวเล็กๆ ในซอยวัดม่วงแคมานานกว่า 26 ปี เมื่อเดินผ่านหลังม่านไทรเข้าไปจะได้ฟีลเหมือนย้อนเวลากลับไปหาอดีต
ตัวตึกแถวสีครีมเปลือกไข่ตัดขอบประตูหน้าต่างสีเขียว และตัวตึกที่ยังคงอนุรักษ์โครงสร้างเดิมเอาไว้ บรรยากาศร่มรื่นใต้เงาของร่มไม้ วางประดับรูปปั้นและของสะสมโบราณไว้ทั่วทุกมุมร้านให้ความรู้สึกน่าค้นหา
เมนูหลากหลายเป็นอาหารไทยที่เราคุ้นตาแต่ปรับรสชาติให้ถูกปากฝรั่ง โดยเฉพาะแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางมาไทยบ่อยๆ ก็ต้องรีเควสร้านนี้ หากมาทานมื้อค่ำควรโทรจองโต๊ะไว้ล่วงหน้าเพื่อความชัวร์ เราจึงขอมาลองให้รู้ว่าทำไมชาวต่างชาติถึงติดใจกันนัก
เราสั่งเมนูขึ้นชื่อของไทย ไม่ว่าจะเป็น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย เปาะเปี๊ยะทอดกุ้งสอดไส้ชีส และไก่สะเต๊ะ จัดจานมาอย่างมีสีสันน่ากิน พอได้ชิมก็อร่อยไปอีกแบบเหมือนทานอาหารฝรั่งที่มีหน้าตาแบบไทยๆ
และแล้วเราก็จบทริปทั้งหมดนี้ในหนึ่งวัน ได้ออกไปสัมผัสเสน่ห์เมืองเก่า และก็เรียนรู้ว่าประวัติศาสตร์จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไปเมื่อมันไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ กรุงเทพฯ ของเรามีอดีตมาอย่างยาวนาน และยังมีอะไรน่าสนใจที่ไม่ควรมองข้ามรอให้เราออกไปค้นหา หากมีเวลาสักวันลองทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวไปเดินหลงๆ ตามตรอกซอกซอยดูบ้าง คุณอาจจะพบความตื่นเต้นใหม่ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณแค่นี้เอง