บางโพ ถนนสายไม้ ที่มีร้านขายไม้กว่า 200 ร้าน - Urban Creature

“บางโพ”

พูดชื่อปุ๊บหลายคนก็คิดถึงเพลงสาวบางโพทันที (เราเองก็เช่นกัน) บางคนไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าย่านนี้อยู่ส่วนไหนของกรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นคนในวงการงานช่าง นักออกแบบ เด็กสถาปัตย์ และคนทำบ้าน ชื่อของ ‘ซอยประชานฤมิตร’ ดินแดนเล็กๆ ในย่านบางโพคือ ‘ถนนสายไม้’ ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยร้านรวงผลิตภัณฑ์ไม้ครบวงจร และใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ใหญ่แค่ไหน ลองคิดดูว่าระยะทางเพียง 1 กิโลเมตรในซอยนี้ มีผู้ประกอบการซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับไม้มากกว่า 200 ร้านค้าเลยทีเดียว

รถยนต์แล่นผ่านแยกบางโพ เป็นอันรู้กันว่าเรามาไม่ผิดแน่นอน ความรู้สึกถึงทำนอง แถ่ แด๊ด แถด แถดแถ แดด แด่ แดด แบบในเพลงสาวบางโพไม่มีแวบขึ้นมาเลยสักนิด เพราะเมื่อเสียงเครื่องยนต์ดับสนิทหน้าซอยประชานฤมิตร สิ่งแรกที่ต้อนรับเราก่อนเข้าสู่ถนนสายไม้ คือป้ายไม้แกะสลักที่มีตัวหนังสือสีทองซึ่งเขียนชื่อชุมชนไว้อย่างโดดเด่น มองจากด้านนอกยังเห็นถึงความประณีตขนาดนี้ ถ้าได้ลองเข้าไปในถนนสายไม้ก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่าจะคราฟต์ขนาดไหน

ความรู้สึกแรกเมื่อได้พบกับถนนสายไม้แห่งนี้คือความคึกคัก ไม่หยุดนิ่ง และเห็นถึงความขยันขันแข็งของผู้คนในย่าน อย่างที่บอกไปว่าตลอดสองข้างทางของที่นี่เป็นแหล่งขายไม้และอุปกรณ์เกี่ยวกับไม้นับร้อย แต่ใช่ว่าทุกเจ้าจะทำมาค้าขายกันอย่างสบายอกสบายใจ ไม่เผชิญอุปสรรคใดๆ เลย เพราะการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา ที่มาพร้อมการเกิดขึ้นของห้างฯ ขายเฟอร์นิเจอร์และร้านวัสดุก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการทุกเจ้าต้องหันหน้าเข้าหากัน และจับมือกันเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

สิริวโร ร้านขายประตูเก่าแก่ของประธานชุมชน

เราก้าวเท้าเข้าไปในร้านสิริวโร น้อง-ภูริสิทธิ์ สิริวโรธากุล ประธานชุมชนประชานฤมิตร และทายาทผู้สานต่อกิจการร้านขายประตูสิริวโรต้อนรับเราอย่างเป็นมิตร เขาดีใจที่เห็นเด็กรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำความรู้จักกับถนนสายไม้ ประธานชุมชนจึงไม่พลาดเท้าความถึงบางโพให้เราฟัง

“สมัยก่อนบางโพคือชนบทเลย ส่วนในพระนครคือตัวเมืองซึ่งรับไม้มาจากทางภาคเหนือของไทย ล่องเจ้าพระยามาส่งตามโรงเลื่อยต่างๆ ในเมือง จนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าพื้นที่ในพระนครนั้นคับแคบ และการตั้งโรงงานนั้นสร้างมลพิษ เลยสั่งให้อุตสาหกรรมต่างๆ ย้ายออกจากเขตเมือง โรงเลื่อยจึงจำเป็นต้องย้ายกันออกมา

“แถวบางโพในตอนนั้นมีโรงเลื่อย สวนผลไม้ และมีพื้นที่ว่างอยู่เยอะ ธุรกิจขายไม้แต่ละเจ้าเลยทยอยมาตั้งร้านกันที่บริเวณนี้ (ซอยประชานฤมิตร) อย่างพ่อผมก็เคยอยู่ที่วัดสระเกศมาก่อน พอเขาเห็นว่าแถวนี้น่าจะมาตั้งโรงงานได้เราก็เริ่มขยับขยายมา ส่วนช่างไม้ ช่างกลึง ช่างแกะสลัก ก็นำความรู้ที่มีกระจายตัวกันไป บ้างก็มาอาศัยอยู่ตามซอยย่อยๆ หาตัวจับยากหน่อย

“เมื่อก่อนที่นี่ขายแต่ไม้อย่างเดียว ไม่มีพวกฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับไม้และการทำบ้านสักเท่าไหร่ คนจะซื้อลูกบิด กลอน ม่าน สเตนเลส กระจก บานพับ ก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน ก็เลยเริ่มมีคนมาเปิดร้านขายอุปกรณ์เหล่านี้เพื่อซัปพอร์ตกัน เลยทำให้ย่านนี้ครบวงจร

“ไม้เป็นวัสดุที่อยู่คู่กับคนไทยมานานไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม้เป็นสิ่งที่ชดเชยได้ในสามชั่วอายุคน หรือภายในร้อยปี แต่เหล็ก ดีบุก หรือทองแดง ถ้ามันหมดไปแล้วบางอย่างมันเป็นแสนๆ ปีกว่าจะเกิดขึ้นมาใหม่” ประธานชุมชนเปรยถึงธรรมชาติของไม้ และเล่าให้เราฟังว่าสมัยก่อนการตัดไม้มาใช้งาน และค้าไม้ในไทยเคยเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ก่อนจะมีกฎหมายปิดป่ามาควบคุมคนที่หาผลประโยชน์จากป่าไม้

นั่นทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ไม้ต่างได้รับผลกระทบ และหันไปนำเข้าไม้จากต่างประเทศ ซึ่งพอนำเข้าไม้มาก็ติดตรงเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติของไม้ อย่างไม้บางชนิดเคยอยู่ในโซนเย็นและแห้ง แต่มาเจออากาศเมืองไทยที่มันร้อนชื้นก็ทำให้คุณภาพไม้เสีย ขึ้นราบ้าง บิดตัวบ้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้สมบูรณ์

“ตอนปี 2540 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้คนเดือดร้อนกันมาก แต่ด้วยความที่ย่านนี้เป็นถนนสายไม้ มีภาพจำชัดเจน กทม. ได้ลงพื้นที่มาสำรวจศักยภาพของชุมชน และเห็นว่าที่นี่มีสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เลยรวมตัวกันผลักดันให้เป็นประชาคมประชานฤมิตร ซึ่งอยู่ในห้าสิบชุมชนของเขตบางซื่อ คอยจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนมีชีวิตอย่างงานถนนสายไม้ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่สิบเอ็ดในปี 2564 ต้อนรับคณะนักเรียนที่สนใจศึกษาเรื่องไม้ และหารือถึงปัญหาพร้อมส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ” ประธานชุมชนทิ้งท้าย

มกเซ่ง โรงซอยไม้ที่สานต่อมาถึงเจนฯ สาม

บ้านหลังถัดจากร้านสิริวโรคือ มกซ่ง เด่นด้วยโครงสร้างเดิมที่ผ่านกาลเวลามากว่า 60 ปี ก็ยังดูน่าหลงใหลและคลาสสิกไม่เสื่อมคลาย ตัดภาพมาที่ผู้ดูแลกิจการอย่าง เจน-สุภนิช เจนจรัตน์ ผู้เคลียร์ใจเราว่าย่านบางโพจะเดินต่อไปได้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนเจนฯ ใดเจนฯ หนึ่ง

“ตอนแรกพี่ไม่ได้ตั้งใจจะมาทำหรอก เพราะพี่แพ้ฝุ่นหนักมาก แต่พอพ่อพี่เขาวางมือ และพี่เสมียนที่อยู่ด้วยกันมายี่สิบสามสิบปีไม่ได้ทำต่อ พี่ก็เลยมารับช่วงต่อจนตอนนี้ก็อยู่มาห้าหกปีแล้ว ซึ่งพี่จบนิเทศศาสตร์มา กิจการค้าไม้จึงเป็นคนละศาสตร์กันเลย

“โชคดีที่รุ่นอากงซื้อใจลูกค้าไว้ได้ เพราะสมัยก่อนจะอยู่ได้หรือไม่ได้มันอยู่ที่ความจริงใจจริงๆ นะ เหมือนเวลาเราซื้อขาย เราให้ไม้ดีๆ เขาไป ยังไงเขาก็กลับมาซื้อ แต่มันก็ยากตรงที่หลายคนก็นิยมแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะว่าราคาถูกกว่า จะเปลี่ยนก็ไม่เสียดายเงินเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นไม้แท้ ถ้าจะทำโต๊ะตัวหนึ่ง ก็ตีไว้เลยว่าหกพันถึงเจ็ดพันบาท หรือถ้าเอาสวยๆ ก็หมื่นกว่าบาท ซึ่งเราก็ได้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วยเราไว้เยอะ” ทายาทรุ่นสามแบไต๋ถึงการรับช่วงต่อ

มกเซ่งคือโรงซอยไม้ คำว่าซอยไม้ชวนเราสงสัยว่าคืออะไร เมื่อถามไถ่จึงได้คำตอบว่าเป็นวิธีการแปรรูปไม้ เจนบอกเราว่า ครอบครัวของเธอขายไม้โครงสำหรับทำไส้ในของเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นไม้จริงทั้งท่อน ซึ่งทำให้มกเซ่งแตกต่างจากร้านอื่นที่ขายไม้อัดและไม้จ๊อย (การนำไม้จริงขนาดสั้นๆ มาต่อกันโดยวิธีเข้าเดือยด้วยการตีร่องฟันปลา ประสานด้วยกาวลาเท็กซ์อุตสาหกรรมจนได้ความยาวที่ต้องการ)

รุ่นอากงผู้มีความรู้เรื่องการทำเฟอร์นิเจอร์จะรู้ดีว่าไม้ชนิดไหนเหมาะกับงานแบบไหน ทำให้โรงซอยไม้ทำหน้าที่ผ่า ซอย และไสไม้ มาโดยตลอด ซึ่งจุดนี้เจนบอกกับเราว่าไม่ต้องปรับตัวอะไร เพราะการผ่า ซอย และไส มันเป็นของตาย แต่ก่อนทำอย่างไรวันนี้ก็ยังทำอย่างนั้น

“ถ้าลองมาเดินที่นี่ มันสนุกมากเลยนะ ยิ่งคนที่รักบ้าน รักเฟอร์นิเจอร์ บอกเลยว่าถูกใจแน่นอน ได้เลือกของทุกชิ้นด้วยตัวเอง สามารถดีไซน์ได้เลยว่าต้องการแบบไหน ไม้ประเภทอะไร ที่นี่มีให้ทุกอย่าง แม้จะอากาศร้อนนิดหน่อย (หัวเราะ)”

ช.โชคดี ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เคยหยุดปรับตัว

เดินมาไม่ไกลแต่ทำเราเหงื่อตก (เพราะอากาศแสนร้อน) ร้านเฟอร์นิเจอร์ดูทันสมัยดึงดูดให้เราเข้าไปทักทาย ตี๋-ปัญญา​ พุ​ฒ​ดี และ กุ้ง-กัณฐิกา​ พุ​ฒ​ดี​ คู่สามีภรรยาเถ้าแก่ร้าน ช.โชคดี ร้านขายเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นที่เราเห็นแล้วอยากซื้อกลับไปไว้ที่บ้านสักชิ้น

“ดั้งเดิมเลยเราทำเฟอร์นิเจอร์โบราณๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่หน่อย ไม่ตอบโจทย์ตลาดของวัยกำลังซื้อที่เพิ่งสร้างตัว เขาก็จะหนีไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามร้านที่รูปแบบทันสมัย 

“ถ้ามองถึงระยะเวลาการใช้งานจะรู้ว่าวัสดุไม้มันมีความแข็งแรงคงทนกว่า และมีมูลค่าในตัวของมันด้วย เราจึงปรับรูปแบบโดยใช้วัสดุเดิม และพยายามคุยกับช่างให้ปรับเทคนิคจนออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างที่เห็น” กุ้งเล่า ก่อนที่ตี๋จะเสริมความว่า สมัยนี้ยากกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่เยอะมาก เพราะไม้สักไทยตอนนี้เป็นไม้หวงห้าม ทำให้ต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ

กุ้งบอกว่า เฟอร์นิเจอร์ก็เหมือนเสื้อผ้า เป็นเทรนด์ที่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ร้าน ช.โชคดี เริ่มจากการขายไม้ธรรมดาๆ พัฒนาเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ตามความต้องการของตลาด ยุคหนึ่งกระแสโมเดิร์นวินเทจบูมมาก ร้านก็ต้องผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกมารองรับกระแสที่เข้ามา ผ่านไปไม่กี่ปีกระแสมินิมอล เน้นความเรียบง่ายกำลังมา ร้านก็ต้องอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ

“ทุกคนขายไม้ มันแข่งขันกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราขายคนเดียว เอาตัวรอดคนเดียว เวลาป่าวประกาศอะไรไปเสียงมันก็ย่อมไม่ดัง แต่ถ้ารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เวลาทำอะไรก็ตามมันก็จะง่ายขึ้น เช่น การติดต่อกับองค์กรต่างๆ หรือหน่วยงานรัฐ ก็จะมีเครดิตมากขึ้นกว่าการมัวทำอะไรอยู่คนเดียว” เถ้าแก่แห่ง ช.โชคดี ทิ้งท้าย ก่อนจะบอกเราว่า ในซอยประชานฤมิตรมีศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งอยู่ นั่นคือศูนย์รวมจิตใจของคนในย่านเลย ลองแวะไปดูก็ไม่เสียหาย

ในซอยเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของชุมชนทั้งในเรื่องการบูชาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน การตั้งอยู่ในย่านงานฝีมือเช่นนี้ ก็มักมีเหล่าช่างไม้ นักออกแบบ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการแต่งบ้านมาบนบานและขอพรให้ได้งานอย่างสม่ำเสมอ

วิวัฒน์ชัย ร้ายขายไม้ที่อยากให้คุณแวะมาบางโพ

อีกหนึ่งร้านที่สานต่อกิจการมาถึงเจนฯ สาม บี-วริศรา หาญวิวัฒนกูล ทายาทวิวัฒน์ชัยค้าไม้ไม่รีรอที่จะเล่าถึงถนนสายไม้ให้เราฟัง

“ถ้าถามว่าถนนสายไม้ในอดีตต่างกับตอนนี้เยอะไหม บีรู้สึกว่าต่างกันด้วยตัวร้านค้า อย่างเมื่อก่อนจะมีร้านที่รับงานแกะสลักเยอะ และงานไม้ที่มีความละเอียด แต่ตอนนี้งานเหล่านั้นมันน้อยลง และเปลี่ยนไปตามยุคสมัย” บีพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของย่าน

เธอเล่าติดตลกว่า เธอเคยโดนแหย่ว่าเป็นสาวบางโพอยู่บ่อยๆ และแม้จะไม่ทันเห็นบางโพในยุคที่เต็มไปด้วยสวนผลไม้ แต่ก็ทันเห็นการเปลี่ยนผ่านของย่านมาพอสมควร ซึ่งสมัยก่อนพูดถึงบางโพคนจะไม่รู้จัก หากรู้จักก็คงผ่านเพลงสาวบางโพเท่านั้น แต่ตอนนี้บางโพพัฒนาขึ้นมาก พอมีข่าวว่ารถไฟฟ้ากำลังจะมา คอนโดฯ ก็ผุดขึ้นเพียบ จากย่านเงียบๆ ก็มีคนเข้ามาอาศัยอยู่เยอะขึ้น รวมถึงหอพักที่เกิดขึ้นมากมาย

วิวัฒน์ชัยค้าไม้ถือเป็นหนึ่งในร้านขายไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของย่าน ทายาทรุ่นสามบอกเราว่า ร้านเริ่มต้นจากยุคคุณปู่ซึ่งขายไม้ไทย พอมายุคคุณพ่อกับคุณป้าซึ่งเป็นเจนฯ ที่สองจะเน้นขายไม้จากต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากไม้ไทยหายากและราคาสูง 

“ด้วยความที่ถนนสายนี้เป็นถนนสายไม้ มันก็เหมือนเราอยู่คลองถม แพลตตินัม พาหุรัด ทุกคนก็พยายามตั้งราคาให้ไม่ต่างกันมาก แต่ที่ต่างคงเป็นเรื่องการบริการ เช่น ที่จอดรถ ความครบวงจร คุณภาพสินค้า การทำงานตอนนี้ก็ยากขึ้น เพราะรูปแบบการทำธุรกิจต่างไป คนพึ่งพาออนไลน์มากขึ้น บีก็ต้องทำการตลาดออนไลน์เยอะขึ้น 

“แต่เจนฯ ที่สองจะเป็นเจนฯ ที่รู้สึกว่าไม่เอาอะ มันยาก เราก็ต้องปรับจูนกัน และหาลู่ทางที่จะทำให้ร้านเราแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ อย่างเราเน้นไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เราก็เสริมเรื่องการปูพื้นบ้าน ที่พัก หรือคอนโดฯ เข้าไปด้วย” บีเผยความคิดสายธุรกิจที่เธอร่ำเรียนมา ก่อนจะบอกว่าเธอตั้งใจมารับช่วงต่อกิจการ ซึ่งขณะที่เราพูดคุยกับบี เธอมีไอเดียมากมายที่อยากทำเพื่อย่านนี้ อย่างมุมถ่ายรูปแลนด์มาร์ก หรือคาเฟ่สำหรับคนรักงานไม้ เพื่อให้คนหันกลับมามองคุณค่าของไม้มากขึ้นกว่าเดิม

ทวีกิจ ครบเครื่องเรื่องไม้ 

“ครอบครัวผมเป็นลูกหลานคนจีนที่มาตั้งรกรากแถวนี้ สมัยก่อนอยากกินผลไม้อะไรก็เด็ดกินได้เลยเพราะสวนผลไม้เยอะมาก พอเป็นถนนสายไม้ เราก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่มาอยู่แถวนี้” แดง-ประชา ถาวรจิระอังกูร พูดประโยคนี้กับเราจนสัมผัสได้ถึงความเป็นเจ้าถิ่นของย่านบางโพ

ครอบครัวของแดงจะคลุกคลีกับไม้มามากกว่า 60 ปี และลูกค้ายุคใหม่ๆ ก็มักจะส่งภาพสินค้าต่างๆ มาให้เขาตรวจสอบอยู่เสมอ แต่แดงบอกว่า แม้เขาจะช่ำชองเรื่องไม้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าไม้ชนิดนี้คือไม้อะไรหากดูแค่ภาพ บางครั้งต้องอาศัยการลูบ คลำ ดูลาย ดมกลิ่น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของไม้ที่วัสดุประเภทอื่นให้ไม่ได้

“ทุกวันนี้มีวัสดุทดแทนไม้เกิดขึ้นมาเยอะ เช่น ไฟเบอร์ซีเมนต์ก็ดี MBS Board ก็ดี เฟอร์นิเจอร์รุ่นใหม่ที่เขาขายดีไซน์และใช้วัสดุเหล่านั้น เพราะมันทำงานง่าย ประหยัดเวลา แต่ผมว่ามันก็อยู่ที่เจเนอเรชันของคนนะ อย่างตอนนี้ผมรู้สึกว่า วัยรุ่นอายุไม่เกินสามสิบห้าปี ก็อยากได้เรื่องดีไซน์มากกว่า แต่ถ้าอายุมากหน่อย อยากได้เป็นทรัพย์สินติดบ้าน ก็จะเลือกเป็นไม้จริงๆ พื้นก็เป็นไม้สักหรือไม้มะค่า อยู่จนชั่วลูกชั่วหลานเลย บางทีย้ายบ้าน งัดออกมาก็ยังมีค่า” เถ้าแก่แห่งทวีกิจเผยถึงคุณค่าของไม้

“เวลาเด็กๆ จากสถาปัตย์ฯ มาเนี่ยผมดีใจมากเลย เพราะลูกค้าผมที่เป็นผู้รับเหมาเขาหนักใจเวลาที่นักออกแบบบางคนไม่ค่อยเข้าใจตัวสินค้า คือเวลาเขาออกแบบ เขาก็กำหนดสเปกมา เสร็จแล้วให้ช่างไปทำ ผู้รับเหมาเนี่ยไม่สามารถหาสินค้าได้ตามที่เขาต้องการ ซึ่งมันค่อนข้างเป็นปัญหา ผมก็เลยบอกว่า ดีใจมากเลยอาจารย์พาลูกศิษย์มาดูงานแบบนี้ อีกหน่อยมันจะช่วยผมแก้ปัญหาในการค้าขายได้ด้วย”

ซอยประชานฤมิตร แห่งย่านบางโพ มักมีเด็กจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แวะเวียนกันมาดูงานอยู่บ่อยครั้ง แดงบอกเราว่า เขารู้สึกดีใจมากเวลาเห็นเด็กๆ มาเยี่ยมชมย่านและศึกษาเรื่องไม้ เพราะเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น ทำอาชีพออกแบบ หรืออยู่ในวงการคนสร้างบ้าน เขาจะเข้าใจเรื่องไม้รวมถึงวัสดุต่างๆ เกี่ยวกับการทำบ้าน และนึกถึงย่านนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

ถ้าจะบอกว่า ‘บางโพ’ เป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหลจะได้ไหมนะ แต่ไม่ใช่คึกคักเพราะเสียงเพลงจากผับบาร์ ร้านอาหารเรียงราย หรือแสงสีจากคาเฟ่สุดฮิป แต่มีชีวิตเพราะ ‘คนขายไม้’ นับร้อยร้านค้าที่ต่างไม่หยุดพัฒนาวงการงานไม้ให้เดินหน้าต่อไป 

เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ได้มาเดินเตร็ดเตร่ที่นี่ เราเห็นถึงความเป็นชุมชนเข้มแข็งของชาวประชานฤมิตร ที่แม้จะขายสินค้าคล้ายๆ กัน แต่หันหน้าเข้าหากัน ช่วยเหลือกัน และพร้อมพัฒนาย่านไปด้วยกัน ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการต้อนรับแขกไปใครมาจากทุกร้านค้า จนเรารู้สึกกลมกลืนไปกับย่านแบบไม่รู้ตัว ไปจนถึงความละเอียดลออในงานช่างฝีมือซึ่งยังพบได้เป็นภาพชินตาในย่านแห่งนี้ที่ บางโพ…ถนนสายไม้

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.