ทะเลเจดีย์สี่พันองค์ พุกาม พม่า - Urban Creature

การเดินทางมาเยือน ‘พุกาม’ อาณาจักรแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของพม่า ทำให้เราเหมือนย้อนเวลากลับไปสมัยที่อาณาจักรแห่งนี้เคยรุ่งโรจน์เมื่อพันปีก่อน ท่ามกลางซากปรักหักพังของเจดีย์หลายพันองค์ ที่ยืนหยัดสะท้อนความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ยิ่งเราสำรวจลึกลงไปเท่าไหร่ก็ยิ่งสัมผัสถึงชีวิตชีวาและความศรัทธาของผู้คนที่ไม่เลือนหาย

ความยิ่งใหญ่ของเจดีย์หลายพันองค์ ไม่ได้ปรากฏแก่สายตาเราเท่านั้น พุกามได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก พุกามในอดีตเคยมีเจดีย์มากถึง 5,000 องค์ เจดีย์ทั้งหมดสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของชาวพุกามที่เชื่อว่า เจดีย์คือสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

แต่หลังจากผ่านสงครามและแผ่นดินไหวมากว่าพันปี จึงหลงเหลือเจดีย์อยู่ประมาณ 2,230 องค์ และฐานเจดีย์ราว 1,800 แห่ง ทิ้งร่องรอยความตระการตาไว้ให้เราได้เห็น เมื่อไม่กี่ปีก่อน เรายังจดจำข่าวแผ่นดินไหวในพม่าที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่แก่พุกาม เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559 วัดเกือบ 400 แห่งได้รับความเสียหาย กรมโบราณคดีแห่งพุกามจึงเข้าไปบูรณะโดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญยูเนสโก

พุกามตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมัณฑะเลย์ ห่างออกไปประมาณ 145 กิโลเมตร หรือทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ห่างออกไปประมาณ 680 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศแห้งแล้งคล้ายทะเลทราย เนื่องจากมีเทือกเขาบังมรสุมทำให้มีฝนตกน้อย จึงไม่แปลกใจที่เราจะเจอทั้งฝุ่นดินแดง อากาศร้อนแห้งตอนกลางวันแต่หนาวกลางคืน และพืชพันธุ์บางชนิดในทะเลทราย เช่น กระบองเพชร

ชาวพุกามมีวิถีชีวิตแบบชนบท ชาวบ้านยังคงใช้วัวลากเกวียนและไถนาทำไร่ โดยพวกเขาจะปลูกถั่วเป็นหลัก ผลผลิตขึ้นชื่อของพุกามคือน้ำมันถั่ว นอกจากนี้ก็มีการทำน้ำตาลจากต้นตาล และมีอาชีพเลี้ยงแพะ บางหมู่บ้านไม่มีน้ำประปาเข้าถึงทางรัฐบาลจึงขุดบ่อน้ำบาดาลให้ชาวบ้านไว้กินไว้ใช้

การท่องเที่ยวในพุกามสามารถเดินทางได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนั่งรถม้า เช่ารถ เช่าจักรยาน แต่ที่เข้าท่าสุดคือการเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตระเวนขี่ไปทั่วโซนเมืองเก่า นอกจากไม่สร้างมลพิษ ยังสามารถแวะจอดได้ทุกที่ที่ต้องการ นอกจากวัดสำคัญๆ แล้ว ยังมีเจดีย์น้อยใหญ่ที่ชวนให้เราเข้าไปค้นหา

วัฒนธรรมของคนพม่าจะมาไหว้พระสวดมนต์ที่วัดเป็นประจำ ทุกวัดที่เราไปมักเจอคนพม่ามากกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก ทุกวัดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ไม่เคยร้างผู้คน เพราะมีชาวบ้านมากราบไหว้สังเกตได้จากดอกไม้ถวายพระที่สดเสมอ รวมถึงมีการบูรณะซ่อมแซมวัดอยู่เรื่อยๆ

ชาวพุกามยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด และจะไม่แต่งงานกับคนเชื้อชาติหรือศาสนาอื่น วัดทุกที่ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าไป ซึ่งนักท่องเที่ยวก็ควรปฏิบัติตาม เพราะชาวพม่าเชื่อว่าทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าสิ่งศักธิ์สิทธิ์ล้วนเท่าเทียมกัน ดังนั้นเมื่อเราไปเที่ยวบ้านเมืองเขาก็ควรแสดงความเคารพต่อความเชื่อประเพณีของเขาด้วย

ผู้คนที่นี่ยังคงรักษาขนบประเพณีดั้งเดิม ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น ปะแป้งทานาคาบนแก้ม ไปวัดก็แต่งตัวเรียบร้อย นุ่งผ้าลายดอกเข้าชุดสีสันสวยงาม บางคนก็เทินข้าวของไว้บนศีรษะ

สถาปัตยกรรมของพุกามอันน่าทึ่ง ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญและอินเดีย ช่างพม่าเก่งในการก่อสร้างขนาดใหญ่ โครงสร้างพระวิหารจะมีแกนสี่เหลี่ยมทึบตรงกลางเพื่อรับน้ำหนัก จึงสามารถขยายขนาดให้กว้างออกไป มีระเบียง และเจาะช่องทางเดินสู่แกนกลางได้ทั้งสี่ด้าน ทุกช่องจะนำไปสู่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ต่างจากโครงสร้างของขอมที่ใช้ผนังรับน้ำหนัก สถาปัตยกรรมพุกามยังเป็นต้นแบบให้สุโขทัยที่เกิดราชธานีขึ้นภายหลังอีกด้วย

เอกลักษณ์อีกอย่างของสถาปัตยกรรมพม่าคือการใช้อิฐในการก่อสร้าง ส่วนของขอมนั้นจะใช้หิน โดยอิฐพม่าจะมีขนาดใหญ่ เรียงกันสนิทจนแทบไม่เห็นรอยต่อ เนื่องจากช่างจะขัดอิฐให้เรียบก่อนนำมาประกบกัน นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมเก่าแก่บนผนัง และงานแกะสลักหินของพม่าก็ประณีตสวยงามไม่แพ้ที่อื่น

ทุกวัดในพุกาม เราจะพบการประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ เหนือ ใต้ ออก ตก ชาวพุกามเชื่อว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในชาติภพต่างๆ

วัดที่ถือเป็นไฮไลท์ของพุกามคือ ‘วัดอนันดา’ หรือ ‘อานันทวิหาร’ ได้ชื่อว่าเป็น ‘เพรชน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม’ ตัววิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่โต มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ ตัวเจดีย์เป็นสีขาว ส่วนยอดพระปรางค์รัฐบาลได้ทาสีใหม่เป็นสีทองเมื่อปี พ.ศ. 2533 เนื่องในงานสมโภชครบรอบ 900 ปี

ความน่าชื่นชมของวัดอนันดาคือ เจดีย์ที่เราเห็นนั้นเป็นเจดีย์องค์ใหม่ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ แทนองค์เดิมที่พังทลายลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2518 แต่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างถอดแบบเดิมมาได้อย่างถูกหลักและงดงามไร้ที่ติ

ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นประตูโค้งประดับครีบสูงตามแบบศิลปะพุกาม ซึ่งแพร่หลายในอาณาจักรสุโขทัยหรือมีชื่อเรียกที่เราคุ้นหาว่า ‘ซุ้มฝักเพกา’ ภายในลักษณะเป็นอุโมงค์เดินเชื่อมถึงกันได้ โดยช่างจะเรียงอิฐแบบโค้งเพื่อถ่ายเทน้ำหนัก หรือที่เรียกว่า Arch ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 3,000-4,000 ปีก่อนในดินแดนเมโสโปเตเมีย แล้วจึงแผ่ขยายมายังอินเดียและพม่า

นอกจากความแข็งแรงสง่างาม ความละเอียดลออก็ถูกสอดแทรกเอาไว้อย่างลงตัว เช่น งานแกะสลักสัตว์ในเทพนิยายตามความเชื่อในศาสนาพุทธ

ชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมพม่ากันไปแล้ว เรามาขุดค้นที่มาที่ไปของ ‘เจดีย์ฉัตรตั้ง’ หรือ ‘เจดีย์ติโลมินโล’ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ตำนานมีอยู่ว่า ‘พระเจ้านรปติซีตู’ ทรงจะตั้งองค์รัชทายาทสืบราชบัลลังก์ แต่ทรงมีราชบุตรหลายพระองค์และไม่อาจตั้งราชบุตรในอัครมเหสีได้ทันที เพราะทรงเคยรับปากพระชายาองค์หนึ่งซึ่งคอยบริบาลพระองค์ขณะประชวรว่า จะทรงพิจารณาราชบุตรจากชายาองค์นี้ให้ขึ้นครองราชย์ด้วย จึงตัดสินพระทัยเรียกราชบุตรทั้ง 5 พระองค์มา แล้วตั้งฉัตรอันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ไว้ตรงกลาง หากฉัตรล้มลงแล้วปลายฉัตรชี้ไปที่ราชบุตรองค์ใดก็จะทรงแต่งตั้งเป็นกษัตริย์

ปรากฏว่าปลายฉัตรชี้ไปที่ ‘เจ้าชายชัยสิงห์’ (พระเจ้านาตองมยา) ซึ่งเป็นราชบุตรของชายาที่บริบาลพระเจ้านรปติซีตู ชาวพม่าจึงเรียกพระเจ้านาตองมยาว่า ‘กษัตริย์ฉัตรตั้ง’ เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์จึงสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์บริเวณที่พระราชบิดาตั้งฉัตรเสี่ยงทายนั่นเอง

อีกหนึ่งเรื่องราวที่ฟังแล้วต้องอึ้งคือตำนานของ ‘เจดีย์ธัมมะยังจี’ หรือ ‘ธรรมเจดีย์’ ที่แปลว่า ‘แสงสว่างแห่งธรรม’

เรื่องราวเริ่มต้นจาก ‘พระเจ้านราสุ’ ผู้เป็นโอรสของ ‘พระเจ้าอลองสินธุ’ ปลงพระชนม์พระบิดาและพระเชษฐาของตัวเอง เพื่อแย่งชิงพระราชบัลลังก์ บางข้อสันนิษฐานว่า พระเจ้านราสุทรงสร้างเจดีย์แห่งนี้ให้สวยที่สุด ใหญ่ที่สุด และแข็งแรงที่สุดในพุกาม เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าพระบิดาของตนเอง แต่ก็มีอีกความเชื่อที่ว่า ทรงสร้างเพื่อแสดงถึงอำนาจความยิ่งใหญ่ 

แต่ความโหดร้ายทารุณของพระเจ้านรสุ จึงทำให้ประชาชนไม่เกิดความศรัทธาที่จะมาร่วมสร้างเจดีย์ พระองค์จึงต้องเกณฑ์แรงงานมาด้วยวิธีกดขี่ข่มเหง อย่างอิฐที่ต้องเรียงกันแน่นจนไม่สามารถสอดเข็มเข้าไปได้ มิเช่นนั้นช่างก็จะถูกตัดมือ พระเจ้านรสุทรงขึ้นครองราชย์เพียง 4 ปี ก็ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ แต่แม้ว่าจะจริงหรือไม่ เจดีย์ธัมมะยังจีก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ และความชำนาญของช่างในสมัยนั้น ที่สามารถเรียงอิฐได้แนบสนิทแทบไม่มีรอยต่อ

ตะวันคล้อยต่ำเราจึงมองหาจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดอีกแห่งของพุกาม นั่นคือ  ‘แม่น้ำอิรวดี’ 

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ‘แม่น้ำอิรวดี’ เป็นแม่น้ำสายสำคัญของพม่า ทั้งการค้าขาย ขนส่งสินค้า และการสร้างบ้านเมือง เพราะเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศ ผ่านหัวเมืองทั้งมัณฑะเลย์ พุกาม ไปจนถึงย่างกุ้ง

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังพุกามโดยล่องเรือจากเมืองมัณฑะเลย์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดูจะเพลินไม่น้อยกับการละเมียดบรรยากาศสองฟากฝั่งแม่น้ำอิรวดี

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นก่อนบอกลาพุกาม เราตั้งใจมาเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ปีนซอกบันไดลับที่ทั้งแคบและชัน ขึ้นมาบนยอดเจดีย์ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่นานแสงสีทองก็เคลือบไปทั่วท้องฟ้า ท่ามกลางสายตานักท่องเที่ยวหลายสิบคู่ที่เฝ้าชมมหรสพนี้เช่นเดียวกับเรา

เบื้องหลังการได้ภาพสวยๆ นอกจากต้องเสี่ยงปีนขึ้นมาบนยอดเจดีย์ที่ทรุดโทรมแล้ว (จุดที่เห็นคนตัวเล็กๆ ในรูป) เรายังต้องเจอกับไกด์มั่วนิ่มชาวพม่าที่ขี่มอเตอร์ไซด์ตามเราและอาสาพามาที่นี่ คุยไปคุยมาก็เสนอตัวเป็นไกด์นำเที่ยวฟรี ดีที่เรารู้ทันไม่ตอบตกลง ไม่เช่นนั้นอาจเสียเงินแบบไม่ทันตั้งตัว แต่เรื่องไม่จบง่ายๆ พี่ชายคนนี้หยิบภาพวาดออกมาจากกระเป๋า ยัดเยียดให้เราซื้อแถมลดแล้วลดอีก สุดท้ายเราใจแข็งพอไม่เสียตังค์ให้สักบาท เพราะโดนกับดักขายของที่ระลึกมาตั้งแต่ต้นทริป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กำไล เลยมีภูมิคุ้มกัน

ช่างเรื่องโดนหลอกไปก่อน เพราะภารกิจจริงๆ คือการได้เห็นบอลลูนนับร้อยเหนือทะเลเจดีย์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อ 3 ปีก่อน เจดีย์หลายแห่งผุพังเสียหายจึงห้ามปีนขึ้นด้านบน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เราเลยอดเห็นทะเลเจดีย์จากมุมที่ดีที่สุด แต่ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้นจากมุมนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะบอลลูนลอยมาไม่ขาดสายสมกับที่รอคอย

เมื่อลมพัดพาเจ้าบอลลูนไปในทางทิศอื่น เราก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต๊อกแต๊ก ไล่ตามบอลลูนเพื่อจะได้เห็นใกล้ๆ แบบเต็มตา

จบทริปสั้นๆ แต่ประทับใจ ลองมาสวมบทบาทเป็นนักโบราณคดี กางแผนที่ออกสำรวจเจดีย์สี่พันองค์ที่ซ่อนอยู่ ในดินแดนแห้งแล้งแต่ไม่แล้งอารยธรรม ‘พุกาม’ เมืองที่ผู้คนยึดมั่นต่อพุทธศาสนามานานนับพันปี แล้วจะรู้ว่าความล้ำเลิศทางสถาปัตยกรรมและความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ อยู่ใกล้แค่ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง

Content Writer : Angkhana N.
Photographer : Angkhana N.
Graphic Designer : Sasicha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.