Baby Driver: ปล้นซิ่งสวิงว้าวฟ้าวเฟี้ยวแบบ “เบบี้” - Urban Creature

เชื่อว่าตลอดช่วงเวลาเกือบสิบเอ็ดเดือนของปี 2017 นี้นั้นท่ามกลางภาพยนตร์ขนาดใหญ่เล็กจำนวนมากมายที่แวะเวียนมาฉายโรงบ้านเรานั้น ภาพยนตร์แอคชั่นแนว “ปล้นซิ่ง” เรื่อง Baby Driver ซึ่งเป็นผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับสายเกรียนอย่างเอ็ดการ์ ไรท์นั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่ง “ไฮไลท์” ประจำปีที่แฟนหนังคอภาพยนตร์หลายคนคงต้องนึกถึงกันอย่างแน่นอน (โดยเฉพาะตอนที่พยายามทำสรุปรายชื่อหนังในดวงใจประจำปี 2017) และเนื่องในโอกาสที่ผลงานเรื่องล่าสุดของเอ็ดการ์ ไรท์เรื่องนี้มีกำหนดวางแผงให้จับจองซื้อและเช่าได้ผ่านช่องทาง iTunes Store ภายในเดือนนี้ เราเลยขออนุญาตเขียนถึงภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับความบันเทิงหลังพวงมาลัยเรื่องนี้กันอีกสักหน่อย

หลังจากที่เอ็ดการ์ ไรท์แอบซุ่มฟูมฟักและผลักดันโปรเจคภาพยนตร์แอคชั่นสุดเร้าเคล้าเสียงเพลงเรื่องนี้มาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งแต่เริ่มเดิมทีแล้วนั้นตัวผู้กำกับผมสลวยวางคอนเซ็ป “นักขับปล้นซิ่ง” ดังกล่าวไว้สำหรับมิวสิควิดิโอของวงดนตรีอิเลกทรอนิคจากเมืองแมนเชสเตอร์นามว่า Mint Royale (ซิงเกิลเพลง Blue Song – ลองหาคลิปดูได้ใน YouTube) ที่เขากำกับให้เพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตามคอนเซ็ปและเรื่องราวของตีนผีขั้นเทพผู้รับหน้าที่ซิ่งรถพาทีมโจรหลบหนีจากการจับกุมดังกล่าวนั้นได้รับการพัฒนาขยายต่อมาจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นภาพยนตร์เรื่อง Baby Driver อย่างที่ได้หลายคนได้รับชมกันไปเมื่อไม่นานมานี้ แถมยังส่งคาแรกเตอร์ตัวละครของ “เบบี้” นักซิ่งหนุ่มหน้าอ่อนผู้มาพร้อมไอพอดคู่ใจ (รับบทโดยนักร้อง/ นักแสดงหนุ่มมาดนายแบบ แอนเซล เอลกอร์ต จาก The Fault in Our Stars) ให้ก้าวโดดขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวละครในหมวดหมู่ “สุภาพบุรุษนักซิ่ง” ระดับไอคอนคนล่าสุดแห่งโลกภาพยนตร์

นอกจากเนิ้อหาเรื่องราวภาพยนตร์ที่โดนใจแฟนภาพยนตร์หมู่มากแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่โดดเด่นจนเรามองข้ามไม่ได้เลยคือสไตล์ภาพยนตร์ทั้งภาพและเสียงเข้ากัน ยิ่งถ้าได้ชม Baby Driver แล้ว เราจะสัมผัสได้ทันทีว่าสิ่งที่เชื่อมโยงเอาองค์ประกอบทุกสิ่งอย่างในภาพยนตร์เข้าไว้ด้วยกันน้ันคือ “จังหวะ” โดยเอ็ดการ์ ไรท์เลือกนำเอาจังหวะของบทเพลงแต่ละเพลงมาใช้เป็นเพื่อกำหนดการนำเสนอภาพ การเคลื่อนกล้อง รวมถึงการตัดต่อฟุตเทจต่างๆ ให้ออกมาสัมพันธ์สอดคล้องกับบทเพลงหรือดนตรีประกอบได้อย่างสมบูรณ์ลงตัวตลอดช่วงเวลา 113 นาทีของภาพยนตร์ แถมยังคัดเลือกเอาบทเพลงประกอบสุดฮิตติดหูมาใส่ไว้ในภาพยนตร์ด้วยตัวเองถึง 30 แทร็ค (ถ้าใม่เชื่อลองไปหาอัลบั้มเพลงประกอบมาฟังดู) จนมีบางโมเมนท์ขณะชมภาพยนตร์ที่ก็ทำให้เราเผลออ้าปากร้องเพลงพลันนึกสงสัยว่า เอ๊ะ…นี่เรากำลังดูฉากแอคชั่นซิ่งรถไล่ล่าในภาพยนตร์แนวมิวสิคัลหรืออะไรกันแน่

ขึ้นชื่อปะป้ายยี่ห้อว่าเป็นผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับออเตอร์สายเกรียนแล้วนั้น แฟนภาพยนตร์ส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงภาพยนตร์ที่โคตรบันเทิงและดูง่ายถูกใจผู้ชมทุกกลุ่ม โดยถ้าเราย้อนไปดูผลงานภาพยนตร์เรื่องเก่าก่อนของเอ็ดการ์ ไรท์แล้วเราจะพบว่านอกจากผู้กำกับวัยสี่สิบนิดๆ ผู้นี้จะมีลายเซ็นในการกำกับภาพยนตร์อันสุดแสนจะจัดจ้านฉูดฉาด (ที่มาพร้อมกับความตลกร้ายลึก) แล้ว เขามักจะแสดงความเคารพ (แกมหยิกหยอก) ต่อผู้กำกับรุ่นเก่าก่อนด้วยการหยิบยกหรืออ้างถึงบรรดาภาพยนตร์ระดับตำนานในผลงานภาพยนตร์ของเขาเองอยู่บ่อยครั้ง (อารมณ์ใช้เป็น reference ในการทำงาน) ซึ่งสำหรับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง Baby Driver นั้นก็เช่นเดียวกัน จากคลิปสัมภาษณ์ของเอ็ดการ์ ไรท์ที่เคยให้ไว้กับเว็บไซต์ Cinemablend ระหว่างโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง Baby Driver นั้น เขาเคยพูดถึงภาพยนตร์ในความทรงจำ (ของตัวเขาเอง) จำนวนห้าเรื่องซึ่งมีส่วนช่วยสร้างสรรค์และขับเคลื่อนสไตล์ “แอคชั่นปล้นซิ่งอิงมิวสิคัล” (ในฐานะแรงบันดาลใจ) ให้กับผลงานภาพยนตร์ชิ้นล่าสุดเรื่องนี้ โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่เอ็ดการ์ ไรท์ยกมาพูดถึงคือภาพยนตร์เรื่อง The Driver ซึ่งในภาพยนตร์สุดเก๋าผลงานกำกับของวอลเตอร์ ฮิลล์ที่ออกฉายเมื่อปี 1978 เรื่องนี้เอง เราจะได้พบกับเรื่องราวแอคชั่นธริลเลอร์ของตัวละครเอกชายหนุ่มนิรนามผู้มีทักษะการขับรถขั้นเทพ (รับบทโดยไรอัน โอนีล) ที่มาพร้อมกับฉากแอคชั่นไล่ล่าซิ่งรถสุดเร้าระทึกอันน่าจดจำต่างๆ อีกมากมาย

ต่อเนื่องจาก The Driver ผู้กำกับเลือดอังกฤษยังได้ยกภาพยนตร์แรงบันดาลใจมาอีกสามเรื่องที่เขาจัดกลุ่มว่าเป็น “ตรีเอกานุภาพแห่งภาพยนตร์ปล้นแห่งยุค 90” เริ่มต้นกันที่ Reservoir Dogs (1992) ผลงานภาพยนตร์แนว “ปล้น” ระดับคลาสสิคขึ้นหิ้งของผู้กำกับขวัญใจสายอินดี้อย่างเควนติน ทารันติโน ที่นำเสนอการปล้นที่มีแบบแผน แถมยังเป็นทีมปล้นมืออาชีพอันประกอบไปด้วยสมาชิกมากหน้าหลายตา  (ซึ่งไม่ซ้ำหน้าเลย) ที่มองเวทีการปล้นเป็นเหมือนกับ “ที่ทำงาน” ตามติดมาด้วย Point Break ภาพยนตร์แนวแอคชั่นสุดมันของผู้กำกับหญิงแคทริน บิเกอโลว์ (เวอร์ชั่นต้นฉบับปี 1991 ที่มีคีอานู รีฟส์สมัยเอ๊าะๆ นำแสดง) ซึ่งถึงแม้ว่าในส่วนของเรื่องราวจะไม่ได้ตรงกับ Baby Driver สักเท่าไหร่นัก แต่สไตล์ของการนำเสนอฉากแอคชั่นในภาพยนตร์อันโดดเด่นเร้าใจนั้นที่มีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกับผลงานล่าสุดของเอ็ดการ์ ไรท์เรื่องนี้ โดยเฉพาะฉากซิ่งรถและฉากวิ่งไล่ล่าสุดเอ็กส์ตรีม (แถมยังมีการใช้หน้ากากฮัลโลวีนประกอบการปล้นด้วยนะเออ) ก่อนท่ีจะปิดท้ายภาพยนตร์ “ตรีเอกานุภาพแนวปล้น” ดังกล่าวด้วย Heat (1995) ผลงานแอคชั่นบล็อกบัสเตอร์ของผู้กำกับชั้นครูอย่างไมเคิล มานน์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยฉากปล้นรวมถึงฉากไล่ล่าที่เร้าระทึกเหนือความคาดหมาย โดยเอ็ดการ์ ไรท์ถึงขั้นขนานนามให้ Heat เป็น “คุณปู่ของภาพยนตร์ปล้น” เลยทีเดียว

สำหรับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่มีอิทธิพลต่อ Baby Driver นั้นเป็นภาพยนตร์แอคชั่นเพลินเสียงเพลงของผู้กำกับรุ่นใหญ่จอห์น แลนดิสเรื่อง The Blues Brothers ที่ออกฉายสู่สายตาสาธารณชนไปเมื่อปี 1980 สำหรับเอ็ดการ์ ไรท์แล้วภาพยนตร์เรื่อง The Blue Brothers นั้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการหยิบจับเอาองค์ประกอบของภาพยนตร์แนวแอคชั่นและภาพยนตร์แนวตลกคอเมดี้มาผสมผสานกับได้อย่างลงตัว รวมถึงการเลือกใช้บทเพลงมาประกอบในฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ เหมือนอย่างที่เอ็ดการ์ ไรท์ได้พูดถึง The Blue Brothers ไว้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วย “เพลงฮอตฮิตและฉากซิ่งรถไล่ล่าสุดยิ่งใหญ่” ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ก็กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมผลักดันให้เกิดสไตล์ “ซิ่งเร้าเคล้าเสียงเพลง” อันแสนสุดโดดเด่นในภาพยนตร์ผลงานชิ้นล่าสุดของเอ็ดการ์ ไรท์อย่างที่หลายคนคงได้สัมผัส (และประทับใจ) กันมาแล้ว แถมยังสะท้อนให้เห็นถึงความหลงใหลของผู้กำกับสุดแนวผู้นี้ที่มีต่อศาสตร์แห่งภาพเคลื่อนไหวบนจอใหญ่ได้อยู่ไม่มากก็น้อย

อย่างที่ทราบกันว่า Baby Driver นั้นเป็นหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จสูงสุดประจำปี 2017 นี้เลยก็ว่าได้ ด้วยทุนสร้างที่ (ค่อนข้าง) น้อยนิดเพียงแค่ 34 ล้านเหรียญแต่ท้ายที่สุดแล้วภาพยนตร์กลับทำเงินไปได้ถึงเกือบ 110 ล้านเหรียญจากการฉายโรงในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (ถ้ารวมรายได้ต่างประเทศด้วยก็ทะลุผ่าน 200 เหรียญไปได้แบบสบายๆ) โดย Baby Driver ก็เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในแฟ้มประวัติการทำงานในฐานะผู้กำกับของเอ็ดการ์ ไรท์ ในขณะที่ฝ่ายนักวิจารณ์ รวมถึงผู้ชมทั่วไปก็เห็นพ้องต้องกันด้วยกระแสตอบรับที่มีต่อตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมที่ค่อนข้างบวก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ด้านภาพยนตร์ชั้นนำอย่างเว็บไซต์ Indiewire ที่ยกให้ Baby Driver เป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอคชั่น 25 เรื่องแห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากผลงานกำกับชิ้นล่าสุดเรื่องนี้ แฟนภาพยนตร์ก็ต้องมาติดตามดูก้าวต่อไปของผู้กำกับวัย 43 ปีผู้นี้ เราแอบได้ยินแว่วๆ มาว่าตอนนี้เอ็ดการ์ ไรท์กำลังร่วมพัฒนาโปรเจคภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งให้กับทางสตูดิโอใหญ่อย่าง DreamWorks Animation ซึ่งเอ็ดการ์ ไรท์จะหยิบยกเอา “คลังหนัง” ในหัวสมองของเขามาปรับใช้ในผลงานแอนิเมชั่นชิ้นนี้ได้อย่างไร แหม…แค่นี้เราก็รู้สึกอยากกระโดดข้ามเวลาไปดูผลงานเรื่องต่อไปของผู้กำกับสายเนิร์ดภาพยนตร์ผู้นี้ในระดับนั้นกันเลยทีเดียว เอาเป็นว่าแฟนภาพยนตร์ก็อดใจรอกันหน่อย คิดว่าผลงานติดลมบนบินสูงขนาดนี้ ผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์คงไม่หายจากเราไปนานแน่นอน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.