บ้านเล็กวิลล่า บ้านแสนอบอุ่นที่จันทบุรี - Urban Creature

นี่เป็นการออกต่างจังหวัดครั้งแรกหลังจากมีการคลายล็อกดาวน์
ไอแดดและกลิ่นฝนพาเรามายัง ‘จังหวัดจันทบุรี’
เรามาที่นี่เพื่อมาทำงานเป็นเวลา 2 วัน

เอาล่ะ จะนอนที่ไหนกันดี? เรากับทีมใช้เวลาตกลงกันไม่นานก็สรุปความได้ว่า ‘บ้านเล็กวิลล่า’ คือจุดหมายปลายทางในการเข้าพักสำหรับคืนนี้

หลังจากเคลียร์งานเสร็จเรียบร้อย รถยนต์ก็มาจอดสนิทหน้าบ้านสวนที่เราตั้งใจเช็กอินเข้ามา ที่พักซึ่งอยู่เบื้องหน้าของเรา คือสิ่งปลูกสร้างที่เราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “มันช่างพอเหมาะพอเจาะอะไรเช่นนี้” ไม่น้อยเกิน ไม่มากเกิน ดูอบอุ่นกำลังดีแบบที่คนจันทบุรีเขาเป็นอยู่กัน

เสียงทักทายดุจญาติสนิทมิตรสหายจากเจ้าของบ้านอย่าง พี่แก้ว–รินระดา นิโรจน์ เอ่ยขึ้นมาขณะเรากำลังก้าวเท้าเข้าใต้ชายคา เราเลยใช้โอกาสนี้แวะดื่มน้ำดื่มท่า และแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบก่อนจะแบกกระเป๋าเสื้อผ้าและสัมภาระเข้าห้องพักอย่างจริงจัง

ยินดี (ต้อนรับ) ที่ได้รู้จัก

เรานั่งตากลมอยู่บริเวณใต้ถุน เจ้าสี่ขาเพื่อนบ้านส่งเสียงทักทายมาเป็นระยะระหว่างการพูดคุย แถมยังเพลินตาไปกับต้นไม้ใบเขียวรอบๆ จนเพลินใจ จนเราอดคิดไม่ได้ว่า นานแค่ไหนแล้วนะ ที่ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศบ้านแบบนี้

พี่แก้วเท้าความว่า บ้านเล็กวิลล่ามาจากชื่อคุณแม่ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่ไม่ต้องคิดเยอะให้ปวดหัว เพราะคำง่ายๆ แต่ก็มีความหมายที่อบอุ่นได้เหมือนกัน ก่อนจะเริ่มเล่าความเดิมที่กว่าจะมีบ้านหลังนี้ก็ใช้เวลาบ่มเพาะไม่น้อย

แก้ว–รินระดา นิโรจน์ และ พิชญ์ นิ่มจินดา

“แม้ว่าจันทบุรีจะเป็นเมืองสวนอยู่แล้ว แต่บ้านพี่ไม่ได้ทำสวนนะ จริงๆ พ่อแม่พี่รับราชการเป็นครู ชีวิตก็แบบคนธรรมดาที่อยู่ต่างจังหวัดเลย เรียนจบมัธยมฯ ก็มาต่อมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ เหมือนเป็น typical ของคนต่างจังหวัดที่มองว่าอยู่บ้านเรามันไม่ได้มีโอกาสเหมือนอยู่ในเมือง

“พอพี่เรียนจบสถาปัตย์ ก็มาทำงานเป็นนักออกแบบที่ภูเก็ต เพราะเคยมาฝึกงานที่นี่ ซึ่งพอรุ่นพี่มาชวนไปทำงานด้วย เราก็ไปทันทีแบบไม่ได้คิดอะไรมาก แล้วเหมือนตอนนั้นความรู้สึกที่มีต่อกรุงเทพฯ คือไม่ได้ชัดเจนว่าชอบหรือไม่ชอบนะ แต่อยู่ภูเก็ตมันชิลกว่า”

โดยการมาทำงานที่ภูเก็ตทำให้พี่แก้วได้เจอกับ พี่พิชญ์–พิชญ์ นิ่มจินดา ที่กลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ชีวิตของเธอ

เพราะคิดถึง จึงกลับบ้าน

พี่แก้วคลุกคลีกับแวดวงงานออกแบบในไทยมาราว 2 ปี จนเธอเห็นสมควรแล้วว่าอยากใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาให้เต็มที่กว่านี้ เธอจึงตัดสินใจบินไปสิงคโปร์พร้อมพี่พิชญ์ เพื่อลุยตลาดงานสถาปัตย์ที่เข้มข้นขึ้น

“พอทำงานมา 2 ปี เราก็รู้สึก เฮ้ย ชีวิตจะยังไงต่อ เราเลยตัดสินใจไปที่สิงคโปร์เพราะที่นั่นเป็นผู้นำของเอเชียในสายงานนี้เลย เราอุตส่าห์เรียนสถาปนิกมาแล้ว เราก็อยากรู้ว่าเวลาการทำงานแบบมืออาชีพมันเป็นยังไง ก็เลยไปอยู่ที่นั่นได้ 3 ปี” พี่แก้วเล่า

ทั้งคู่กลับมาเมืองไทยและได้รวมตัวกับผองเพื่อนภูมิสถาปนิก มัณฑนากร และสถาปนิก เพื่อก่อตั้ง GLA Design Studio ในปี พ.ศ. 2557 โดยมีออฟฟิศซึ่งลงหลักปักฐานที่กรุงเทพฯ

“เราคิดว่าวันหนึ่งต้องกลับมาไทยอยู่แล้ว พอกลับมาก็ต้องอยู่กรุงเทพฯ เป็นหลัก พอแก้วเขาห่างบ้านมานาน เขาก็เกิดความรู้สึกอยากจะอยู่ใกล้แม่ที่จันทบุรีมากขึ้น ถ้าเรามีบ้านเป็นของตัวเองที่กลับมาได้บ่อยๆ แล้วในช่วงที่บ้านว่างก็สามารถให้คนอื่นพักได้ด้วยมันก็คงจะดี” พี่พิชญ์เสริมถึงที่มาที่ไป

ก่อร่างสร้างบ้าน

ความฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง บวกกับพอมีที่ทางเล็กน้อย กลายเป็นเสียงเรียกร้องให้พี่แก้วและพี่พิชญ์คอยเทียวไปเทียวมาระหว่าง กรุงเทพ-จันทบุรี เพื่อเนรมิตบ้านเล็กวิลล่าให้เป็นจริง โดยใช้ความรู้การออกแบบ และความหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในตัวมาถ่ายทอดผ่านรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว

อย่างการหยิบไอเดียสถาปัตยกรรมแบบบ้านไทยยกใต้ถุนสูงมาใช้เป็นจุดขายของบ้าน เพื่อสื่อว่านี่คือพื้นที่ของทุกคน ซึ่งวิถีแบบต่างจังหวัด มักมีเพื่อนบ้านแวะเวียนมาพบปะอยู่เสมอ แถมเลือกใช้หลังคาหน้าจั่ว และเปิดชั้นล่างให้เป็นพื้นที่โล่ง เพื่อให้ลมเย็นๆ พัดผ่านเข้ามาดับลมร้อนเมืองไทย

ไม่ไกลกัน คือโซนห้องทำงานที่พี่แก้วและพี่พิชญ์เปิดให้แขกสามารถเข้ามาใช้งานได้เหมือนเป็นบ้านของตัวเอง ลองหยิบแล็ปท็อปขึ้นมานั่งคิดงาน มองวิวแปลงพืชผักผ่านประตูกระจกบานเฟี้ยมก็ให้ความรู้สึกที่ดีไม่น้อยเลย

เดินขึ้นมายังชั้นสอง เรายังคงตกหลุมรักแนวคิดสุดเรียบง่ายที่พี่แก้วและพี่พิชญ์เลือกใช้ นั่นคือชานบ้านที่ดูโปร่งโล่งสบายตา ซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยและดีไซน์งามๆ ไปพร้อมกัน เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การมานั่งจับเข่าคุยกัน เอนหลังชั่วครู่ และใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนพ้องน้องพี่ก่อนจะแยกย้ายเข้าห้องพัก

“ห้องนอนและห้องน้ำ มันต้อง simple ที่สุด เราให้ความสำคัญกับตัวเฟอร์นิเจอร์แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว บรรยากาศมันเลยดูเรียบง่าย” พี่แก้วเล่าถึงความใส่ใจกับห้องพักที่มีเพียง 4 ห้องเท่านั้น โดยยังคงแนวคิดที่หยิบเอาสิ่งของท้องถิ่นมาเติมเต็มให้ที่พักดูอบอุ่นชนิดที่เรียกว่าหาที่ไหนไม่ได้ อย่างเสื่อเมืองจันท์ มู่ลี่ไม้ไผ่ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ธรรมชาติ

บ้านเล็กวิลล่าใช้เวลาก่อร่างสร้างฝันราว 10 เดือน พี่แก้วและพี่พิชญ์เลือกใช้ช่างจากท้องถิ่นในจังหวัด ลายปูนเปลือยในแต่ละจุดเลยออกมาตามฝีมือของช่างแต่ละคน พี่แก้วบอกกับเราอย่างติดตลกว่า “ถ้าลองไปส่องลายปูนเปลือยในห้องนอนแต่ละห้องดูนะ บอกเลยว่าไม่เหมือนกันสักห้อง เราก็ให้เขาแสดงฝีมือให้เต็มที่ ซึ่งมันออกมาดูดีกว่าแบบที่เราสเก็ตช์ไว้อีก”

บ้านเล็กที่อัดแน่นด้วยความอบอุ่น

“ทุกวันนี้จันทบุรีมีความเป็นเมืองมากขึ้นก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่พี่คิดว่ามันไม่ค่อยเปลี่ยนมาก คือลึกๆ คนจันท์ไม่ได้อยากเป็นคนเมืองมากขนาดนั้น ทุกคนมีตัวตน มีรากเหง้าอยู่ในใจ พี่ว่าถ้าเราลองคุยกับคนจันท์หรือคนต่างจังหวัดดู มันจะแสดงอะไรบางอย่าง อย่างความ Nice & Friendly ตรงนี้คือสิ่งที่มันไม่เปลี่ยน” 

เราไม่ปฏิเสธในสิ่งที่พี่แก้วบอกสักนิด เพราะตั้งแต่มาเยือนจันทบุรี ชาวจันท์ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดีตั้งแต่ร้านรวงเล็กๆ ไปจนถึงร้านใหญ่ร้านโต ทุกที่มีความเรียบง่าย ไม่ต้องหวือหวา หรือวิ่งตามกระแสจนเหนื่อย เลยไม่น่าแปลกใจหากพี่แก้วจะนำเสน่ห์เมืองจันท์ตรงนั้นมาใส่ในบ้านเล็กวิลล่า

เมื่อบทสนทนาระหว่างเรา พี่แก้ว และพี่พิชญ์จบลง ทั้งคู่ปล่อยให้เราได้ใช้เวลาที่บ้านหลังนี้ได้อยากเต็มสูบ เราได้นอนบนเตียงนุ่มๆ อย่างสบายใจสบายกายตลอดคืน พร้อมตื่นมาพบแสงแดดในเช้าวันใหม่ที่ส่องผ่านกระจกเข้ามายังห้องนอน

และก่อนจะเช็กเอาต์จากบ้านเล็กวิลล่าออกไปเงียบๆ คุณน้าผู้ดูแลที่พักก็ไม่พลาดที่จะอวยพรให้พวกเราเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ และเชื้อเชิญให้กลับมาอีกครั้งหากมีโอกาส

แล้วพบกันใหม่…จันทบุรี

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.