ค.ศ. 1924 คือปีที่ปารีสได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกเป็นครั้งแรก และเป็นปีแรกของโอลิมปิกที่มีการสร้าง ‘หมู่บ้านนักกีฬา’ ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เหล่านักกีฬา เพราะก่อนหน้านั้น นักกีฬาต้องหอบหิ้วกระเป๋าไปนอนตามโรงแรม โรงเรียน หรือแม้แต่บนเรือที่พวกเขาใช้เดินทางมาแข่งขัน
หมู่บ้านนักกีฬาตอนนั้นเป็นเพียงโครงสร้างชั่วคราว เมื่อการแข่งขันปิดฉาก อาคารทั้งหลายก็ถูกรื้อทิ้งจนหมด แม้หมู่บ้านนักกีฬาแห่งแรกจะถึงจุดจบ แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของประเพณีการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาในงานโอลิมปิกครั้งต่อๆ มา
ค.ศ. 2024 หนึ่งร้อยปีให้หลัง ปารีสได้โอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกอีกครั้ง พร้อมการเตรียมตัวขนานใหญ่เพื่อให้เมืองสามารถรองรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ชมหลายแสนหลายล้านคนที่แห่แหนมาในเมือง
แน่นอน ‘หมู่บ้านนักกีฬา’ ก็เกิดขึ้นตามมาด้วย
ในบริบทโลกที่เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม แทนที่หมู่บ้านนักกีฬาจะสร้างมาแล้วรื้อทิ้ง หมู่บ้านนักกีฬาแห่งใหม่ในปารีส โอลิมปิก 2024 กลับสร้างด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยึดหลักความยั่งยืนเป็นสำคัญ และคิดมาตั้งแต่แรกเลยว่า อาคารทั้งหลายจะกลายสภาพเป็นเมืองขนาดย่อมที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย ร้านค้า ออฟฟิศ สวนสาธารณะ เป็นต้น
หมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) จังหวัดชานเมืองตอนเหนือของปารีส และอยู่ติดกับแม่น้ำแซน (Seine) แม่น้ำสายหลักของกรุงปารีส โครงการมีพื้นที่ใหญ่โตกว่า 119,000 ตารางเมตร และได้ Dominique Perrault Architecture ออฟฟิศสถาปัตยกรรมจากฝรั่งเศส เป็นหัวเรือวางแผนแม่บท (Master Plan) พร้อมด้วยออฟฟิศสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และออกแบบเมืองรวมกว่า 25 เจ้า มาร่วมสร้างสรรค์อาคารและงานภูมิทัศน์
ย่านแซน-แซ็ง-เดอนี เดิมทีเคยเป็นย่านอุตสาหกรรมที่คลาคล่ำด้วยโรงงานและเรือขนส่งสินค้าลำน้อยใหญ่ Dominique Perrault Architecture เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของย่านกับโครงการด้วยการวางกลุ่มอาคารเป็นบล็อกแนวยาว 6 บล็อกตั้งฉากกับแม่น้ำแซน คล้ายกับเรือหกลำที่จอดเทียบท่าริมแม่น้ำ
ตัวอาคารไม่ได้วางติดกันเป็นพืด แต่มีการเว้นช่องว่างให้อากาศบริสุทธิ์พัดพาไหลเวียนอย่างทั่วถึง อาคารในแต่ละบล็อกจะมีรูปแบบของตัวเอง ตั้งแต่อาคารสูง 4 ชั้นไปจนถึงอาคาร 15 ชั้น ถึงรูปร่างหน้าตาจะต่างกัน แต่ทุกอาคารเน้นออกแบบให้ชั้นล่างสุดแทรกซึมเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่รายล้อม เช่น ใช้บานหน้าต่างขนาดใหญ่ มีระเบียง และมีสวนในสัดส่วนที่พอเหมาะพอเจาะกับคน ส่วนที่พักกว่า 2,400 หน่วยได้รับการรังสรรค์บรรยากาศให้อบอุ่น เป็นมิตร และเปิดรับทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำแซนและเมืองปารีส
อาคารแต่ละหลังเน้นใช้วัสดุคาร์บอนต่ำในการก่อสร้าง อย่างเช่น ไม้ คอนกรีตคาร์บอนต่ำ หรือกระเบื้องเซรามิกคาร์บอนต่ำ ทั้งยังลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ด้วยการเสริมฉนวนกันความร้อนและแผงบังแดดที่จัดวางตำแหน่งมาเป็นอย่างดี บนดาดฟ้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก พร้อมมีสวนที่เปิดให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์
งานภูมิทัศน์ในโครงการวางผังให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายถนนเดิมของเมือง ช่วยเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรของย่านเข้าด้วยกัน ไฮไลต์ของงานภูมิทัศน์คือทางลาดสูง 12 เมตรที่เชื่อมโยงฝั่งแม่น้ำแซนกับตัวโครงการ เปิดมุมมองให้คนในหมู่บ้านนักกีฬาเห็นวิวแม่น้ำและเมืองปารีสที่สวยงามแบบเต็มอิ่ม ริมฝั่งแม่น้ำก็ปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อพลิกฟื้นระบบนิเวศริมน้ำและเชื่อมต่อสายน้ำให้ใกล้ชิดกับเมืองมากยิ่งขึ้น
ช่วงที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเปิดฉาก นักกีฬาจะนอนอยู่ในห้องที่แบ่งกั้นกันด้วยกำแพงชั่วคราว เมื่อจบการแข่งขัน นักกีฬาคนสุดท้ายแบกกระเป๋าออกไป เฟอร์นิเจอร์ภายในจะถูกขนย้าย กำแพงถูกรื้อถอน เพื่อเตรียมการเปลี่ยนห้องหับต่างๆ ให้เป็นที่พักอาศัย ออฟฟิศ หรือโรงแรม ตามที่วางแผนไว้แต่แรก
จังหวัดแซน-แซ็ง-เดอนี ที่ตั้งของหมู่บ้านนักกีฬา ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของฝรั่งเศส หากมองแผนการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาให้ลึกลงไป โปรเจกต์นี้จึงไม่ใช่แค่การสร้างที่พักของนักกีฬาและการอวดโฉมฝีไม้ลายมือการดีไซน์ของคนฝรั่งเศส แต่เป็นการพลิกฟื้นแซน-แซ็ง-เดอนี ให้เป็นพื้นที่น่าอยู่ ด้วยเมืองใหม่ขนาดย่อมที่เพียบพร้อมด้วยบรรยากาศร่มรื่นสวยงาม พื้นที่สีเขียวที่ฟูมฟักระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ที่พักอาศัยคุณภาพดี และย่านธุรกิจใหม่ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวเมืองกว่า 6,000 คนในอนาคต
Sources :
BBC | bit.ly/3LC6faH
Fast Company | bit.ly/46jerWy
Paris 2024 | bit.ly/3YjR4u1
STIRworld | bit.ly/4fj8b5d
THE OLYMPIC AND PARALYMPIC VILLAGE | bit.ly/3Wj9aKb
_______________________________________
‘Paris Olympics 2024’ คือมินิซีรีส์คอนเทนต์จาก Urban Creature ที่จะพาไปเตรียมตัวกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลก ผ่านการเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลัง ไอเดีย และโปรเจกต์สนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ