“พี่อาร์ตดุไหมครับ”
นี่คงเป็นบทสนทนาสั้นๆ ระหว่างทางเดินบริเวณใต้ตึกมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ สถานที่หนึ่งซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวภูมิหลัง และความผูกพันในรั้วมหาวิทยาลัยของ ‘เธอ’ ผู้ที่เรากำลังจะได้พบเจอในอีกไม่กี่นาทีจากนี้
“ไม่หรอกพี่อาร์ตแกมีความเป็นครูอยู่หน่อยๆ แหละ เดี๋ยวเราก็ได้เห็น” คุณผู้จัดการส่วนตัวตอบกลับด้วยน้ำเสียงราบเรียบและไม่มีท่าทีแปลกใจกับคำถามนี้แม้แต่น้อย
ไม่นานนักเราก็มาถึงลานอนุสาวรีย์ ศ. ศิลป์ พีระศรี พร้อมทั้งกวาดสายตาเห็นใครบางคนที่กำลังง่วนอยู่กับการสะกดชื่ออีเมลส่วนตัวกับปลายสายทางโทรศัพท์อย่างขะมักเขม้น ด้วยน้ำเสียงขึงขังในแบบฉบับที่เราคุ้นชินมาบ้างตามจอโทรทัศน์และโลกอินเทอร์เน็ต เธอผู้นั้นคือ อาร์ต–อารยา อินทรา แฟชั่นสไตลิสต์ตัวแม่ของเมืองไทย
ยอมรับตามตรงว่าวินาทีนั้นใจเริ่มเต้นรัว และทวีคูณความประหม่าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนปฎิเสธไม่ได้ว่าเราเองก็เป็นหนึ่งคนที่ค่อนข้างแอบกลัวเธอเหมือนกัน ด้วยภาพลักษณ์ที่ดุดันจนบ่อยครั้งได้นำพาซึ่งพายุดราม่าลูกใหญ่เข้าซัดชีวิตเธอมาแล้วหลายละลอก แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงแค่การตัดสินอะไรด้วยเหตุผลเพียงด้านเดียว ภายใต้อำนาจสื่อที่พยายามยัดเยียดจินตภาพในรูปแบบนั้นซ้ำๆ เพราะเมื่อเริ่มต้นสนทนา เราก็สัมผัสได้ถึงความใจดีผ่านรอยยิ้มซึ่งมาพร้อมประโยคที่ว่า “มาเริ่มกันเลยไหม เธอเตรียมตัวมาดีนะ”
ปฐมบท อารยา อินทรา
หากพูดถึงแฟชั่น สไตล์ลิสต์ชื่อดังของเมืองไทย แน่นอนว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก อาร์ต อารยา ด้วยชั่วโมงบินมากกว่า 30 ปีในวงการนี้ ใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นในการเข้ามาทำงานสายแฟชั่น เธอผู้นี้ต้องอดทนฝ่าฟันขวากหนาม ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนกว่าจะขึ้นมาเหยียบบนจุดสูงสุดของสายอาชีพนี้ได้ โดยมีครอบครัวที่ใจเปิดกว้างคอยโอบกอดอยู่เสมอ
ถ้าได้เป็นครูคงจะเดิร์นไม่ใช่น้อย ด้วยความที่เธอมีแม่เป็นแบบอย่างมาโดยตลอด เด็กน้อยผู้ได้เห็นแม่แต่งตัวโก้เก๋ไปสอนหนังสือ พร้อมทั้งได้รับการนับหน้าถือตาทางสังคมมากกว่าชาวบ้านปกติในสังคมต่างจังหวัดสมัยนั้น มันคงเปรียบได้กับการเติบโตเคียงข้างไปกับวีรสตรีในโลกใบเล็กที่เด็กคนหนึ่งพอจะมีได้
แม้สมัยนั้นจะยังไม่มีคำว่า ‘ตุ๊ด’ แต่การกลั่นแกล้ง ล้อเลียนด่าทอให้เจ็บช้ำน้ำใจเกิดขึ้นแล้วในรั้วโรงเรียน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยความโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างเปิดกว้างในการแสดงออก อารยาในวัยเด็กจึงได้รับกำลังใจจากครอบครัวอย่างอบอุ่น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอยืนหยัดในความเป็นตัวเองแล้วก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นใจภายใต้กรอบทางสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างทางเพศมากนัก
“ประสบการณ์การแต่งหญิงครั้งแรกของพี่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ วันขึ้นตึกมัณฑนศิลป์พี่เป็นคนโดนจับแต่งหญิงคนแรกแล้วพี่ร้องไห้ เพราะไม่เคยโดนคนเป็นร้อยรุมหัวเราะใส่ แต่พี่มารู้ทีหลังว่า อ่อ เขาอยากให้เราเป็นตัวของตัวเอง ได้ค่ะ ก็เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว เอางี้แล้วกัน พรุ่งนี้หนูเอาชุดมาเองนะ เสื้อพี่เหม็น (หัวเราะ)”
เมื่อเข้าสู้ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ทดลอง การเฝ้าสังเกตความเป็นไปของชีวิตจึงทำให้เธอเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเธอนั้นเป็นใคร ด้วยความที่เป็นเด็กกิจกรรมและมีความเป็นผู้นำสูง ชอบจัดแจงแถลงไขมาแต่ไหนแต่ไร การเข้าศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัยที่สอนศิลปะและได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่มีความชัดเจนและเป็นตัวของเองสูงทำให้เธอรู้ตัวว่า นี่ไม่ใช่สิ่งผิดหากคิดจะเปล่งประกาย
เมื่ออยู่ถูกที่ถูกเวลา ทุกอย่างเลยดูลงตัวไปหมด ต่อให้จะมีช่วงเฮฮาพาโวยไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยเสียการเรียน เพราะเธอรู้ตัวดีเสมอว่าไม่เก่งเท่าคนอื่น จึงต้องพยายาม กระตือรือร้น และขวนขวายพัฒนาตัวเองจนได้ยินเสียงก้นบึ้งของหัวใจดังเป็นระยะว่า แท้จริงเธอมีความหลงใหลทางด้านแฟชั่น และงานประติมากรรมอย่างเต็มเปี่ยม
เมื่อเข้าสู่ปี 4 โค้งสุดท้ายของการเรียน ความฝันในการเป็นศิลปินของเธอก็ต้องพังทลายลง เมื่อเธอได้คิดประดิษฐ์ ธีสิสงานประติมากรรมผ้าที่ตัดเย็บให้เป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของมนุษย์ แต่อาจารย์กลับวิจารณ์ว่า “เธอไม่รู้หรือว่าความงามคืออะไร” คำพูดที่เหมือนฝากรอยแผลยับเยินเอาไว้ มันมากพอที่จะทำให้คนหนึ่งคนละทิ้งความฝัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของอารยา เมื่อทุกอย่างเป็นเหมือนแรงผลักนำเธอไปสู่บันไดขั้นต่อไปที่สูงกว่า หลังเรียนจบด้วยเกียรตินิยม เธอจึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อแฟชั่นอย่างเต็มตัวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ความทรงจำอันหอมหวานที่ปารีส
“ถ้าจะเรียนศิลปะต้องเรียนศิลปากร พี่ไม่คิดถึงที่อื่น งั้นถ้าจะเรียนแฟชั่นต้องไปที่ฝรั่งเศส”
“ในยุค 90 ที่พี่อาร์ตอยู่ ดีไซเนอร์ดังๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Claude Montana, Mugler, Jean-Paul Gaultier หรือ Martine Sitbon ทุกคนล้วนอยู่ที่นี่หมด เราก็ไปสิคะจะเหลือเหรอ ก็มุ่งไปปารีสเลย”
การเรียนต่อที่ฝรั่งเศสเหมือนจะไปได้สวย แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเมื่อเกิดเหตุที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง ขณะที่เธอกำลังศึกษาต่อปีสุดท้ายทางบ้านก็ติดต่อมาบอกว่า “ไม่มีเงินแล้วนะลูก” แม้ว่าในระหว่างนั้นจะทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองไปด้วย แต่เนื่องด้วยค่าครองชีพที่สูงมาก ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าอุปกรณ์การเรียนอีก จึงไม่พอต่อการดำรงชีวิตที่นี่ แต่เพราะโรงเรียนเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัว จึงให้นักเรียนคนนี้ได้เรียนฟรี
“อาจารย์ถามพี่ว่าทำไมไม่ขึ้นงานจริงสักที พี่ก็ตอบเขากลับไปว่า ไม่มีเงินซื้อผ้าและจ่ายค่าเทอมแล้ว คงต้องกลับเร็วๆ นี้ ด้วยความขยันของเราหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเล็งเห็น พี่เป็นนักศึกษาคนเดียวที่ได้ใช้ผ้าจากโกดังผ้าของมหาวิทยาลัย พี่ก็ตัดเอาแต่ผ้าชิ้นที่ชอบมาใช้เท่าที่จำเป็น ออกมาเป็นชุดจริงและได้เรียนต่อ เท่ากับว่าพี่ได้เรียนฟรีและได้ผ้าฟรีจนจบ
“พอเรียนจบเขาก็ส่งพี่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ มอสโก กลับมาก็ได้งานกับทาง LANVIN เลย โดยเขาทำเอกสารทุกอย่างให้พี่เสร็จสรรพเรียบร้อย พอออกจาก LANVIN ก็พยายามสู้ต่อ ไม่ว่าจะเป็น Christian Lacroix หรือ Alexander McQueen สนใจงานพี่หมดไปสมัครที่ไหนเขาก็เอา”
การได้รับโอกาสสำคัญในครั้งนี้คงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ซึ่งทำให้เธอเรียนรู้และเข้าใจชีวิตของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านความศรัทธาในโลกทัศน์และวัฒนธรรมอันเปิดกว้างของชาติตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้นเธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความพยามยามนั้นไม่เคยทำร้ายใคร
ไม่เคยเบื่อวงการแฟชั่น แต่เบื่อที่สุดคือ ‘คน’
หลังจากกลับมาจากฝรั่งเศส ในช่วงปลายยุค 90 อารยาเริ่มงานในวงการแฟชั่นไทยอย่างจริงจัง หากใครเสนอมาว่าอยากให้อารยาทำอะไรเกี่ยวกับแฟชั่น อารยาเอาหมดตั้งแต่เบื้องหลังยันเบื้องหน้า เธอไม่เคยปิดกั้นความสามารถของตัวเองและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ แต่สิ่งที่น่าเบื่อที่สุดในการทำงานนั้นน่าจะเป็น ‘คน’
“สิ่งที่น่าเบื่อที่สุดคือคนในการทำงานทุกอย่างที่ดีลกับคนคนนี่แหละคือสิ่งที่น่าเบื่อที่สุด”
“แม้แต่ตัวพี่บางทีก็ทำให้คนอื่นเบื่อ เพราะว่าเป็นคนที่จริงจังกับงานมาก ถ้าเป็นเรื่องของการทำงาน หากผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ไม่เคยแคร์และไว้หน้าใครทั้งนั้น”
แต่เมื่อเดินทางขึ้นสู่จุดสูงสุดของสายอาชีพ ทุกคนต่างเรียกขานเธอว่าเป็น Top Stylist แถวหน้าของเมืองไทย ความรู้สึกข้างบนมันช่างยิ่งสูงและยิ่งร้อนไม่ได้หนาวเย็นเหมือนที่ใครเขาว่ากันเอาไว้ บวกกับสิ่งที่กำลังทำอยู่เริ่มไม่อินสไปร์ตัวเธอเอง แนวทางในการลงจากบันไดแฟชั่นจึงบังเกิดขึ้น ก่อนก้าวขึ้นบันไดขั้นใหม่ที่เรียกว่า ‘ครู’
เมื่อครูเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย
“อยากเป็นครู” คือคำตอบเมื่อเราถามว่าความฝันในวัยเด็กของพี่อาร์ตคืออะไร ซึ่งตอนนั้นเธอบอกกับเราว่า ยังไม่รู้ความชอบตัวเองด้วยซ้ำ แต่หากใครมาถามก็จะตอบไปว่า โตขึ้นอยากเป็นครู
“มีมหาวิทยาลัยติดต่อเข้ามาตลอด แล้วจังหวะดีมาก เราตอบตกลงไปทันที พอไปปฐมนิเทศปุ๊บ พลังงานบวกเพียบ โหย กลับบ้านแล้วรู้สึกอิ่มเอิบ หัวใจพองโต แฮปปี้ฉิบเป๋งมาเอาไปเลย ฉันเทคิวให้เลยสัปดาห์ละกี่วันก็มา ใครชวนไปไหนไปหมด จนท้ายที่สุดได้มาอยู่ใจกลางของการศึกษา เอาแค่ในเฉพาะทางด้านแฟชั่นนะ พี่จึงได้เห็นว่า วงการศึกษาไทยทำไมถึงเป็นได้ขนาดนี้ หลายมหาวิทยาลัยอ่อนมาก ซึ่งพี่ทำอะไรไม่ถูกจนเครียด เพราะรู้ดีว่าเปลี่ยนเขาไม่ได้ เลยค่อยๆ ตัดออกเหลือแค่สองมหาวิทยาลัยที่คิดว่า น่าจะคุยภาษาเดียวกัน
“แล้วเวลาพี่เข้าไปสอนคลาสแรกพี่จะพูดเสมอว่า พี่ไม่ได้เป็นครูพี่เป็นพี่พี่เอาประสบการณ์มาแชร์ เราพูดกันตรงๆ หนูจ่ายค่าเทอมก็จริง แต่ทั้งหมดพี่ไม่ได้นำเงินค่าจ้างมาใช้จ่ายส่วนตัว เงินส่วนนี้จะถูกนำไปเป็นทุนการศึกษาให้คนอื่นต่อ พี่จะบอกแบบนี้กับเด็กทุกชั้นปี และทุกมหาวิทยาลัยที่พี่สอน”
“เพราะพี่อาร์ตตั้งใจไว้แล้วว่าการสอนหนังสือจะทำเป็นวิทยาทาน”
“พี่มองว่าการที่เราจะอยู่ในสังคมนี่นะ ถ้าคนในสังคมเคารพในความคิดของคนอื่นแล้ว เคารพในสิทธิของคนอื่นคุณจะอยู่ได้ ถ้าให้พี่ไปสอนแล้วนักเรียนให้ความสำคัญกับพี่ พี่ก็จะให้ความสำคัญกับนักเรียนและสถาบัน สถานที่นั้นๆ แต่ถ้าไม่เคารพกันแล้วพี่ก็พร้อมเท”
HAUS of ARYA ศูนย์รวมเมล็ดกล้าที่รอการเบ่งบาน
เมื่อความผูกพันระหว่างครูและนักเรียนเป็นเหมือนคนในครอบครัวหนึ่งที่มีเธอเป็นแม่ของบ้าน นอกจากวิธีการสอนที่ทำให้เขาเจริญงอกงามอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าใจเด็กร้อยเปอร์เซนต์เพียงแค่ปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้
และที่สำคัญเธอกล่าวว่า “เราต้องไม่เป็นครูที่อยู่ในกะลา” เพื่อให้เด็กเติบโตในแบบที่เขาเป็นและไม่สูญเสียอัตลักษณ์นั้นไป พร้อมสร้างประตูเพื่อเป็นทางเลือกให้เขาหลายๆ บาน เพื่อให้เขาเปิดเอาเองว่าจะเอาบานไหน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมากจากประสบการณ์ในอดีตที่เธอเข้าใจดีแล้วว่า การปิดกั้นของสังคมในขนบโบราณมันเจ็บปวดเพียงใด
แม้ลึกๆ ก็ไม่ค่อยอยากให้ใครเรียกครูเสียเท่าไหร่ เพราะอยากเป็นแค่พี่ที่ให้คำปรึกษาและเข้าใจน้อง ความปลื้มปริ่มที่ได้เห็นลูกในอ้อมอก ออกจากบ้านหลังนี้ไปคงเป็นความสุขใจที่ได้ทำสำเร็จแล้ว
“มันยิ่งกว่าเงินอีกนะเธอ โหแม่งแบบอยากร้องไห้เลยอะ ขนลุก มันเป็นความรู้สึกแบบว่า กูทำสำเร็จแล้วตายตาหลับ เหมือนคำโบราณที่ว่า ครูเหมือนเรือจ้างพอส่งคนถึงฝั่ง พี่เพิ่งเข้าใจความรู้สึกนี้เอาตอนแก่นะ” นี่คือค่าตอบแทนที่ดีที่สุดแล้ว พี่อาร์ตว่า
และหากการตักเตือนก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ครูพึงมี บ่อยครั้งที่เด็กเองลางเนื้อชอบลางยา เธอนั้นก็ได้พยายามทำหน้าที่บอกกล่าวตักเตือนให้เด็กรู้ถึงรสชาติชีวิตในทางที่เลือกเอง
“ถ้าหนูอยากรู้ความเจ็บปวดมันเป็นอย่างไร หนูอยากผ่านกองไฟไปใช่ไหมลูก เตือนก่อนนะว่าร้อน อยากรู้ใช่ไหมว่าร้อนเป็นอย่างไร วิ่งค่ะ วิ่งเข้าไปในกองไฟเลยค่ะ แผลที่เกิดขึ้นอยู่บนร่างคุณจะสอนให้คุณรู้เองว่าความเจ็บปวดเป็นยังไง”
ครู (ไร้) กรอบ
“ครู เหมือนผู้ชี้นำทางความคิดและครูที่ดีก็ควรต้องไม่มีกรอบอะไรเลย เด็กแต่ละคนมาจากสถานะทางครอบครัวที่แตกต่างกัน เด็กหนึ่งคน ความคิดหนึ่งอย่าง ไอคิวอีคิวไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพี่จะมีกรอบไม่ได้ ในเมื่อเรามีจรรญาบรรณใน’ ครูอาชีพ’ หากตั้งปณิธานแล้วก็ต้องทำให้ได้ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อยมีหรือจะไม่เหนื่อย”
แน่นอนว่าหากจะพูดถึงการพัฒนาของวงการศึกษาไทย พี่อาร์ตว่าคงต้องรอไปอีก 100 ปี ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่เชื่อว่าทุกคนต่างรู้ กลายเป็นแผลที่ใหญ่หลวงนัก จึงคงต้องรอน้ำใหม่มาล้างน้ำเก่าออกไป ส่วนตอนนี้เธอบอกว่าคงตอบได้คำเดียวว่า “เน่า” (เน้นเสียงพร้อมขยับปากเป็นรูปตัวแอล)
“พี่นะอยากเป็นอะไรรู้ปะ อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขนาดคนขับรถยังบอกเลย รับรองว่าการศึกษาในประเทศไทยจะต้องดุเด็ดเผ็ดมันส์ Quality และ Qualify เท่านั้น อารยาไม่เคยสอนในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ แต่ครูทุกคนในประเทศถามตัวเองไหมว่า ถนัดเรื่องอะไรแล้วสอนสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า”
“ถ้าครูคนไหนกำลังสอนในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด เลิก เลิกคือหนึ่งเลิกสอน สองเลิกอยู่เฉยๆ แล้วหาความรู้ใส่ตัว เห็นไหมว่าฉันควรจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงว่าการศึกษา”
“แล้วก็เอาข้อมูลใส่กระบาลทำให้มันเข้าโดยเส้นเลือดแล้วค่อยเอาไปสอน อย่าเอางูกับปลาไปสอนเด็ก เพราะเด็กสมัยนี้ เผลอๆ บางคนอาจฉลาดกว่าครูด้วยซ้ำ”
เหมือนที่เธอได้บอกว่า ‘ครู’ ไม่ใช่ผู้ถูกเสมอไป บ่อยครั้งเองที่เธอเป็นครูที่ผิดพลาดไปบ้าง แต่หากเมื่อผิด ครูก็แค่ยอมรับและแก้ไขให้มันถูกต้องก็เท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่ามนุษย์ส่วนมากมีอีโก้สูง นั่นหมายถึงฉันถูกเสมอเด็กผิดตลอด
“ฉันเจอมาแล้ว เพราะเขาถือยศถืออย่าง บางทียกคำว่าครูบาอาจารย์ทิ้งไปเลยก็ได้นะถ้ามันค้ำคออยู่ เปลี่ยนเป็นคำอื่นแทน เก๋จะตายอายุ 50 ยังมีคนเรียกพี่อยู่เลย เลิศ! แล้วเราเหมือนเป็นคน Gen เดียวกัน ช่องว่างของวัยก็เหมือนลดลงไปอีก”
ตลอดเวลาที่โลดแล่นในวงการแฟชั่นและการก้าวเข้ามาเป็นครูของพี่อาร์ต ทำให้เธอสั่งสมบ่มเพาะประสบการณ์มาร่วม 30 ปี เหล่านั้นคือกลไกชีวิตของการเติบโตในโลกอันแสนโหดร้าย เพราะทุกย่างก้าวที่ต้องตัดสินใจมักมีจุดพลิกผันที่น้อยคนนักจะหยั่งรู้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาร์ต อารยา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าใครจะมองเธออย่างไร แต่คนที่สู้เท่านั้นจึงจะได้พบกับเส้นชัยและยืนอยู่บนขอบหน้าผาแห่งความรุ่งโรจน์
“พี่เปลี่ยนความคิดใครไม่ได้ เขาคงเห็นพี่เป็นกะเทยป้าที่น่ากลัว ดุ โหด พี่เปลี่ยนไม่ได้แน่นอน ซึ่งไม่ติดอะไรเลย เพราะพี่เพียงอยากให้เขาจำว่าถ้าพี่ตายไป พี่เป็นคนดีคนหนึ่งพอ ไม่ต้องการให้เขาระบุต่อไปว่าเป็นกะเทยป้านิสัยดี หยุดค่ะ เพราะพี่เป็นคน ที่เป็นคนดีคนหนึ่งจบแค่นั้น”
เมื่อบทสทนากับ อาร์ต อารยา ครั้งนี้จบลง ความรู้สึกครั้งแรกที่เรากลัว หรือมีภาพจำกับเธอในมุมที่ดุก็เริ่มค่อยๆ มลายหายไป และเราหวังว่า สิ่งที่ทุกคนได้อ่านอาจเปลี่ยนทัศนคติที่ใครหลายคนมีต่อเธอไปตลอดกาลเช่นกัน