Andy Warhol แขวนชีวิตไว้กับป็อปอาร์ต - Urban Creature

กระป๋องซุปแคมป์เบลส์ มาริลิน มอนโร ปกแผ่นเสียงรูปกล้วย ล้วนเป็นผลงานที่เราคุ้นตา เพราะสไตล์ป็อปอาร์ตของ Andy Warhol ส่งอิทธิพลอย่างมากกับศิลปินและนักออกแบบยุคใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนัง, โฆษณา, สิ่งพิมพ์, กราฟิก, แฟชัน กระทั่งของใช้ในชีวิตประจำวัน

“Pop art is for everyone”

เขาฉีกกรอบความคิดที่ว่า ศิลปะเป็นรสนิยมของชนชั้นสูง เบลอเส้นแบ่งด้วยแมสเสจ จะรวยจะจนก็ต้องกินต้องใช้ไม่ต่างกัน หยิบเอาวัฒนธรรมบริโภคนิยมมาเล่นกับป็อปอาร์ต โดยเทคนิคที่โดดเด่นของเขาคือ ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนที่มีการผลิตซ้ำ ล้อไปกับอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตสินค้าจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน”

| ชีวิตป๊อปอาร์ตของ ‘Andy Warhol’

ชีวิตของเด็กชายแอนดี้ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1928 ในเมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย วัยเด็กของเขาไม่ได้สดใสเหมือนในภาพ พ่อแม่ของแอนดี้อพยพจากสโลวาเกียมายังอเมริกา เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น แอนดี้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อที่ไขสันหลังตอนอายุเพียง 6 ขวบ ทำให้เขาต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน ระหว่างนั้นก็มักจะวาดรูป อ่านการ์ตูน และสะสมภาพดาราหนัง ส่งผลกับตัวตนและงานศิลปะของเขา กระทั่งเข้าเรียนพาณิชย์ศิลป์ที่ Carnegie Institute of Technology ในพิทส์เบิร์ก

ในปี ค.ศ. 1949 เขาย้ายไปอยู่นิวยอร์ก เป็นนักวาดภาพประกอบให้กับนิตยสารชื่อดังอย่าง Glamour, Vogue และ Harper Bazaar ทั้งยังจับงานโฆษณา ปกหนังสือ และปกแผ่นเสียง ได้รับรางวัลมากมายและมีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการตัวสุดๆ ต่อมาแอนดี้รู้จักกับศิลปินในกลุ่มป็อปอาร์ต จึงเริ่มหยิบเอาภาพการ์ตูนอย่าง ป็อปอาย, ซูเปอร์แมน และ ดิค เทรซี่ มาเป็นแบบ หลังจากนั้นก็ค้นพบเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ประจำตัว

| ‘กระป๋องซุป’ ชิ้นมาสเตอร์พีซ

ผลงานที่ถูกจดจำมากที่สุดคือ Campbell’s Soup Cans (1962) นี่ไม่ใช่โฆษณาซุปกระป๋องยี่ห้อแคมป์เบลส์แต่อย่างใด เพราะที่มาของงานชิ้นนี้เริ่มต้นจากมันเป็นอาหารโปรดของแอนดี้ กระป๋องซุปที่เรียงกันสวยงามในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ใช่แค่กระป๋องซุป แอนดี้ยังหยิบของใกล้ตัวอย่าง ขวดโคคาโคล่า และกล่อง Brillo หรือแผ่นใยขัดล้างจาน ที่ทุกบ้านคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

ทางลัดที่ทำให้แอนดี้โด่งดังเป็นพลุแตก คือการใช้ภาพถ่ายของเหล่าเซเลบริตีที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทั้งเอลวิส เพรสลี, มาริลีน มอนโร, อลิซาเบธ เทย์เลอร์, มิก แจ็กเกอร์, เจมส์ ดีน และ แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะซ้ำๆ กัน ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนสีสันฉูดฉาดตามที่เขาถนัด

| The Factory สตูดิโอล้นเรื่องราว

ช่วงปี ค.ศ.1964 แอนดี้เปิดสตูดิโอเป็นของตัวเองในโรงงานเก่า โดยทาสีเงินและตั้งชื่อให้กับมันว่า ‘The Factory’ ที่กลายมาเป็นสถานที่ฮอตที่สุดแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก ที่ซึ่งเหล่าคนดังและผู้มั่งมีจะผลัดกันแวะเวียนมามากหน้าหลายตา แอนดี้จึงมักจะจัดปาร์ตี้สุดอลังการอยู่เป็นเนือง เรียกว่าเป็นที่ที่คนเจ๋งๆ จะมาอยู่รวมกัน รวมถึง Lou Reed ตำนานแห่งวงอินดี้ร็อก The Velvet Underground เพื่อนซี้ที่แอนดี้ออกแบบปกแผ่นเสียงรูปกล้วยที่แฝงนัยยะทางเพศอย่างโจ่งแจ้งนั่นเอง

แต่ใครจะไปคาดคิดว่าชีวิตที่สนุกสุดเหวี่ยงและแสนจะฟู่ฟ่าของแอนดี้ เกือบถึงคราวต้องจบลง ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1968 แอนดี้ถูก Valerie Solanas นักเขียนและนักสิทธิสตรีหัวรุนแรงยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สาวคนนี้เคยปรากฏตัวในหนังเรื่องหนึ่งของแอนดี้ ซึ่งไม่พอใจที่เขาปฏิเสธจะใช้บทที่เธอเขียน หลังจากเหตุการณ์นั้นเธอก็เข้ามอบตัว ส่วนแอนดี้ต้องเข้าผ่าตัดและรักษาตัวอยู่หลายอาทิตย์ ทำให้เขาต้องใส่ชุดพยุงหลังไปตลอดชีวิตที่เหลือ

| การทำเงินคือศิลปะอย่างหนึ่ง

“Making money is art and working is art and good business is the best art.”
การทำเงินเป็นศิลปะ การทำงานก็เป็นศิลปะ และธุรกิจที่ดีเป็นศิลปะที่ยอดเยี่ยมที่สุด

หลังจากที่ Andy Worhol มีผลงานป็อปอาร์ตโด่งดังหลายชิ้น ในช่วงยุค 70s เขาจึงเริ่มขยับเข้าสู่การเป็นศิลปินเชิงพาณิชย์ เพราะเขาเชื่อว่า ‘การทำงานหาเงินคืองานศิลปะอย่างหนึ่ง’ ไม่ว่าจะเป็นการขายผลงานวาดตัวเองให้กับแมกาซีน และ Mercedes-Benz นอกจากนี้ เขายังเริ่มทำงานศิลปะเข้ากับสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือที่ชื่อ ‘The Philosophy of Andy Warhol (From A to B and Back Again)’ และ Exposures ยิ่งไปกว่านั้น Andy Worhol หันมาหลงใหลศิลปะภาพยนตร์ และทำหนังเชิงศิลปะออกมากว่า 60 ม้วน โดยชักชวนเหล่าเพื่อนๆ มาร่วมเล่น บางเรื่องก็ดูจะพิลึกพิลั่นอยู่หน่อยๆ อย่างเรื่อง Eat ที่เป็นฟุตเทจโชว์ผู้ชายคนหนึ่งกำลังกินเห็ดยาว 45 นาที

ชีวิตการทำเงินด้วยป็อปอาร์ตของ Andy Worhol ดำเนินต่อมายังยุค 80s เขากระโดดลงวงการทีวี ผลิตรายการมากมายๆ เช่น Andy Warhol’s Fifteen Minutes ทางช่อง MTV ที่โด่งดังเป็นพลุแตก หรือไปโผล่ในโฆษณา Diet Coke ที่ชวนคนประหลาดใจกันทั่วโลก กระทั่งปี ค.ศ. 1987 Andy Worhol เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายแทรกซ้อนของการผ่าตัดถุงน้ำดี โดยสุสานของเขาตั้งอยู่ข้างครอบครัวที่ St. John the Baptist Byzantine Catholic Cemetery ในรัฐเพนซิลเวเนีย

ถึงแม้ Andy Worhol จะจากโลกนี้ไป แต่ผลงานศิลปะสไตล์ป็อปอาร์ตของเขายังคงถูกจัดแสดงให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานศิลปะรุ่นหลัง และเป็นเจ้าพ่อป็อปอาร์ตระดับโลกในใจใครหลายคน

| นิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART

ใครเป็นแฟนผลงานศิลปะของแอนดี้ หรือสนใจแนวคิดสุดป็อปที่กลายมาเป็นต้นแบบศิลปะยุคใหม่ ต้องไม่พลาดนิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดย River City Bangkok ซึ่งรวบรวมผลงานมานานกว่า 2 ปี โดยเป็นผลงานออริจินัลของ Andy Warhol กว่า 128 ชิ้น ทั้งภาพถ่ายบุคคล-ภาพถ่ายทั่วไป ภาพถ่ายคนดัง นิตยสาร-ปกอัลบั้ม การพิมพ์แบบซิลค์สกรีน เช่น Andy Warhol and Salvador Dali (1978), Marilyn (1981), Elvis I and II (1964-1978), The Velvet Underground and Nico (1967), Brillo Box (1970), Dollar (1981-1982), Flowers (1964), Campbell’s Soup Can (1967) และ Cow (1971)

จองบัตร Early bird ได้แล้ววันนี้ ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/andywarhol
โดยมีบัตรราคาพิเศษสำหรับผู้ใหญ่ (300 บาท) นักเรียนหรือนักศึกษา ผู้สูงอายุ
พร้อมแสดงบัตรประจำตัว (200 บาท)

ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจผ่านผลงานจากราชาแห่งป็อปอาร์ต
นิทรรศการ ANDY WARHOL: POP ART
ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน 2563
ที่ RCB Galleria ชั้น 2 River City Bangkok


Sources : Dazed | https://bit.ly/2wZs6pt
Biography | https://bit.ly/2Ww9d8n

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.