ทฤษฎีปลูก 3 ชั้นของ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ให้ต้นไม้ในบ้านเป็นผืนป่าดูแลใจและสังคม - Urban Creature

“การเริ่มดูแลฟูมฟักพวกเขาตั้งแต่ในบ้าน ไม่ได้ส่งผลดีต่อแค่ตัวผม แต่ส่งผลต่อความยั่งยืนของมนุษย์ในระยะยาว”

สำหรับอเล็กซ์ ‘บ้าน’ เปรียบเสมือนพื้นที่หลบความวุ่นวายใจกลางเมือง ให้เขารู้สึกได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบและเป็นส่วนตัว การพูดคุยของฉันกับอเล็กซ์ครั้งนี้จึงเริ่มต้นที่บ้าน ซึ่งแวดล้อมไปด้วยยอดหญ้าไหวเอนตามตามกระแสลมบางเบา ต้นไม้สูงเขียวขจีแอบมีนกตัวน้อยมาอิงแอบ พร้อมพันธุ์ไม้ที่ถูกจัดวางใน space ที่พอเหมาะต้อนรับฉัน และแสงแดดยามเช้าอ่อนๆ กระทบเส้นผมและใบหน้าลูกครึ่งไทย-อังกฤษของ อเล็กซานเดอร์ ไซม่อน เรนเดลล์ หรือ อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงมากความสามารถ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจนได้ก่อตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อม Environmental Education Centre Thailand (EEC Thailand) ที่สร้างเครือข่ายการศึกษาเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และยังเป็นทูตสันถวไมตรีแห่งชาติด้านสิ่งแวดล้อมคนแรกของประเทศไทย พร้อมมาพูดคุยอย่างเอ็กคลูซีฟเล่าถึงความผูกพันกับต้นไม้ที่มีจุดเริ่มต้นจากการปลูกต้นไม้เล็กๆ ในบ้าน และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแม้อยู่ในเมือง สู่การสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต การทำงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ชั้น 1: เติบโตไปพร้อมกันนะ อเล็กซ์และต้นกล้า 

เสื้อสีขาวตัวเก่ง กางเกงสแล็กส์ในวันสบายๆ สองข้างทางบริเวณติดห้องนั่งเล่นเต็มไปด้วยต้นไม้ลงดินหรือกระถางต้นไม้น้อยใหญ่ อเล็กซ์นั่งลงมองพื้นที่สีเขียวสักพักและชวนฉันกวาดสายตาไปรอบๆ อืม…จะว่าไปสีเขียวนี่ทำให้สบายใจไม่น้อยเลยนะ

“ชอบธรรมชาติมาตั้งแต่กี่ขวบคะ ?” 

“10 ขวบครับ” อเล็กซ์มองต้นไม้ด้านข้างครู่หนึ่งและตอบกลับยิ้มๆ

เด็กชายอเล็กซ์เติบโตในประเทศไทยตั้งแต่ 4 ขวบ เวลาผ่านไป 6 ปี ครอบครัวไม่ห้ามให้เด็กชายอเล็กซ์เข้าไปผจญภัยในผืนป่า เขาได้เลอะเทอะ เสื้อผ้าเปื้อนดิน สูดกลิ่นธรรมชาติ และอยากมีต้นไม้เป็นเพื่อนจนออกหาพันธุ์ไม้ไปปลูกในรั้วบ้านบ้าง ความสนุกในตอนนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอายุของเขาในแต่ละช่วงวัย จนธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งการเข้าป่าไปดูแลช้าง เรียนรู้สิ่งมีชีวิตในป่าใหญ่ ได้เห็นความแตกต่างของพืชหลากชนิด หลากวงศ์ ในป่าหลายหนแห่ง นอกจากป่าแล้วทะเลภาคใต้ก็เป็นอีกสถานที่ที่เขาได้ไปผจญภัยตั้งแต่เด็ก

ในขณะที่การใช้ชีวิตในเมืองรายล้อมไปด้วยตึกสูง การจราจรติดขัด และความวุ่นวายของแสงสีโดยรอบ ยิ่งตอกย้ำให้ตัวเขารู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับสภาพสิ่งแวดล้อมแบบนั้นในช่วงที่เป็นนิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชีวิตในแต่ละวันวนลูปอยู่บนถนนเพื่อรอรถติด แย่งที่จอด หาข้าวกิน เจอคนเยอะ ผิดกับวิสัยของเขาที่ชอบอะไรเงียบๆ และเป็นส่วนตัว การได้แอบแวบไปอยู่กับธรรมชาติสักพักจึงเป็นเซฟโซนเล็กๆ ที่เยียวยาเขาได้ไม่น้อย

“ถ่ายละครในเมืองกับไปถ่ายแหล่งธรรมชาติ ทำให้การครีเอทตัวละครต่างกันมาก ในเมืองผมรู้สึกตัน ศักยภาพลดลง เพราะเต็มไปด้วยความอึดอัด แต่พออยู่กับธรรมชาติ วิวโปร่ง ผ่อนคลาย เหมือนได้บำบัดตัวเอง และมีแรงสร้างผลงานดีๆ ออกมา”

ฉันพยักหน้าเห็นด้วยกับอเล็กซ์ทุกประโยค เพราะในหัวตอนนั้นนึกถึงงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,500 คน ในรัฐวิสคอนซิน จาก 229 ย่าน โดยเปรียบเทียบระหว่างคนที่มีบ้านใกล้ชิดต้นไม้กับบ้านที่เต็มไปด้วยคอนกรีต พบว่าบ้านที่มีต้นไม้น้อยกว่า 10% รอบๆ เช่น ไม่มีการปลูกต้นไม้ตามระเบียง สวนหน้าบ้าน หรือมุมเล็กๆ อย่างห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ทำให้คนในบ้านมีอาการเศร้า เครียด หรือไม่สบายใจ มากกว่าเจ้าของบ้านที่โอบล้อมต้นไม้ไว้ใกล้ๆ


ชั้น 2: เติมปุ๋ย เทดิน ยกป่าขนาดย่อมมาไว้รอบบ้าน

ระหว่างที่อเล็กซ์กำลังจดจ่อกับการรดน้ำต้นไม้ใน Pocket Garden หรือสวนย่อมๆ ที่มองเห็นได้จากห้องนอนและห้องน้ำ พอเห็นความประณีตที่ค่อยๆ รดน้ำแล้ว ฉันเลยไม่พลาดถามเขาว่าบ้านที่อยู่กับคุณแม่ มีต้นไม้เยอะแบบนี้ไหม คำตอบน่ารักที่ได้คือสองแม่ลูกแบ่งหน้าที่กันคนละอย่าง คุณแม่รับหน้าที่เลือกพันธุ์ไม้ที่ท่านชอบ ส่วนอเล็กซ์มีหน้าที่ขุดและเอาต้นกล้าลงดิน ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้อเล็กซ์ชอบปลูกต้นไม้ก็มาจากคุณแม่นั่นแหละ เพราะตอนเด็กๆ คุณแม่จะพาเขาไปซื้อต้นไม้ด้วยเสมอ จึงได้เห็นคุณแม่จัดสวนหรือสวนหิน ทำให้รู้จักต้นไม้พันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น รู้วิธีเบื้องต้นว่าควรปลูกอย่างไร ปลูกส่วนไหนของบ้านถึงจะเหมาะ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงผูกพันกับธรรมชาติ

“ต้นไม้สำหรับผมไม่ใช่ของตั้งโชว์ แต่เป็นลูกของผม ที่ต้องคอยหล่อเลี้ยงให้เติบใหญ่ และยังเป็นเมมโมรี่การ์ดคอยเก็บความทรงจำ เพราะบางครั้งในแต่ละต้นที่ได้มาจากการซื้อเอง คนให้มา หรือได้จากการแสดงความยินดี มันคือความประทับใจที่มีคุณค่าทางใจกับผม”

การที่คุณแม่ปลูกฝังอเล็กซ์ให้รักธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เขาในฐานะผู้บริหาร EEC Thailand จึงมุ่งหวังสร้างความตระหนัก ความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ และไม่ลืมส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องพืชพันธุ์ที่เขาให้ความสำคัญ แต่เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ค้างคาวคุณกิตติ พะยูน เต่ามะเฟือง และฉลามวาฬในไทย เขาก็ไม่ลืมที่จะทำงานอย่างหนัก

“ถ้าวันหนึ่งมีลูก อยากปลูกฝังลูกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ?”

“จริงๆ ตอนนี้ผมก็มีลูกแล้ว เพราะต้นไม้ทุกต้นที่ผมเลี้ยงพวกเขาอยู่ คือเด็กๆ ในบ้านที่ต้องคอยฟูมฟักให้เติบใหญ่และเต็มไปด้วยความผูกพัน ฉะนั้นเวลาผมจะบอกให้ใครปลูกต้นไม้ผมอยากให้เขามองต้นไม้มีชีวิตเหมือนลูกแท้ๆ ไม่ใช่เอามาเลี้ยงแล้วไม่ดูแล” เขาตอบชัดจริงจัง

สำหรับลูกจริงๆ (ในฐานะพ่อคน) อเล็กซ์บอกทันทีโดยแทบไม่หยุดคิดว่าเขาอยากให้ลูกของเขาในอนาคตได้คลุกคลีธรรมชาติ กลิ้งบนสนาม จับดินเลอะเทอะไปพร้อมๆ กับพ่ออย่างเขา เพื่อเพิ่มทักษะชีวิตให้กับลูก ได้ออกแรงจับเสียม จับพรวนปลูกต้นไม้ไปด้วยกัน หากิจกรรมมาเล่นกับลูกในสนามหน้าบ้าน ซึ่งจะดีทั้งทางร่างกาย ได้ฝึกสมองและวิธีคิดที่ส่งผลดีต่อครอบครัวในอนาคต


*Alex’s Tricks: ทริคจากมือเก่าสู่มือใหม่หัดปลูก

1. มองหาพื้นที่ในบ้านและชนิดพันธุ์พืชของต้นไม้ที่อยากปลูกให้ดีก่อน เพราะต้นไม้ปลูกในบ้านและนอกบ้านนั้นต่างกัน บางชนิดปลูกในบ้านไม่ได้เพราะต้องอยู่กับแสงแดด บางชนิดอยู่นอกบ้านได้แปปเดียว เพราะอยู่กับแสงแดดได้ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน หรือบางชนิดก็ไม่ต้องอยู่กับแสงแดดเลย

2. ศึกษาวิธีดูแลอย่างเฉียบขาด เพราะแต่ละต้นมีวิธีรดน้ำที่ต่างกัน ทั้งปริมาณ และช่วงเวลาที่เหมาะสม (บางชนิดรดน้ำมากเกินไปอาจตายได้เลย) รวมไปถึงการตัด การตกแต่ง มีเทคนิคค่อนข้างเยอะ ถ้าทำผิดก็จะเป็นเแผลและตายได้เช่นกัน


ชั้น 3: ปอดสีเขียวสำคัญไฉน

“พื้นที่สีเขียวเป็นปอดของคน ทำให้มีสภาพอากาศที่ดีไว้หายใจ ซึ่งการใช้ชีวิตของเราส่งผลต่อระบบนิเวศแน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ได้เยอะเท่าที่ควร การปลูกต้นไม้ในบ้านก็เป็นเรื่องดีที่จะส่งผลต่อตัวเองและคนรอบข้าง”

สิ่งที่อเล็กซ์บอกว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ได้เยอะเท่าที่ควรนั้นไม่เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีเพียง 38 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.4% เท่านั้น และหากนับรวมประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ ราว 11 ล้านคน จะมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 3.5-3.8 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน

“สถิติที่ว่ามาบ่งบอกได้เลยว่าความหลากหลายทางชีวภาพมันได้สูญเสียไป พื้นที่สีเขียวน้อยลงไปเรื่อยๆ มีผลต่อสภาพจิตใจของสังคมโดยรวมแน่นอน แต่บางคนยังเข้าใจว่าธรรมชาติกับมนุษย์เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งไม่จริง พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งให้เราเติบโต

“พวกเขาเป็นทั้งปอดให้เราหายใจสะดวก ซึมซับคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการโลกร้อนได้ดี ช่วยลดมลพิษทางอากาศ Climate Change และช่วยลดมลพิษทางเสียงในเมืองได้ด้วย

“ถ้าไม่ช่วยกันดูแลธรรมชาติ จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาเศรษฐกิจ ชาวบ้าน ชาวเขา ชาวดอย จะหากินลำบาก เพราะธรรมชาติสูญเสีย คนในเมืองจะหาอาหารการกินได้ยาก กลายเป็นชีวิตที่ไร้ human nature”

ฟังน้ำเสียงและท่าทางของอเล็กซ์ขณะพูดพลางมองท้องฟ้าสูงตรงระเบียงที่เต็มไปด้วยกระถางต้นไม้น้อยใหญ่คอยเป็นกำลังใจให้อเล็กซ์อยู่ข้างๆ ฉันรับรู้ได้ถึงความตั้งใจจริงของเขาและไม่แปลกใจว่าทำไมโครงการผลิตนักสิ่งแวดล้อมคืนสู่สังคมอย่าง ‘กอดป่ากอดทะเล’ ของเขาถึงมีแนวคิดว่า “มนุษย์และธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน” ซึ่งไม่ใช่อเล็กซ์อินและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมคนเดียวแล้วจะช่วยโลกได้ แต่ประชากรทุกๆ คนต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ผืนป่าและทะเลไว้ให้คงอยู่ เพราะหลายหัวดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้วนี่หน่า ! ฉันเชื่อว่าการที่เขาได้ลงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะช่วยให้หลายๆ คนเกิดความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นแน่นอน


ชั้นพิเศษ: เมื่อธรรมชาติอยู่ในบ้านกลางเมือง

Energy หรือ พลังของอเล็กซ์ เริ่มตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วได้กวาดสายตามองดูระเบียงที่เต็มไปด้วยกระถางต้นไม้สบายตา เหลือบไปมองอีกนิดได้เจอ Pocket Garden ที่พร้อมให้เขาได้เดินไปรดน้ำต้นไม้ ฟังเสียงนกร้องทักทาย และได้สูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า เขาก็เชื่อว่านี่แหละคือวิธีเติมพลังความสดชื่นตั้งแต่ที่บ้าน ก่อนออกไปทำเรื่องดีๆ ในแต่ละวัน

ก่อนแยกย้ายจากกันอเล็กซ์พาเดินสำรวจที่ ‘บ้านกลางเมือง’ ทาวน์โฮม 3 ชั้น ขนาด 152 ตร.ม ที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบจากสวนในขวดแก้ว (Terraria Model) อย่างสอดคล้องกับการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อเล็กซ์พาฉันเดินสำรวจภายในบ้านทั้ง 3 ขั้น และยืนยันอีกครั้งว่า พื้นที่สีเขียว คือสิ่งที่มอบพลังบวกให้คนเมืองได้ออกไปใช้ชีวิต

“เพราะการเลือกบ้าน หรือทำเลที่อยู่อาศัย ใกล้สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ จะช่วยเติมเต็มพลังการใช้ชีวิตได้”

ชั้นที่ 1 พื้นที่ต้นไม้หลังบ้านและสวนข้างบ้าน บริเวณห้องนั่งเล่นและห้องกินข้าว ที่ช่วยเพิ่มความผ่อนคลายให้ช่วงเวลาพักผ่อนมีคุณภาพมากขึ้น

ชั้นที่ 2 Pocket Garden ให้คุณสร้างสวนขนาดย่อมในบ้าน เป็นสวนสีเขียวลอยฟ้าที่เชื่อมจากห้องนอนให้คุณมองเห็นเป็นวิวแรกที่ตื่นมาทุกเช้า และสามารถเป็นวิวใกล้ห้องน้ำที่ช่วยถ่ายเทอากาศหมุนเวียน

และชั้นที่ 3 Greenery Balcony หรือ ระเบียงต้นไม้ข้างเตียง ที่ทำให้คุณได้ใกล้ชิดธรรมชาติตั้งแต่ลืมตาในเช้าวันใหม่

สุดท้ายและท้ายสุด อเล็กซ์เน้นย้ำกับฉันว่าการสร้างป่าขนาดย่อส่วนไว้ในบ้าน ทำให้ความรู้สึกวุ่นวายในเมือง ทุเลาลงไปพร้อมกับความคิดถึงป่า อุทยานธรรมชาติ แหล่งธรรมชาติ หรือพื้นที่สีเขียวนอกบ้านในวันที่ไม่ได้ไป และสุดท้ายเขาก็ไม่ลืมชักชวนคนทุกคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ว่ามาปลูกต้นไม้กันเยอะๆ เถอะ

สิ่งหนึ่งที่อเล็กซ์อยากฝากทุกคน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อไปว่า เราสามารถสร้างป่าขนาดย่อส่วนไว้ในบ้านได้ง่ายๆ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย และชวนคิดถึงป่า คิดถึงธรรมชาติ แม้ในวันที่เราไม่ได้ออกไปสัมผัส แต่สุดท้ายก็ได้อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ในบ้านได้ทุกวัน

“บางคนมองว่าการนำต้นไม้มาปลูก มันคือการดูแลเขา แต่จริงๆ แล้ว ต้นไม้ช่วยดูแลเรามากกว่าที่คิด”

สัมผัสวิถีบ้านกลางเมือง ให้ธรรมชาติอยู่ใจกลางบ้านในทำเลดีทั่วกรุงเทพฯ กว่า 20 โครงการ เพราะธรรมชาติจะฟื้นฟูกายและใจของทุกๆ คนอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีในวิถีบ้านกลางเมือง เพื่อรองรับทุกการใช้ชีวิตที่ต้องการ https://bit.ly/3lpZh9J


Sources:
พื้นที่สีเขียวมีผลต่อสภาพจิตใจ | https://bit.ly/35M0Bx0
ตัวเลขพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ | https://bit.ly/3oAUDrs

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.