The Lady ออง ซาน ซูจี - Urban Creature

ข่าวฝูงชนชาวเมียนมาปะทะแก๊สน้ำตา ภาพที่ประชาชนหมอบลงกับพื้น เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางและกระสุนจริง ใส่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร คนเมียนมาถูกปลิดชีวิตมากถึง 38 คนภายในวันเดียวเมื่อ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา วันที่ UN ใช้คำว่า ‘วันนองเลือดที่สุด’ นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. หลังจากออง ซาน ซูจี ถูกทหารควบคุมตัวและกองทัพเข้ายึดอำนาจจนถึงตอนนี้ พวกเขาสูญเสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปแล้วอย่างน้อย 50 คน หนึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กชายอายุเพียง 14 ปี

หันมาดูสถานการณ์บ้านเรา ก็กำลังตกที่นั่งเดียวกับเมียนมา เสมือนพี่น้องร่วมชะตากรรม ในขณะที่รู้สึกสะเทือนใจ ฉันเกิดคำถามกับตัวเองว่า “รู้จักเมียนมาดีแค่ไหน” ใช่อย่างที่หนังสือเรียนเขียนไว้ไม่กี่ย่อหน้าหรือเปล่า หรือมีแค่มุมที่เราเห็นผ่านหนังหรือละครไทย ซึ่งผลิตซ้ำประวัติศาสตร์เมียนมาสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีคิดแบบชาตินิยม ปลูกฝังทัศนคติอันคับแคบที่คนไทยมีต่อเมียนมามายาวนาน

มาเปิดมุมมองเมียนมาประเทศเพื่อนบ้านที่เรารู้จักไม่ถึงเสี้ยวในมุมที่หนังสือเรียนไม่เคยบอก ผ่านหนังและสารคดี 8 เรื่อง ที่จะพาไปเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม การเมืองของเมียนมาให้ลึกขึ้น

01 | My Buddha Is Punk
ชาวพุทธวิถีพังก์ผู้เรียกร้องสันติและสิทธิมนุษยชน


ปี 2015 (เยอรมนี)
ประเภท : ภาพยนตร์สารคดี
ผู้กำกับ : Andreas Hartmann

พังก์ในภาพจำอาจเป็นผมทรงโมฮอว์ก การเจาะหู หรือคำหยาบคาย สารคดีเรื่องนี้จะทำให้เราเห็นอีกมุมของชาวพังก์ในเมียนมาที่บางเวลาก็เข้าวัดศึกษาพระธรรมคำสอน สารคดีพาไปดูชีวิตในแต่ละวันของ ‘จ่อว์จ่อว์’ วัยรุ่นเมียนมาฟรอนต์แมนแห่งวง The Rebel Riot ในสังคมวิถีพุทธเขาคือชาวพุทธตัวอย่างที่เชื่อว่าพุทธและพังก์มีสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวกัน คืออิสรภาพและการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังใช้อุดมการณ์ที่เขายึดมั่นเรื่องสันติภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นแรงขับเคลื่อนให้ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สังคม แม้เมียนมาเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการทหารมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว (แต่ไม่เคยเต็มใบ) ถึงประเด็นชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งทางศาสนา การศึกษา การพัฒนาประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแสดงออกของพวกเขา

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=DnR1e0Vq8-Y
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Vimeo On Demand | vimeo.com/ondemand/mybuddhaispunk

02 | The Lady ออง ซาน ซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ
กล้วยไม้เหล็กแห่งเมียนมาเพื่อประชาธิปไตย


ปี 2011 (ฝรั่งเศส/สหราชอาณาจักร)
ประเภท : ภาพยนตร์
ผู้กำกับ : Luc Besson

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ออง ซาน ซูจี’ คือสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา หนังเรื่องนี้บอกเล่าช่วงชีวิตของออง ซาน ซูจี เมื่อผู้เป็นพ่ออย่างนายพล ออง ซาน ถูกทหารสังหารตั้งแต่เธออายุได้ 2 ขวบ เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับแม่ เติบโตและมีครอบครัวในต่างประเทศ กระทั่งวันที่เธอกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนจึงเลือกทิ้งชีวิตซึ่งเพียบพร้อมด้วยสามีและลูกๆ มาเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้เธอจะถูกกักขังในบ้านพักรวมแล้วกว่า 21 ปี ท่ามกลางสภาวะกดดันและโดดเดี่ยว เธอกลับเสียสละตัวเองและต่อสู้ด้วยสันติอหิงสาจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรี ซึ่งนอกจากจะได้เห็นความกล้าหาญของผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยวทรงพลัง และความรักของสามีที่พร้อมเสี่ยงชีวิตปกป้องแม้ตัวต้องอยู่ห่าง หนังเรื่องนี้ยังชวนให้ขบคิดว่า “คุณมีอิสระที่จะเลือกนะ ระหว่างสามีและลูกๆ หรือประเทศชาติ” นั่นคือชีวิตที่เลือกได้จริงๆ หรือ

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=Xu_NsKipyao&t=3s
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Monomax | www.monomax.me/inter-movies/drama/10130_TheLady.html

03 | From Bangkok to Mandalay ถึงคน…ไม่คิดถึง 
แกะรอยจดหมายรักยุคเผด็จการทหาร


ปี 2016 (ไทย/เมียนมา)
ประเภท : ภาพยนตร์
ผู้กำกับ : ชาติชาย เกษนัส

หนังรักที่เปิดเรื่องด้วยการที่ ‘ปิ่น’ ต้องทำตามคำสั่งเสียของคุณย่าโดยการเปิดผนึกจดหมายรักฉบับเก่าตามสถานที่ต่างๆ บนหน้าซอง เธอจึงต้องออกเดินทางไปทั่วเมียนมาซึ่งกลายเป็นฉากหลังสวยๆ ของหนังเรื่องนี้ อีกทั้งหนังยังดำเนินเรื่องราวปัจจุบันขนานไปกับวันวานอันศิวิไลซ์ของเมียนมาเมื่อ 50 ปีก่อน ตรงกับยุคที่นายพล เน วิน ซึ่งนิยมความเป็นตะวันตก เป็นผู้นำประเทศในปี 1958 ก่อนจะทำการรัฐประหารอีกครั้งในปี 1962 และปิดประเทศ ซึ่งเป็นการปิดฉากความรักของ ‘ธูซา’ และ ‘นันดะ’ ไปด้วย ข้อความในจดหมายค่อยๆ เผยความลับในอดีตของความรักต่างฐานันดร ซึ่งในตอนหนึ่งผู้กำกับได้หยิบยกนิยายเรื่อง ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ โดย ‘ธูซา’ หญิงสาวชนชั้นล่างจากบ้านเด็กกำพร้า ต้องปะทะคารมกับแม่ของ ‘นันดะ’ ลูกชายเศรษฐีผู้เป็นคนรัก ในงานเลี้ยงวันเกิดแม่ของเขา ถือเป็นซีนที่วิพากษ์ระบบศักดินาของเมียนมาได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=f-h8A47d-j0
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Doc Club on Demand | vimeo.com/ondemand/frombangkoktomandalay
หรือสั่งซื้อ DVD ได้ทางเพจ ถึงคน..ไม่คิดถึง

04 | Twilight Over Burma สิ้นแสงฉาน
เจ้าหญิงรัฐฉานก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง


ปี 2015 (ออสเตรีย)
ประเภท : ภาพยนตร์
ผู้กำกับ : Sabine Derflinger

หนังที่เล่าเรื่องเมียนมาและถ่ายทำในไทยแต่ถูกสั่งห้ามฉายในทั้งสองประเทศ เป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน ซึ่งแต่งขึ้นจากโศกนาฏกรรมรักระหว่าง ‘อิงเง่ ซาเจนท์’ นักศึกษาสาวชาวออสเตรียซึ่งไปเรียนแลกเปลี่ยนที่โคโลราโด สหรัฐอเมริกา และพบรักกับหนุ่มนักศึกษาวิศวกรรมเหมืองแร่ชาวเมียนมา เธอไม่รู้มาก่อนว่าเขาคือ ‘เจ้าจาแสง’ เจ้าฟ้าของเมืองสีป้อแห่งรัฐฉาน ดินแดนปกครองตนเองของชาวไทใหญ่ที่ไม่ต้องการรวมชาติกับเมียนมา แต่อุปสรรคความรักไม่ใช่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือฐานันดร หากเป็นความโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อนายพล เน วิน ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน กระทำการสังหารเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่เมียนมา เด็กและหญิงชาวบ้านในรัฐฉานถูกข่มขืนอย่างทารุณจากทหารเมียนมา เจ้าฟ้าจากรัฐต่างๆ ถูกจับไปคุมขังที่คุกอินเส่งในย่างกุ้ง ส่วนเจ้าจาแสง เจ้าฟ้าเมืองสีป้อ ถูกบังคับสาบสูญโดยที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ความเป็นไป

แม้หนังเรื่องนี้จะถูกแบนในไทย แต่ยังพอหาหนังสือ ‘สิ้นแสงฉาน’ ฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชนที่แปลจากต้นฉบับ ‘Twilight Over Burma : My Life as a Shan Princess’ ปี 1994 อ่านได้

05 | Soil Without Land ดินไร้แดน
ชีวิตไร้อิสรภาพของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-เมียนมา


ปี 2019 (ไทย)
ประเภท : ภาพยนตร์สารคดี
ผู้กำกับ : นนทวัฒน์ นำเบญจพล 

ชายแดนไทย-เมียนมาในความรู้สึกของคนทั่วไปอาจเป็นพื้นที่อันตราย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนยาเสพติดหรือเสียงปืน แต่สารคดีเรื่องนี้เลือกนำเสนอความไร้ตัวตนและไร้อิสรภาพของชนกลุ่มน้อย เมียนมามีกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 60 เชื้อชาติ หมู่บ้านของพวกเขาถูกเผาทำลาย บังคับโยกย้าย และมีผู้ลี้ภัยในประเทศนับไม่ถ้วน สารคดีเล่าผ่าน ‘จาย แสงลอด’ หนุ่มชาวไทใหญ่ที่รับจ้างทำงานอยู่ร้านอาหารในไทย ซึ่งถูกส่งตัวกลับเพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ชายไทใหญ่ทุกคนยังถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพปลดปล่อยรัฐฉาน เพราะความขัดแย้งที่เมียนมาลงนามในสนธิสัญญาจะให้ไทใหญ่แยกตัวเป็นดินแดนอิสระแต่ไม่ทำตามสัญญา ซึ่งเป็นเหตุผลให้ไทใหญ่มองชาติเมียนมาเป็นศัตรู และรวบรวมกองกำลังเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากเมียนมา แต่นั่นกลับปิดกั้นความฝันของเหล่าทหารที่ไม่มีสิทธิ์เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง ได้แต่กัดฟันสู้กับชีวิตในค่ายทหารเพียงเพื่อกินอิ่มนอนหลับโดยไม่ต้องถูกลงโทษ

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=32Fh67tRnso
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Vimeo On Demand | vimeo.com/ondemand/soilwithoutland

06 | Burma VJ (Burma Video Journalists)
ประวัติศาสตร์การชุมนุมกับเสรีภาพทางสื่อ


ปี 2008 (เดนมาร์ก)
ประเภท : ภาพยนตร์สารคดี
ผู้กำกับ : Anders Østergaard

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมียนมาตอนนี้ทำให้ฉันต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อปี 2007 ที่กลุ่มพระสงฆ์รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร เนื่องจากไม่อาจทนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนจากการบริหารงานของรัฐที่ล้มเหลว หรือเรียกว่า ‘ปฏิวัติชายจีวร’ (Saffron Rebellion) ฝั่งทหารเลือกที่จะใช้ความรุนแรงสกัดกั้นม็อบแบบไม่สนโลก ซึ่งเหตุการณ์นี้มีภาพฟุตเทจโดยสื่อพลเมืองในช่วงเวลาที่สื่อหลักสื่อรองถูกปิดกั้นเสรีภาพ ที่ผู้กำกับนำมาร้อยเรียงเป็นสารคดีที่กวาดรางวัลจากหลายสถาบัน และเคยเข้าชิงออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมมาแล้ว โดยสารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘โจชัว’ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งเมียนมา (Democratic Voice of Burma หรือ DVB) ที่ลักลอบใช้กล้องดิจิทัลถ่ายวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ และแอบส่งไปยังสำนักข่าวใหญ่ๆ ในหลายประเทศเพื่อตีแผ่ความจริงสู่โลกภายนอก แม้ว่านักข่าวจำนวนมากจะถูกจับกุมและถูกยิงเสียชีวิต

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=t2uuECXPL-w
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Vimeo On Demand | vimeo.com/ondemand/reportingfrom/162252514

07 | The Road to Mandalay
ความรันทดของแรงงานเมียนมาในไทย


ปี 2016 (ไต้หวัน/ฝรั่งเศส/เยอรมนี/เมียนมา)
ประเภท : ภาพยนตร์
ผู้กำกับ : Midi Z

หนังสะท้อนชีวิตอันลำเค็ญของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายชาวเมียนมา ผ่านสายตาของผู้กำกับลูกครึ่งเมียนมา-ไต้หวัน ที่ได้รับรางวัลมากมายจากหนังเรื่องนี้ หนังเล่าเรื่องของ ‘อากู่’ และ ‘เลี่ยนชิง’ แรงงานชาวเมียนมาเชื้อชายจีนจากเมืองล่าเสี้ยวในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่หนีเข้ามาทำงานในไทย อากู่ตั้งใจจะทำงานเก็บเงินจากโรงงานทอผ้าเพื่อกลับไปค้าขายที่บ้านเกิด ส่วนเลี่ยนชิงเลือกเดินเข้าสู่วงจรค้าประเวณีที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า เพื่อแลกกับความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าในไต้หวัน เนื้อหาเผยให้เห็นความอยุติธรรมและความโสมมที่คนบางกลุ่มพยายามปฏิเสธ ตั้งแต่การลักลอบพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย การกดขี่ข่มเหงและเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง ไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดหาบัตร หรือการสวมสิทธิ์บัตรประชาชน ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=hk1HemHdEk0
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : Vimeo On Demand | vimeo.com/ondemand/theroadtomandalay

08 | We Were Kings (Burma’s Lost Royals)
ย้อนรอยกษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมา


ปี 2017 (สหราชอาณาจักร)
ประเภท : ภาพยนตร์สารคดี
ผู้กำกับ : Alex Bescoby 

สารคดีที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสภาพสังคมเมียนมาในปัจจุบัน พาเราไปย้อนรอยกษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมา เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองประเทศในปี 1885 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่พระราชินีวิกตอเรีย และเนรเทศพระเจ้าธีบอกับพระมเหสีพร้อมพระธิดาไปพำนักที่อินเดีย นับเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ที่ยาวนาน หลังตกเป็นอาณานิคมเมียนมาก็อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและสงครามกลางเมือง เหล่าพระราชวงศ์ก็ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา โดยผู้กำกับ Alex Bescoby ใช้เวลาถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ถึง 3 ปี และติดตามเรื่องราวของ ‘U Soe Win’ พระราชปนัดดา (เหลน) ของพระเจ้าธีบอ ที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติเมียนมา ซึ่งมีความคิดจะอัญเชิญพระศพของพระเจ้าธีบอที่ถูกฝังไว้ที่อินเดียกลับมาทำพิธีที่เมียนมา แม้ญาติพี่น้องที่เป็นเชื้อพระวงศ์จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ตัวอย่างภาพยนตร์ : www.youtube.com/watch?v=Bx08cqbuCqk
รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง : YouTube | www.youtube.com/watch?v=BWFOr47_dao

ขอขอบคุณ Documentary Club ที่ช่วยแนะนำช่องทางการรับชม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.