5 หนังสะท้อนชีวิตผู้หญิงในศตวรรษที่ 19 - Urban Creature

“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลําบาก”
“มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” 


สำนวนสุดล้าหลังที่กล่าวโทษเพศกำเนิดเพียงแค่เกิดมาเป็นหญิง ค่านิยมที่ตีกรอบความเป็นสตรีเพศและบรรทัดฐานที่ขีดเส้นขึ้นโดยชาย ยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันแม้จะผ่านมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย กระทั่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ที่ค่อยๆ ขยายกรอบของผู้หญิงให้กว้างขึ้น จนมาวันนี้ ‘เฟมินิสต์’ ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกร้องเพื่อผู้หญิงเท่านั้น หากยังแทนความเท่าเทียมอย่างไม่จำกัดเพศ

Urban’s Pick อยากชวนคุณย้อนยุคผ่านภาพยนตร์และซีรีส์ 5 เรื่องบน Netflix ที่ฉายชีวิตของผู้หญิงท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ในศตวรรษที่ 19 ซึ่งห่างไกลจากคำว่าอิสระทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเข้าใจหัวอกผู้หญิงว่าทำไมจึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเองและคนรุ่นหลัง

01 Anne with an E (2017 – 2019)


แนว : ชีวิต | ความยาว : 3 ซีซัน

ซีรีส์ที่กระแสตอบรับดีจนทำออกมาถึง 3 ซีซัน อย่าง ‘Anne with an E’ เรื่องราวของ ‘แอนน์’ เด็กหญิงกำพร้าวัย 13 ปี ที่ย้ายมาอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ของสองพี่น้อง ‘คัทเบิร์ต’ ตอนแรกพวกเขาตั้งใจจะรับเลี้ยงเด็กผู้ชายเพื่อมาช่วยงานในไร่ แอนน์จึงต้องพิสูจน์ว่าเธอทำได้ทุกอย่างไม่แพ้ผู้ชาย และคืนชีวิตชีวาให้บ้าน ‘กรีนเกเบิลส์’ ท่ามกลางบรรยากาศละมุนละไมด้วยแสงแดดและต้นไม้ใบหญ้าในชนบทของแคนาดาช่วงปี 1896

เด็กสาวผมแดง ใบหน้าเต็มไปด้วยกระ ช่างพูด ช่างจินตนาการ พกความฉลาดสดใสไปด้วยทุกที่ แต่ลึกๆ แล้วเธอมีปมในใจที่ทำให้มีนิสัยหุนหันจนบางครั้งถูกมองว่าก้าวร้าว โชคดีที่ครอบครัวคัทเบิร์ตช่วยกันประคับประคองแอนน์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันก็อ่อนน้อมและเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

เนื้อเรื่องดำเนินไปพร้อมกับแอนน์ที่ค่อยๆ เติบโตทั้งอายุและความคิด ผ่านอุปสรรคมากมายทั้งการปรับตัวในโรงเรียน การถูกบุลลี่จากการเป็นตัวของตัวเองซึ่งทำให้เธอแตกต่างจากคนอื่น กระทั่งเธอเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่เธอเป็น จนได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ แอนน์ยังเป็นตัวแทนของสาวน้อยหัวขบถที่รักการอ่าน แถมมีบุ๊กคลับลับๆ ไว้เป็นที่ซ่อนตัวเขียนหนังสือ ในยุคสมัยที่ใครก็เชื่อว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง แอนน์กลับให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นที่หนึ่ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน

ไม่เพียงการข้ามผ่านช่วงวัยของแอนน์ที่ดึงดูดให้เราคอยเอาใจช่วย หากยังมีเส้นเรื่องของตัวละครอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่าง ‘มิสสเตซี่’ ครูสาวแม่ม่ายผู้แหวกขนบเดิมๆ ด้วยการสวมกางเกงขี่มอเตอร์ไซค์ประดิษฐ์เอง ‘ป้าโจเซฟีน’ กับชีวิตรักในมุมมองหลากหลายทางเพศ หรือ ‘ไดอาน่า’ เพื่อนรักของแอนน์ที่หนีการถูกส่งตัวไปเรียนการเป็นภรรยาที่ดีในฝรั่งเศสแล้วเลือกเรียนต่อตามความฝัน

นอกจากนี้ ยังสอดแทรกประเด็นทางเพศอื่นๆ ไว้อย่างกลมกล่อม ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่างการพูดถึงประจำเดือนของผู้หญิงที่กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและความสงสัยในเรื่องต่างเพศ การแต่งงานของเด็กสาวที่ต้องแลกกับการมีชีวิตอิสระ ความยินยอมพร้อมใจของผู้หญิงในการมีเซ็กซ์ การออกมาส่งเสียงเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ การมีสิทธิ์มีเสียงของผู้หญิงในสภาชุมชน ไปจนถึงการเหยียดเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ หรือชนชั้นฐานะ

02 Bridgerton (2020)


แนว : โรแมนติก/ชีวิต | ความยาว : 1 ซีซัน

ซีรีส์ที่มาแรงสุดในตอนนี้คงเป็นเรื่องไหนไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ ‘Bridgerton’ ย้อนกลับไปยังยุครีเจนซี่ ปี 1813 ต้นกำเนิดของคำว่า ‘ผู้ดีอังกฤษ’ ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อฤดูกาลหาคู่มาถึง สาวๆ ชนชั้นสูงจะต้องเข้า ‘พิธีเดบูตองต์’ หรืองานเต้นรำเปิดตัวสาวแรกแย้มเพื่อหาคู่หมั้นสูงศักดิ์เพื่อเป็นหน้าเป็นตาแก่วงศ์ตระกูล โดยมีตัวเต็งอย่าง ‘ดาฟนี่’ ลูกสาวคนโตของครอบครัวบริดเจอร์ตัน ที่เกิดความรักวุ่นๆ กับ ‘ดยุคเฮสติงส์’ ผู้เป็นที่หมายปองของบรรดาแม่ๆ คอยจ้องจับคู่ให้ลูกสาว

เรื่องรักโรแมนติกภายใต้คฤหาสน์หรูของตระกูลมีอันจะกิน และมีเวลาเหลือเฟือที่จะจิบชายามบ่าย สุนทรีย์กับศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ไปจนถึงเครื่องแต่งกายฟู่ฟ่า กลับแฝงไปด้วยค่านิยมที่ตีกรอบผู้หญิงยุคนั้น สิ่งที่พวกเธอถูกบีบบังคับยิ่งกว่าการใส่รัดทรงที่เรียกว่า ‘คอร์เซต’ คือการให้คุณค่าหรือตีราคาจากความสวย ความอ่อนหวาน เจียมเนื้อเจียมตัว เพียบพร้อมด้วยกิริยามารยาท

รวมถึงบทบาททางเพศที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนาระหว่างแม่กับดาฟนี่ในวันแต่งงาน ซึ่งสอนลูกสาวก่อนส่งเข้าเรือนหอว่า “การแต่งงานคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต ผู้หญิงต้องออกเรือน มีลูกที่น่ารัก มีบ้านช่องให้ดูแล และได้อุทิศตนให้ครอบครัวที่อบอุ่น” แต่นิยามชีวิตแสนสุขนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือปิดกั้นความฝัน ความคิด และความสามารถของผู้หญิง

อีกตัวละครสำคัญอย่าง ‘เอโลอีส’ น้องสาวคนรองที่ไม่ได้ฝันอยากใส่ชุดแต่งงาน แต่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียน คืนหนึ่งเธอแอบออกไปสูบบุหรี่ซึ่งขัดกับความเป็นกุลสตรี และบังเอิญพี่ชายเข้ามาเห็น เธอจึงพูดกับเขาว่า “ผู้ชายสามารถเดินตามความฝันหรือทำตามใจตัวเอง ขณะที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสแม้แต่จะเรียนหนังสือและไม่มีสิทธิ์เลือกชีวิตที่ต้องการ” เพราะถึงแม้พวกเธอต้องจำใจแต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก อาจดีกว่าการต้องขึ้นคานและถูกมองว่าไร้ค่า

03 Little Women (2019)


แนว : โรแมนติก/ชีวิต | ความยาว : 2 ชม. 15 นาที

ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่องดัง ‘Little Women’ กับเวอร์ชันล่าสุดที่เข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขา เรื่องราวของสี่สาวพี่น้องครอบครัวมาร์ชที่อาศัยอยู่กับแม่ ณ บ้านหลังน้อยในรัฐแมสซาชูเซตส์ ท่ามกลางสงครามกลางเมืองของอเมริกาช่วงปี 1861 – 1865 ที่พ่อต้องออกไปร่วมรบ พวกเธอจึงได้รับความเกื้อหนุนจากชายผู้ร่ำรวยซึ่งอยู่บ้านตรงข้าม จนสนิทสนมกับทายาทตระกูลลอว์เรนซ์อย่าง ‘ธีโอดอร์’

แม้ทั้งสี่จะเติบโตมาด้วยกันแต่ก็มีนิสัยส่วนตัวและความฝันที่ต่างกันไป ‘เม็ก’ พี่สาวคนโตฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวที เธอมีความอ่อนหวาน เป็นกุลสตรี ‘โจ’ น้องสาวคนรองฝันอยากเป็นนักเขียน มีบุคลิกห้าวหาญฉีกจากนิยามความเป็นหญิง น้องสาวคนต่อมา ‘เบ็ธ’ ผู้รักการเล่นเปียโนแต่ร่างกายไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก และน้องสาวคนสุดท้อง ‘เอมี่’ ใฝ่ฝันอยากเป็นจิตรกรด้วยความมุ่งมั่นและเอาแต่ใจ

หนังพาเราไปเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องแต่ละคน ภายใต้ค่านิยมที่วัดความสำเร็จของผู้หญิงจากการได้แต่งงาน ตัวละครหลักอย่างโจประกาศกร้าวว่าไม่ต้องการผู้ชาย และมีเป้าหมายชัดเจนสู่เส้นทางนักเขียน ในขณะที่เม็กคิดกลับกัน ความฝันสูงสุดของเธอคือการได้แต่งงาน มีครอบครัว ซึ่งเธอก็มีสิทธิ์เลือกเช่นนั้นและไม่ควรมีใครไปตัดสิน อย่างที่เธอพูดไว้ในตอนหนึ่งว่า “แค่เพราะความฝันของฉันแตกต่างจากเธอ ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญ”

ส่วนเอมี่ดิ้นรนฝึกฝนตัวเองเพื่อจะเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียง แต่การเป็นผู้หญิงในโลกศิลปะที่เต็มไปด้วยผู้ชายนั้น ยากที่จะได้รับการยอมรับ หนทางที่เธอจะมีฐานะที่ดีขึ้นคือการแต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวย ซีนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและทำให้คนดูน้ำตาซึม คือประโยคที่เอมี่พูดกับธีโอดอร์ว่า

“ฉันเป็นแค่ผู้หญิง และการเป็นผู้หญิงไม่มีทางที่จะหาเงินพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ถึงแม้ฉันจะหาเงินเองได้ เงินก็จะตกเป็นของสามีตั้งแต่นาทีแรกที่เราแต่งงานกัน ถ้าเรามีลูก ลูกก็จะเป็นของสามี ไม่ใช่ของฉัน ดังนั้นอย่ามาบอกฉันว่า การแต่งงานไม่ใช่เรื่องของเงิน มันอาจไม่จริงสำหรับคุณ แต่มันจริงสำหรับฉัน”

04 Enola Holmes (2020)


แนว : สืบสวน/ผจญภัย | ความยาว : 2 ชม. 3 นาที

สำหรับใครที่ชื่นชอบหนังแนวไขคดีหรือเป็นแฟนตัวยงของ เชอร์ล็อก โฮล์ม ต้องไม่พลาดการผจญภัยของสาวแก่นกะโหลกอย่าง ‘อีโนลา’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Enola Holmes’ น้องสาวของ ‘เชอร์ล็อก โฮล์ม’ นักสืบผู้โด่งดัง เธอกำพร้าพ่อตั้งแต่เล็ก ส่วนพี่ชายอย่าง ‘เชอร์ล็อก’ และ ‘ไมครอฟต์’ ก็ออกจากบ้านไปนานจนจำน้องสาวแทบไม่ได้ และในวันเกิดครบรอบ 16 ปี แม่ของเธอก็หายไปอีกคน!

อีโนลาเติบโตมากับแม่ที่ไม่เหมือนใคร เธอไม่ได้ฝึกเย็บปักถักร้อย แต่มีแม่เป็นครูสอนวิชาความรู้ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กีฬา และการต่อสู้ ทั้งยังสอนให้เธอรักอิสระและเลือกอนาคตด้วยตัวเอง อีโนลาต้องเรียนโฮมสคูลจึงไม่มีเพื่อน ช่างเป็นเด็กสาวที่โดดเดี่ยวเหมือนชื่อที่แม่ตั้งให้ เพราะมันสะกดย้อนหลังเป็นคำว่า ‘alone’

พี่ชายทั้งสองจึงต้องเป็นผู้ปกครองชั่วคราวของอีโนลา และต้องการให้เธอเข้าโรงเรียนการเรือน แต่เธอก็หัวรั้นพอจะหนีออกจากบ้านจับรถไฟไปตามหาแม่ ปลอมตัวสารพัดเพื่อสืบหาเรื่องราวไปทั่วลอนดอน จนได้ล่วงรู้ความลับที่แม่ไปมีส่วนข้องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์เลือกตั้งของสตรีในปี 1884 ซึ่งตรงกับเหตุการณ์จริงในอังกฤษขณะนั้น ที่ทำให้สิทธิ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องของทุกคน

หนึ่งในซีนที่น่าจดจำคือฉากที่เชอร์ล็อกไปตามหาเบาะแสจากครูสอนศิลปะการต่อสู้ของอีโนลา เธอพูดกับเชอร์ล็อกว่า “คุณไม่เข้าใจหรอกว่าการไม่มีอำนาจมันเป็นยังไง คุณไม่สนใจการเมืองเพราะคุณไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงโลกที่คุณอยู่สุขสบายดีอยู่แล้ว” ซึ่งบทสนทนาของทั้งคู่ทำให้เราต้องย้อนคิดถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

05 Self Made (2020)


แนว : ชีวิต | ความยาว : 1 ซีซัน

เรื่องสุดท้ายเราขอแนะนำซีรีส์ ‘Self Made’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง บอกเล่าชีวิตของ ‘ซาร่าห์ บรีดเลิฟ’ หรือที่คนรู้จักเธอในนาม ‘มาดาม ซี.เจ. วอล์กเกอร์’ เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผู้ถีบตัวเองขึ้นจากชีวิตติดลบด้วยความที่เธอเป็นคนผิวดำ มิหนำซ้ำยังเป็นผู้หญิง ในยุคที่การเหยียดเพศและสีผิวยังคงรุนแรง ก้าวกระโดดมาเป็นเศรษฐินีผิวดำคนแรกของอเมริกาที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20

ซาร่าห์เกิดในครอบครัวผิวดำที่เป็นทาสในไร่ฝ้าย โดยเธอเป็นลูกคนแรกของครอบครัวหลังจากมีการเลิกทาส แม้เธอจะเกิดมาพร้อมอิสรภาพ แต่ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความลำบาก หลังจากเธอแต่งงานมีลูกก็มีอันต้องสูญเสียสามี และหอบลูกย้ายไปอยู่เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เพื่อทำงานเป็นลูกจ้างซักรีด การต้องทำงานหนักทำให้เธอไม่มีเวลาดูแลตัวเอง มีปัญหาผมร่วง จนต้องเลิกรากับสามีคนที่ 2 เพียงเพราะรูปลักษณ์ที่ไม่สวยตามค่านิยมของสังคม เนื่องจากเส้นผมสำหรับผู้หญิงผิวดำเปรียบเสมือนมรดกทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงความงามและรากเหง้าที่พวกเธอภาคภูมิใจ

ในยุคนั้นผู้หญิงผิวดำมักมีปัญหาสุขอนามัยเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ ซาร่าห์จึงจับพลัดจับผลูมาเป็นพนักงานขายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม จากนั้นเธอก็ฮึดสู้ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของตัวเอง ลองเอาไปเคาะประตูขายตามบ้านพร้อมให้บริการทำผม กระทั่งขยับขยายเป็นบริษัทใหญ่โตกลายเป็นเศรษฐินีหน้าใหม่ ทั้งยังสร้างงานให้กับสาวผิวดำคนอื่นๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ใช่ว่าเธอจะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง เพราะการบ้างานบางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะสามีคนที่ 3 ‘ชาร์ลส์ โจเซฟ วอล์กเกอร์’ ที่แอบไปเป็นชู้กับพนักงานในบริษัทของเธอเอง เพื่อเติมเต็มความเป็นชาย ด้วยความรู้สึกต้อยต่ำกว่าภรรยาในยุคที่สังคมวางบทบาทให้ผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้า ส่วนผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.