กว่าจะมาเป็นเดรสสักตัวที่วางขายตามหน้าร้านเสื้อผ้า เบื้องหลังการผลิตล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเศษผ้าเหลือทิ้งและสต๊อกของชุดแต่ละไซซ์ที่จำเป็นต้องผลิตออกมาเพื่อให้ครอบคลุมการสวมใส่ จนเกิดเป็นขยะเสื้อผ้าจำนวนมาก
เพื่อลดจำนวนขยะเสื้อผ้าเหลือทิ้งจากการผลิต นักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้ร่วมมือกับ Ministry of Supply แบรนด์แฟชั่นเครื่องแต่งกายสัญชาติอเมริกัน ผลิต ‘4D-Knit Dress’ ชุดเดรสจากเส้นด้ายพิเศษที่สามารถปรับขนาดให้พอดีกับทรวดทรงผู้สวมใส่ได้ด้วยความร้อน
4D-Knit Dress สร้างขึ้นจากเส้นใยไนลอนที่ผสมกับเส้นใยวิสโคส (Viscose) และโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ที่ได้รับการพัฒนาโดย Self-Assembly Lab ให้สามารถปรับแต่งขนาดชิ้นงานได้จากการกระตุ้นด้วยความร้อน
อีกทั้งยังมีการขึ้นรูปเสื้อผ้าด้วยการถักแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่คล้ายกับการพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่จะแตกต่างจากการสร้างเสื้อผ้าโดยทั่วไปในอดีตที่ขึ้นแพตเทิร์นแบบ 2 มิติ ก่อนนำมาตัดเย็บให้กลายเป็น 3 มิติในภายหลัง จึงทำให้เกิดขยะส่วนเกินตามมา
4D-Knit Dress จะวางขายที่หน้าร้านของแบรนด์ Ministry of Supply ในกรุงบอสตัน ในลักษณะชุดเดรสท่อนยาวแบบตรงๆ ที่ไม่โค้งรับกับสัดส่วนการสวมใส่ แต่เมื่อมีการซื้อขาย ชุดเหล่านี้จะถูกนำไปผ่านความร้อนที่ปล่อยจากแขนหุ่นยนต์ เพื่อสร้างชุดเดรสตัวเก่งให้เหมาะสมกับสรีระและความต้องการของผู้สวมใส่อย่างสมบูรณ์แบบ ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดขยะจากผ้าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเสื้อผ้า
นอกจากนี้ ผู้สวมใส่ยังไม่ต้องกังวลในการสวมใส่ซ้ำ เนื่องจากชุดที่ถูกออกแบบมาเพื่อคุณโดยเฉพาะจะยังคงสภาพได้เป็นอย่างดี และซักด้วยน้ำเย็นเพื่อนำมาใส่ซ้ำได้แบบไม่รู้จบ
Sources :
Dezeen | t.ly/PKHOV
ISP | t.ly/KkSHW
Self-Assembly Lab | t.ly/C7_D5