บทความนี้เปรียบเสมือนบันทึกช่วงเวลาที่เราต้องอยู่บ้านเป็นเวลา 40 วัน ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางเขตพื้นที่เสี่ยงอย่าง มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร สำหรับเรา การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่อาจจะยุ่งยากไปบ้าง แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยในตลาดที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีคนมาจับจ่ายซื้อของเหมือนที่เคย พวกเขาต้องขาดรายได้จุนเจือครอบครัวและจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน ร้านแผงลอยบางรายต้องปรับวิธีการขายเป็นแผงลอยเคลื่อนที่เพื่อให้รอดจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้
ส่วนเราเป็นพนักงานบริษัทที่เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ และต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานจากออฟฟิศมาอยู่บ้าน แม้วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกินความสามารถในการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม แค่ต้องใส่หน้ากาก พกเจลล้างมือ ที่เปรียบเสมือนอาวุธคู่กายในช่วงเวลาแบบนี้
ตำบลมหาชัยที่เราอาศัยอยู่ห่างจากตลาดกุ้งเพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น ตลาดกุ้งถือเป็นแหล่งค้ากุ้งที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นแหล่งที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยและทำงานมากถึง 3,000 – 4000 คน
จนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของจังหวัด ก่อนที่จะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในสถานการณ์การระบาดระลอกสอง ทำให้ทางจังหวัดต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที ส่งผลให้รถตู้หยุดวิ่ง ตลาดที่เคยคึกคักก็กลับเงียบเหงาลงอย่างน่าใจหาย
| ตลาดที่ (ไม่) หลับใหล
ใครจะคิดว่าวันหนึ่งตลาดที่เราเดินทุกวันมาตั้งแต่จำความได้จะต้องปิดตัวไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ร้านที่เคยตั้งแผงเรียงรายก็หายไปไม่เหลือ ทิ้งไว้เพียงชั้นวางเปล่าๆ ให้เราดูต่างหน้า หรือแม้กระทั่งร้านเสื้อผ้าที่เปิดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ต้องเบรกชั่วคราว
สถานีรถไฟมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ก็งดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด เรือข้ามฟากที่เมื่อก่อนอัดแน่นไปด้วยผู้คนที่สัญจรข้ามฝั่งจากท่าฉลอมมาตลาดมหาชัย ก็เบาบางลงอย่างถนัดตา ที่ที่เคยมีผู้คนจอแจกลายเป็นเงียบสงัดไร้ชีวิตชีวา
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอาม่าร้าน ‘ตัวเฮงล้ง’ ที่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าถึงสถานการณ์ที่เจออยู่ตอนนี้ อาม่าตอบเราด้วยเสียงสั่นเครือว่า
“ทุกวันนี้เงียบมาก ขายของไม่ได้เลย อย่างช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา คนไม่ออกมาเดินจับจ่ายซื้อของเหมือนปีก่อนๆ จังหวัดอื่นๆ ก็กลัวคนจังหวัดเรา ทำให้ไม่กล้าออกไปไหน” อาม่าได้แต่ส่ายหัว และพูดกับเราด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า
“ไม่อยากให้เขารังเกียจหรือกลัวเราเลย โควิด-19 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แค่เรารู้จักป้องกันตัวเอง และอาม่ารู้สึกว่ามันไม่ใช่ใครที่จะติดกันได้ง่ายๆ คนจังหวัดสมุทรสาครติดกันน้อย ส่วนใหญ่ที่ติดคือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขาไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติตัวเท่านั้นเอง ส่วนเราก็ต้องรู้จักป้องกันไว้ก่อน”
นี่คือเสียงของอาม่าผู้ที่ตลอดชีวิตไม่เคยเห็นตลาดแห่งนี้หลับใหล เราได้แต่เอาคำของอาม่ามาคิดทบทวนในใจ และภาวนาให้สถานการณ์นี้ผ่านไปโดยเร็ว
ความหวังของพ่อค้าแม่ค้าคืออยากให้ตลาดแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยหวังว่าจังหวัดจะคลายล็อกดาวน์ลงเร็ววัน เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ร้านแผงลอยที่ยังคงต้องหาเช้ากินค่ำต้องผ่านแต่ละวันอย่างยากลำบาก เนื่องจากคนซื้ออาหารทะเลมีจำนวนลดลงจนน่าเห็นใจ
แม้วันนี้ทางจังหวัดมีมาตรการผ่อนปรนบ้างแล้ว ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ผู้คนยังคงบางตา เพราะในสายตาคนภายนอกอาจมองว่า คนสมุทรสาครทุกคนเป็นผู้แพร่เชื้อ เราจึงอยากเป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกให้คนจังหวัดอื่นรับรู้ว่า ผู้ติดเชื้อไม่ใช่คนที่ควรโดนสังคมรังเกียจหรือถูกประณาม และอยากให้ทุกคนเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรับผิดชอบตัวเอง เพื่อที่เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
| ฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยงานศิลปะ
ไม่ใช่แค่ชีวิตนอกบ้านที่เปลี่ยนไป การอยู่บ้านนานๆ ก็ทำให้เราเบื่อหน่ายและบางครั้งก็เครียดไม่รู้ตัว ทุกคนเคยได้ยินเรื่องทฤษฎี 21 วันไหม เราเจอทฤษฎีนี้โดยบังเอิญจากการฟังรายการ ‘ดีแฝง Podcast’ เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ ดร.แม็กซ์เวลล์ มอลต์ (Dr.Maxwell Maltz) เขียนไว้ในหนังสือ Psycho-Cybernetics
วิธีการของทฤษฎีนี้คือ ต้องทำพฤติกรรมแบบเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน เช่น ฝึกอ่านหนังสือภาษาอังกฤษวันละ 20 นาที หรือแม้แต่ออมเงินวันละ 50 บาท เป็นเวลา 21 วัน หากทำจนครบกำหนดสิ่งที่เราอดทนฝึกฝนก็จะกลายเป็นนิสัย
เราเริ่มตั้งชาเลนจ์ท้าทายตัวเอง ด้วยการทำแบบสำรวจสภาพจิตใจประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนทำงานทุกวัน เช่น วันนี้รู้สึกอย่างไร คิดมากเรื่องไหน ผ่านการระบายสีน้ำ เพราะตามหลักจิตวิทยา ‘สี’ สามารถบ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด
ช่วงแรกของการทำชาเลนจ์ต้องยอมรับว่าฝืนตัวเองอยู่บ้าง และใช้เวลาคิดอยู่นานกว่าจะจุ่มสีน้ำระบายลงบนกระดาษ แต่เมื่อทำจนครบ 21 วัน และทำเรื่อยๆ จนเลยเถิดมาถึง 40 วัน เราพบว่าตัวเองสามารถละเลงสีโดยไม่ฝืนอีกแล้ว ข้อนี้เป็นการพิสูจน์ว่า เราสามารถปรับตัวและเคยชินกับสิ่งที่ทำ
รูปที่วาดออกมามีทั้งเป็นเส้นตรงให้ความรู้สึกมั่นคง หนักแน่น และก้นหอย ที่สื่อถึงพลังแห่งการเคลื่อนไหวไม่มีสิ้นสุด
เราขอหยิบหนึ่งภาพที่ชอบที่สุดในการทำชาเลนจ์นี้มาเล่าให้ฟัง ภาพที่วาดเป็นรูปดอกไม้สีชมพู มีก้านสีดำ และมีหนาม ตอนที่ละเลงสีลงไปมันทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า นานมากแล้วที่เราไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ชอบ พลางครุ่นคิดว่าสิ่งไหนกันนะที่เราอยากหยิบมาปัดฝุ่น
มันเป็นภาพโครงกระดูกที่เราเคยเรียนในวิชาสีน้ำทางการแพทย์สมัยอยู่มหาวิทยาลัย และจำได้ว่าเคยวาดค้างไว้เมื่อนานมาแล้ว การได้อยู่กับภาพตรงหน้าทำให้เรามีสมาธิจดจ่อ เพราะต้องเก็บรายละเอียดให้เหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกครั้งที่หยิบพู่กันก็มักจะลืมเวลาทุกที
จากชาเลนจ์วาดรูป 1 ชั่วโมงทุกเช้าก่อนเริ่มทำงาน กลายเป็นว่าเราใช้เวลาหลังเลิกงานทุกวัน วันละ 1 – 2 ชั่วโมง นั่งทำสิ่งที่ชอบ รูปที่วาดไว้ครึ่งๆ กลางๆ ก็เสร็จสมบูรณ์ สิ่งที่เราค้นพบคือความสุขจากการทำงานศิลปะ เพราะมันทำให้เรามองภาพในมุมที่กว้างขึ้น ในทางกลับกันก็ไม่ลืมใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
ชาเลนจ์นี้ทำให้เราได้เจอสิ่งที่ชอบและกลับมาค้นพบตัวตนของเราอีกครั้ง แถมการตั้งชาเลนจ์ในขณะที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานยังทำให้เราเลิกผัดวันประกันพรุ่ง และกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ เราจึงอยากชวนทุกคนมาใช้ทุกวินาทีที่อยู่บ้านให้คุ้มค่า ทดลองทำอะไรที่ท้าทายตัวเอง มันอาจช่วยให้เราได้เจอสิ่งที่รักก็ได้
| ทิ้งความกลัวเผชิญหน้ากับความจริง
“ลงชื่อตรวจโควิด-19 เชิงรุกไหมบ้านนี้” เสียงของคุณลุงอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนตระเวนถามแต่ละบ้าน ครอบครัวเราคุยกันว่าจะไม่ตรวจด้วยความที่ไม่ค่อยอยากออกจากบ้านไปไหนกันมากนัก แต่จะส่งเราไปเป็นหน่วยกล้าตายในการตรวจโควิด-19 ครั้งนี้
ก่อนวันตรวจมาถึงเรากลัวจนจิตตก หาข้อมูลรีวิวในอินเทอร์เน็ต ถามจากพี่ที่เคยตรวจ ไปจนถึงเพื่อนที่เป็นพยาบาล ว่าเจ็บเหมือนกับฉีดยาชาตอนผ่าฟันคุดหรือเปล่า เพื่อนตอบกลับมาว่า “เหมือนสำลักน้ำแหละ” เป็นคำบอกกล่าวที่ฟังดูน่ากลัวไปนิด แต่อย่างน้อยเราก็ยังได้เตรียมใจ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เราไปถึงช้าจนคุณหมอ พยาบาล กำลังจะเก็บเก้าอี้ คุณลุงอาสาสมัครสาธารณสุขยื่นใบสำหรับกรอกประวัติ คุณหมอซักถามข้อมูลเกี่ยวกับที่ทำงาน บ้านที่อาศัย อายุ เบอร์โทรศัพท์
และแล้ววินาทีแห่งความกลัวก็มาถึง คุณหมอโบกไม้โบกมือให้เข้าไปหา ทั้งที่เราอยากจะถอยห่าง (น้ำตาตกในแล้ว) เรานั่งลงบนเก้าอี้ช้าๆ เหมือนจะซื้อเวลา คุณหมอก็ถามว่าพร้อมไหม เราตอบกลับไปว่า “คุณหมอคะ หนูกลัว” ภายใต้หน้ากากนั้นคุณหมอคงหัวเราะเราอยู่แน่ๆ
จากนั้นคุณหมอบอกให้หลับตา เงยหน้าขึ้นประมาณ 45 องศา แล้วสอดไม้ยาวเล็กๆ เข้าไปในจมูก ก่อนจะหยุดและแช่ไม้อยู่อย่างนั้น เราก็ได้ใจว่าต้องเสร็จแล้วแน่ๆ ไม่เห็นรู้สึกเจ็บเลย (แอบแสยะยิ้มในใจ) แต่เปล่าเลย
คุณหมอพูดอย่างใจเย็นจนเรารู้สึกอุ่นใจว่า “อย่าเกร็งนะ ถ้าเกร็งมันจะเจ็บ” ไม่นานเจ้าไม้ยาวก็เข้าไปลึกเกือบมิดแท่ง คุณหมอใช้มือปั่นเบาๆ เพื่อเก็บเชื้อ หากนึกไม่ออกก็น่าจะเหมือนเวลาเราปั่นหู ความรู้สึกเหมือนคนจะสำลักจริงๆ น้ำตาเราคลอออกมาหน่อยๆ คุณหมอนับ 1 2 3 4 5 ก่อนจะนำไม้ออก เราถึงได้รู้สึกโล่งที่ก้าวผ่านความกลัวของตัวเองไปได้
บรรยากาศของการเข้ารับการตรวจโควิด-19 เป็นกันเองและไม่กดดัน คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างช่วยกันสร้างสีสัน โดยการเขียนชื่อลงบนชุดขาว มีคำว่าสุดหล่อ เซ็กซี่ มู่หลาน กองเกียรติยศ เห็นแล้วน่ารักดี ส่วนใหญ่พี่ๆ เหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงอาสาสมัครจากจังหวัดน่านที่มาช่วยกันลงภาคสนามในการตรวจโควิดเชิงรุกนี้
| มาตรการป้องกันโควิด-19 สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนช่วยกันได้
นอกจากการตรวจพื้นที่เชิงรุกแล้ว ทางจังหวัดก็มีมาตรการทำความสะอาดตลาดและฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ มีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้กับทุกครัวเรือน อีกทั้งมีเครื่องมือตรวจครบครันที่สามารถทราบผลการตรวจทันที ส่วนของกินของใช้ก็มีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหาร เพียงแต่สินค้าบางชนิดจำกัดจำนวนการซื้อเพื่อให้เพียงพอสำหรับทุกครัวเรือน
เหนือสิ่งอื่นใดเราอยากขอบคุณพี่ๆ สาธารณสุขจังหวัดที่ช่วยกันดูแลประชาชนเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นตามลำดับ สิ่งเล็กๆ ที่เราทำได้คือการใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ออกจากบ้านเพื่อป้องกันทั้งตัวเองและผู้อื่น
บันทึกฉบับนี้อยากขอบคุณตัวเองที่อดทนและรู้จักปรับตัว ขอบคุณครอบครัวที่รักและห่วงใย และสิ่งสุดท้ายที่อยากขอบคุณสุดหัวใจก็คือ ‘บ้าน’ แสนอบอุ่นที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของเวลาที่ได้อยู่บ้าน ที่ที่คอยปกป้องเราจากภัยอันตราย ที่ที่ให้เราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ และได้พักผ่อนจากความวุ่นวายภายนอก ที่ที่ไม่ว่าเราจะเหนื่อยล้ามากแค่ไหน ถ้าได้กลับมาเมื่อไหร่ก็สุขใจไม่เคยเปลี่ยน