แม้ว่าหนังไทยจะถูกปรามาสหรือวิจารณ์อยู่เนืองๆ ถึงเรื่องโปรดักชันไม่ปัง เนื้อหาที่พูดไม่ได้ พลอตเรื่องเก่าชวนให้เบื่อ ฯลฯ จนผู้ชมหันหน้าหนีหนังไทยไปหาดูอย่างอื่นกันแทน
แต่หนังไทยที่ถูกแปะป้ายเช่นนั้นก็เป็นเพียงความจริงหนึ่ง เพราะในอีกหลายมิติของวงการภาพยนตร์ไทยก็ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นทั้งหมด เพราะหากเราดูรายชื่อใน ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน’ (Busan International Film Festival : BIFF) จะเห็นหนังไทยที่มีชื่อเข้าร่วมลุ้นรางวัลหรือได้ไปฉายอยู่หลายเรื่อง
อย่างเมื่อปีที่แล้ว ‘Blue Again’ ผลงานของผู้กำกับหญิง ‘ฐาปณี หลูสุวรรณ’ ก็ได้เดินทางไปฉายในเทศกาลนี้มาแล้ว และในปี 2566 ก็มีรายชื่อสองหนังไทยอย่าง ‘Solids by the Seashore’ และ ‘ดอยบอย’ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวดชิงรางวัลด้วย
‘Solids by the Seashore (ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง)’ ของ ‘อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก’ ผู้กำกับที่เคยมีผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องไปฉายยังหลากหลายประเทศ โดยเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ว่าด้วยหญิงสาวชาวใต้ที่มีครอบครัวมุสลิมอนุรักษนิยม ซึ่งได้ใกล้ชิดกับศิลปินหญิงหัวขบถจากในเมืองที่เดินทางมาจัดนิทรรศการศิลปะ โดยมีฉากหลังของความสัมพันธ์เป็นสิ่งแวดล้อมของทะเลที่งดงามและชีวิตชายฝั่งที่กำลังเผชิญความเสียหายทางธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าประกวดในสาย New Currents ซึ่งจะมอบให้กับผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหรือเรื่องที่สองของผู้กำกับหน้าใหม่ชาวเอเชีย คัดเลือกโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
อีกเรื่องคือ ‘DOI BOY’ (ดอยบอย) ภาพยนตร์จาก ‘เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล’ ที่เข้าประกวดในสาขา Jiseok (Kim Jiseok Award) ที่จะมอบรางวัลให้กับผลงานของผู้กำกับชาวเอเชียที่เคยทำภาพยนตร์ขนาดยาวตั้งแต่ 3 เรื่องขึ้นไป
ดอยบอย เล่าถึงเรื่องราวของอดีตนายทหารผู้ลี้ภัยจากรัฐฉาน เมียนมา เข้ามาทำงานใช้แรงงานเป็นหมอนวดในเชียงใหม่ เขาใช้ชีวิตลำบากและต้องดิ้นรนอย่างมาก จนกระทั่งได้ไปรู้จักกับนายตำรวจรายหนึ่งซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับขบวนการดำมืดอย่างเลี่ยงไม่ได้
ชวนทุกคนตามดูกันต่อว่า Solids by the Seashore และดอยบอย สองหนังไทยที่ได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 – 13 ตุลาคม 2566 จะมีผลออกมาเป็นแบบไหน และหนังทั้งสองเรื่องนี้จะมีโอกาสฉายในไทยให้เราได้ชมกันหรือเปล่า