บาส ZAAP กับการเอาตัวรอดของคนอีเวนต์ - Urban Creature

  • บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ CEO และผู้ก่อตั้ง ZAAP ออร์แกไนเซอร์แถวหน้าของไทยที่ผ่านงานใหญ่ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Single Festival, Waterzonic, G19, S2O, บางกอก FEST ฯลฯ
  • ในวันที่อุตสาหกรรมอีเวนต์ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ทำให้งานต่างๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด ZAAP ต้องปรับตัวตามสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งการทำงาน วิธีการคิด และเป้าหมายของทีมในระยะสั้น
  • สำหรับ บาส-เทพวรรณ ในฐานะ CEO วัย 29 ปี สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือการยอมรับความจริงกับปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้ทีมว่าเราจะต้องผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันให้ได้

“ความยากที่สุดของคนทำอีเวนต์ คือไม่รู้ว่าวิกฤตนี้มันจะจบเมื่อไหร่”

ในวันที่วงการอีเวนต์ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ที่เป็นเสมือนพายุคลื่นลูกใหญ่ จนทำให้เหล่าวัยรุ่นไม่ได้ออกไปสนุกสุดเหวี่ยงที่ไหน ซึ่งถือเป็นฤกษ์ไม่งามยามไม่ดี แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้คุยกับ พี่บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ แห่ง ZAAP ถึงเบื้องหลังคนทำอีเวนต์ และการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก

หลายคนคงรู้จักพี่บาสในฐานะปาร์ตี้บอยชื่อดังที่เคยผิดหวังจากการจัดอีเวนต์ครั้งแรกเมื่อสมัยที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเขาได้เป็นทูตของมหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสจัดงานการกุศลเพื่อช่วยเหลือปัญหาน้ำท่วมใหญ่ แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้าง เพราะจากการจัดงานในครั้งนั้น ทำให้เขาต้องมีหนี้ติดตัวเกือบล้านบาท

เขาใช้การจัดปาร์ตี้เพื่อลบล้างหนี้ที่เกิดขึ้น ต่อด้วยการปลุกปั้น ZAAP จนเป็นออร์แกไนเซอร์ชื่อดังที่อยู่ในวงการอีเวนต์ของไทยมาร่วม 10 ปี และวิกฤตไวรัสระบาดในครั้งนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้เขา และ ZAAP เติบโตขึ้นต่อไป

บทเรียนมีไว้จำ ปัญหามีไว้พุ่งชน

ก่อนจะเจอ COVID-19 พี่บาสบอกเราว่าตลาดอีเวนต์ค่อนข้างบูมและมีงานให้จัดอยู่ตลอด ในฐานะที่ ZAAP เป็นผู้จัดอีเวนต์รายหนึ่งที่ต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคมาเสมออยู่แล้ว การเจอกับไวรัสระบาดในครั้งนี้ก็เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ต้องผ่านไปให้ได้

“จุดที่รู้สึกว่าโควิดกระทบ คือมีงานหนึ่งชื่อว่า บางกอก FEST เรากำลังจะจัดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม เราตัดสินใจทันทีเลยว่าจะยกเลิก เพราะตอนนั้นคนเริ่มกลัวและพูดถึงไวรัสกันเยอะขึ้น เรามีบทเรียนแล้วจากตอนช่วงที่ในหลวงสวรรคต ซึ่งตอนนั้นเราดื้อที่จะจัดงาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนไม่พร้อม สุดท้ายงานมันจัดได้ก็จริง แต่เจ๊งเละเทะ นั่นเลยเป็นบทเรียน”

“เสน่ห์ของอีเวนต์ คือการที่ต้องแก้ปัญหาอยู่ตลอด”

“พอมาครั้งนี้เราเลยคุยกับทีมว่า สถานการณ์มันประมาณนี้ต้องทำอย่างไรดี เชื่อว่าเราเป็นอีเวนต์แรกๆ ที่ชิงยกเลิกก่อน คือเรามองว่าเรื่องนี้มันแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้าปล่อยคาราคาซังไปเราก็สู้ไม่ได้อยู่ดี อัดพีอาร์ไป โปรโมทไป มันก็เหมือนเอาเงินไปละลายแม่น้ำ สิ่งที่เราตัดสินใจวันนั้นเลยคือ เราต้องคืนเงินเต็มจำนวน เราควักส่วนต่างด้วยซ้ำให้เค้ารู้สึกดีกับแบรนด์เรา แล้วปีหน้าค่อยมาว่ากันใหม่”

พี่บาสเล่าถึงการตัดสินใจยกเลิกอีเวนต์ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องคิด และย้ำอีกว่าการทำอีเวนต์สำหรับเขา คือการจ้าง ZAAP ไปเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่วันที่เข้าประชุมบรีฟงาน ก่อนเริ่มงาน จนถึงหลังจบงาน ทุกวันมีปัญหาหมด

มีทีมที่พร้อมปรับตัว

ทุกชีวิตในสายงานอีเวนต์ล้วนมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น CEO, Project Manager, Project Coordinator, Creative, Graphic Designer หรือตำแหน่งใดก็ตาม พอเจอกับวิกฤตนี้ ตำแหน่งของทุกคนยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการบ้านใหม่ๆ ให้ลองคิดลองทำ

“แน่นอน คงไม่มีใครรู้สึกดีกับสถานการณ์นี้ แต่ ZAAP โชคดีที่มีทีมที่ดี คือทุกคนตั้งใจอยากทำงานอีเวนต์ แต่พอถึงวันที่มันยกเลิก ทุกคนกลับมีคำพูดติดตลก แบบเฮ้ยมึง ปีหน้าก็ไม่ต้องเหนื่อยแล้วดิ เตรียมงานปีหน้าได้เลย นั่นเพราะทุกคนยอมรับมัน ซึ่งเราโชคดีอีกอย่าง คือเกือบทุกอีเวนต์เราจะสร้างให้มันเป็นแบรนด์ดิ้งอย่างบางกอก FEST, Waterzonic, Bangkok of Dreams หรือ Single Festival ในความหมายก็คือถ้าในปีนี้ไม่มีงานเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นในปีหน้า”

“ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เราไม่เคยทำออนไลน์ก็ได้ทำ มันยากเหมือนกันนะ ทำในสิ่งที่ไม่ถนัด แต่มันก็ดีที่ได้ลอง”

“โควิดเป็นโอกาสที่ทำให้เราไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ เพราะตอนนี้เราจับแต่งานใหญ่ๆ พอเจอไวรัสเราได้กลับมาจับงานสเกลเล็กๆ ที่ ZAAP ไม่ได้ทำมานาน คืองานใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่ แต่การมาคิดงานเล็กมันดีกว่าเรามาคิดกันไปทั้งคู่เลย เราเลยเริ่มวางแผนหาอีเวนต์ที่ใช้คนไม่เยอะ แต่ต้องมีอะไรที่น่าสนใจ เช่น ชวนกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไปแคมป์ที่ต่างจังหวัด และเอาศิลปินไปเล่นให้ พร้อมกับช่วยเหลือโรงแรมที่เดือดร้อนในช่วงที่มันทำได้”

พี่บาสเล่าถึงการได้กลับมาคิดวางแผนอีเวนต์เล็กๆ ที่แม้จะไม่ได้เงินเยอะ แต่คนอื่นจะต้องได้อะไรกลับไป รวมถึงการได้กลับมาทำงานสเกลเดียวกับตอนที่ ZAAP เริ่มตั้งไข่ นั่นคือการปิดผับแล้วให้ศิลปินมาระเบิดความสนุก เพียงแต่ครั้งนี้ปิดผับเหมือนกัน แต่ให้ศิลปินและนักดนตรีนั่งห่างกัน พร้อมร้องเพลงฮิตติดหูให้ผู้ชมได้โยกย้ายส่ายสะโพกผ่านการไลฟ์แทน

แบบทดสอบจากโควิด

ความยากและเป็นอุปสรรคที่สุดในช่วงนี้ คือการที่คนทำอีเวนต์ไม่รู้ว่าวิกฤตนี้มันจะจบลงไปเมื่อไร พี่บาสเชื่อว่ามันเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคน ซึ่งในสถานการณ์ที่ยาก การได้ออกไปทำในสิ่งใหม่ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่มีจุดแข็งของตัวเอง เชื่อเลยว่ายังไงก็อยู่ยาก

“การไปลองผิดลองถูกในช่วงนี้มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เราต้องยึดมั่นว่าอะไรคือจุดแข็งของเรา อย่าง ZAAP มีจุดแข็งคือเรามีคู่ค้าและมีบริษัทที่พร้อมจะทำงานด้วยกัน พูดง่ายๆ ถามว่าวันนี้อะไรมีขายเยอะที่สุด คำตอบคือหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ทุกคนแห่ไปทำกันหมด สำหรับเราขอคิดต่าง เราทำจุดแข็งให้มันดีขึ้นด้วยการเข้าไปเสนอกับผู้ใหญ่ว่าพี่อยากทำอย่างนี้ไหม ผมช่วยทำไลฟ์ให้ไหม อยากให้ผมทำอะไรบอกได้เลย ให้เขายังจำเราได้โดยที่ไม่หายไปไหน”

การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราคิดว่าโอกาสอะไรมาก็คว้าไว้ มันอาจจะพาเราไปที่ที่ไม่ได้คาดคิดก็ได้ พี่บาสบอกกับเราว่า เดี๋ยว ZAAP วางแผนจะทำไลฟ์วงดนตรีรถแห่ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ใช้ช่วงที่ต้อง work from home คิดกันเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ไม่ทิ้งตัวตน

“เราต้องห้ามโกหกตัวเองแล้วว่าเราก็ไม่ได้วัยรุ่นจ๋าเหมือนเมื่อก่อน เด็กปัจจุบันนี้ฟังเพลงคนละแบบกับเรา ซึ่งของแบบนี้มันต้องจูนกัน พอเราเปลี่ยนความคิดแล้วว่าเราไม่ได้ถูก 100% หลายงานที่ผ่านมา ถ้าเรายึดติดตรงนี้เราทำไม่ได้แน่นอน อย่างงาน Garena World หรือ RoV สำหรับเราเพิ่งได้มาเริ่มเล่นไม่กี่เดือน เราก็เอาน้องชายที่เพิ่งอายุ 25 มาทำมินิโปรเจกต์ แล้วเอาเด็กๆ ที่ชอบเล่นเกมมาช่วยกันทำ มันเห็นเลยว่าเราทำแบบเขาไม่ได้”

ช่วงแรกของ ZAAP พี่บาสมักถูกสื่อหลายสำนักสัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้ง เขามักถูกเรียกว่า CEO ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังวัยรุ่น เมื่อถึงวันที่เขาเดินในเส้นทางสายอีเวนต์มาร่วม 10 ปี พี่บาสสารภาพว่าตอนนี้ต้องมีเด็กๆ รุ่นใหม่เข้ามาเติมเต็มให้ทีม ZAAP ยังวัยรุ่นเหมือนเดิม

อะไรจะตามมาหลังจากวิกฤตนี้

เรายังคงเชื่อเสมอว่าอีเวนต์ไม่มีวันตาย ตัวพี่บาสเองก็เชื่ออย่างนั้น แต่การไปอีเวนต์สักหนึ่งงาน ผู้ชมต้องเสียทั้งเงินและเวลา ซึ่ง COVID-19 ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนอาจจะยากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นคนทำอีเวนต์ต้องคิดให้มากขึ้น

“ถ้าวันที่ทุกอย่างมันคลี่คลาย งานที่เป็นแบรนด์ดิ้งของเรายังเชื่อว่ายังไงก็จะได้กลับมาจัด หลายคนบอกโหยหาอีเวนต์ แล้วถ้าคนโหยหาแต่คนไม่มีเงินล่ะ เรื่องนี้น่าคิดมาก วันนี้เขาจะมาเสียเงินกับอะไรที่ emotional มันยาก เราเลยต้องละเอียดและคิดให้มากขึ้น ตอนนี้เราเรียกคนมารีเสิร์ชเลยว่า ในอีเวนต์หนึ่ง ถ้าบัตรเป็นอย่างนี้ดีไหม แจกของเพิ่มเติมแบบนี้ด้วยดีไหม อะไรที่น่าจะโอเคบ้างโดยที่เราไม่คิดเอาเอง”

“หลังจากนี้คนทำอีเวนต์ต้องให้คุณค่ากับงานให้มากขึ้น เพราะคนจะเงินน้อยลง การที่เขาจะมางานเราเขาต้องคิดแล้วว่าจะได้สิ่งที่ดีกลับไป”

“วันนี้มันต้องเพิ่มความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ถ้าไม่เพิ่มเราก็อาจจะไม่ได้ลูกค้า สมมุติอย่างงานฟูลมูนในปีที่แล้วลูกค้าซื้อบัตรไปจะได้เสื้อกล้ามเรืองแสงอย่างเดียว ครั้งต่อไปเราอาจจะแจกผ้าปิดปากเรืองแสง หรือมีบัตรประกันโควิดด้วยดีไหม เราลองคิดอะไรแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วไปลองถามลูกค้าดูว่าอะไรที่มันน่าจะโดนใจเราและถูกใจผู้เข้าร่วมงาน”

ในช่วงที่ทุกคนหันเข้าหาช่องทางออนไลน์ ZAAP ก็ทำเช่นกัน และทำไปพร้อมๆ กับการคิดโปรเจกต์ใหม่ในอนาคต พี่บาสบอกว่าไม่ว่าอีเวนต์ออนไลน์หรือออฟไลน์ สิ่งสำคัญเลยคือเป้าหมายของคนจัดงาน อย่าง Genie Records เอาการแสดงสดคอนเสิร์ต G19 ที่ ZAAP ได้ร่วมจัดมาให้คนทางบ้านได้รับชม ซึ่งมีคนเข้าดูกว่าล้านวิว ถามว่าถ้าเขาต้องการให้คนเข้าดูเยอะๆ และคิดถึงบรรยากาศ นั่นคือเขาประสบความสำเร็จแล้ว

“เราได้เรียนรู้ที่จะ ‘เปลี่ยน’ ตอนนี้เข้าใจความหมายคำนี้เลย ทุกอย่างต้องไว เราคิดเสร็จปุ๊บ ถ้าไม่เวิร์กเปลี่ยนมันหรือเพิ่มมันเลยเดี๋ยวนั้น ทีมงานอยากทำไรให้ทำ บางคนอยากทำไลฟ์หมอรำก็ทำเลย หรือเพจ ZAAP HARD SALE อยากไลฟ์ขายของก็ทำเลย มันอาจจะเกิด new business โดยที่เราไม่คาดหวังก็ได้”

“ปกติแล้วเรามีโอกาสน้อยมากที่จะได้ลองผิดลองถูก วันนี้เราใช้มันเป็นโอกาส อาจจะไม่ได้เงินมหาศาลแต่อย่างน้อยก็ได้ทำ” พี่บาสทิ้งท้ายกับเราถึงสิ่งที่เขาและ ZAAP ได้เรียนรู้จากวิกฤต COVID-19

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.