หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ในวงสนทนา เวทีดีเบต เวลาอ่านข่าว หรือตอนที่ฟังคำตัดสินของศาลประเทศใกล้ๆ แล้วกุมขมับ ปวดเศียรเวียนเกล้า และสงสัยว่ายกเรื่องนี้มาได้อย่างไร เรื่องนั้นมาจากไหน จับหัวมาชนหางกันได้อย่างไร ฯลฯ
หนึ่งในวิธีการหาทางออกจากความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจร่วมกันคือการพูดคุยหาทางออก และคงยากจะปฏิเสธได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นคือผ่านการใช้ตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล โต้แย้งและถกเถียงกัน และด้านกลับของมันคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Logical Fallacy’ ซึ่งหมายถึงการใช้ตรรกะที่ผิดพลาด หรือ คำว่า ‘ตรรกะวิบัติ’ ที่ใช้กันทั่วไป
การใช้ตรรกะผิดพลาดเช่นนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้อื่นเท่านั้นแต่อาจจะเป็นคำพูดของตัวเองได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการตรวจสอบระบบการคิดและคำพูดอยู่สม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบทสนทนาที่เป็นมิตร
แล้วการใช้ตรรกะที่ผิดพลาดนั้นมีแบบไหนบ้าง เราจะรู้ได้อย่างไร?
https://yourlogicalfallacyis.com ได้รวบรวมและจำแนกประเภทของการใช้ตรรกะที่ผิดพลาด เช่น Ad hominem (การโจมตีตัวบุคคล) Slippery slope (เช่น ที่บอกว่าควรตัดผมสั้นเพราะผมยาวแล้วบังเพื่อนนั่นล่ะ) Bandwagon (บอกว่า ‘คนส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้’ เพื่อปัดตกข้อเสนอ) หรือ Ambiguity (ใช้คำกำกวมเวลาพูด) และมีคำอธิบาย รวมถึงตัวอย่างสถานการณ์ประกอบไว้อย่างครบถ้วน
เว็บไซต์มีทั้งหมด 22 ภาษาทั่วโลก แต่ยังไม่มีภาษาไทย ถ้าใครสนใจแปล ติดต่อผู้จัดทำได้เลย!