โยชิกิ ฮาเสะ (YOSHIKI HASE) คือช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่สนใจในสิ่งที่หลายคนรู้จักแต่อาจไม่เคยลองลงลึกกับมันสักครั้งอย่าง จิตวิญญาณธรรมชาติ เขาใช้เวลาศึกษา เฝ้ามอง จนท้ายที่สุดเลือกถ่ายทอดความรู้สึก รูปร่าง และหน่วยจิตวิญญาณของธรรมชาติ ผสมผสานกับวัตถุรูปทรงเรขาคณิต จนกลายเป็นภาพถ่ายในมิติของงาน ‘ภูมิทัศน์’ ที่เขาบอกกับเราว่า
“180 องศาคือเส้นขอบฟ้าส่วน 1 องศาคือวัตถุที่หยิบจับมาวางเป็นองค์ประกอบ”
โดยตอนนี้ โยชิกิ ฮาเสะ นำเรื่องราวแห่งจิตวิญญาณของธรรมชาติ 181° มาจัดแสดงภาพถ่ายซีรีย์ ‘181° New Dimensions of Nature Landscapes’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อบอกเล่าถึงพลังสร้างสรรค์ของมนุษย์ และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ของความสอดคล้องกลมกลืนของภาพ และรูปทรงที่กลายเป็นภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งเราก็ไม่พลาดไปชมนนิทรรศการครั้งนี้ พร้อมพูดคุยกับโยชิกิ ฮาเสะถึงวันแรกที่เริ่มจับกล้อง จนถึงเบื้องหลังของงานภาพถ่ายที่มีรูปทรงต่างๆ ตั้งโดดเด่นท่ามกลางธรรมชาติ
ภาพที่ 1 : จากเด็กเศรษฐศาสตร์สู่ช่างภาพ
ขึ้นชื่อว่าช่างภาพ ภาพจำแรกของใครต่อใครคือต้องเรียนจบศิลปะ แต่สำหรับ โยชิกิ ฮาเสะไม่ใช่แบบนั้น เพราะเขาเริ่มต้นเส้นทางนี้ด้วยการเรียนคณะเศรษฐศาสตร์
“ผมไม่ได้เริ่มต้นเป็นช่างภาพจากการเรียนศิลปะนะครับ เพราะจริงๆ แล้วตัวผมจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ (หัวเราะ) แต่ผมชื่นชอบภาพวาด ชอบไปเดินดูงานตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่ก็อย่างที่รู้กัน การเริ่มวาดภาพนั้นยาก ผมจึงเริ่มด้วยการถ่ายภาพแทน ซึ่งผมเรียนรู้ด้วยตนเองครับ ไม่ได้ไปเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เลย”
ภาพที่ 2 : วัตถุ + ภูมิทัศน์
เมื่อถามถึงสไตล์การถ่ายภาพที่เขาชื่นชอบ แน่นอนว่าต้องไม่พ้นอะไรที่เกี่ยวข้องกับภาพภูมิทัศน์ เพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณที่ช่างภาพชาวญี่ปุ่นคนนี้มองเห็นจากธรรมชาติ
“ผมไม่ค่อยคิดถึงสไตล์การถ่ายภาพอย่างจริงจัง แต่จะใช้ความรู้สึก จากการฟังเพลง แล้วภาพมันจะค่อยๆ ลอยมา ราวกับสัญชาตญาณนักถ่ายภาพ และได้ข้อสรุปว่าผมชื่นชอบ การถ่ายภาพแบบจัดองค์ประกอบในภูมิทัศน์ (Composition Landscape Photography) แต่เพียงแค่การถ่ายภาพภูมิทัศน์สวยๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ผมอยากให้มีบางสิ่งที่เป็นวัตถุ หรือสิ่งของบางอย่างที่ร่วมสมัย อยากให้ภาพถ่ายของผมผสมผสานธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างเข้าด้วยกัน นั่นจึงเป็นที่มาของภาพถ่ายที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงภาพวิวสวยงามทั่วไป แต่มีความหมายของบางสิ่งซ่อนอยู่”
ภาพที่ 3 : ไม่ต้องเข้าใจแต่ต้องรู้สึก
‘ไม่ต้องเข้าใจภาพ แต่อยากให้รู้สึกเวลามอง’ คือสิ่งที่อยากให้คนมองภาพได้รับ
“ภาพที่ผมถ่าย บางทีผมก็ไม่แน่ใจว่าทั้งหมดของภาพนี้คืออะไร (หัวเราะ) บางทีเราไม่จำเป็นต้องบอกทุกสิ่งให้คนรู้ และทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกสิ่ง เพียงแค่เรารู้สึกดีกับมันหรือชื่นชอบ นั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะความเข้าใจจะตามมาหลังจากที่คุณรู้สึกถึงมัน”
ภาพที่ 4 : จิตวิญญาณธรรมชาติ 181°
“สำหรับการจัดแสดงภาพถ่ายครั้งนี้ คือซีรีส์ ‘181° New Dimensions of Nature Landscapes’ มาจากการรวม 180 องศาของเส้นขอบฟ้า ผสมกับ 1 องศาของวัตถุ เพราะถ้าเราใส่วัตถุบางอย่างเข้าไปผสานอย่างลงตัวในภูมิทัศน์ นั่นอาจจะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของธรรมชาติ ซึ่งแต่ละภาพมักจะมีบรรยากาศ สิ่งของ คน
“อย่างภาพนี้ คุณมองไม่เห็นหน้าคนใช่ไหม มองไม่เห็นลูกตา แต่คุณก็ยังคิดว่าเป็นมนุษย์ถูกไหม นั่นแหละที่ผมสนใจ ทำไมคนถึงคิดว่านั่นคือมนุษย์ ทั้งที่ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้คือมนุษย์ แต่ผู้คนมักจะตีความว่าคือมนุษย์ หรือสิ่งนี้จะเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึก แต่กลับกัน ผมไม่เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง คน หรือสิ่งของด้วยซํ้า เพราะสิ่งของหลายอย่างเกิดจากการตกผลึกความรู้สึกของตัวเรา มักเกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกว่าเราคิดให้มันกลายเป็นสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา
ภาพที่ 5 : ภาพที่ชอบที่สุดและภาพที่ยากสุด
“ผมชอบภาพนี้ครับเพราะบางสถานที่นั้นเงียบสงบ และบางที่ลมแรง แต่สถานที่ในภาพนี้กลับเงียบและได้อารมณ์จากแสงพระอาทิตย์ตก มันสร้างให้เกิดอารมณ์ว่า มีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้น แล้วเราไม่สามารถอธิบายได้ ราวกับมันมีชีวิตขึ้นมาจากสิ่งไม่มีชีวิต”
“แล้วภาพที่ยากที่สุดคือภาพไหน” เราถาม เขาหัวเราะ ชี้ชวนให้ดูภาพดังกล่าว แล้วเล่าให้ฟังต่ออยากออกรส
“ภาพนี้งเป็นภาพแรกที่ถ่ายในซีรีย์ 181° มันยากมากที่จะให้วัตถุชิ้นนี้ตั้งได้ด้วยตัวมันเอง ผมใช้เวลาเกือบหนึ่งปีครึ่งในการทำให้มันสำเร็จได้ ตอนถ่ายลมแรงมากและโครงสร้างพังง่ายมาก เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วราวกับดีดนิ้ว และสุดท้ายมันก็พังลงมาอย่างที่คิด (หัวเราะ)”
หลังจากผลงานชิ้นนั้น โยชิกิยังได้ทดลองอีกหลากหลายวิธีการ เช่น ภาพนี้ก็เป็นหนึ่งในภาพที่ดีในชุดนี้ แต่เขาก็ยังย้ำอีกครั้งว่า ทุกการเริ่มต้นนั้นยากเสมอ
ภาพที่ 6 : ทำได้แล้ว
ก่อนจากกันเราถามโยชิกิ ฮาเสะ ถึงความรู้สึกหลังถ่ายภาพจิตวิญญาณธรรมชาติที่เขาตั้งใจได้สำเร็จ เขาตอบเราทันทีด้วยสายตาแห่งความมุ่งมั่น
“ผมทำได้แล้ว ! นั่นแหละความรู้สึกผม มันมีหลายความทรงจำที่ดีตลอดระยะเวลาที่ทำงาน แต่สิ่งสำคัญของช่างภาพ คือเราต้องขยันสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเช่นเดียวกับผมที่หลังจากงานนี้ผ่านไป ผมก็จะเดินหน้าสร้างงานอีกเรื่อยๆ ครับ เพราะครั้งนี้มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น”
หลังจากได้อ่านเรื่องราวของ โยชิกิ ฮาเสะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นไปแล้ว ใครอยากสัมผัสภาพถ่ายของเขาด้วยสองตา และสัมผัสจิตวิญญาณของธรรมชาติด้วยหัวใจ ก็แวะชม ‘181° New Dimensions of Nature Landscapes’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของเขา พร้อมอีกหนึ่งชุดภาพถ่ายล่าสุดที่ถูกนำมาจัดแสดงอย่าง ‘DESSIN’ ได้ที่ River City Bangkok ตั้งแต่วันนี้ – 2 มกราคม 2563
Photographer : Naphat Pattrayanond