XXXYYY COFFEE;PROJECT SPACE ของนักออกแบบ - Urban Creature

ส้อมกับช้อน มาเจอกันทำให้กินอาหารง่ายขึ้น โรงหนังกับป็อปคอร์น กินคู่กันแล้วเพลินกว่าเดิม สีขาวกับดำ มาอยู่ด้วยกันแล้วดูเข้ากันได้เฉย

แล้ว X กับ Y ของคุณล่ะเป็นอย่างไร แต่สำหรับ ไนน์-กชพร เปี่ยมราศรี และ หลิง-อรวรรณ กอเสรีกุล ทั้งคู่แทนค่า X ด้วย ‘คาเฟ่’ และแทนค่า Y ด้วย ‘โปรเจกต์สเปซ’ ลองคิดดูว่าเมื่อสองสิ่งนี้มาเจอกัน ความสนุกและความสร้างสรรค์คงตามมาอีกเพียบ

เรานึกไม่ออกว่ามาแถวย่านแบริ่ง-สำโรงครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ แต่เมื่อ XXXYYY คาเฟ่และโปรเจกต์สเปซน้องใหม่เกิดขึ้น ต่อมอยากรู้ของเราก็เริ่มทำงาน สารพัดข้าวของที่นี่มีที่มาอย่างไร งานดีไซน์กับร้านกาแฟอยู่ด้วยกันได้จริงเหรอ แล้วทำไมต้องมาลงหลักปักฐานที่ย่านนี้กันนะ

หลิงและไนน์เจ้าของ XXXYYY มาต้อนรับเราอย่างเป็นมิตร ด้วยความที่รุ่นราวคราวเดียวกันก็ทำให้จูนกันได้ไม่ยาก สืบสาวราวเรื่องก็พบว่าทั้งคู่ใช้ชีวิตไม่ต่างจากเด็ก Gen Z ทั่วไป เรียนจบ ทำงานประจำจนอิ่มตัว เลยนึกคึกออกมาหาอะไรทำ

ทั้งคู่แนะนำตัวว่าเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ปี 1 จากภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง นอกจากงานออกแบบและศิลปะที่ทั้งคู่ตกหลุมรัก ‘กาแฟ’ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต สมัยอยู่ลาดกระบัง ชอบขับรถไปถึงโซนพัฒนาการหรือไม่ก็พระรามสี่เพื่อหาร้านกาแฟที่ถูกใจนั่งปั่นงาน เรียกได้ว่าเป็น Cafe Hopper มาโดยตลอด

เมื่องานประจำไม่ใช่คำตอบ

“พวกเราทำงานประจำกันมาประมาณสองปี เราชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เลยไปทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังแตกไลน์ธุรกิจเป็นงานบริการสินค้า เราเข้าไปในตำแหน่ง Product Designer ก็คิดว่าจะได้ทำอะไรเกี่ยวกับดีไซน์ ปรากฏว่าเราได้ใช้ความสามารถตัวเองในการเลือกของเข้ามาขายเฉยๆ ทำไปได้ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่ามันไปไม่สุดในทางที่อยากทำ คือเราเรียนดีไซน์มา ไม่อยากให้ฝุ่นเกาะ ยังอยากใช้ความรู้ความสามารถตรงนี้ต่อยอดไปอีก” หลิงเปรยถึงงานประจำแรกของเธอ ก่อนที่ไนน์จะแชร์เรื่องของตัวเองบ้าง

“เราอยู่บริษัทดีไซน์เอเจนซีแถวทองหล่อ งานแรกก็อยากไปอยู่ในสายงานนี้ เพราะมันมีความครีเอทีฟสูง เราไม่ได้เข้าไปในฐานะดีไซเนอร์นะ แต่เข้าไปในฐานะ Traffic and Production Manager ทำแพลนต่างๆ จัดวางตารางในทีมว่าใครทำงานอะไร เมื่อไหร่ สล็อตนี้แค่ไหน และดูแลโปรดักชันสิ่งผลิตทั้งงาน 2D 3D ซึ่งตรงกับที่เรียนมาด้าน Industrial Design” 

ระหว่างการทำงานประจำทั้งคู่หาเวลามาเจอกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งประเด็นที่มักมาถกกัน ก็คือความอัดอั้นตันใจในการทำงานออฟฟิศ! แต่เดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่งตกใจ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งคู่ยอมรับแล้วว่าต้องเผชิญ หลิงบอกเราว่า ไอเดียบางอย่างของเธอไม่ถูกหยิบไปใช้ในงาน ทั้งคู่เลยเอาไอเดียเหล่านั้นมาปล่อยของผ่าน NOT SO GOODS เป็นร้านค้าออนไลน์แนวไลฟ์สไตล์ที่หลิงและไนน์ทำร่วมกัน มีตั้งแต่เคสแอร์พอด เคสโทรศัพท์ เสื้อยืด ถุงผ้า สติกเกอร์ ฯลฯ

เมื่อ X กับ Y มาเจอกัน

เมื่อชีวิตมนุษย์ออฟฟิศไม่ตอบโจทย์ บวกกับความอิ่มตัวในงานที่ทำ หลิงลาออกไปฝึกงานกับสตูดิโอดีไซน์แห่งหนึ่ง ส่วนไนน์ต้อง Work from Home จนเกิดภาวะเครียดและลาออกมาเช่นกัน ทั้งคู่เลยมานั่งจับเข่าคุยกันว่าอยากให้คอนเซปต์ ‘It’s XXXYYY’ เกิดขึ้นจริงในสักวัน หลิงและไนน์ค่อยๆ ร่างความตั้งใจจนอะไรๆ เริ่มชัดเจน

“ไอเดีย XXXYYY มาตอน COVID-19 รอบแรกแล้วเราต้อง Work from Home เราฟุ้งซ่านมากก็เลยไปเรียนออนไลน์คอร์สนู่นนี่ และไปเจอทฤษฎีหนึ่งคือถ้าอยากให้คนจำแบรนด์แบรนด์หนึ่งได้ ต้องไม่มองแค่ XXX แต่ต้องมอง YYY ด้วย” ไนน์เล่า ก่อนที่หลิงจะเสริมว่า มันเป็นการ Bring it together เพื่อที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแล้วให้คนจดจำได้

สองนักออกแบบแทนค่า X ด้วย ‘คาเฟ่’ ซึ่งมาจากไลฟ์สไตล์ที่ขาดกาแฟและการเข้าคาเฟ่ไม่ได้ และแทนค่า Y ด้วย ‘โปรเจกต์สเปซ’ ที่มาจากสิ่งที่ชอบ ตัวตน และการร่ำเรียนด้านการออกแบบมา ทั้งคู่อยากให้สถานที่แห่งนี้มีทั้งคาเฟ่ และรายล้อมด้วยบรรยากาศของงานออกแบบที่ทั้งคู่หลงใหล ไอเดียฟุ้งๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แล้ว XXXYYY เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เราตั้งคำถาม

“ตอนแรกคิดว่าทำกันเองสองคนได้ คิดว่ามันก็แค่คาเฟ่เล็กๆ สุดท้ายไม่รอด (หัวเราะ) เราเลยต้องศึกษาเยอะมาก จนได้ปรึกษากับพี่ที่รู้จักทีม THINKK Studio ที่หลิงเคยไปฝึกงานอยู่ช่วงหนึ่ง เขาเข้าใจว่าเราต้องการอะไร แล้วสื่อสารออกมาด้วยภาษาดีไซน์อย่างตรงจุด ตอนบรีฟเราไม่ได้บอกเลยว่า Reference คืออะไร เป็นการสื่อสารกันด้วยคำพูดแค่นั้น” หลิงบอกเรา

“ตอนคุยคือเราเล่า Brand Identity ในหัวเราให้เขาฟัง คาแรกเตอร์แบรนด์คืออะไร อธิบาย XXXYYY ให้นักออกแบบจาก THINKK Studio ฟัง ซึ่งพอเขารู้ว่าบ้านของไนน์เป็นโรงงานผลิตเหล็กในย่านนี้ เขาก็ช่วยตบๆ ว่าเราต้องเล่าเรื่องย่าน ความเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งเราอยากเป็น Neighborhood ของที่นี่อยู่แล้ว สุดท้ายเขาขมวดมาคำหนึ่งคือ ‘ความต่างกันมากแต่อยู่ร่วมกันได้’ ถ้าสังเกตจะเห็นเลยว่าชั้นล่างเป็นคาเฟ่ที่โชว์เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบให้เห็นผิวสัมผัสจริง (Raw Material) แต่ชั้นบนจะพื้นที่โล่งไว้จัดแสดงผลงาน”

ไนน์เปรยว่า บ้านเธอเป็นโรงงานเหล็กที่ซ่อนตัวอยู่แถวนี้ ซึ่งย่านแบริ่ง-สำโรงก็มีความเป็นอุตสาหกรรม มีโรงงาน และมีออฟฟิศกระจายๆ กันอยู่ ความกระหายอยากดึงอัตลักษณ์ของย่านมาใส่ใน XXXYYY จึงเกิดขึ้นผ่านข้าวของต่างๆ ในโซนคาเฟ่ชั้นล่าง เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่โชว์วัสดุเรียลๆ แอบเติมสีสันให้ดูสนุกขึ้น ชั้นวางหรือบาร์แบบลอยตัวเพื่อเพิ่มเนื้อที่ให้ตัวร้าน ปูนเปลือยดิบๆ ที่มองแล้วไม่รกตา

ส่วนโปรเจกต์สเปซชั้นบน หลิงและไนน์ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ปล่อยของของนักออกแบบและคนรักงานดีไซน์ ความฝันจะมีอาร์ตสเปซดีๆ ของคนย่านนี้จึงเกิดขึ้นจริงแล้วที่ XXXYYY ทั้งคู่ใช้พื้นที่ด้านบนเนรมิตให้เป็นโซนนิทรรศการ ซึ่งตั้งใจจะเปลี่ยนอีเวนต์ทุกๆ 2 เดือน ใครที่อยากจะมีนิทรรศการเป็นของตัวเอง หรือมีอะไรอยากทำสนุกๆ ก็มาคุยกับหลิงและไนน์ได้ เพราะทั้งคู่ยังมีแก๊งเพื่อนที่ทำงานในแวดวงการออกแบบ ซึ่งจะช่วยกันทำให้โปรเจกต์ต่างๆ เกิดขึ้นจริง ณ สถานที่แห่งนี้

ทว่าคาเฟ่นั้น ไม่ใช่นึกอยากจะเปิดก็เปิดได้ ไนน์ต้องเทกคอร์สหนักมากเพื่อทำความรู้จักโลกของกาแฟอย่างจริงจัง และความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เราชอบคือตั้งแต่บาริสต้าที่ไนน์ไปเรียนด้วยก็เป็นคนในพื้นที่ ขนมที่ร้านก็มีทั้งโฮมเมดและรับมาจากคนในพื้นที่ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในร้านก็มาจากช่างในโรงงานของไนน์ นอกจากจะทำให้ย่านยังคงมีลมหายใจต่อไป ไนน์บอกเราว่า พี่ช่างในโรงงานยังได้สกิลกลับไปเต็มสูบ 

“XXXYYY เปิดโอกาสให้โรงงานของที่บ้านมาก ปกติเราทำให้คนอื่นอย่างเดียว แต่โปรเจกต์นี้ทำให้รู้ว่าเราสามารถมีสินค้าใหม่ๆ เป็นของตัวเอง พี่ๆ ช่าง จากที่ไม่เคยลงสีบนผลงานเลยก็ได้ลองทำ ทุกคนได้ใช้ความสามารถที่ตัวเองมี หลิงกับไนน์ก็ได้ใช้ความรู้ที่ตัวเองเรียนมาด้วย” ไนน์เล่า

“เราไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นร้านแนวเกาหลีหรือมินิมอล แต่ถ้าตามนักรีวิวหรือคนที่เข้ามาจะบอกว่าร้านเราเป็นแนวนั้นแนวนี้ก็ไม่ปิดกั้น เพราะเราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาสัมผัสอะไรได้จากที่นี่ อยากตามไปอ่านเรื่องราวหรือรีวิวของคนที่แวะเข้ามา

“เราดีใจที่ได้เห็นคนเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันว่ากาแฟที่บาร์ดีอย่างไร ไอเดียในการเริ่มพื้นที่มีจุดเริ่มต้นอย่างไร มีคนขอให้พาทัวร์นิทรรศการด้วย ดีใจที่คนที่แวะมาแล้วอยากเข้าใจว่าที่นี่มันเรียกว่าอะไร” หลิงเล่าด้วยรอยยิ้ม

“สิ่งที่ตั้งใจทำแต่แรกเพื่อให้คนรู้จักเราเร็วที่สุดคือ ‘It’s XXX with YYY’ นิทรรศการเปิดตัวร้าน เราเชิญคนมาให้หลากหลายที่สุด อย่าง Senior Designer คนหนึ่งมา เขาก็จะชวนนักออกแบบที่รู้จักต่อๆ กัน หรือเราชวนรุ่นน้องที่ลาดกระบัง น้องเขาก็จะชวนเพื่อนสายอื่นๆ มาสมทบ บางคนไม่เคยคุยกันด้วยซ้ำ แต่ก็กลายมาเป็นคนรู้จักกัน” ไนน์เล่าถึงการจุดกระแสตัวร้าน และอีเวนต์ของ XXXYYY บนโลกโซเชียล

แบริ่งจะยิ่งใหญ่

“เราอยากทำคอมมูนิตี้หนึ่งให้เกิดขึ้นในย่านแบริ่ง-สำโรง อยากทำให้ย่านมันดีกว่านี้ ทำไมความเจริญ คาเฟ่ หรือพื้นที่จัดแสดงงานมันต้องไปกระจุกตัวอยู่แค่บางย่าน มันควรจะถูกกระจายออกไป” ไนน์ผู้เกิดมาเป็นชาวบางนา เอาให้ชัดหน่อยก็บริเวณแบริ่ง-สำโรง ตั้งคำถามกับย่านและสิ่งที่ XXXYYY กำลังตั้งใจทำ กลับกันหลิงคือสาวพระรามสี่ที่อยากทำความรู้จักแบริ่ง-สำโรงให้มากขึ้น เธอเริ่มเล่าด้วยแววตาจริงจัง

“ตอนแรกยังไม่ชอบย่านนี้เพราะเราเป็นคนไม่ขับรถ และเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ มันยากมากเลยนะถ้าจะมา เข้าใจคนไม่มีรถเลย เอาจริงตอนแรกที่มาดูโลเคชันเราเดินเท้าจากรถไฟฟ้ามา ก็ไม่ได้ไกล อย่างตอนช่วงทำร้านก็เห็นปัญหาเรื่องฟุตพาทที่ทำให้คนต้องลงไปเดินบนถนน เราถึงขั้นร้องเรียนเทศบาลสำโรงเหนือเลยว่าต้องทำอย่างไรให้มีทางเดิน จนแฟนเพจฟุตบาทไทยแลนด์เขาเอารูปไปลง เจ้าหน้าที่เลยเข้ามาแก้ไขให้

“เราไม่ได้อยากมาอยู่ตรงนี้แล้วเป็นร้านที่มีคนแวะมาเฉยๆ แต่อยากเข้ามาเป็นพลเมืองของที่นี่ อยากศึกษาวิถีชีวิตที่เราจะเข้ามาอยู่ตรงนี้จริงๆ อย่างการเดินทางในทุกรูปแบบ หรือการทิ้งขยะที่จะไม่กระทบคนอื่น คือเรารู้สึกว่ามันยั่งยืนกว่า” หลิงเล่าถึงความพยายามทำให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของย่าน

ผลลัพธ์ที่มากกว่า XY

“จะใช้คำว่ารักย่านนี้ได้หรือยัง ก็ยังนะ แต่เริ่มมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองของย่านนี้ เริ่มเห็นตัวเองในย่านนี้ จากตอนแรกที่รู้สึกว่าย่านนี้ไม่ต้อนรับเราเลยแม้แต่ฟุตพาท ตอนนี้เราอยากดูแล อยากแก้ไขปัญหา ทำให้มันดีขึ้น พอปัญหามันถูกแก้ในแบบที่เราตั้งใจให้มันเป็น ความรู้สึกดีๆ ก็ตามมา เหมือนเติบโตไปกับย่าน สนิทกับย่าน เหมือนเพื่อนที่ได้คุยกันมากขึ้น ปรับจูนเข้าหากันได้” หลิงในฐานะคนนอกย่านเผยความในใจ

“แม้ว่าเราจะเติบโตมากับโรงงาน แต่การทำงานนี้ก็ทำให้เราได้รู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้น บางคนไม่เคยคุยด้วยเลยก็ได้รู้จักกัน และอีกรีวิวหนึ่งที่ไม่คิดว่าจะได้รับจากลูกค้า คือคำว่า ‘สนุก’ มันเป็นคำที่เราไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่แรกเลย ซึ่งการมาคาเฟ่คนไม่ได้คาดหวังว่าจะมาสนุกอยู่แล้ว เขาอยากมาชิล พอได้ยินก็ดีใจมากๆ มันเกินคาดเหมือนกัน” ไนน์ผู้เกิดและโตในย่านนี้บอกเราว่า XXXYYY ทำให้เข้าใจพื้นที่ละแวกนี้มากขึ้น

บทสนทนาของเรา ไนน์ และหลิง จบลงพร้อมความเพลินใจจากการจิบกาแฟไปพลางๆ เราสัมผัสได้ถึงความบ้าบิ่นและไฟลุกโชนของเด็กรุ่นใหม่ บวกกับความตั้งใจของทั้งคู่ที่อยากให้คาเฟ่และโปรเจกต์สเปซแห่งนี้เป็นหมุดหมายใหม่ของย่านแบริ่ง-สำโรง

สำหรับเราหากให้นิยาม XXXYYY ง่ายๆ ที่นี่คงเป็นสถานที่ที่อยากทำให้ย่านมีชีวิต ไม่หลับใหล แถมยังได้มาดื่มกาแฟดีๆ กินขนมอร่อยๆ และซึมซับงานดีไซน์ไปพร้อมกัน ก่อนจากกัน ขอถามทุกคนเล่นๆ ว่า X กับ Y ของคุณคืออะไร ลองแชร์ให้เราฟังหน่อย

XXXYYY
การเดินทาง : BTS สถานีแบริ่ง ลงทางออก 4
เปิดทำการ : เวลา 9.00 – 18.00 น. (หยุดวันจันทร์)
ติดตามชาว XY ได้ทาง Facebook หรือ Instagram

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.