“ขับรถไปลาวกัน…เที่ยวงานช้างที่ไซยะบุลีแล้วไปนอนที่หลวงพระบางสักคืน”
“พี่บอม” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเลย โทรปลุกฉันในสายวันอังคาร ก่อนวันสอบความคืบหน้าศิลปะนิพนธ์เพียงหนึ่งสัปดาห์ มีหรือคนอย่างฉันจะไม่ตอบตกลง ทันทีที่วางสายฉันจัดแจงจองตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดเลยโดยไม่ลังเล
ฉันเดินทางถึงท่าอากาศยานจังหวัดเลยในตอนสาย และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา พี่บอมพาฉันและเพื่อนร่วมทริปอีก 2 คน มุ่งหน้าสู่ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย โดยรถยนต์เพื่อข้ามไปยัง สปป. ลาว ซึ่งด่านพรมแดนห่างจากตัวจังหวัดเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น
ก่อนจะถึงด่านบ้านนากระเซ็งเราแวะซื้อปาเต้ร้านดังของเมืองเพียงที่ต้องบอกว่าไม่ชิมถือว่าพลาด “ปาเต้” หรือ “ปาเต” (pâté) เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าเนื้อและตับบดละเอียด เป็นอาหารที่ชาวลาวและเวียดนามรับอิทธิพลมาจากประเทศฝรั่งเศส หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ข้าวจี่ปาเต้ ก็ได้
ทิวทัศน์สองข้างทางจากด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็งสู่เมืองไซยะบุลี ส่วนใหญ่เป็นภูเขาเขาหัวโล้นที่เกิดจากการทำไร่เลื่อนลอยของชาวบ้าน บ้างก็ใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ สลับกับสวนยางหรือไม่ก็สวนกล้วยหอมที่นายทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ใช้ในการเพาะปลูก ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงก็เดินทางมาถึงเมืองไซยะบุลี หมุดหมายแรกที่เราจะไปร่วมงานบุญช้างในเช้าวันถัดไป
งานบุญช้างแขวงไซยะบุลีจัดขึ้นปีละครั้ง และในงานนี้เองจะมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่ชาวลาวให้ความสำคัญคือ “พิธีพาขวัญช้าง” หรือ “บายศรีสู่ขวัญช้าง” เพื่อสร้างความเป็นมงคลแก่ช้าง แก่เจ้าของและเป็นการให้ความเคารพในสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน
ในงานมีช้างเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 71 เชือก เนื่องจากในปีนี้ครบรอบวันก่อตั้งกองทัพประชาชนลาวครบรอบ 71 ปี และในปีนี้มีช้างเผือกเข้าร่วมกิจกรรมอีก 1 เชือก รวม 72 เชือก ซึ่งวันที่พวกเราไปเป็นพิธีเปิดพอดีจึงมีโอกาสได้ชม ขบวนธงทิว ขบวนพาขวัญช้าง ขบวนแห่ตัวแทน 8 ชนเผ่า รวมไปถึงของดีประจำเมืองต่างๆ ที่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมขบวนวันนี้
หลังจากร่วมพิธีเปิดและชมการแสดงช้างพอหอมปากหอมคอ พี่บอมขับรถคู่ใจพาเราทุกคนมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงพระบาง หมุดหมายสุดท้ายของเราในทริปนี้ สารภาพว่าตลอดการเดินทางฉันแอบเล่นเกมซ่อนตาดำอยู่หลายครั้งเหมือนกัน
“สะบายดีหลวงพระบาง“
นับตั้งแต่ปี พศ. 2538 ที่หลวงพระบางได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 25 ปี หลวงพระบางได้ก้าวเข้าสู่วงการเมืองท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว แม้ว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามายลโฉมที่แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย ทว่าหลวงพระบางก็ยังสามารถคงวิถีดั้งเดิมไว้ได้มากโขอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี และวิถี Slow life แบบหลวงพระบาง เชื่องช้าแต่น่าอภิรมย์
สถานที่แรกที่เราไปเยือนในหลวงพระบางคือ “น้ำตกกวางสี” หรือ “ตาดกวางสี” ตาดกวางสีอยู่ไกลจากตัวเมืองหลวงพระบางพอสมควรแต่บอกเลยว่าเป็นความไกลที่คุ้มค่า เพราะเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ตาดกวางสีเป็นน้ำตกหินปูนสูงกว่า 70 เมตร พื้นน้ำสีเขียวมรกต ตัดกับแสงแดดรำไรเป็นภาพที่สวยจนไม่อยากละสายตา
หลังจากแช่น้ำจนเป็นที่พอใจแล้ว แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรงเป็นสัญญาณว่าควรกลับเข้าเมืองเสียที มื้อเย็นพวกเราฝากท้องไว้ที่ตรอกอาหาร “ตลาดมืด” หรือ “ตลาดกลางคืน” ตั้งอยู่บนถนนศรีสะหว่างวงศ์เริ่มตั้งแต่สี่แยกใจกลางเมืองทอดยาวไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทำมือ ของที่ระลึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอพื้นเมือง ผ้าปักลวดลายม้ง เครื่องเงิน รวมไปถึงเครื่องจักสาน เริ่มวางขายกันตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 3 ทุ่ม เดินเพลินๆ อาจมีล้มละลายกันบ้าง
สิ้นเสียงระฆังตอนรุ่งสางไม่นานนัก พระ-เณร จากวัดต่างๆ ก็เริ่มออกเดินบิณฑบาต ถนนสายหลักถูกจับจองโดยนักท่องเที่ยวเพื่อรอ “ตักบาตรข้าวเหนียว” การตักบาตรของที่นี่ต่างจากที่ไทยตรงที่ทุกคนจะตักบาตรด้วยข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว อาจจะมีขนมบ้างประปรายแต่ไม่เป็นที่นิยม หลังจากนั้นจะมีการตีระฆังเป็นสัญญาณบอกให้ญาติโยม ถวายกับข้าวหรือที่เรียกว่า จังหัน อีกครั้ง
“ถ้าอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตที่แท้จริงให้ไปเดินตลาดเช้า”
หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากความบ้าพลังของตัวเองที่อยากเก็บบรรยากาศหลวงพระบางยามเช้าให้มากที่สุดก่อนกลับไทย ท้องเจ้ากรรมก็ส่งเสียงร้องโครกครากประท้วงว่าควรมีอะไรตกถึงท้องเสียที พี่ๆ จึงพาฉันไปเดินตลาดเช้าข้างวัดโพนชัย ตลาดเช้าที่นี่เป็นตลาด แบกับดิน ค่อนข้างคึกคักเพราะมีทั้งชาวหลวงพระบางที่มาจับจ่ายซื้อของสดแห้งนำไปประกอบอาหาร และนักท่องเที่ยวที่ตักบาตรข้าวเหนียวเสร็จมาทานอาหารเช้าต่อในตลาด
อาหารเช้าก่อนกลับไทยของเราคือ เฝอ และ ปากหม้อเวียดนาม เฝอเป็นอาหารเวียดนามจะคล้ายๆก๋วยเตี๋ยวของไทยแตกต่างกันที่เส้นกับน้ำซุป เส้นเฝอจะเรียกว่า “บั๊ญเฝอ” ส่วนน้ำซุปเฝอจะเคี่ยวจากเนื้อวัวและเครื่องเทศที่แตกต่างจากน้ำซุปของบ้านเรา
สถานที่สุดท้ายก่อนกลับไทยคือ “วัดเชียงทอง” วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ได้ชื่อว่า มณีแห่งหลวงพระบางและอาณาจักรล้านช้าง วัดต้องห้ามพลาด จุดเด่นของวัดเชียงทองคือ “สิม” หรือ พระอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบหลวงพระบางแท้ ด้านหลังสิมประดับกระจกเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่ท่ามกลางสัตว์นานาชนิด ว่ากันว่าเป็นตำนานสร้างเมืองเชียงทองหรือเมืองหลวงพระบางในอดีต
อีกมุมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวยามเมื่อมาถึงวัดเชียงทองก็คือ “หอไหว้สีกุหลาบ” ที่ผนังด้านนอกประดับกระจกเป็นนิทานพื้นบ้านสอดแทรกคำสอนเอาไว้
คิดจะพักคิดถึง “ลาว” ดูสักครั้งก็ไม่เสียหาย ใช้เวลาไม่มากแต่คุ้มค่ากับการเดินทางอย่างแน่นอน จะนั่งเครื่องบินเดี๋ยวนี้ก็มีให้เลือกมากมายหลายสายการบิน จะเดินทางด้วยรถก็สะดวกสบายใช้เวลามากหน่อยแต่คุ้มค่ากับทิวทิศน์และวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดสองข้างทาง จะเลือกทางไหนก็คุ้มค่ากับการมาเยือน ถ้าเปรียบลาวเป็นคนหนึ่งคน รับรองได้เลยว่าคุณจะตกหลุมรักตั้งแต่ครั้งแรกที่พบ