#freemuay ปลดแอก ‘หมวย’ นักสิ่งแวดล้อมชาวลาว ที่ติดคุกเพราะวิจารณ์รัฐกรณีเขื่อนแตก - Urban Creature

เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่ ‘หมวย’ หรือ ‘ห้วยเฮือง ไซยะบูลี’ หญิงสาวชาวลาวในช่วงอายุวัย 30 ปี ถูกทางการประเทศลาวสั่งตัดสินจำคุก 5 ปี และปรับเงินไปกว่า 20 ล้านกีบ (ประมาณ 73,000 บาทไทย) ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทประเทศ” จากเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก

สำนักข่าวเรดโอฟรีเอเชียรายงานข่าวเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่า ทางรัฐบาลลาวมีคำสั่งจำคุกห้วยเฮือง ไซยะบูลี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทประเทศตามกฎหมายอาญามาตรา 117 และถูกบังคับให้รับสารภาพระหว่างถูกจำคุกในแขวงจำปาสัก

สาเหตุของข้อหาดั่งกล่าวเกิดจากเธอวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลลาวกับเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เธอกล่าวว่า รัฐบาลนั้นไร้ประสิทธิภาพ และมีการตัดสินใจที่ล่าช้าจนทำให้ประชาชนที่ประสบปัญหาไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร

.

| หมวยคือใคร ?

‘หมวย -ห้วยเฮือง ไซยะบูลี’ (Houayheuang Xayaboury) คือนักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมผู้เป็นลูกสาวคนเดียวจากพี่น้องทั้งหมด 4 คนของครอบครัวนักปฏิวัติชาวลาว เธอมีความสามารหลากหลายด้าน เป็นอดีตไกด์พาทัวร์ สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทย ลาว อังกฤษ และเวียดนาม และที่สำคัญคือ ความสามารถในการพูดของเธอ มีแรงขับเคลื่อนเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนได้ ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อกลางในการพูดเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทุจริตราชการ ไปจนถึงการทำงานของรัฐบาล ซึ่งทุกเรื่องคือสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่มีใครกล้าพูดถึง เธอจึงเปรียบเสมือนจุดยืนของชาวลาว

นอกจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว หมวยยังจัดกิจกรรม จัดคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือโรงเรียน และขายเสื้อออนไลน์ที่มีข้อความเขียนว่า  #ຂ້ອຍບໍ່ຢາກໃຫ້ມີການໄດ້ຊື້ຈ້າງເຂົາເຮັດວຽກ (ฉันไม่อยากให้มีการได้ซื้อจ้างเข้าทำงาน) เพื่อเป็นอีกสัญญะสะท้อนถึงการเรียกร้องต่อรัฐ

.

| เขื่อนแตกความไม่เท่าเทียมเกิด

เป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป เมื่อการปกครองที่มีกลุ่มคนกุมอำนาจทุกอย่างในมือ มักจะสร้างความอยุติธรรมในกระบวรการยุติธรรม ความคิดเห็นจะถูกตีกรอบ สิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัด เพื่อลดข้อสงสัย ลดการตรวจสอบ และคงสถานะอำนาจให้ได้นานที่สุด

อำนาจฉ้อฉลฉันใดอำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้นแต่อำนาจที่ล้นมือจะมาคู่กับความประมาทและความกลัว

‘โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย’ เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ ด้วยภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและเป็นจุดสำคัญของแม่น้ำโขง รัฐบาลลาวเลยชูนโยบายนี้ขึ้นภายใต้คำขวัญ “แหล่งพลังงานของเอเชีย” ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและร่วมลงทุนกับรัฐบาลลาวเป็นจำนวนมาก ได้แก่

บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% (เกาหลีใต้)
บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% (เกาหลีใต้)
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25%  (ประเทศไทย)
บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (ประเทศลาว) 

โดยเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยมีพื้นที่รับน้ำฝนปริมาณ 48.26 ตารางกิโลเมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำราว 1,043 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าถึง 20 เท่า แต่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 สันเขื่อนดินย่อยเกิดรอยร้าวทรุดตัวลงในขณะก่อสร้าง เนื่องจากพายุฝนที่โหมกระหน่ำ ทำให้มวลน้ำกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรทะลักเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ ได้รับผลกระทบรวม 6,631 คน และสูญหายอีกหลายร้อย

เขื่อนแตกครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุใหญ่และได้รับความเดือนร้อนวงกว้าง แต่รัฐบาลกลับแก้ไขปัญหาอย่างบกพร่อง ไม่ทันท่วงที อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ทางการกลับแจ้งว่า มาตรการช่วยเหลือจากต่างประเทศต้องผ่านทางรัฐบาลเท่านั้น ทำให้ขั้นตอนต่างๆ สูญเสียเวลาโดยใช่เหตุ

.

| เมื่อรัฐบาลพึ่งพาอะไรไม่ได้ประชาชนก็ต้องดูแลกันเอง

หมวยเป็นตัวกลางประชาสัมพันธ์ให้คนลาวในพื้นที่ต่างๆ ผ่าน Facebook (วิดีโอหมวย) เพื่อบริจาคสิ่งของมาช่วยเหลือจากเหตุการณ์เขื่อนแตก เธอเป็นสื่อกลางที่ดีเยี่ยม มีคนติดตามข่าวสารผ่านเธอเป็นจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงไลฟ์สดตัดพ้อการทำงานของรัฐบาลกรณีเขื่อนแตกว่า การตัดสินใจล่าช้าและปิดกั้นความช่วยเหลือจากต่างประเทศทำให้ประชาชนเดือนร้อนอย่างหนักและไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร ซึ่งมีคนดูถึงหลักแสนคน มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลาย และแชร์ต่ออีกเป็นหลักพัน

ฉันไม่สามารถทนเงียบต่อไปได้อีกแบบในอดีต 
ยุคสมัยที่รัฐบาลทำให้ผู้คนปิดตาปิดปากได้จบลงแล้ว

หลังคลิปเผยแพร่ รัฐบาลลาวตัดสินใจจับกุมหมวยจากคลิปตัดพ้อการทำงานของรัฐบาลจากกรณีเขื่อนแตก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมหมวยในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562 ถูกบังคับให้สารภาพผิดข้อหามาตรา117 คือ “รณรงค์ต่อต้าน หมื่นประมาทและมุ่งหมายจะโค่นล้มพรรคและรัฐบาล” เธอถูกตัดสินจำคุก 5 ปี และไม่สามารถประกันตัวได้

ข่าวการจับกุมของหมวยถูกรับรู้น้อยมากในสายตาสังคมโลก ต้นเหตุมาจากการปิดปากสื่อ ปิดหูประชาชน ปิดตาสังคมไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้ไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลุ่มคนอยู่ไม่น้อยที่อยู่นอกเขตอำนาจของประเทศลาวพยายามพูดถึงเรื่องนี้ จนเกิดแฮชแท็ก #freemuay ในโลกโซเชียลมีเดีย ที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกใช้เป็นบานประตูสำคัญเพื่อผลักดันเรื่องนี้สู่โลกภายนอก 

‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ หรือ ‘แฟรงค์’ นักกิจกรรมเสรีภาพชาวไทยก็เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่พยายามผลักดันการปล่อยตัวหมวย พร้อมด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก พรรคกรีน แห่งอังกฤษและเวลส์ ที่มีสมาชิกอยู่ห้าหมื่นคนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวปล่อยตัวหมวย รวมถึงสื่อและผู้มีอิทธิพลมากมายพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด

เป็นเรื่องที่น่าตกใจและรับไม่ได้อย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่จับกุมหญิงสาวท้องถิ่น เพียงแค่เธอเรียกร้องให้เหยื่อที่ประสบภัยครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือ

Debbie Stothard – เลขาธิการสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวถึงเหตุการณ์นี้กับเรดิโอฟรีเอเชีย

ห้วยเฮืองไซยะบูลีมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ในการสนับสนุนการช่วยเหลือเหยื่อจากวิกฤติน้ำท่วม เธอไม่ได้ตั้งใจจะหมิ่นประมาทรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ

Konakok Thadam – เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ประจำประเทศไทยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้กับเรดิโอฟรีเอเชีย

ความกล้าหาญของหมวย มีความหมายอย่างมากในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็น เธอพูดแทนความรู้สึกของประชาชนชาวลาว เป็นเสียงสำคัญที่ต้องรักษาไว้ เช่นเดียวกับเสียงและความคิดของคุณทุกคน ที่ต้องสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ


The Green Party of England and Wales 
#Freemuay
In Laos, price of free speech a heavy one
Radio Free Asia
Matichon : เขื่อนเซเปีย-เซน้ำน้อย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.