ไอจีสตอรีคือพื้นที่ที่เราพบหมาแมวจรจัดมากที่สุด เพื่อนเราบางคนถ่ายภาพเจ้าขนปุยแสนน่ารัก พี่ที่รู้จักนำขนมไปให้ หรือกระทั่งเราเองที่ถ่ายวิดีโอเกาพุงให้น้อง แต่อย่าลืมว่าหลังจากมนุษย์แสนใจดีจากไป สัตว์จรเหล่านี้ต้องกลับไปเผชิญความโหดร้ายในสังคมเช่นเดิม ทั้งจากการถูกทำร้าย โรคติดต่อ หรืออุบัติเหตุ
เมื่อการขยายตัวของเมืองผลักให้สัตว์ตาดำๆ กลายเป็นผู้ร้ายโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เพียงหมาแมวจรจัดเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับปัญหา เพราะสัตว์ในป่าคอนกรีตที่มาอาศัยอยู่เต็มเมืองอย่างหนูท่อ กระรอก อีกา นกพิราบ หรือแม้แต่ตัวเหี้ย ล้วนสร้างความไม่น่าอภิรมย์ในชีวิตประจำวันให้ชาวเมือง แถมยังเป็นพาหะเชื้อโรคหรือส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์
อีกข้อน่ากังวลคือ ‘พฤติกรรมของสัตว์เมือง’ ที่กำลังเปลี่ยนไป และนับวันจะยิ่งก่อเรื่องปวดหัวมากขึ้น ทั้งกระรอกที่เปลี่ยนจากกินพืชมากินเนื้อและทิ้งซากศพไว้ทั่วเมือง หรือตัวเหี้ยที่เริ่มออกหาอาหารในบ้านคนแทนการลากไก่ไปกินในน้ำ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการที่เราไปพรากธรรมชาติในการใช้ชีวิตของพวกมัน
หลายเมืองจึงเริ่มจริงจังกับการจัดการพวกสัตว์เหล่านี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างระบบนิเวศธรรมชาติ และการจัดการขยะ เพื่อทำให้คนกับสัตว์ในเมืองอยู่ร่วมกันได้
คำถามคือ ทำไมสัตว์ทั้งหมดทั้งมวลถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมืองต้องจัดการเพื่อหาสมดุลอย่างไร มาร่วมหาคำตอบในคอลัมน์ Curiocity ไปพร้อมๆ กัน
ป่าคอนกรีตที่อุดมไปด้วยสัตว์เมือง
‘พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นของเรา’ คำตอบและความจริงจากเหล่าสัตว์ผู้วิมลที่ถูกมนุษย์ผู้มาทีหลังยึดครองบ้านมาเป็นของตน
ในยุคที่ความเจริญของเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติ กระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตของสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรุงเทพฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของสัตว์หลากชนิด ปัจจุบันกลับเหลือเพียงเศษเสี้ยวของความหลากหลายทางชีวภาพที่เคยมีอยู่
เมื่อป่าเดิมถูกแทนที่ด้วย ‘ป่าคอนกรีต’ อาหารที่เคยมี ต้นไม้ที่เคยอยู่กลับอันตรธาน ทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองกลายเป็นแหล่งชุมชนเล็กๆ ของสัตว์ป่าอย่างเต่า ตัวเหี้ย หรือนกประจำถิ่นที่หลงเหลือไม่มากนัก
แต่ในขณะเดียวกันก็มีสัตว์อีกจำพวกที่แปรพักตร์กลายเป็นสัตว์เมือง เริ่มจากนกพิราบหรือหนูท่อที่อาศัยร่วมกับมนุษย์อย่างแนบเนียน และแพร่พันธุ์ด้วยความเร็วอันน่าเหลือเชื่อตามความสกปรกของเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก ‘พฤติการณ์ของมนุษย์’ ที่ช่วยเสริมส่งอย่างไม่รู้ตัว ทั้งการสร้างขยะ เศษอาหาร และระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลอันหละหลวม
เมื่ออาหารเดิมเริ่มมีน้อย พื้นที่ถูกจำกัด จึงไม่มีเหตุผลอื่นที่เหล่าสัตว์น้อยผู้ใสซื่อจะยอมทน พวกมันเริ่มปรับตัว ประทุษร้าย และดิ้นรนในสังคมแห่งการแย่งชิงของเมืองเฉกเช่นมนุษย์หาเช้ากินค่ำ
พฤติกรรมสัตว์เปลี่ยนไปแล้วใครเปลี่ยนเธอ
ไม่ใช่เพียงในโลกธุรกิจที่ ‘ผู้ปรับตัวคือผู้อยู่รอด’ แต่สัตว์ในเมืองมนุษย์ก็เช่นกัน พวกมันค่อยๆ คุ้นเคยกับคนมากขึ้น จนในที่สุดก็ไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่ อาหารที่เคยกินอยู่เดิมก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเมนู
พฤติกรรมที่ไม่คาดคิดของ ‘กระรอกดิน’ (Ground Squirrel) ในแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการเปลี่ยนจากสัตว์แทะลูกไม้กลายเป็นสัตว์ดุร้ายที่เริ่มไล่กัดสายไฟ ล่านกหรือหนูเพื่อความอยู่รอดในสภาวะขาดแคลนอาหาร จนกลายมาเป็นสัตว์กินเนื้อแทน
หรือแม้กระทั่งไทยเองก็เผชิญกับปัญหา ‘ลิงลพบุรี’ ที่ได้รับอาหารจากมนุษย์จนเคยชิน ทำให้ทักษะการหาอาหารตามธรรมชาติลดลง ทั้งพฤติกรรมยังเปลี่ยนไป ส่งผลให้ลิงบางกลุ่มกลายเป็น ‘มาเฟียลพบุรี’ ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เริ่มขโมยของ แย่งอาหารมนุษย์ ยกพวกตีกัน จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมายอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในปีสองปี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการที่กินเวลานานโข ซึ่งถ้าเราอยากเปลี่ยนพวกมันกลับก็คงต้องใช้เวลานานไม่ต่างกัน
อย่างที่รู้กันดีว่ากฎหมายมีไว้สำหรับควบคุมมนุษย์เท่านั้น การไปนั่งอธิบายพวกจ๋อหรือน้องกระรอกคงไร้ประโยชน์ มาตรการของเมืองจึงควรต้องเลิกมองข้ามปัญหาเหล่านี้ เพื่อเรียกสมดุลแห่งป่าคอนกรีตคืนมาให้เหล่าสัตว์กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเดิม
สมดุลแห่งเมืองเพื่อขบวนการสรรพสัตว์
เมื่อความเสื่อมของเมืองค่อยๆ กร่อนสมดุลที่ควรมี ธรรมชาติที่เคยมีก็สูญระบบนิเวศตามขนาดของเมือง การฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อให้สัตว์ยังสามารถอาศัยอยู่ได้จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของเมืองเช่นกัน
เพราะสัตว์บางชนิดทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของระบบนิเวศในเมือง ดังนั้นการมีอยู่ของสัตว์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแม้ในเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เช่น ‘แมลงชีปะขาว’ ที่พบในพื้นที่น้ำสะอาด สะท้อนถึงคุณภาพน้ำที่สมบูรณ์ หรือการพบ ‘นาก’ ในพื้นที่บางขุนเทียน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน้ำจืดในเขตเมือง
การออกแบบเมืองที่สนับสนุนระบบนิเวศจึงไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เริ่มจากการจัดสรรพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะและพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ นอกจากนี้ การออกแบบเส้นทางการเคลื่อนย้ายของสัตว์ (Wildlife Corridor) ช่วยให้สัตว์ป่าสามารถใช้ชีวิตเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัยในเขตเมือง อีกทั้งการปลูกพืชท้องถิ่นที่ดึงดูดนกและแมลงยังช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมืองสิงคโปร์ที่สร้าง ‘เมืองในสวน’ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในรูปแบบสวนแนวตั้งและสวนลอยฟ้า รวมถึงการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันด้วยสะพานหรือทางเดินของสัตว์ป่า อีกด้านหนึ่งที่ทำควบคู่กันไปด้วยคือ การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เช่น การแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การนำขยะกลับมารีไซเคิล และการใช้เทคโนโลยีในการกำจัดขยะ เพื่อลดปัญหาสัตว์จรจัดหรือสัตว์จำพวกหนูและนกพิราบที่พึ่งพาแหล่งอาหารจากขยะ ผลที่ได้คือระบบนิเวศในเมืองที่สมดุลมากขึ้น อากาศบริสุทธิ์ และพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ แถมยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
หากพิจารณาในมุมมองผู้อาศัยในเมือง ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างเป็นประชากรที่ต้องได้รับความใส่ใจ ทว่าเมืองกลับลำเอียงเข้าข้างมนุษย์ และผลักให้ ‘ขบวนการสรรพสัตว์’ ที่เหลือกลายเป็นปัญหาของเมืองอย่างไม่รู้ตัว
ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์นักก่อเรื่องอย่างพวกเราควรทำคือ ต้องรีบนำสมดุลแห่งเมืองและธรรมชาติกลับมา เพื่อให้สัตว์และมนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ
Sources :
National Geographic | bit.ly/4ahbtnK
The101.world | bit.ly/3PsHfV2
The Urbanis by UDDC | bit.ly/4fJOeni