หากพูดถึงความหมายของศิลปะ คนส่วนใหญ่มักนึกถึง ‘ความสวยงาม’ เป็นสิ่งแรก แต่ถ้าเราเข้าใจบริบทมากขึ้น หลายครั้งศิลปะมีประโยชน์มากกว่าแค่ความสวยงาม
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกิดชื่อเรียกความงามเหล่านี้ว่า ‘สาธารณศิลป์’ ซึ่งหมายถึงการนำศิลปะมาเป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาความเป็นอยู่ของคนและสังคมเมือง เช่นเดียวกับนิทรรศการภาพวาด ‘WIJIT POP-UP STUDIO’ ของ ‘วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร’ ที่นำแนวคิดนี้มาใช้เช่นเดียวกัน
วิจิตรเป็นศิลปินที่เติบโตในครอบครัวคนจีน ทำให้มีโอกาสฝึกวาดภาพเขียนจีนโบราณตั้งแต่เด็ก จนเกิดแรงบันดาลใจอยากนำความรู้ศิลปะที่ตนเองมีมาพัฒนาชุมชนชาวจีนในนครปฐม ภายใต้แนวคิดของ ‘นิเวศสุนทรีย์’ ที่นิยามการนำศิลปะมาแก้ไขปัญหาแทนหลักการของวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ศิลปะกลายเป็นสาธารณศิลป์
นำมาซึ่งหัวใจหลักของนิทรรศการภาพวาดในครั้งนี้ ที่เป็นการรวบรวมผลงานจาก ‘หอศิลป์ศาลเจ้า’ กับการนำศาลเจ้าร้างในจังหวัดนครปฐมมารีโนเวตให้เป็นหอศิลป์ เพื่อที่ผู้คนจะได้กลับมากราบไหว้และเยี่ยมเยียนศาลเจ้าแห่งนี้อีกครั้ง โดยภายในงานจะจัดแสดงผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันที่วาดด้วยเกรียง ซึ่งต้องการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาพวาดของดอกไม้และสิ่งของ
นอกจากนี้ ภายในงานยังจำหน่ายหนังสือ ‘คำสอนศิลป์’ และงานเขียนอื่นๆ รวมไปถึงกิจกรรมสุดพิเศษที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจในงานศิลปะได้สัมผัสงานศิลปะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ‘สนทนาข้ามโต๊ะกับวิจิตรในแบบสุนทรียสนทนา’ ในวันที่ 13 และ 20 มิถุนายน เวลา 11.30 น. และหากใครที่ซื้อหนังสือภายในงาน สามารถร่วมกิจกรรม ‘วาดภาพสดกับอาจารย์วิจิตร’ ได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 15 – 16 และ 22 – 23 มิถุนายน เวลา 13.00 – 16.00 น.
นิทรรศการ WIJIT POP-UP STUDIO จัดแสดงที่โครงการ GalileOasis Gallery โดยจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งศิลปินจะประจำอยู่ที่งานตลอดทั้งวัน แต่ถ้าหากใครสะดวกไปเดินดูงานเงียบๆ หรือซื้อหนังสือติดไม้ติดมือกลับบ้าน ก็แวะไปได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 23 มิถุนายน 2567
ดูรายละเอียดนิทรรศการและกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการ GalileOasis เพิ่มเติมได้ที่ GalileOasis