ในสังคมประชาธิปไตย ทุกคนสามารถคิดต่างและถกเถียงกันได้ บนพื้นฐานความเคารพ การโต้แย้งแลกเปลี่ยนกันสามารถนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจใหม่ๆ และฉันทามติต่อทางออกสังคม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมเกิดกลุ่มแนวคิดสุดโต่งต่างขั้ว หรือที่เรียกว่า Polarization ที่ทำให้คนที่อยู่คนละขั้วไม่สามารถหารือ เคารพ หรือทนอยู่ร่วมกับขั้วความคิดที่ต่างกับตนได้ นั่นคือสัญญาณอันตรายที่เราต้องช่วยกันระมัดระวัง
หากบทสนทนาในกลุ่มเริ่มยกระดับเป็น Echo Chamber ที่ได้ยินแต่เสียงยืนยันความเห็นของตัวเองและกีดกันความเห็นต่าง โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่แลกเปลี่ยนกันนั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ และสมาชิกในกลุ่มโจมตีฝ่ายที่คิดต่างกับตนเองด้วยข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) จนนัดหมายออกไปใช้ความรุนแรงในโลกจริงเมื่อไหร่ นั่นคือสัญญาณของการแบ่งขั้ว
การแบ่งขั้วเกิดจากประเด็นที่หลากหลาย โดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่ออย่างสุดโต่งของตน ไม่ว่าจะเป็นลัทธินีโอนาซี (Neo-Nazis) ที่มีความเชื่อว่าชาติพันธุ์ของตนนั้นเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งในปี 2020 ตำรวจเยอรมันได้บุกค้นสถานที่ 13 แห่งใน 6 รัฐ และพบหลักฐานเครือข่ายก่อการร้ายของฝ่ายขวาสุดโต่งที่เชื่อว่าถูกปลุกระดมขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ และในปี 2021 มีรายงานว่ากลุ่มนีโอนาซีและกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาลงมือก่อเหตุทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงถึง 1,042 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 590 คนจากการโจมตีดังกล่าว
ที่ประเทศไทยก็เช่นกัน ปรากฎการณ์ ‘การเมืองสีเสื้อ (Color Politics)’ ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชนระหว่าง ‘มวลชนเสื้อเหลือง’ กับ ‘มวลชนเสื้อแดง’ ทำให้มีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหนัก ทั้งสองขั้วมีความเกลียดชัง และไม่สามารถรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายได้ ความต่างทางด้านแนวคิดทางการเมืองก่อให้เกิดความแตกแยกตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชุมชน อีกทั้งยังเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ความตึงเครียดทางการเมืองดังกล่าวเป็นพื้นฐานของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขวาและซ้ายในปัจจุบันที่ยังมีความคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีกรณีการแบ่งขั้วในด้านอื่นๆ ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเลือกใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยในช่วงที่เกิดโรคระบาด แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพในการลดอัตราการแพร่เชื้อได้ แต่ในสหรัฐอเมริกา ประเด็นการเลือกใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วในหมู่ประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้ใส่หน้ากากอนามัย กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลจึงมีความเห็นว่าคำสั่งให้สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเป็นการดูหมิ่นและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล เมื่อประเด็นทางด้านสุขภาพกลับกลายเป็นการเมือง นโยบายสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยของสังคมจึงไม่สามารถไปต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ก่อนที่การแบ่งขั้วจะเกิดขึ้น มีหลายพฤติกรรมในโลกออนไลน์ที่นำพาเราไปสู่จุดนั้นได้โดยไม่รู้ตัว เช่น การกดเลิกติดตาม (Unfollow) คนคิดต่าง และการเซนเซอร์ความคิดเห็นทางการเมืองของตน (Self-censorship) ทำให้เราเห็นแต่ความคิดที่เหมือนกับตน และเชื่อไปโดยปริยายว่าความคิดของตนและของกลุ่มเป็นความจริง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเชื่อแนวคิดที่ไม่มีหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุน เนื่องจากไม่มีเสียงที่แตกต่างมาโต้แย้งเลย โดยรายงานของ UNDP Oslo Governance Centre (OGC) ยังเสนอว่า ชุมชนที่มีการแบ่งขั้วสูงจะมีการกระจายมลพิษทางข้อมูลสูงตามไปด้วย พูดง่ายๆ ว่ายิ่งเกิดการแบ่งขั้วมากเท่าไหร่ สังคมนั้นจะยิ่งอยู่ในวงล้อมของมลพิษทางข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อเดิมของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ยากที่จะหันหน้ากลับมาคุยกันได้อีกครั้ง
ภาวะที่สังคมแตกแยกถึงขั้นแบ่งขั้วจะลดทอนความหลากหลายลงเพราะสร้างบรรยากาศที่บังคับให้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเมื่อการแบ่งขั้วเป็นไปอย่างสุดโต่ง ปรากฏการณ์นี้จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยในสังคมเนื่องจากขาดการแข่งขัน การต่อรอง และการประนีประนอมระหว่างความคิดที่แตกต่างกัน ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต สหรัฐอเมริกา จึงเสนอกลไกสำคัญสามประการที่จะช่วยลดการแบ่งขั้วได้ ดังนี้ 1) เพิ่มความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง เนื่องจากเป็นเรื่องปกติที่คนในสังคมจะมีแนวคิดที่ตัวเองสนใจแตกต่างกัน 2) จำกัดอิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรง และ 3) ส่งเสริมนโยบายไม่สุดโต่งที่มีความหลากหลายเพื่อผลประโยชน์ของคนในสังคม
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การทำความเข้าใจเรื่องการแบ่งขั้วจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรสำรวจตัวเองว่ากำลังมีความเห็นสุดโต่งซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วหรือไม่ รวมถึงช่วยกันสอดส่องไม่ให้สังคมแตกแยกไปถึงระดับการแบ่งขั้ว ซึ่งอาจเป็นอันตราย นำไปสู่ความรุนแรง และทำให้เกิดรอยร้าวถาวรที่ทำให้คนในสังคมไม่อาจร่วมมือกันได้อีกต่อไป
Sources :
Brookings | bit.ly/3ZNztbl
Bundesamt für Verfassungsschutz | bit.ly/3SQWPuF
DW | bit.ly/3ZMC8lW
King Prajadhipok’s Institute | bit.ly/3ZpYoCf
PNAS | bit.ly/3L1CXTu, bit.ly/3SViWQr
SAGE journals | bit.ly/3muuKxc
Self-censorship, Polarization, and the ‘Spiral of Silence’ on Social Media | bit.ly/3kLxW7b
UNDP (Page 31) | bit.ly/41R6hlB