ภัยทะเล 2021 น้ำมูกทะเล อวนถล่มโลซิน อุณหภูมิสูง - Urban Creature

ฝูงปลาแหวกว่ายบนผืนน้ำ สัตว์ทะเลน้อยใหญ่หลากสายพันธุ์ใช้ชีวิตตามวัฏจักรของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ควรดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ทว่าความเป็นจริงกลับโหดร้าย เพราะพวกมันถูกแทรกแซงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ มลพิษทางน้ำ และพฤติกรรมของมนุษย์บางกลุ่ม

“น้ำมูกทะเลทำให้หายใจไม่ออก เหมือนขาดออกซิเจน”

“ปะการังฟอกขาวจนรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย”

“กลืนพลาสติก แทนที่จะอิ่ม แต่กลับทรมาน”

“น้ำทะเลเปลี่ยนสี ไม่ได้สวยเหมือนฝัน แต่แลกมากับชีวิตโลมา”

“อวนผืนยักษ์ ใครเอามาวางไม่รู้ แต่มันกำลังทำร้ายระบบนิเวศของเรา”

มิอาจทราบได้ว่าพวกมันพูดภาษาเดียวกันใต้น้ำ เกี่ยวกับหนทางเอาตัวรอดกันวันต่อวันบ้างไหม แต่คงมีสัตว์ทะเลสักตัวเป็นแน่ที่ภาวนาให้ตัวเองพูดภาษามนุษย์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

ไม่รัก ก็อย่าทำลาย

ปี 2021 ทะเลยังคงเจ็บปวด

01 น้ำมูกทะเล

น้ำมูกทะเล-ตุรกี
น้ำมูกทะเล ปกคลุมหนาในทะเล ประเทศตุรกี

น้ำมูกที่ไหลจากโพรงจมูกผู้คน คงเทียบสเกลความเยอะ ความหยึย ความเสียหาย และความอันตรายต่อร่างกาย กับท้องทะเลไม่ได้ เพราะผืนน้ำและสัตว์ทะเล ไม่มียาลดน้ำมูกให้บรรเทาอาการภายในไม่กี่ชั่วโมงเหมือนคน

ตุรกีกำลังเผชิญน้ำมูกทะเล ที่ปกคลุมทะเลมาร์มาราไปจนถึงทางใต้ของอิสตันบูล น่าเศร้าที่สุดคือ ตายทั้งสัตว์ทะเล และอาชีพชาวประมง

น้ำมูกทะเล หรือเมือกทะเล คือตะกอนสีเขียวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นสารเมือกหนานิ่มๆ คล้ายน้ำมูก ซึ่งเกิดจากการที่สาหร่ายทะเลได้รับสารอาหารมากเกินไป เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจนส่งผลให้อุณหภูมิในทะเลขึ้นสูง และมลพิษทางน้ำจากกองขยะ ของเสียในทะเลที่ไม่ผ่านการบำบัด และน้ำเน่า ส่งผลให้น้ำมูกเหล่านี้เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่พร้อมดูดออกซิเจนในน้ำจนพวกมันหายใจไม่ออก และตาย

Meric Albay ศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ทางน้ำ มหาวิทยาลัยอิสตันบูลกล่าวว่า ความร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นคือปลาไม่สามารถอพยพ ไม่สามารถวางไข่ และขยายพันธุ์ เนื่องจากน้ำมูกทะเลสามารถเคลือบเหงือกของสัตว์ทะเล ทำให้สัตว์เหล่านั้นขาดออกซิเจนจนตาย ดังนั้น หนทางรอดคือการมอบโอกาสให้ระบบนิเวศฟื้นตัวโดยการป้องกันมลพิษ หยุดจับปลาเกินขนาด และปกป้องพื้นที่นี้จนกว่าทะเลจะฟื้นคืนอีกครั้ง

น้ำมูกทะเล-ตุรกี
น้ำมูกทะเล ริมฝั่งทะเลมาร์มาราไปจนถึงทางใต้ของอิสตันบูล ประเทศตุรกี

ด้านรัฐบาลตุรกีกำหนดให้ทะเลมาร์มาราเป็นพื้นที่คุ้มครองภายในสิ้นปี 2021 และเข้าไปตรวจสอบโรงงานระบายความร้อน โรงงานปุ๋ย และอู่ต่อเรือ 3 แห่งที่ปล่อยมลพิษทางทะเล โดยสั่งให้ปิดตัว อีกทั้งเรียกค่าปรับจากโรงงาน 55 แห่ง และเรือ 9 ลำ รวม 1.16 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ปล่อยของเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดสู่ทะเล

ภัยคุกคามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถูกพบในตุรกีตั้งแต่ปี 2007 และถูกค้นพบอีกครั้งในทะเลอีเจียนใกล้ประเทศกรีซ นั่นเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลตุรกีจะออกแผนปฏิบัติการทำความสะอาดทะเลใน 7 จังหวัดตามแนวชายฝั่งของมาร์มารา แต่น้ำมูกทะเลยังคงไหลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลา ก้นทะเลเต็มไปด้วยเมือก หย่อนอวนลงไปก็เจอเมือกอุดตัน ดังนั้นชาวประมงในปี 2021 จึงขาดทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และต้องการความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลโดยด่วน

02 ปะการังฟอกขาว

ปะการังฟอกขาว-ทะเล
ปะการังฟอกขาวในทะเล

ตอนปี 1980 เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันไว้ว่า ปะการังฟื้นฟูตัวเองได้ตามธรรมชาติและจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้งในเวลา 25 – 30 ปี แต่ยาวนานมาถึงปี 2021 ทั้งภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นของท้องทะเล และปัญหามลพิษที่ถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย ปะการังจะเอาเวลาที่ไหนไปเยียวยาตัวเองได้

ประเทศไทยเหลือปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ Great Barrier Reef หรือ แนวปะการังประเทศออสเตรเลียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

แนวปะการังทั่วโลกสูญเสียไป 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

และปะการังจะเกิดความเครียด เมื่ออุณหภูมิรอบตัวสูงขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ซึ่งการแปรผันของอุณหภูมิใต้น้ำที่ร้อนขึ้น ทำให้ปะการังเริ่มฟอกขาว เมื่อน้ำอุ่น สาหร่ายขนาดเล็กที่เรียกว่าไดโนแฟลเจลเลตที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการังจะถูกขับออกมา หลังจากนั้นปะการังจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูบ้าง น้ำเงินบ้าง หรือเรืองแสงเหลืองอร่าม เพื่อปกป้องตัวเองจากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์ นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีแน่นอน เพราะจะทำให้ปะการังเข้าสู่สภาวะประสาทหลอน และเริ่มฟอกสีจนขาว และตาย

ปะการังฟอกขาว-ทะเล
ปะการังฟอกขาวในทะเล

เช่นเดียวกับสาหร่ายซูแซนเทลลีที่อพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ความเค็มของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง หรือการเกิดมลพิษในน้ำ ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว ปะการังส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในภาวะฟอกขาวได้ราว 2 – 3 เดือน เท่านั้น

Sam Purkis นักชีววิทยาทางทะเล ประจำมหาวิทยาลัยไมอามี เฝ้าดูปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและเริ่มตาย จนพบว่าไม่ใช่แค่แนวปะการังเล็กๆ ที่ประสบปัญหา แต่เกิดขึ้นในทั่วพื้นที่ในหลายร้อยตารางไมล์ 

“อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 0.13 องศาเซลเซียส (0.23 องศาฟาเรนไฮต์) ต่อทศวรรษ เนื่องจากมหาสมุทรดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อุณหภูมิที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของทะเลส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ทะเล ตั้งแต่การเสื่อมสภาพของเปลือกหอยนางรมและแพลงก์ตอน เทอโรพอด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหาร ไปจนถึงทำให้ประชากรปลาอพยพไปยังแหล่งน้ำที่เย็นกว่า

“หากทุกภาคส่วนสามารถควบคุมการจับปลาเกินขนาด พัฒนาชายฝั่ง ดูแลปัญหามลพิษอย่างจริงจัง แนวปะการังจะกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้น และรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นเช่นกัน” Sam Purkis กล่าว

03 อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

อ่านมาถึงบทนี้คงสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะน้ำมูกทะเลหรือปะการังฟอกขาว ล้วนเกิดขึ้นเพราะ ‘อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น’ ที่บอกว่าสูงขึ้น ให้ทายว่าร้อนประมาณไหน

ติ๊กต็อก

ติ๊กต็อก

คำตอบจากทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ในวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ซึ่งเก็บรวบรวมการวัดอุณหภูมิที่กระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรทั่วโลก พบว่า ปี 2020 โลกดูดซับความร้อนประมาณ 20 เซตตาจูล เทียบเท่ากับความร้อนจากไดร์เป่าผมทั่วไป 630 พันล้านเครื่องที่เปิดทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน 360 วัน ซึ่งโลกปกคลุมด้วยน้ำทะเลถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นั่นทำให้คุณไม่ต้องเดา ก็คงรู้ว่ามันโคตรร้อน และ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration) ก็ยืนยันว่าปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดสำหรับมหาสมุทรแล้ว

หายนะที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์

ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อสัตว์ทะเลอย่างเดียว แต่ ‘มนุษย์’ ซึ่งเป็นตัวการนั้น จะได้พบกับพายุที่รุนแรงขึ้น เช่น พายุไซโคลน ซึ่งเพิ่งพัดเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ บางพื้นที่จะมีฝนตกชุกและน้ำท่วมขัง ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่จะเหือดแห้งด้วยคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเราก็ได้เห็นผลกระทบเหล่านี้กับกรณีไฟป่าออสเตรเลีย ทางตะวันตกของสหรัฐฯ ไปแล้ว

04 น้ำแข็งทะเลอาร์กติกละลาย

น้ำแข็งละลาย-ทะเล-อาร์กติก
น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลาย

ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังส่งผลไปถึงทวีปอาร์กติกที่กำลังจะร้อนมากกว่าเดิมสองเท่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 – 3 องศาเซลเซียส 

แผ่นน้ำแข็งที่ปกป้องชายฝั่งกำลังละลาย หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวบ้านตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น

กรกฎาคม ปี 2020 มีน้ำแข็งครอบคลุมพื้นที่เพียง 7,200,000 ตารางกิโลเมตร หากนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกลดลงเฉลี่ย 70,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี และไม่มีการเพิ่มขึ้นอีกเลย

น่ากังวลมากขึ้นไปอีก เมื่องานศึกษาในนิตยสาร Nature Climate Change คาดการณ์ว่า โลกกำลังจะสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งไป ‘ทั้งหมด’ ภายในปี 2035 

วิกฤตทั้งสัตว์ขั้วโลก วิกฤตทั้งคน

05 กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม อ่อนกำลังสุดในรอบพันปี

กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม-อ่อนกำลัง-รอบพันปี-ทะเล

ไม่เพียงเท่านั้น หากภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไป จะส่งผลไปถึง ‘กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม’ (Atlantic Meridional Overturning Circulation) หรือกระแสน้ำที่ไหลเวียนของเส้นลมปราณแอตแลนติก ซึ่งเป็นสายพานลำเลียงหลักในมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นสายพานขนาดยักษ์ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าตอนนี้กระแสน้ำอุ่นอ่อนกำลังที่สุดในรอบพันปี และเข้าใกล้จุดวิกฤตหยุดไหลถาวรหลังสิ้นศตวรรษนี้ อากาศแถบยุโรปจะหนาวเหน็บ ภัยความแห้งแล้งมาเยือน มหาสมุทรแอตแลนติกจะมีน้ำทะเลหนุนสูง และเกิดพายุลูกใหญ่ซัดกระหน่ำ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก และสถาบันพอตสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศของเยอรมนี ระบุว่ากระแสน้ำดังกล่าวเป็นสายพานลำเลียงอากาศอบอุ่น แร่ธาตุ และสารอาหารจากเขตร้อนบริเวณอ่าวเม็กซิโกไปยังยุโรปตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวช้าลง

กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม-อ่อนกำลัง-รอบพันปี-ทะเล

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงและการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์ ทำให้น้ำจืดปริมาณมหาศาลไหลลงสู่ทะเลไปรบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำ ส่งผลให้กระแสน้ำอ่อนแรงและไหลช้าลง และถ้าภาวะโลกร้อนไม่ถูกแก้ไขโดยด่วน กระแสน้ำอุ่นจะยิ่งอ่อนกำลังลงอีก 34 – 45 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ และอาจหยุดนิ่งไปอย่างถาวรในช่วงศตวรรษถัดไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี 2100 กระแสน้ำจะไม่สามารถกลับมาไหลเวียนได้อีก

06 เม็ดพลาสติกเกลื่อนทะเล

เม็ดพลาสติกทั่วทะเล-ศรีลังกา-ไฟไหม้-XPress Pearl
เม็ดพลาสติกกระจายทั่วทะเลนอกชายฝั่งประเทศศรีลังกา จากเหตุไฟไหม้ X-Press Pearl

ต้นเดือนมิถุนายน ปี 2021 เกิดเหตุไฟไหม้เรือบรรทุกสินค้า X-Press Pearl กลางทะเลนอกชายฝั่งประเทศศรีลังกา ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกาะนี้ไปอีกหลายทศวรรษ ทั้งเรื่องสารเคมีอันตราย และเม็ดพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ลอยเกลื่อนเต็มทะเล

แม้ตอนนี้ไฟจะดับไปแล้ว แต่ปัญหากำลังจะตามมาเพียบ 

หนึ่ง บนเรือยังมีตู้คอนเทนเนอร์ที่เต็มไปด้วยสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมถึง 46 ชนิด ซึ่ง Hemantha Withanage นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวศรีลังกาและผู้ก่อตั้งศูนย์ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Centre for Environmental Justice) ในเมืองหลวงโคลัมโบ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าในบรรดาเคมีที่อันตรายที่สุดบนเรือ คือ กรดไนตริก โซเดียมไดออกไซด์ ทองแดง และตะกั่ว ที่เมื่อลงไปในน้ำ สารเคมีเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายสัตว์ทะเล ปลาตัวเล็กจะตายอย่างรวดเร็ว ปลาใหญ่จะกลืนสารพิษเข้าไป เต่า และโลมาถูกพัดเกยจนตาย และบางส่วนเปลี่ยนเป็นสีเขียว อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของโลหะและสารเคมี

สอง เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Nurdle) จำนวนมากที่เตรียมพร้อมสำหรับนำไปใช้ผลิตสินค้าพลาสติกเกือบทั้งหมดนั้นไปจบลงที่ชายหาด ซึ่งทำให้ท้องและเหงือกของปลาเต็มไปด้วยพลาสติก โดยพลาสติกเหล่านั้นจะใช้เวลาย่อยสลาย 500 – 1,000 ปี มีแนวโน้มว่าจะถูกกระแสน้ำในทะเลพัดไปทั่วชายฝั่งศรีลังกา และชายหาดที่อยู่ห่างจากเรืออับปางหลายร้อยกิโลเมตร

ผลกระทบร้ายแรงยังคงทอดต่อไปยังชาวประมงท้องถิ่นที่สูญเสียการดำรงชีพในชั่วข้ามคืน และมีโอกาสต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกหลายปี หากไม่มีมาตรการอะไรเยียวยา

07 อวนถล่มโลซิน

อวนถล่มโลซิน-ปัตตานี
อวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังที่เกาะโลซิน ปัตตานี

“โลซิน ณ ปัจจุบันหลังจากเริ่มเปิดฤดูกาล สภาพตอนนี้ก็เป็นอย่างที่เห็นครับ มีอวนขนาดใหญ่ติดอยู่บริเวณทางด้านตะวันตกของเกาะ วันที่พบเจอคือ 11 – 13 มิ.ย. 2564 ฝากด้วยนะครับ” เป็นข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก IMAN Camera ได้โพสต์พร้อมภาพอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังที่เกาะโลซิน ปัตตานี

กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นต่อการทำลายระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลายชนิด ด้าน ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “ภาพอวนถล่มโลซิน คงไม่ส่งผลดีกับจุดยืนของประเทศไทยอย่างแน่นอน ยังรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Tourism) ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ผมเชื่อมั่นว่าเราพอจะดูแลพื้นที่และเกาะชายฝั่งเราได้บ้าง แต่พื้นที่ห่างฝั่งเป็นปัญหามาตลอด การแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ พิสูจน์แล้วว่า มันก็เกิดเหตุการณ์แบบเดิมๆ ทุกปี มันจึงถึงเวลาที่เราควรต้องหาทางฝ่าวังวนนี้ออกไป”

แม้เกาะโลซินจะประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปัญหายังคงเกิดขึ้นได้ และถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่า อวนเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองได้อย่างไร ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบ หากประชาชนไม่ช่วยเป็นหูเป็นตากันเอง อวนก็ยังถูกทิ้งไว้แบบนั้น ไม่ถูกแก้ไขหรือเปล่า

อวนถล่มโลซิน-ปัตตานี-ปะการัง
นักดำน้ำพบอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังที่เกาะโลซิน ปัตตานี

ผศ. ดร.ธรณ์ ย้ำว่า การค้นพบของคณะนักดำน้ำซึ่งออกไปสำรวจเกาะโลซินนั้นพบว่าใต้น้ำเป็นแนวปะการังกว้างใหญ่ เป็นที่อยู่ของปลาหลายชนิดที่ไม่พบในที่อื่นของอ่าวไทย เช่น ปลานกแก้วหัวโหนก ซึ่งเป็นปลานกแก้วพันธุ์ใหญ่ที่สุดและหายากมากในทะเลไทย และยังกระทบถึงฉลามวาฬ ปลากระเบนแมนตา กระเบนนก 

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมนักดำน้ำ 40 นาย เข้าไปเก็บกู้อวนได้กว่า 800 กิโลกรัม ประเมินความเสียหายของปะการัง ได้ประมาณ 550 ตารางเมตร อีกทั้งจะเร่งติดตามหาผู้กระทำความผิดที่คาดว่าเป็นเรือประมงเครื่องมือประมงอวนล้อมหิน เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

เพราะนอกจากปะการังที่ได้ผลกระทบแล้ว ดอกไม้ทะเล และสัตว์หน้าดิน ปูและหอยเม่น ถูกทับ พัน และเกี่ยว ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการปลูกทดแทนในพื้นที่เสียหาย 

สุดท้ายแล้วปัญหาหลักที่ทำให้ทะเลเผชิญภัยอันตรายครั้งใหญ่แตกต่างรูปแบบกันไป ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ และมนุษย์ก็สามารถเลือกได้ว่าจะช่วยบรรเทาความร้อนบนโลกหรือไม่ และยังเลือกได้อีกว่าจะจัดตั้งมาตรการทางทะเลอย่างเข้มงวดเรื่องการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม และสอดส่องดูแลสิ่งแปลกปลอมที่ตกหล่นลงไปในทะเลหรือไม่

นั่นคือสิ่งที่เลือกได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกหรือไม่เท่านั้น

Sources :
Bangkokbiznews | https://bit.ly/3gOQxKB 
BBC | https://bbc.in/3d4gTpK, https://bbc.in/2SVyWHL 
Khaosod | https://bit.ly/3j11Zo1 
National Geographic Thailand | https://bit.ly/2TX4zkt, https://bit.ly/3gLzVn1
The Guardian | https://bit.ly/3gQCSCW 
Thon Thamrongnawasawat | https://bit.ly/3j61wAH 
World Economic Forum | https://bit.ly/3gXHdCR 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.