สภาพแวดล้อมของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงทำให้พื้นที่สีเขียวหรือจำพวกสวนสาธารณะนั้นน้อยลงทุกวัน ทว่าในบางย่านก็พบว่ายังมีพื้นที่รกร้างที่แม้จะดูไม่สวยงามน่ามอง แต่ก็สามารถนำมาสร้างให้เกิดประโยชน์กว่าที่เป็นอยู่ได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพด้วยโปรเจกต์สวนน้ำ ‘Waterline Park’ ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน สถานที่แห่งนี้ถูกออกแบบและปรับเปลี่ยนผืนดินที่ถูกลืมให้กลายเป็นพื้นที่ที่นำความสุขมาสู่ชุมชนได้ บริเวณสวนน้ำนี้ถูกปรับปรุงมาจากรางน้ำยาว 1.5 กม. โดยมีความกว้างที่แคบที่สุด 40 ม. มีความสูงที่ต่างกันเฉลี่ย 5 – 7 ม. และขนาบข้างด้วยถนน
จุดเด่นของการออกแบบคือ การปรับภูมิทัศน์ที่ตั้งใจเชื่อมต่อผืนดินทั้งสี่ผืนที่แยกส่วนก่อนหน้านี้ผ่านลักษณะทางน้ำที่เชื่อมต่อกัน เกิดเป็นทางเดินและลานกว้างซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น หุบเขา น้ำตก ลำคลอง ชายฝั่ง เกาะ ฯลฯ ทำให้มองเห็นภูมิทัศน์สูงต่ำที่ลดหลั่นหลากหลายมิติ เป็นทั้งทางลาด ทางเรียบ หรือเป็นกำแพงกั้น ฯลฯ พูดได้ว่าไม่มีรูปแบบตายตัวเพื่อให้เกิดการไหลเวียนและการใช้น้ำอย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่ที่เชื้อชวนให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น
นอกจากบรรยากาศของสวนน้ำแล้ว ที่แห่งนี้ยังมีจุดแวะพักต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ มีพื้นที่ให้ผู้คนได้นั่งเล่น ถ่ายรูป และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพโดยรอบ ทำให้ทุกคนเชื่อมต่อกับธรรมชาติและชุมชนได้มากกว่าที่ผ่านมา ที่นี่จึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวาและช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไปในตัว
Waterline Park เป็นทั้งพื้นที่ให้ได้เล่นสนุกสนาน ได้พักผ่อนกายา เป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับทำกิจกรรมของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ทั้งยังมีความสวยงามราวหุบเขาสีเขียวในเมือง รวมถึงการออกแบบก็ยังครอบคลุมไปถึงประโยชน์ของระบบนิเวศที่สามารถทำหน้าที่เป็นสวนเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกต่างหาก