เดินสำรวจ ซอยวัดด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ - Urban Creature

‘วัดด่านสำโรง’ ซอยเล็กๆ ย่านสำโรง ที่มีคนอยู่อาศัยคึกคัก คนแถวนี้เรียกสั้นๆ ว่า ‘ซอยวัดด่าน’ อยู่ติดตลาด และห้างฯ ใหญ่ฝั่งตรงข้ามปากซอย แถมมีสกายวอล์กข้ามคลองไปถึง BTS สถานีสำโรง เรียกว่าเป็นถิ่นที่อยู่ง่ายกินง่าย เข้าออกสะดวก

ฉันแวะเวียนมาซอยนี้บ่อยๆ บ้างมาทำบุญที่วัด บ้างก็เดินซื้อกับข้าวกับปลา เรียกว่าเป็นละแวกบ้านที่คุ้นเคย และเห็นวิถีชีวิตที่ไม่เปลี่ยนไปมากนัก มีความเป็นชุมชนใกล้วัดที่ฉันรู้จักมาตั้งแต่เกิด แต่บรรยากาศในวันนี้ต่างไปจากเดิม ร้านรวงบ้างก็ปิด ผู้คนใส่แมสก์ และบางตาลง

วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ หลังจากสถานการณ์โควิดกินเวลามาหลายเดือน ฉันแวะทักทายพี่ป้าน้าอา เจ้าของร้านค้าหรือกิจการเล็กๆ ในตึกแถว ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ อีกทั้งได้พูดคุยกับวัดที่ต้องปรับตัว และเปิดศูนย์ช่วยเหลือเพื่อแจกจ่ายของกินของใช้ให้ญาติโยมที่กำลังประสบความลำบาก

ปกติแล้วซอยวัดด่านมักจะพลุกพล่านเสมอ โดยเฉพาะทุกวันตอนเย็นๆ ปากซอยจะมีกับข้าวมาตั้งขายละลานตา ถัดเข้ามาจะเจอบ้านช่องตึกแถวเรียงราย ด้านหน้าเปิดเป็นร้านรวงต่างๆ ทั้งร้านขายของชำ เสริมสวย เย็บผ้า ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายเครื่องสังฆทาน ยันพวงหรีด เมื่อก่อนนี้ฉันโตทันร้านเช่าวิดีโอ และร้านเกมที่เคยขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ตอนนี้แทบไม่เหลือแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือคอนโดที่เริ่มผุดขึ้นมามากขึ้น

“สมัยก่อนไม่ได้มีตึกรามบ้านช่องขนาดนี้ แต่ตอนนี้ตั้งแต่ปากซอยถึงท้ายซอยจะเป็นตึกแถวตลอด แล้ววินมอเตอร์ไซค์พูดง่ายๆ คือมีทุกซอย เช่นเดียวกับห้างฯ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มันเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ซอยวัดด่านกลายเป็นแหล่งชุมชนที่เจริญ”

เสน่ห์ของซอยวัดด่านคือการเดินทางที่หลากหลาย มีทั้งวินมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก ซูบารุ สองแถว แต่ที่สนุกสุดคงเป็น ‘สามล้อถีบ’ ที่ฉันชอบนั่งตอนเด็กๆ เพราะไม่ได้มีให้เห็นกันง่ายๆ ที่ริมถนนมีสามล้อสีชมพูจอดรอลูกค้าอยู่ ฉันจึงได้รู้จักกับ ‘ลุงไก่’ ที่คุยกับฉันด้วยอารมณ์ขัน

ขี่สามล้อมานานรึยัง

“ตั้งแต่ปี 51 ก็ 12 ปีได้ ขี่มาตั้งแต่ 30 กว่าๆ ตอนนี้ขึ้นหลักสี่ใกล้เลขห้าแล้ว (แสดงว่าแข็งแรง) แข็ง (หัวเราะ)

ลูกค้าเยอะมั้ย

“แต่ก่อนขาประจำเยอะ แต่หลังจากโควิดมาเนี่ย ลูกค้าไม่ออกจากบ้านเลย เราก็ขาดรายได้ เขาสั่งล็อกดาวน์แบบนี้ เราก็ต้องปากกัดตีนถีบ”

ทำไมถึงไม่เลือกขี่วินมอเตอร์ไซค์

“มันก็เหมือนกันแหละหนู 10 บาทเหมือนกัน แต่ถ้าขับมอไซค์วินนะ ต้องเสียค่าวิน ค่าเสื้อเป็นแสน ไหนจะค่าน้ำมันอีก ขนาดนี่ยังแทบจะมื้อกินมื้อเลย ไปขับวินไม่ไหวหรอกรายจ่ายมันเยอะ แบบนี้ดีกว่าเราได้ออกกำลังกายด้วย”

ซอยนี้มีรถรับจ้างตั้งหลายแบบ ไม่แย่งลูกค้ากันหรือคะ

“ก็แล้วแต่ผู้โดยสาร เขาอยากไปสองแถวก็ไป ไปตุ๊กตุ๊กก็ไป เป็นสิทธิของเขาเราไปบังคับไม่ได้ นั่งสามล้อมันช้าแต่ปลอดภัย นึกถึงสมัยโบราณ ลุงสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นลูกหลานเหลน บางคนก็อยากนั่งชมวิว ไม่รีบร้อน ถ้าใครอยากรีบร้อนก็นู่น มอเตอร์ไซค์”

ทำไมเลือกทำอาชีพนี้ 

“คนเราเกิดมาเลือกได้แค่สองทาง ทางดีกับทางไม่ดี ถ้าเป็นหนู หนูจะเลือกทางไหน เราทำสิ่งไหนก็ได้ที่มันไม่ผิดกฎหมาย เท่านั้นก็โอเค เราอยู่ได้แบบพอเพียงไม่เป็นหนี้ใคร เรามีร้อยนึงกินห้าสิบ ไม่ใช่มีร้อยกินร้อยห้าสิบ แล้วจะไปเหลืออะไรล่ะใช่มั้ย”

ในช่วงนี้รู้สึกยังไงบ้าง

“ก็มีความสุขดีแต่ร้องไห้ไม่มีใครเห็นหรอก เพราะมันร้องไห้อยู่ข้างใน วันนี้ได้ไม่ถึงร้อย เราก็โอ้ย ทำไงดีน้อ ข้าวมื้อนึงก็ 40-50 ยังดีมีมาม่าพอประทังไปได้ เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจมันแย่ กว่าจะกลับมาฟื้นตัวก็ต้องให้เวลาหน่อย คนเรายังนับ 1 ถึง 10 เลย”

ระหว่างเดินผ่านร้านขายส่งฉันเกิดสนใจว่า ช่วงที่ผ่านมาค้าขายเป็นอย่างไร รอจังหวะรถขนของมาลงเสร็จ จึงเดินเข้าไปถามเจ้ที่นั่งเก๊ะเก็บเงิน

“เปิดมานานประมาณ 20 ปีแล้ว ช่วงโควิดก็พอขายได้เรื่อยๆ ไม่ได้ถึงกับดีหรือแย่ เพราะเราอยู่ใกล้ตลาดก็ขายส่งแม่ค้าเอาไปขายปลีกอีกที แต่ 2-3 ปีหลังๆ มานี้ มันขายไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เพราะมีห้างฯ ด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ก็เยอะขึ้น”

ส่งทุกอย่างตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย

ฝั่งตรงกันข้ามมีร้านเบเกอรี่เจ้าเก่าที่รสชาติอร่อยไม่เปลี่ยน ขนมในตู้กระจกมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งเค้กรสต่างๆ โดนัทน้ำตาล เอแคลร์ ขนมปังลูกเกด ฉันซื้อติดมือกลับบ้าน 2-3 อย่าง และชวนพี่วิเชียรคุยเล็กๆ น้อยๆ

“เปิดร้านมา 30 กว่าปี ช่วงเดือนที่ผ่านมายอดสั่งเค้กน้อยลง เพราะเขาไม่ให้จัดงานสังสรรค์หรืองานวันเกิด หน้าร้านก็ยอดตกเพราะคนไม่ค่อยมาเดิน ที่แน่ๆ พอห้างฯ ปิด พนักงานห้าง พนักงานขนของ พนักงานร้านนวด เขาก็กลับบ้านต่างจังหวัดกัน ตอนนี้เราเริ่มชินแล้วแต่ก็อยากให้มันจบเร็วๆ”

มอเตอร์ไซค์คันเก่ง อีกไม่นานคงได้ไปร่อน
ร้านชุดวิวาห์ให้เช่า แต่เจ้าสาวต้องรอไปก่อน

เดินมาหลายคูหา สังเกตเห็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ติดกันหลายร้าน ฉันมาหยุดที่หน้าร้าน แมน ดีไซน์ ซึ่งตั้งโต๊ะขายส้มโอลูกโตๆ อยู่หน้าร้าน

“เราเปิดมา 30 กว่าปีแล้วเนอะ คนแถวนี้ก็รู้จัก ส่วนใหญ่จะตัดเสื้อผ้าให้บริษัท เขาจะมาหาที่ร้านเอง ไม่ได้ไปประมูลกับเขา ดั้งเดิมพี่เป็นคนนครปฐม แต่เรามาอยู่ตั้งแต่เด็กๆ มาเป็นลูกน้องเขาก่อน”

“สมัยก่อนซอยวัดด่านนี่ปิดร้านสี่ทุ่มเลยนะ เดี๋ยวนี้สองทุ่มก็เงียบแล้ว ยังดีมีคอนโดหน้าวัด มีรถไฟฟ้ามาก็คึกคักขึ้นมาหน่อย ช่วงนี้ก็เศรษฐกิจด้วยนะ เมื่อก่อนโรงงานเข้ามาติดต่อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้พนักงานก็น้อยลงนะ เราจะขึ้นราคาก็ไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดีก็เห็นใจซึ่งกันและกัน”

“ช่วงโควิดยิ่งแย่ใหญ่เลย งานไม่เข้าเป็นเดือนๆ เลยนะ ขนาดลูกค้าเขามาตัดไว้ยังไม่กล้ามารับเลย เขาบอกจอดรถหน้าร้านช่วยส่งให้หน่อย หรือไม่เราก็จ้างวินให้ไปส่งที่บ้านเขา คนไม่กล้าออกจากบ้าน เขาบอกใส่เก่าๆ ไปก่อน รอให้โควิดหายแล้วค่อยมาตัดใหม่”

พอเกิดโรคระบาดการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมากไหม

“เรื่องกินเรื่องใช้เราต้องประหยัดทุกอย่าง พอไม่มีงานปุ๊บก็ต้องหาอะไรมาทำน่ะเนอะ ไม่งั้นเงินจะหมดไปเรื่อยๆ บางทีก็เอาผลไม้จากที่บ้านนครปฐม พวกมะม่วง มะนาว มาขายเพราะมีเยอะ แถวบ้านเราบ้านใครเขาก็มี เลยจะขายไม่ค่อยได้ ที่นี่มันติดตลาดก็จริงแต่ของเราเองไม่ได้ใส่สารเคมี ขนมาขายไม่ได้เยอะก็พอถูๆ ไถๆ แล้วเราไม่ค่อยรับที่อื่นมาขายหรอก เพราะไม่มีเงินลงทุนขนาดนั้น หลังจากนี้มันคงไม่ฟื้นง่ายๆ หรอก แต่ก็สู้กันต่อไปน่ะเนอะ”

อยู่บ้านนานๆ แค่ได้พาหมามาเดินเล่นหน้าบ้านก็พอใจแล้ว
เบญเครื่องเขียน โรงเรียนเปิดเมื่อไหร่เจอกัน

อีกกิจการที่มีเปิดกันเยอะคือร้านเสริมสวย แต่ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องปิดร้านไปเลยทั้งเดือน และเพิ่งกลับมาเปิดได้ไม่กี่วัน

“เดือนที่ผ่านมาต้องปิดร้านไปเลย แต่เราต้องเสียค่าเช่าเท่าเดิม ได้กลับมาเปิดก็พอมีรายได้บ้างนิดหน่อย ตอนนี้ทำได้แค่ตัดผมกับสระไดร์ตามนโยบายรัฐ จำกัดลูกค้าเข้ามาทีละ 2-3 คน หรือบางทีลูกค้ามีเข้ามาคนเดียว ส่วนมากเขาจะอยากมาทำสีมากกว่า สระนี่เขาสระเองที่บ้านก็ได้”

“บรรยากาศก็เงียบลงไปเยอะ ทุ่มนึงนี่ไม่มีรถเลยนะ ปกติคนจะยืนเข้าคิวรอวินมอไซค์กันเต็มเลย เพราะย่านนี้เป็นตลาด ช่วงนี้เราก็กลัวเหมือนกัน ที่ร้านจะมีเจลล้างมือ เวลาลูกค้าออกจากร้านเราก็ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์นี่ต้องล้างแอลกอฮอล์หมดเลย”

ฉันสะดุดตากับร้านตัดผมชายสุดคลาสสิกจนต้องก้าวเข้าไปในร้าน ลุงสมานเจ้าของร้านกำลังง่วนอยู่กับการตัดผม

“ตัดผมอยู่สำโรงนี่ 43 ปีแล้ว ตอนนั้นอายุ 30 กว่า ลุงไม่ชอบก้มหัวให้ใคร ทำอาชีพอิสระแล้วสบายใจกว่าเลยมาตัดผม ทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาทำนะมาช่วยเขาตัด ตัดไปตัดมาลูกค้าติดกันเยอะก็เลยทำเรื่อยมา แล้วลุงเลิกไปพักหนึ่งไปเป็นเทรนเนอร์สอนนักมวย รูปยังติดอยู่นั่น ‘75 ก็ยังแมน’ ลงหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 15 ธันวา ปี 61 ตอนนี้อายุ 77 แล้วยังแข็งแรงเพราะออกกำลังกายทุกวัน”

ช่วงที่ต้องปิดร้านมีวิธีรับมืออย่างไร

“ลุงเนี่ยกระทบสุดเลย ไม่ได้ทำงานมาเดือนกว่า เพิ่งกลับมาทำเมื่อวานนี้ ขอเงินเยียวยา 5,000 ก็ไม่ได้ ลุงเลยไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมปากน้ำ เขาบอกพรุ่งนี้ลุงโทรมาถามนะว่าได้ไม่ได้ ถามว่ามันจะดีขึ้นไหม ช่วงนี้มันก็ยังอ่านยาก ถ้ามันไม่มีรอบสองก็พออยู่ได้ ลุงทำแค่วันละ 200-300 บาทพอแล้ว เมื่อวานนี่ 15 หัวเพราะมันอั้นมาเดือนกว่า แต่หมดนี่ก็คงไม่มีคนแล้ว”

เดินมาถึงวัดด่าน โชคดีที่วันนี้ได้พบ ‘กำนันเบ๋อ’ อดีตกำนันซึ่งปัจจุบันเป็น สท.ด่านสำโรง และไวยาวัจกร วัดด่านสำโรง กำนันเบ๋อจึงเล่าประวัติของวัดคร่าวๆ ให้ฟัง

“วัดด่านสำโรงเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีฯ ต้นกรุงธนฯ เป็นวัดร้าง ชาวบ้านในละแวกนี้ช่วยกันทำนุบำรุงขึ้นมา”

ฉันไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า วัดนี้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ในหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย กล่าวว่า

“พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าตีกรุงแตก ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ นี้ก็ถูกพม่าปล้นสะดมบ้านเรือนราษฎรด้วย จึงน่าจะย่อยยับเป็นอันมากในครั้งนั้น”

เป็นเหตุทำให้เมืองสมุทรปราการร้างไปเพราะภัยสงคราม เดิมสมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าสำโรง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จนเจริญเป็นหมู่บ้านใหญ่ชื่อว่าหมู่บ้านสำโรง หรือตำบลสำโรง หลังจากนั้นชาวบ้านก็ร่วมกันบูรณะ ‘วัดสำโรง’ ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๒๐ ในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย (ที่มา : watdansamrong3.blogspot.com) ส่วนคำว่า ‘ด่าน’ นั้นถูกเติมเข้ามาทีหลัง กำนันเบ๋อบอกเล่าที่มาที่ไป 

“แต่ก่อนตรงนี้เคยเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือ แลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างกรุงเทพ ฯ กับจังหวัดฉะเชิงเทรา มีคลองสำโรงตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแม่น้ำบางปะกง ในสมัย ร. 3 – 4 จึงมีการตั้งด่านตรวจเรือและเก็บภาษีอากรใกล้ๆ วัด ละแวกนี้จึงถูกเรียกว่า ‘ด่านสำโรง’ และพลอยกลายเป็นชื่อเรียกวัดไปด้วย”

ทุกวันสำคัญทางศาสนาที่วัดจะจัดงานใหญ่โต ญาติโยมจะเดินทางมาทำบุญกันคับคั่ง แต่ปีนี้งานใหญ่ประจำปีต้องยกเลิกไป

“วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อยู่ใจกลางชุมชน พี่น้องประชาชนจึงมาทำบุญกันเยอะ มีทั้งชาวลาว พม่า ไทยใหญ่ ที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ เวลามีงานเทศกาลทีอย่างสงกรานต์ เข้าพรรษา ก็จะแต่งตัวตามวัฒนธรรมของเขามารวมตัวกัน มีเครื่องดนตรีมาร้องรำทำเพลง นอกจากนี้ก็มีชาวเขมร มอญ มาทำบุญกันประปราย”

“ปกติทุกวันพระที่วัดคนจะแน่นหมด โดยเฉพาะเวลามีจัดงานเทศกาลต่างๆ พื้นที่วัดแทบไม่พอเพราะคนมากันเยอะ ทุกปีพอมีเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา มาฆบูชา หรืออาสาฬหูชา จะขายดอกไม้ได้ 3,000 – 5,000 ชุด แต่ปีนี้วันวิสาขบูชาที่จะมาถึงต้องหยุดเพราะโควิดระบาด ช่วงที่ผ่านมาคนก็มาทำบุญกันน้อยลงเพราะกลัว ทางวัดก็แนะนำว่าถ้าไม่สะดวกมาวัดก็ทำบุญที่บ้านได้ สวดมนต์ไหว้พระที่บ้าน หรือพระบิณฑบาตรหน้าบ้านก็ใส่บาตร พระเองก็ใส่แมสก์”

นอกจากคนมาทำบุญน้อยลงวัดยังต้องปรับตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจของสงฆ์ภายในวัด

“งานทุกชนิดที่นิมนต์พระไว้ก็คืนกิจหมด งานศพหรืองานอื่นๆ ในวัด ต้องจัดสถานที่ให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ส่วนมากทางวัดจะแนะนำว่าควรจัดสวดและเผาให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกันเยอะ อย่างศาลานี้สวด 6 โมง ศาลานี้อาจจะสวดทุ่มนึง เวลาจะได้ไม่ชนกัน เผาศพก็จะมีตั้งแต่ 9 โมงเช้า, 11 โมง, บ่าย 2, บ่าย 3 จัดเวลาให้ญาติโยมสะดวก อย่างน้อยถ้าสวด 1 ทุ่ม เลิก 2 ทุ่ม เพราะบางคนบ้านไกลกลับไม่ทันเคอร์ฟิว และที่วัดยังมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันพระ 15 ค่ำ กับวันศุกร์เพราะวันนั้นจะไม่มีการเผาศพ”

ในช่วงสถานการณ์โควิด ทางวัดได้เปิดโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และออกไปแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้ง/ของใช้จำเป็น ตามบ้านญาติโยมที่ไม่สามารถเดินทางมาวัดได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ รวมถึงเดินฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือนในชุมชน

“ท่านเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเรียกประชุม ในมติที่ประชุมก็ตกลงให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประจวบกับสมเด็จพระสังฆราชมีบัญชาว่า วัดใดอยู่ในเขตที่มีผู้ได้รับผลกระทบ หากช่วยได้ก็ช่วยตามอัตภาพของวัด”

“ในช่วงแรกทางวัดตั้งใจจะทำแค่อาทิตย์ละครั้ง แต่พอลงมือเข้าจริงก็ทำกันทุกวันมาหนึ่งเดือนเต็มๆ วันแรกเตรียมแจกอาหารสำเร็จรูปไว้ 50-70 ชุด จากนั้นก็เริ่มมีการปากต่อปากว่าที่วัดมีการช่วยเหลือ คนจึงมากันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 50 คน จนตอนนี้มีลงทะเบียนแล้ว 800 กว่าคน”

“ทางวัดได้รับการสนับสนุนจากญาติโยมที่พอลืมตาอ้าปากได้ บางคนกำลังเยอะหน่อยก็เอาข้าวสารอาหารแห้งมาช่วย หรือบางคนเอาข้าวมาคนละ 5 กล่อง 10 กล่อง เราก็รับเอามาแจกจ่าย ซึ่งเราตรวจวัดคัดกรองทั้งหมด จัดแถวให้เป็นระเบียบไม่ให้ยืนชิดกัน ตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะทำต่อ ก็ต้องดูว่าโควิดจะยุติหรือยัง ถ้ามันซาลงแล้วรัฐบาลเขาปลดล็อกทุกอย่างเราก็จะหยุดถาวร”

การเดินสำรวจแถวบ้านครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้ง เดือนนี้มาตรการต่างๆ เริ่มคลี่คลายแล้ว เราหวังเพียงว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววัน และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.