“ทำไมคนไทยถึงรู้สึกโรแมนติกกับละครที่พระเอกล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนนางเอกกันได้ลง”
“หรือเป็นพระเอก = ไม่ผิด ?”
“แล้วบทก็ชอบปูมาว่าเขารักแกมาก ถึงทำแบบนี้ ถ้าเกิดในชีวิตจริง นางเอกคือผู้ถูกกระทำเลยนะ”
“เหอะๆ (ขำแห้ง) ก็เพราะคนไทยตีกรอบให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว จะมี sex ได้ก็ต่อเมื่อไม่ได้ตั้งใจถึงจะดูเป็นคนดีไงล่ะ”
เหล่าสตรีเบื้องหน้าฉันกำลังถกประเด็นการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture) ที่เกิดขึ้นในสื่อไทย และน่าเศร้ายิ่งกว่าที่ค่านิยมกดขี่ทางเพศกลับผลิตซ้ำให้กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตจริงจนหลายครั้งผู้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ถูกสังคมตั้งคำถามว่าไปทำอีท่าไหนถึงได้โดนคุกคามทางเพศ มากกว่าลงโทษหรือประชาทัณฑ์ผู้กระทำความผิดว่า “คุณไม่มีสิทธิ์คุกคามทางเพศใคร”
หากนับเป็นจำนวน วันนี้พวกเธอมากัน 3 คน คือ เหม่ย-นันทนา แซ่ก๊อก, ตี๊-ธนัญภรณ์ ชำนาญไพร และ วิกกี้-วิชญา เชาวนศรีมานนท์ แต่หากนับเป็นความตั้งใจในการรับฟัง เยียวยา และช่วยต่อสู้ดำเนินคดีให้กับผู้ที่ถูกคุกคาม กดขี่ หรือล่วงละเมิดในประเทศที่กฎหมายและหน่วยงานการช่วยเหลือไม่เพียงพอและเอื้อต่อผู้เสียหาย พวกเธอรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในชื่อ ‘Voices From Friends’
| ส่งเสียง
“พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเพื่อนทุกเพศ ทุกวัย ที่ต้องการเล่าเรื่องราวประสบการณ์การถูกคุกคาม กดขี่ ล่วงละเมิดทุกรูปแบบ เราอยู่ที่นี่และได้ยินเสียงของกันและกัน” คือคำอธิบายที่แสดงบนแอ็กเคานต์อินสตาแกรม Voices From Friends (@voicesfromfriends)
“ปัจจุบันมีหลายคนออกมาพูดเรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน เพราะมันถึงเวลาแล้วที่ต้องพูด แต่สำหรับหญิงสาวทั้งเพศกำเนิดและข้ามเพศ ชายหนุ่มทั้งเพศกำเนิดและข้ามเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือนิยามเพศแบบใดก็ตามแต่ที่อาจไม่กล้าส่งเสียงขอความช่วยเหลือ พวกเรายินดีช่วยเป็นไมค์กระจายเสียงให้เอง”
กว่า 10 ชีวิตใน Voices From Friends ล้วนเป็นอาสาสมัครที่มีใจอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพราะไม่อยากเห็นคนที่ถูกคุกคามทางเพศต้องถูกปิดปากในเรื่องไม่เป็นธรรมที่เผชิญ แรกเริ่มเดิมทีแต่ละคนอยู่ในฐานะอาสาสมัครไม่มีชื่อกลุ่ม แต่พกอุดมการณ์มาม็อบวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2563 และทำกิจกรรมแรกร่วมกับคณะเฟมินิสต์ปลดแอกในการรณรงค์ #ปลอดภัยในม็อบ เพื่อให้คนที่ไปม็อบรายงานความไม่ปลอดภัยที่เจอทุกรูปแบบ ซึ่งคนทางบ้านสามารถติดตามได้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร หรือจุดไหนไม่ปลอดภัยเพื่อกระจายข่าวให้ระวังผ่านแฮชแท็ก อีกทั้งใครเจอเหตุการณ์การถูกคุกคามทางเพศในม็อบหรือนอกม็อบก็สามารถไปขอความช่วยเหลือจากนักสิทธิเด็กและนักจิตวิทยาที่บูธได้
ทว่าเรื่องน่าโมโหต่อเหตุการณ์ในวันนั้นคือคนที่เข้ามาแชร์เรื่องราวการถูกคุกคามทางเพศ ล่วงละเมิด และโดนข่มขืนนั้นมีจำนวนมากและเป็นคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ในสังคมอันบิดเบี้ยวนี้ทำให้พวกเขาหรือเธอไม่รู้จะไปพึ่งใคร เหล่าอาสาสมัครที่ตั้งใจรณรงค์ให้สังคมตระหนักเรื่องการถูกคุกคามทางเพศจึงไม่อยากหยุดแค่การรณรงค์ แต่อยากลงไปช่วยผู้เสียหายให้ได้อย่างเต็มรูปแบบ จึงขยับขยายแพลตฟอร์มและจับมือกับทีมทนายอาสาในการดำเนินคดีจนเกิดเป็น Voices From Friends ขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563
| ช่วยเพื่อน
การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) และ การหาความชอบธรรมให้ผู้ข่มขืน (Rape Apologist) ถือเป็นสิ่งที่ Voices From Friends บอกฉันว่าสังคมไทยยังไม่ก้าวข้ามมันไปสักที พวกเธอทั้งสามให้ความเห็นว่าบางคนอาจทำไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เพราะระบบการศึกษาไทยไม่เคยสอนเรื่องเพศ แค่ sex ธรรมดายังพูดไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับ การโดนคุกคามทางเพศ การถูกทำอนาจาร หรือการข่มขืนที่ถูกปัดไปอยู่ในประเภท ‘เรื่องห้ามพูด’ ซึ่งหากเรื่องเหล่านี้พูดได้ จะนำไปสู่การตระหนักรู้ในสิทธิของตัวเองว่าเราสามารถส่งเสียงขอความช่วยเหลือได้ เมื่อนั้นสังคมจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จำนวนผู้กระทำความผิดอาจลดลงเพราะรู้แล้วว่ามันผิด และบทลงโทษมีน้ำหนัก รวมทั้งจะไม่มีใครกล่าวโทษใครว่าแต่งตัวโป๊หรือเปล่าถึงโดนคุกคามทางเพศ หรือกลับบ้านดึกหรือเปล่าถึงถูกข่มขืนหรือถูกทำอนาจาร
‘ตี๊’ ฝ่ายกฎหมายประจำทีมทัดผมบ๊อบสั้นระดับคอของเธอ ก่อนเล่าให้ฉันฟังว่าเธอจบนิติศาสตร์และเป็นทนายช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศ คุกคามทางสื่อ เคสอาญา เคสขายคลิปอนาจาร รวมไปถึงคดีฉ้อโกง โดยเหตุที่เธอเข้าร่วมทีม Voices From Friends เพราะวันที่ไปรณรงค์เรื่องคุกคามทางในม็อบ เธอและเหล่าอาสาสมัครก็โดนคุกคามทางเพศต่อหน้าต่อตา เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมทีม เพราะสังคมวันนี้ถึงวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว
ปัจจุบันการทำงานของ Voices From Friends เป็นไปตามขั้นตอนที่ไม่สลับซับซ้อน เริ่มต้นจากฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนจะรับเรื่องการร้องทุกข์จากแบบฟอร์มที่แปะลิ้งก์ไว้บนอินสตาแกรม Voices From Friends ภายในแบบฟอร์มจะมีช่องให้ผู้ที่บอกเล่าเรื่องราวเลือกว่าต้องการมาระบายเฉยๆ หรือระบายและอนุญาตให้เผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนัก จากนั้นฝ่ายประชาสัมพันธ์และคอนเทนต์ก็จะนำไปประสานงานกับฝ่ายกราฟิกลงในอินสตาแกรม หรือหากผู้ใดต้องการเยียวยาทางใจ ทางทีมจะส่งเรื่องไปถึงนักจิตวิทยาเพื่อฟื้นฟูใจต่อไป
กรณีคนที่มีความพร้อมทางจิตใจและต้องการดำเนินคดีทันที ทีมกฎหมายก็พร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายฟรี หรือช่วยพิจารณาว่าเคสนั้นๆ จะสามารถดำเนินคดีไปในทิศทางไหนได้บ้าง รวมถึงบางคดี Voices From Friends อาจช่วยเป็นเจ้าของคดีความได้
“พวกเราจะบอกเสมอว่าทุกคนสามารถทำอะไรสักอย่างได้นะ อย่าคิดว่าไม่มีทางออกถ้าเราโดนคุกคามทางเพศ มันมีทางออกเสมอ ถึงหาไม่ได้ พวกเราก็จะช่วยหาทางตรงนั้นเอง”
| ที่ถูกคุกคามทางเพศ
‘วิกกี้’ ฝ่ายกราฟิกประจำทีมพูดขึ้นมาว่า แม้วันนี้เธอจะสวมเดรสกระโปรง หรือวันใดเธอจะใส่สายเดี่ยวก็ไม่มีใครมีสิทธิ์คุกคามทางเพศเธอ แต่สังคมไทยวันนี้ปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องแต่งตัวมิดชิดจึงจะห่างไกลจากการถูกข่มขืน ซึ่งมันไม่จริง เพราะแต่งตัวแบบไหนก็ถูกข่มขืนได้
ในฐานะอดีตนักศึกษาภูมิสถาปัตยกรรม ที่ซึมซับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้วิกกี้กล้าพูดได้เต็มปากว่าชุดนักศึกษาและชุดนักเรียนไม่ใช่ชุดที่ปลอดภัยในสังคมไทย เพราะหลายครั้งเราจะเห็นการเล่นมุกตลกข่มขืน (Rape Joke) ผ่านการใช้นักเรียน นักศึกษาอยู่ในนั้น เช่น การเงินมีปัญหาใส่ชุดนักศึกษาไปหาใครได้บ้าง หรือ การที่หนังโป๊บางเรื่องใช้ชุดนักเรียนเป็นคอสตูม นำไปสู่การที่อาจารย์ในบางสถาบันเรียกพบนักเรียนรายคนเพื่อทำมิดีมิร้าย ซึ่งสุดท้ายหากเด็กโดนข่มขืน สถานศึกษาก็มักไล่เด็กออกแทนที่จะไล่อาจารย์ออก ผลักความผิดให้เด็กว่าน่าอับอาย ขายขี้หน้า และซุกปัญหาไว้ใต้พรมอันเน่าเหม็นของสถานศึกษาต่อไป
“ชุดนักเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการถูกข่มขืน และสถานศึกษากลายเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัย เพราะจากสถิติที่ Voices From Friends ลงไปเก็บข้อมูลคนที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ถึง อายุ 25 ปีขึ้นไป พบว่า กว่า 80% เคยถูกคุกคามทางเพศในสถานศึกษา”
ที่น่าสลดใจอีกอย่างคือกฎหมายในเรื่องการคุกคามทางเพศ อนาจาร หรือการข่มขืน ยังไม่ครอบคลุมเพื่อเอื้อต่อการช่วยเหลือเหยื่อได้จริง ยิ่งเคสที่เด็กโดนคนในครอบครัวกระทำชำเรากลับไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเอง และถูกปัดตกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “มันเป็นเรื่องในครอบครัว ให้ปรับความเข้าใจกันเอง” แล้วจิตใจและร่างกายของเด็กที่บอบช้ำใครจะรับผิดชอบ ?
“ถึงกฎหมายจะไม่เอื้อให้ลูกสามารถฟ้องร้องพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองได้ แต่เราไม่อยากให้ทุกคนตั้งธงว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว พวกเราจะช่วยหาลู่ทางช่วย เพราะลูกไม่ใช่ทรัพย์สินของพ่อแม่ที่จะทำอะไรก็ได้”
อุโมงค์ที่ดำมืดไร้แสงสว่าง การยื่นมือช่วยเหลือ ‘เพื่อนร่วมโลก’ เป็นสิ่งที่ Voices From Friends อยากให้ทุกคนมีความหวังแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังเต็มทน สำหรับเคสยกตัวอย่างที่ฝ่ายกฎหมายเคยลงไปช่วยกรณีคนในบ้านคุกคามทางเพศลูกตัวเอง ได้แก่ เคสที่คุณพ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยงวัย 16 ปี มาหลายปี โดยคุณแม่แท้ๆ ของเหยื่อไม่ยอมรับรองการดำเนินคดีแถมยังทำร้ายร่างกายลูกแท้ๆ จนไม่นานนี้เหยื่อมีการตั้งครรภ์ ฝ่ายกฎหมายจาก Voices From Friends จึงต้องเข้าไปติดต่อในส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินเรื่องหาพยานจากคนละแวกนั้นเพื่อหาข้อเท็จจริง ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่อบต. ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อดำเนินเรื่องทำแท้ง และลงไปคุยกับคุณแม่ของเหยื่อเพื่อเจรจาแต่ไม่เป็นผล จึงต้องแยกตัวเด็กให้ไปอยู่กับคุณป้าที่เข้าใจและพร้อมสนับสนุน โดยทีมทนายต้องให้ศาลสั่งว่าทางคุณแม่มีอาการจิตผิดปกติ เพื่อให้คุณป้าเป็นผู้ปกครองแทน
หรือในบางเคสสำหรับเด็กเล็กที่โดนเพื่อนของคุณพ่อหรือคุณแม่ ใช้ความเป็นผู้ใหญ่สอนเด็กว่า ทำแบบนี้เขาเรียกว่ารักกัน สามารถจับกันได้ แต่รู้กันแค่ 2 คนนะ เด็กคนนั้นก็ถูกคุกคามทางเพศโดยไม่ได้ตั้งใจ มิหนำซ้ำคุณพ่อ-คุณแม่บางรายกลับไม่ยอมเอาเรื่องผู้กระทำความผิด เพราะมองเป็นเรื่องน่าเสียหายต่อวงศ์ตระกูล จนฝ่ายกฎหมายต้องเข้าไปพูดกับผู้ปกครองว่าการที่เด็กถูกคุกคามทางเพศไม่ได้ทำให้เด็กกลายเป็นสิ่งเลวร้าย เด็กคนนั้นยังคงเป็นลูกที่น่ารักของคุณพ่อ คุณแม่เสมอ และนั่นไม่ใช่ความผิดของเขาเลย
| We are your ‘FRIENDS’
‘เหม่ย’ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และคอนเทนต์ (หญิงสาวที่ยืนอยู่ตรงกลาง) บอกฉันว่านอกจากการข่มขืนแล้ว รูปแบบการคุกคามทางเพศยังมีอยู่หลากหลาย เช่น การกระทำชำเราในโซเชียลที่ถือเป็นการข่มขืนทางวาจาหรือรูปภาพที่ถูกนำไปใช้ถือเป็นโทษหมิ่นประมาท หากเป็นรูปหรือคลิปโป๊ที่ไม่ใช่เจ้าของร่างกายเป็นคนเผยแพร่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ หรือการสัมผัสตัวโดยไม่ยินยอมก็นับเป็นการคุกคามทางเพศเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เหม่ยเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาและเข้าคอร์ส Women in Asia เปรียบเทียบปัญหาที่ผู้หญิงในเอเชียเจอหรือถูกกดทับ อีกทั้งเธอยังสนใจเรื่องเฟมินิสต์และผลักดันให้ Sex Worker ถูกกฎหมายในไทย เธอพบว่าเรื่องไร้ความเป็นธรรมที่ลอยวนอยู่ในสังคมขณะนี้คือแม้แต่คนขายบริการก็ยังถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่สามารถแจ้งความจับผู้กระทำได้ เนื่องจากอาชีพนี้จะถูกโทษอาญาไปตลอดชีวิตหากถูกจับ เพราะสังคมผลักอาชีพขายบริการให้เป็นอาชีพไร้คุณค่า ทั้งๆ ที่อาชีพนี้ก็สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ และนั่นก็ถือเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้ประกอบอาชีพ หาใช่ความผิดในเส้นทางที่เลือกแต่อย่างใด
ทีม Voices From Friends ตอบอย่างมุ่งมั่นว่าปัจจุบันปัญหาการถูกคุกคามทางเพศยังมีอยู่และไม่ถูกแก้ไขจากหน่วยงานรัฐและคนในสังคม ดังจะเห็นได้จากม็อบกลุ่มนักเรียนเลว #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่พวกเธอลงไปเก็บจำนวนคนที่เคยถูกคุกคามทางเพศผ่านการติดสติกเกอร์บนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ที่แบ่งแต่ละช่องตามประเภทการถูกคุกคามทางเพศต่างๆ พบว่า มีคนเคยถูกแซว/แทะโลม ถึง 410 คน สัมผัสตัวโดยไม่ยินยอม 285 คน ดึงกางเกง/เปิดกระโปรง 190 คน ดึงสายเสื้อใน 168 คน แอบถ่ายรูป/คลิปโดยไม่ยินยอม 65 คน บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ 31 คน และลูบกางเกงซับใน 23 คน ซึ่งสถานที่ที่คนถูกคุกคามทางเพศมากที่สุดคือสถานศึกษา 273 คน พื้นที่สาธารณะ 264 คน บ้าน 52 คน และอื่นๆ 56 คน โดยมีผู้คุกคามเป็นเพื่อน 197 คน ครู, อาจารย์ 93 คน ครอบครัว, ญาติ, คนใกล้ชิด 63 คน และอื่นๆ 145 คน
สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขคือการออกกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้กับผู้ชาย ผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่านี้ และที่สำคัญต้องสร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ (Social Norms) ที่มองเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นเรื่องจริงจัง ต้องมีหน่วยงาน บุคลากร และระบบรองรับที่พร้อมช่วยเหลืออย่างรัดกุม อีกทั้งควรมีสถานที่ที่ทุกคนรู้ว่าถ้าโดนคุกคามทางเพศ จะไปฟ้องร้องที่ไหนได้บ้าง ไม่ว่าจะในสถานศึกษาหรือทั่วทุกพื้นที่ในสังคม
(*Tips เล็กๆ เมื่อถูกคุกคามทางเพศ )
1. สำรวจจิตใจตัวเอง แล้วพึงคิดเสมอว่าเราไม่ใช่คนผิด คนผิดคือคนกระทำ หากไม่พร้อมที่จะพูดกับใคร ก็ไม่เป็นอะไร ให้รู้สึกสบายใจที่จะพูดแล้วค่อยพูดก็ได้
2. ถ้าหากออกจากสถานที่ที่ถูกคุกคามทางเพศได้และรู้คนกระทำ ให้พาตัวเองออกมาจากตรงนั้นและอยู่ให้ห่างจากคนๆ นั้น หรือพาคนที่ไว้ใจไปด้วยถ้าเลี่ยงไม่ได้
3. เมื่อพร้อมจะส่งเสียงทวงสิทธิ์ให้ตัวเองแล้ว ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ หรือติดต่อ Voices From Friends มาได้ทุกเมื่อ