“ฉันคือสาวน้อยน่ารัก ผู้พิทักษ์ความรักและความยุติธรรม เซเลอร์มูน”
ตากลมโต ผมทรงซาลาเปาคู่ ชุดกะลาสี รัดเกล้า และคทาคู่ใจ ปรากฏต่อหน้าเหล่าปีศาจ
“ตัวแทนแห่งดวงจันทร์ จะลงทัณฑ์แกเอง!”
สึคิโนะ อุซางิ หรือเจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์เซเรนิตี้ แม้จะขี้แยบ่อยๆ หรือบ๊องๆ ไปบ้าง แต่เธอพกความกล้าในฐานะอัศวินเซเลอร์ ปกป้องคนที่เธอรักและผู้คนจากวายร้าย
‘อุซางิจัง’ ในคติของ อ.นาโอโกะ ทาเคอุจิ นักวาดการ์ตูนเซเลอร์มูน ไม่ได้เรียนเก่งแบบเซเลอร์เมอร์คิวรี่ ไม่ได้บู๊เก่งแบบเซเลอร์จูปิเตอร์ ไม่เห็นลางบอกเหตุล่วงหน้าเหมือนเซเลอร์มาร์ส หรือเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลแบบเซเลอร์วีนัส แต่เธอเป็นเธอที่ไม่เคยลังเลช่วยเพื่อน คนรัก หรือคนที่ตกอยู่ในอันตราย แถมนิสัยขายขำ ตลก โปก ของเธอยังทำให้คนรอบข้างอารมณ์ดีโดยไม่รู้ตัว
น้าเปียก-วิภาดา จตุยศพร วัย 64 ปี ผู้พากย์เสียงภาษาไทย ‘เซเลอร์มูน’ ตั้งแต่ยุค 90 และเซเลอร์มูนคริสตัล ปี 2014 เป็นอีกคนที่รักอุซางิและยิ้มเสมอเมื่อได้สวมบทเป็นเซเลอร์มูน ทั้งยังบอกอีกว่า อยากเป็นนักพากย์จนกว่าจะพากย์ไม่ไหว เพราะได้เรียนรู้วิชาชีวิตและการมองโลกของหลากหลายตัวละครที่เป็นเหมือนอาจารย์สอนพิเศษตลอด 40 ปีในวงการ
อ.อุซางิ สอนให้ลูกศิษย์อย่างน้าเปียกรู้ว่า “ผู้หญิงมีสิทธิ์กำหนดชีวิตตัวเอง ถ้ากล้าทำสิ่งที่รักจะไม่เสียใจทีหลัง และจงอย่าลืมดูแลคนสำคัญที่อยู่เคียงข้างในทุกความกล้าของเรา”
วันนี้ไม่ต้องขยี้ตาตอนเช้ามาเปิดช่อง 9 เพื่อรอฟังเสียงน้าเปียก เพราะคนตรงหน้ากำลังเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอในฐานะตำนานนักพากย์ ที่เชื่อว่าอาชีพนักพากย์ไม่มีวันตาย เหมือนเซเลอร์มูนที่เป็นอมตะตลอดไป
ผู้หญิง (ไม่) ธรรมดา ที่แปลงร่างเป็นนักพากย์
ใบเบิกทางสู่เส้นทางนักพากย์ของน้าเปียกจะว่าไปก็คล้ายๆ เส้นทางการเป็นอัศวินเซเลอร์ของอุซางิชอบกล ต่างกันที่น้าเปียกไม่ได้มีแมวดำพูดได้ชื่อลูนาร์กระโดดใส่ แต่มีแมวมองเป็นผู้ใหญ่ในที่ทำงานเห็นแววจากเสียงใสๆ ของเธอแทน
หลังจบจากภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ น้าเปียกเดบิวต์อาชีพแรกในฐานะเด็กจบใหม่ ณ บริษัท อสมท จำกัด ด้วยตำแหน่งดูแลสปอตโปรโมต ถามว่าตรงสายที่เรียนมาไหม เธอบอกว่าตรง เพราะได้ใช้เสียงของตัวเองในการสื่อสารลงบนโฆษณาหรือใส่ลงคลิปโปรโมตรายการและหนังสั้นๆ ซึ่งการใช้เสียงเป็นศาสตร์หนึ่งที่พึ่งทักษะการแสดงเหมือนกัน อย่างว่า ถ้าคนฟังแล้วไม่อินใน 15 หรือ 30 วินาทีที่เธอพูด จะโน้มใจให้คนอยากติดตามดูโปรแกรมต่างๆ ของช่องได้อย่างไรเล่า!
กราฟชีวิตพนักงานออฟฟิศของน้าเปียกค่อยๆ ขยับขึ้น ไม่นานเกินรอเธอได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่จัดหารายการและภาพยนตร์ หน้าที่หลักคือติดต่อซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉายในไทย ทว่าการถูกย้ายตำแหน่งตีคู่มากับโอกาสในการใช้เสียงที่น้อยลง แต่โอกาสที่คาดไม่ถึงกลับหล่นทับดังตึ้งโดยไม่ทันตั้งตัว เธอได้พากย์การ์ตูนครั้งแรกในบทนางเอกการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายดีซีคอมิกส์อย่าง Super Man (สรุปได้ใช้เสียงมากกว่าเดิม)
“สี่สิบปีที่แล้ว บริษัทที่น้าอยู่วางโพซิชันเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่ให้พนักงานลองทำในสิ่งที่คิดว่าทำได้ เช่นใครอ่านข่าวได้ ก็ให้ลองอ่านดูก่อน แม้จะไม่ได้เป็นนักข่าวโดยตรง เช่นเดียวกับน้าที่วันหนึ่งผู้ใหญ่เดินเข้ามาบอกว่า เราเสียงใช้ได้นะ อยากลองพากย์การ์ตูนไหม เอ้า! เอาไปพากย์ดูเลย (ยื่นบท)
“ตอนนั้นอายุยี่สิบห้า ทีมพากย์คงมองหาเสียงสาวๆ ที่ไม่ต้องดัดอะไรมาก เน้นพากย์ตามอารมณ์ เราเลยได้โอกาสนั้นมา พอทางทีมแนะนำวิธีพากย์ให้เข้าปาก เราก็ตั้งใจมาก และตื่นเต้นมากเช่นกัน”
พลังของเธอมาจากการฝึก ฝึก ฝึก
เซเลอร์ (น้า) เปียกมีพื้นฐานการละครและการกำกับการแสดงติดตัว เมื่อได้รับโอกาสพากย์การ์ตูนแล้ว 1 ครั้ง ครั้งที่ 2 3 4 ก็ตามมา เธอจึงต้องฝึก ฝึก ฝึก เพราะไม่อยากให้ทีมพากย์คนอื่นๆ เสียเวลา และไม่อยากเป็นตัวถ่วง นั่นทำให้เธอซ้อมทุกวัน และทุกครั้งที่ว่าง
“ผลงานพากย์ที่ทำให้เรารู้สึกได้ฝึกจริงๆ คือซิตคอมเรื่อง Punky Brewster ซึ่งได้พากย์เป็นเด็กครั้งแรก เพราะเป็นการพากย์ Live Action ครั้งแรกร่วมกับนักพากย์เก่งๆ มือฉมัง อย่าง อาสมจินต์ ธรรมทัต, อากำธร สุวรรณปิยะศิริ และ พี่ดาเรศร์ ศาตะจันทร์
“ยิ่งได้พากย์กับทีมใหญ่ๆ ยิ่งต้องพยายามฝึกให้หนัก เพราะกลัวพลาดมากๆ น้าต้องอ่านบทแล้วเข้าใจคาแรกเตอร์ที่ได้รับมอบหมายว่าตัวละครเป็นคนอย่างไร น้ำเสียงที่เสียงต้นฉบับใช้เป็นแบบไหน แต่ละประโยคที่ตัวละครพูดมีนัยอะไรไหม รู้สึกอะไรกันแน่ วิเคราะห์ว่าหยุดวรรคหรือแบ่งวรรคตรงไหนถึงพอดี ซึ่งจำเป็นต้องซ้อมตั้งแต่ตอนแรกยันตอนสุดท้าย ก่อนเข้าห้องพากย์ทุกครั้งเลย แต่ละครั้งที่นัดพากย์ก็จะพากย์ครั้งละหลายๆ ตอน บางครั้ง 5 บางครั้ง 8 นั่นทำให้เราต้องทำการบ้านบ่อยๆ”
แม้น้าเปียกจะไม่มีไอดอลในสายงานพากย์และเริ่มเส้นทางนี้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง จากสาวสปอตโฆษณาที่ใช้เสียงตัวเองเป็นหลัก เธอเริ่มก้าวขาสู่วงการนักพากย์หนังและการ์ตูนที่ใช้เสียงตัวเองนั่นแหละ แต่เป็นคาแรกเตอร์คนอื่น ทั้งเด็กผู้ชายที่อายุห่างกับเธอในวัยสาวราว 10 ปี คุณแม่วัยกลางคน ไปจนถึงสาวผมส้มขวัญใจติ่งโจรสลัดอย่าง นามิ จาก One Piece
“อาาาา สวัสดีครับ ผมอากูม่อนค้าบบบบ” น้าเปียกพูดด้วยเสียงอากูม่อน ตัวละครจาก Digimon Adventure ให้ฟังโดยไม่ทันตั้งตัว (เผลอกรี๊ดในใจไป 10 รอบ)
ไม่รีรอให้ถามว่าฝึกฝนอย่างไร น้าเปียกก็อธิบายว่า เวลาฝึกออกเสียงต้องหลบเข้าห้องไปซ้อมคนเดียวทุกวันเพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอก บางทีต้องขอแฟนซ้อมก่อน อย่าเพิ่งกวน! นอกจากนี้ การรักษาสุขภาพเสียงก็สำคัญไม่น้อย เธอบอกว่า ห้ามเป็นหวัดเด็ดขาด
ฟังดูเหมือนพูดง่าย แต่ทำยากนะ เพราะต้องงดน้ำเย็น ไม่ตะโกนบ่อย เพราะวันไหนเผลอตะโกนขึ้นมา พากย์ได้ไม่กี่ตอนก็ถูกไดเรกเตอร์เบรกเอี๊ยดให้พักก่อนทุกครั้ง หรือถ้าใครเป็นหวัดจะถูกไล่กลับบ้านทันทีเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่นักพากย์คนอื่น
อย่างว่า…เส้นเสียงทองคำกับนักพากย์เป็นของคู่กัน
เราคุยกันลงลึกต่ออย่างเพลินๆ ถึงวิธีการฝึกเปลี่ยนเสียง ไม่ว่าจะจากผู้หญิงไปผู้ชาย หรือจากผู้ใหญ่ไปเป็นเด็ก หลักสำคัญคือต้องฟังซาวนด์เยอะๆ เพราะหลังจากที่พากย์การ์ตูนญี่ปุ่นมามาก เช่น อาราเล่ จาก ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ หรือ โมริ รัน จาก ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน
เธอจับสังเกตได้ว่านักพากย์ญี่ปุ่นให้เสียงสื่ออารมณ์เป็นไกด์นำทางมาแล้ว สิ่งที่นักพากย์ไทยต้องทำ คือทำให้ใกล้เคียงอารมณ์ของเขามากที่สุด ทั้งวิธีการใช้เสียงหนัก เสียงเบา เสียงโวยวาย หรือเสียงลังเล เพื่อให้คนไทยรู้สึกอินเมื่อดูการ์ตูนฉบับพากย์ไทย เหมือนที่คนญี่ปุ่นอินกับเสียงพากย์ต้นฉบับจนหลงรัก
“ถ้าเราได้โทนเสียงที่ต่างจากตัวเองมากๆ ต้องฉีกด้วยคาแรกเตอร์และวิธีการพูด ต้องเข้าใจบทนั้นๆ ก่อน อ่านให้เข้าใจในแต่ละพาร์ตว่าเขาต้องการอะไร สื่ออะไร พูดถึงอะไร ถ้าไม่เข้าใจต้องถามคนคุมห้องพากย์ให้ช่วยอธิบายจนเข้าใจ และฝึกเลียนเสียงจากซาวนด์ต้นฉบับ หากเราพากย์ผู้ชายก็ต้องฟังบ่อยๆ ว่าผู้ชายเขาพูดกันอย่างไร เด็กกับคนแก่ก็ต่างกันอีก แต่หลักๆ คืออย่าเขินที่จะซ้อมออกมาดังๆ
“ตัวละครที่พากย์ยากคือ อายานามิ เรย์ จาก อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา (Neon Genesis Evangelion) เพราะเรย์เสียงนิ่งมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางอย่างที่สื่ออารมณ์ออกไปทุกประโยค โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้คนฟังเข้าใจเสียงนิ่งๆ แต่สื่ออารมณ์ เลยต้องเข้าใจสารของตัวละครให้มากๆ ถ้าเรายังไม่เข้าใจ คนดูก็จะมองเราเป็นหุ่นยนต์ที่พูดโดยไม่เข้าใจอะไร”
พากย์ไปพากย์มา โอ้…น้าเปียกกลายเป็นราชินีแห่งวงการพากย์เสียง ‘เด็กและวัยรุ่น’ เสียแล้ว!
บทเรียนชีวิตจาก อ.อุซางิ
ต้นฉบับเสียงเซเลอร์มูนต้องเป็นเธอ ‘เปียก วิภาดา’
“ดีใจมากที่ผู้ใหญ่เลือกเรามารับบทเซเลอร์มูน และดีใจมากที่ทุกคนจำได้ว่าเสียงเซเลอร์มูนต้องเป็นเสียงนี้”
อุซางิสอนให้น้าเปียกนึกถึงความฝันวัยแรกแย้ม และมองว่าถ้าตอนนั้นเด็ดเดี่ยวในสิ่งที่รักให้ได้ครึ่งของอุซางิคงจะดี
“ตอนเด็กๆ อยากเป็นครูมาก แต่ไม่เข้าครุศาสตร์เพราะเห็นว่าเพื่อนในกลุ่มเข้าอักษรศาสตร์กันหมด เลยเลือกตามเพื่อนไป ไม่น่าเลยเนอะ (หัวเราะ) ถ้าเด็ดเดี่ยวกว่านี้คงได้เป็นครูไปแล้วมั้ง
“ตอนสวมหูฟัง นั่งพากย์เสียงอุซางิ ทำให้ซึมซับคาแรกเตอร์ของนางมา อุซางิจะตัดสินใจเร็วมากเวลาจะทำอะไรเพื่อความฝัน และมุ่งมั่นไปให้สุดทาง
“ตอนนั้นเป็นคนคิดเยอะ ขี้ระแวง ขี้กลัว แคร์คนอื่นไปหมด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่แคร์ดีกว่า ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้เถอะ
“นิสัยมองโลกในแง่ดีของอุซางิทำให้ได้ข้อคิดว่า เวลาย้อนกลับไปไม่ได้ ถ้าเราเลือกเป็นครู เราอาจจะไม่ได้เจออุซางิ ไม่ได้เป็นอุซางิ และไม่ได้เข้าใจตัวเองผ่านตัวตนของอุซางิเลย”
อุซางิสอนให้น้าเปียกอยากเข้าใจลูกมากขึ้น เหมือนอุซางิที่แม้จะตีกับอุซางิน้อย (ลูกในอนาคตของอุซางิ) บ่อยๆ แต่ก็แสดงถึงความสนิทสนม เป็นกันเอง และทำให้ลูกไว้ใจได้
“ความเป็นกันเองของแม่ลูกตัวแสบในเรื่อง ทำให้เราเอามาปรับใช้ได้ในแง่ที่ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ กล้าเล่าอะไรให้ฟัง เราพยายามเป็นแบบนั้น อาจจะไม่เต็มร้อยด้วยช่วงอายุ แต่ก็พยายามสุดๆ เลยนะ
“พอสนิทกับลูก ลูกก็เล่าให้เราฟังว่าเขาโดนบุลลี่ที่โรงเรียน จนเราต้องไปโรงเรียนเพื่อเจรจาดีๆ เรื่องนี้ และบอกลูกว่าอย่าไปกลัวนะ ซัดมา ซัดกลับเลย (หัวเราะ) เขาก็ยังกลัวแหละแต่ก็ดีกว่าเขาหันมาแล้วไม่มีใครอยู่ข้างเขาเลย
“อะไรที่ลูกทำพลาด เราจะให้ลูกแก้เองก่อน เพื่อให้เขามั่นใจในความสามารถตัวเอง แต่ถ้าเขาแก้ไม่ได้ มือของเราก็ว่างพอที่เข้าไปช่วย”
อุซางิสอนให้น้าเปียกรักษาเพื่อนที่ไม่เป็นพิษเหมือนกลุ่มอัศวินทั้ง 5
“กลุ่มเพื่อน 5 คนของอุซางิมีคาแรกเตอร์ต่างกันทั้งหมด แต่มีจุดหมายเดียวกันคือพิทักษ์โลกและจริงใจต่อกัน เหมือนเพื่อนในกลุ่มเราที่นิสัยต่างกันสุดขั้ว ทว่าไม่ปล่อยมือกัน เพราะมีจุดหมายเดียวกันคืออยากอยู่ข้างกันและหวังดีต่อกัน ถ้าใครดีกับเรา เราต้องรักษา ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องรักษานะ ปล่อยเขาไป ตัดเขาออกจากชีวิตเหมือนปีศาจในเรื่องไปเลย”
อุซางิสอนให้น้าเปียกรู้ว่าความรักที่ดี ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ฝ่ายชายเป็นช้างเท้าหน้า เหมือนหน้ากากทักซิโด้ที่คอยเป็นกำลังเสริมช่วยเซเลอร์มูน
“อุซางิกับมาโมรุ (หน้ากากทักซิโด้) เป็นคู่รักรุ่นพี่-รุ่นน้องกัน เหมือนเราเหมือนกันนะ ที่เจอกับสามีครั้งแรกตอนเขาเป็นรุ่นพี่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาฯ
“มาโมรุเขาเป็นคนดีมากเลยนะ ปกป้องดูแลอุซางิตลอด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดินทัพอยู่นำหน้าเธอก็ได้ แค่มาช่วยเวลาสำคัญๆ ที่อุซางิไม่มีใคร สามีเราก็เช่นกัน แอบดูแลเราเงียบๆ อยู่ข้างๆ ไม่ต้องช่วยเราทุกครั้ง แต่ช่วยในวันที่เราต้องการ แค่นี้มันดีมากๆ แล้ว”
บทพากย์ส่งท้าย
เซเลอร์มูนเป็นการ์ตูนในดวงใจของน้าเปียก และเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ คนคงเก็บเซเลอร์มูนไว้ในใจอยู่เสมอ
น้าเปียกบอกว่า เซเลอร์มูนชี้ให้เห็นว่าความเก่งของผู้หญิงมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในการ์ตูนจะบอกว่าอัศวินเซเลอร์ปกป้องโลกมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ทว่าในชีวิตจริงนอกจอการ์ตูน ผู้หญิงกลับถูกจำกัดความสามารถ ด้วยวัฒนธรรมและความดีงามที่สังคมกำหนดกันมาให้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง
“ตอนนี้โลกเราเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น แต่ก็ไม่กว้างมากพอนะ เพราะหนังบางเรื่อง เราก็ยังเห็นภาพสะท้อนการถูกคุกคามทางเพศอยู่ ผู้หญิงยังถูกกดขี่อยู่แบบนั้น
“เซเลอร์มูนเป็นโรลโมเดลให้เด็กๆ กล้าทำและกล้าเป็นในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข อย่างตัวเทนโอ ฮารุกะ หรือเซเลอร์ยูเรนัส ซึ่งเรามีโอกาสได้พากย์เป็นเขา เป็นตัวละครแห่งความหลากหลายทางเพศ มีแฟนเป็นผู้หญิง ลุคบอยแต่ใส่กระโปรงโดยไม่แคร์ใคร ซึ่งในยุคนั้นสังคมยังไม่เปิดกว้าง LGBTQ+ เท่าไหร่ แต่ตัวฮารุกะก็ได้คะแนนความชื่นชมจากแฟนๆ เยอะมาก ซึ่งคงบอกสังคมเป็นนัยๆ ว่าเรื่องเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปเหยียดหรือตัดสินใคร”
มากกว่า 1,000 ครั้งที่น้าเปียกให้เสียงพากย์หลากหลายตัวละคร ทำให้เธอรู้ว่าความสุขในการพากย์คือการได้เข้าไปอยู่ในตัวละครนิสัยต่างๆ ซึ่งสอนข้อคิดมากมายให้เธอและเพื่อนนักพากย์คนอื่นๆ
ปัจจุบันมีนักพากย์เกิดขึ้นมากมาย น้าเปียกบอกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทำให้ผู้คนได้ฟังเสียงที่หลากหลายของแต่ละคาแรกเตอร์ และนักพากย์ก็เป็นอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานมนาน โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ ที่การมีอยู่ของนักพากย์จะช่วยเรียกให้คนไทยเข้าดูหนังต่างชาติมากขึ้น
เช่นเดียวกับน้าเปียกที่มองว่าอาชีพนักพากย์ไม่มีวันตาย และยังบอกอีกว่า “คงอยู่พากย์ไปอีกนาน” เพราะอาชีพนักพากย์เป็นอาชีพที่เธอรักและทุ่มเทใจเสมอนี่เนอะ