เวฬาวาริน โรงแรมจากตึกเก่า 100 ปี อุบลราชธานี - Urban Creature

เราได้ยินมาว่า ตอนนี้อีสานสุดจะครึกครื้นและอุบลราชธานีก็เต็มไปด้วยความคึกคัก เพราะมีร้านรวงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ และมีอะไรที่น่าตื่นเต้นเต็มไปหมด สำหรับใครที่มาเที่ยวอุบลฯ แต่ไม่รู้จะไปพักที่ไหน Urban Guide ชวนขับรถต่ออีกสักประมาณ 10 นาที ไปที่เวฬาวาริน โรงแรมที่สร้างจากตึกเก่าอายุร่วม 100 ปี แห่งอำเภอวารินชำราบ ที่ห่างจากตัวเมืองอุบลฯ ไปนิดเดียว แค่ข้ามสะพานเสรีประชาธิปไตยไปก็ถึงแล้ว

เวฬาวารินคือโรงแรมที่มีโครงสร้างเดิมเป็นไม้ และตั้งอยู่บริเวณถนนทหารซึ่งสมัยก่อนเป็นย่านที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เพราะถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปี คนที่จะเข้ากรุงเทพฯ หรือโคราชผ่านทางรถไฟ ก็ต้องแวะมานอนที่ละแวกนี้ก่อนทั้งนั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ถนนหนทางเริ่มดีขึ้น มีสนามบินมาเปิดให้บริการ ความเจริญก็ย้ายไปอยู่ในตัวเมืองอุบลฯ จนย่านนี้เต็มไปด้วยความเงียบเหงา พระอาทิตย์ตกดินเมื่อไหร่ก็เงียบสนิทและมีสถานะเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น

จากอาคารไม้ที่มองจากชั้นล่างมีพื้นชั้นบนผุพังจนมองทะลุไปได้ถึงหลังคากลับมาเป็นโรงแรมได้อย่างไร การคืนชีพของอาคารหลังเดียวทำให้ย่านนี้กลับมามีชีวิตชีวาได้เพราะอะไร เราชวนย้อนดูเรื่องราวที่ไหลผ่านเวฬาวารินไปพร้อมกันเลยครับ 

เดิมทีอาคารอายุร่วมร้อยปีหลังนี้มีเจ้าของรุ่นดั้งเดิมคือท่านผู้หญิงตุ่น โกศัลวิตร ใช้ตึกนี้เป็นที่เก็บสินค้า และขนถ่ายสินค้าจากแม่น้ำมูล แล้วทีนี้คุณตาของ บี-อภิวัชร์​ ศุภากร เจ้าของคนปัจจุบัน มีความสนิทชิดเชื้อกันกับวิชิต โกศัลวิตร สามีของท่านผู้หญิง เพราะเป็นคนค้าคนขายและเป็นคนจีนเหมือนกัน จึงซื้อต่อมาได้เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว

ประจวบเหมาะกับเวลาที่ได้คลังเก็บสินค้าเก่ามาก็เป็นเวลาเดียวกับที่ทางรถไฟสร้างมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ละแวกนี้เป็นย่านความเจริญเก่า ที่นักเดินทางต้องมาพักก่อนที่จะขึ้นรถไฟในเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้มีโรงแรมเกิดขึ้นประมาณ 5 โรงแรม

“ตอนนั้นยังไม่มีสะพานข้ามเมืองอย่างสะพานเสรีประชาธิปไตยเลย สนามบินก็ยังไม่เกิด มีแต่คนมารอขึ้นรถไฟ คุณตาก็เลยปรับอาคารหลังนี้ให้กลายเป็นโรงแรมชื่อว่าโรงแรมสากล แยกนี้ก็จะชื่อแยกสากลเหมือนกัน”

ในอดีต โรงแรมสากลมีที่พัก 21 ห้อง แบ่งเป็นซอยเล็กๆ ตามทางเดินและใช้ห้องน้ำร่วมกัน ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็คล้ายกับโฮสเทลที่มีไว้ต้อนรับนักเดินทางเป็นหลัก

“เป็นอาคารไม้สามชั้นแล้วข้างล่างก็ทำเหมือนเป็นบาร์มีดนตรีสดเล่น ลูกค้าสมัยก่อนก็เป็นทั้งคนต่างชาติและคนไทย แต่ส่วนมากจะเป็นคนจากในเมืองที่มารอขึ้นรถไฟ เพราะสมัยก่อน เวลาจะไปโคราชหรือกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้รถไฟอย่างเดียวเท่านั้น จะไปกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาสองวันเพราะต้องแวะนอนที่โคราชก่อนหนึ่งคืน เพราะสมัยก่อนเป็นรถจักรไอน้ำที่ต้องเติมฟืน มองไปฝั่งนู้น จะเห็นถังดำๆ ใช่ไหม มันคือที่เติมน้ำของหัวรถจักรสมัยก่อน ปัจจุบันก็ไม่ได้เติมน้ำแล้วมาเติมน้ำมันตรงนี้แทน”

แม้ในอดีตที่ล่วงเลยผ่านเวฬาวารินจะเคยเป็นที่พึ่งสำคัญของนักเดินทาง แต่ก็เป็นโรงแรมที่มีอายุไม่นานนัก เปิดทำการได้ประมาณ 10 ปี แล้วก็ต้องปิดกิจการไป พื้นที่ข้างล่างก็กลายเป็นอาคารที่ปล่อยให้คนมาเช่าเพื่อทำธุรกิจต่างๆ เช่น ขายข้าวแกง หรือร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนชั้นบนก็ไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว

“แต่ก่อนที่จะมาทำโรงแรมแถวนี้ก็จะค่อนข้างเงียบ ซบเซา แล้วคนที่ทำมาค้าขายอยู่ละแวกนี้จะไม่มีใครนอนบนถนนเส้นนี้เลย คือเข้ามาเพื่อทำงานอย่างเดียวแล้วก็จะไปนอนที่อื่นกันหมด ไปนานตามความเจริญที่เปลี่ยนไป แถวนี้สองทุ่มก็จะเงียบกริบ” 

ภารกิจปลุกชีพตึก 100 ปี

อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมไม่ได้มีความคิดที่จะเปิดโรงแรมแต่อย่างใด แต่เป็นความตั้งใจเดิมจากคุณแม่ที่อยากมาทำโรงแรมแบบง่ายๆ ที่บ้านเกิดในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่สามารถทำได้ทัน พี่บีจึงรับหน้าที่มาสานต่อความตั้งใจนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

“ตัวเองก็เคยเป็นสจวร์ดอยู่การบินไทยก็ทำงานด้านบริการมาอยู่แล้วเกือบยี่สิบปี ตอนที่ได้อาคารหลังนี้มาจากคุณแม่ก็ต้องย้อนกลับไปสี่ถึงห้าปี ตอนนั้นก็ยังเป็นสจวร์ดอยู่ ยังไม่มีไอเดียเลยว่าจะทำอะไรได้บ้าง จนสุดท้ายได้มาเจออาจารย์วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ ตอนแรกผมไปเจอหนังสือเกี่ยวกับตึกเก่าของอาจารย์ก่อน แต่พออ่านไปอ่านมาก็พบว่านี่มันเป็นอาคารของเรานี่นา เป็นตัวเริ่มต้นที่ทำให้เรามีความหวังว่าสามารถนำอาคารหลังนี้กลับมาทำเป็นโรงแรมได้”

เมื่อได้เจอกับนักชุบชีวิตตึกเก่ามือฉมัง ความหวังที่จะเห็นอาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาจึงมีความเป็นไปได้มากขึ้นในทันใด ความตั้งใจแรกคือการเก็บหน้าตาไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด แต่ปัญหาที่ใหญ่หลวงมากคือการลงโครงสร้างใหม่ เพราะพื้นที่เคยเป็นไม้ผุกร่อนไปหมดแล้ว ชนิดที่ว่ายืนอยู่ชั้นหนึ่งแต่มองขึ้นไปเห็นถึงหลังคา

“โครงสร้างที่มีอายุราวร้อยปีรับน้ำหนักไม่ไหวแล้ว แต่โชคดีที่ก่อนหน้านี้คุณแม่และคุณยายเปลี่ยนหลังคามาแล้วประมาณสี่รอบ ข้างในก็เลยไม่หนักหนาเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องลงเสาเข็มใหม่ โดยที่เก็บเสาไม้เดิมไว้หมดเลย โดยมีเสาเข็มเหล็กตั้งอยู่ข้างๆ แล้วเราต้องปรับแบบทุกครั้งที่รื้อโครงสร้างออก ฟังก์ชันของแต่ละห้องจะปรับไปตลอดเวลา ซึ่งมันก็ค่อนข้างลำบากเพราะไม่สามารถทำ 3D ออกมาแล้วก็จบในทีเดียว 

“ที่จริงก็เหมือนกับการสร้างใหม่โดยเก็บโครงสร้างเดิมไว้ แล้วเราใช้วิธีการสร้างจากข้างในก่อน ซึ่งพอไปเจอข้างนอกก็กลายเป็นความยากเพราะของเก่ากับของใหม่มีระดับที่ต่างกัน ตอนที่รีโนเวตจะยกความสูงขึ้นทำให้ชั้นเก่ากับชั้นใหม่มันเลยเหลื่อมกันอยู่ อาจารย์วรพันธุ์ก็จะมานั่งคิดที่นี่คนเดียวตอนสี่ห้าทุ่ม ว่าจะเชื่อมกันอย่างไรเพราะมันเหลื่อมกันมากจริงๆ”

ทางแก้ที่นำมาใช้คือคอนเซปต์ที่เรียกว่าทวิภพ ลองนึกภาพว่าเราพักอยู่ในห้องของโรงแรมที่มองออกไปก็จะเห็นโครงสร้างเก่าที่ยังเหลื่อมกันอยู่ แต่พอเดินผ่านประตูออกไปก็จะเป็นโลกปัจจุบันนั่นเอง ทีนี้จากห้องหับร่วมสองโหล เวฬาวารินเหลือห้องเพียง 11 ห้อง และมีห้องน้ำในตัวและเครื่องปรับอากาศทุกห้อง เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมเต็มตัวและไม่ใช่โฮสเทลอีกแล้ว

เวฬาในวาริน

ความตั้งใจแรกของเวฬาวารินคือการปลุกให้อาคารหลังนี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเท่าไหร่เพราะเป็นย่านที่เงียบมาก เป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น มีคำถามเกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา แต่พี่บีบอกว่าพอมีความตั้งใจแล้วก็อยากจะลองดู ประกอบกับมีคนที่รู้จักและญาติๆ อยู่แถวนี้เข้ามาให้กำลังใจตลอดเวลา

“พี่เกิดที่นี่เลย คุณพ่อเป็นทหารอากาศจากเชียงใหม่มาประจำการที่กองบิน 21 แล้วมาเจอคุณแม่ที่เป็นสาววารินฯ ที่จริงถนนเส้นนี้จะเรียกว่าถนนทหาร คุณป้าคุณยายที่อาศัยอยู่แถวนี้ก็จะสนิทกันหมดเลย เพราะเขาจำผมได้จากที่เคยเล่นแถวนี้ตอนเด็กๆ อย่างร้านส้มตำข้างๆ ก็จะสนิทกัน ตัวเราก็จะมีความผูกพันกับคนแถวนี้อยู่แล้ว เพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกนี้ก็จะช่วยดูแลอาคารหลังนี้มาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

“ทีแรกเข้าใจกันว่าจะเป็นนายทุนมาซื้อแล้วจะทุบสร้างตึกใหม่หรือเปล่า ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ และเป็นลูกหลานวารินฯ นี่แหละที่เอากลับมาทำใหม่และเก็บโครงสร้างเดิมไว้ไม่ให้หน้าตาเปลี่ยนไปเลย ตอนนี้ก็มีแต่คนเข้ามาชื่นชม บางคนก็มาขอบคุณเราที่ทำให้ย่านนี้มีสีสันขึ้น” 

จากย่านที่เคยเงียบเหงาก็กลับมาคึกคักขึ้นซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่ของธุรกิจเท่านั้น แต่ชุมชนก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย อย่างสมัยก่อน คุณยายที่อยู่ในละแวกนี้พอตะวันลับฟ้าก็จะอยู่แต่ในบ้าน ไม่กล้าเดินออกมาเพราะว่ามืดมาก แต่ตอนนี้ก็จะพากันไปเดินออกกำลังกาย ไปเดินเล่นกันได้เพราะมีแสงสว่างเพิ่มขึ้น

“ตั้งแต่รุ่นผมมาย่านนี้ก็เริ่มซบเซาแล้ว ที่บอกว่าเป็นย่านความเจริญเก่าก็มีคนเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่งเพราะผมก็เกิดไม่ทันเหมือนกัน เขาบอกว่าสมัยก่อนจะมีสามล้อถีบจอดเรียงเป็นแนวยาวไว้รับส่งคนเพื่อไปขึ้นรถไฟ ตั้งแต่เราจำความได้มันก็เริ่มเงียบแล้ว ตอนนี้ทางอำเภอก็มาคุยเหมือนกันว่าอาจจะทำใบประกาศมาให้ จำไม่ได้แล้วว่าเรียกว่าใบอะไร เหมือนเป็นการขอบคุณที่เราเข้ามาปรับปรุงตึก มาทำให้ย่านนี้มีชีวิตชีวาขึ้น”

ใครมีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนอุบลฯ เราก็อยากชวนให้ขับรถออกมานอกตัวเมืองกันสักนิด ลองเดินมาชมความสวยงามของวารินชำราบและมาย้อนอดีตกันที่เวฬาวาริน กับความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต และคุณอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุบลฯ คึกคักยิ่งกว่าเดิม 

เวฬาวาริน 

ที่อยู่ : 2-6 ถนนทหาร อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190
โทรศัพท์ : 08-0369-7639 Facebook : VelaWarin เวฬาวาริน
Instagram : velawarin

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.